ละครเรื่อง EQUUS

EQUUS : ปกติ หรือ ไม่ปกติ

ไม่ปกติตั้งแต่ยังไม่ได้ดู

วันนี้ได้ไปที่โรงละครสดใส พันธุมโกมล เป็นรอบที่ 3 เพื่อจะไปดูเรื่อง EQUUS คือจริงๆชื่อเรื่องยังอ่านไม่ออกเลย โปสเตอร์ก็ไม่ได้น่าสนใจเลยคือแบบ รูปคนตะโกน แต่คำโปรยนี่สิน่าสนใจกับคำที่ว่า

ความ “ปกติ”คืออะไร?
เส้นแบ่งแยกระหว่าง
ความ “ปกติ”และความ “ไม่ปกติ”
อยู่ที่ไหน?

พอไปถึงสิ่งที่ตกใจคือคนเยอะมากๆ สองรอบก่อนที่คือมาแล้วหยิบสูจิบัตรสบายๆนั่งรอที่หน้าโรงละครได้แต่รอบนี้ไปถึงไม่มีที่นั่งหน้าโรงละครเหลือ ใบสูจิบัตรเหลือใบสุดท้าย คนยืนเข้าแถวรอเข้าโรงละคร ในใจตอนนั้นคือแบบ เฮ้ย มันต้องมีอะไรไม่ปกติแน่ๆ พอหยิบใบสูจิบัตรมาก็ไม่ปกติอีกเช่นกันคือ แทนที่จะเปิดจากซ้ายไปขวา อันนี้เปิดจากขวาไปซ้าย พิมพ์ข้อความซ้ำกัน คำถามก็ผุดขึ้นมาว่า เออเขาจงใจให้มันไม่ปกติตั้งแต่ตรงนี้เลยเหรอ และคำถามก็เพิ่มมาอีกว่า เราเข้าใจว่ามันไม่ปกติเพราะมันไม่เหมือนที่เราเคยทำรึเปล่า

เช่นเคยพอลองสังเกตก็แบบเดิมคือคนมาดูส่วนใหญ่เป็นนิสิตจุฬาคงจะเป็นศิษย์ปัจจุบันที่อยู่ในคณะที่เขาจัดแสดงนี่แหละ บางส่วนเป็นศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว

เรื่องเริ่มที่ความไม่ปกติ

ละครเริ่มเรื่องด้วยการเล่าเรื่องของหมอที่ต้องรักษาเด็กคนหนึ่งที่มีอาการไม่ปกติ ใช่ครับ มันไม่ปกติจริงๆ ดูแล้วก็สงสารหมอนะที่ต้องมาเจอกับคนไข้แบบนี้คือ ถ้าเป็นคนปกติเจอคนไข้แบบนี้คงจะกระทืบให้จมดินไปแล้ว แต่นักแสดงทำให้เราเห็นว่าจิตแพทย์นี่เก่งมากที่สามารถทนกับคนแบบนี้ได้ อีกทั้งยังเก็บรายละเอียดสามารถรู้ได้ว่าที่มันทำแบบนี้เพราะมันเกิดจากอะไร การใช้คำพูดที่ทำให้ไอคนไม่ปกติสามารถอ้าปากตอบคำถามได้ ทั้งๆที่คนอื่นถามมันเป็นวันมันตอบอะไรกวนตีนๆอยู่ตลอด

การปลูกฝัง

ละครเล่าเรื่องสาเหตุว่าเด็กไม่ปกติคนนี้มันไม่ปกติเพราะอะไร ละครแสดงให้เห็นว่าที่มันไม่ปกติเพราะการปลูกฝัง การปลูกฝังจากคนในครอบครัว แต่ละครก็ทำให้เราได้เห็นมุมมองของพ่อแม่ว่าปรารถนาที่จะให้ลูกโตมาเป็นคนดี ผมถึงกับคิดในใจว่า “ไอห่า เขาเลี้ยงมึงอย่างดิบดี สอนให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ มึงนั่นแหละที่ไปเริ่มไม่ปกติเอง” ซึ่งคำถามคือตกลงใครผิด สังคมมักบอกว่าพ่อแม่เป็นสาเหตุให้ลูกเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่ถ้าพ่อแม่อย่างในเรื่อง เขาไม่ได้สอนให้ลูกเป็นคนเลว แต่ตัวลูกเองต่างหากที่มัน….

ใช้อะไรตัดสินความไม่ปกติ

ละครเรื่องนี้พยายามขยี้จุดนี้บ่อยมากว่า เราใช้อะไรตัดสินว่ามันไม่ปกติ คือถ้ามองแบบกลางๆตัดเรื่องปกติที่เราเป็นออก ก็จะเห็นว่าไอสิ่งที่ไอคนไข้คนนี้ทำเนี่ยมันก็ปกตินะ แต่พอเราสวมสิ่งที่ปกติที่เราเข้าใจเข้าไปมันเลยกลายเป็นเรื่องไม่ปกติ ตัวละครที่เป็นหมอพยายามพูดเรื่องนี้บ่อยมาก และหมอได้ชี้ประเด็นว่า การที่เราปกติกันเนี่ยมันก็คือการที่เรานับถือพระเจ้าที่เรียกว่าพระเจ้าปกติ เราบูชาพระเจ้าของเขาด้วยการทำอะไรที่ปกติ ส่วนคนที่ไม่ปกติเขาก็แค่นับถือพระเจ้าองค์อื่นพวกเขาทำในสิ่งที่เขาเชื่อเหมือนกัน เราต่างบูชาพระเจ้าของเรา แล้วไอคนไข้คนนี้มันผิดอะไร ในเมื่อมันก็บูชาพระเจ้าของมันไม่ต่างกับเรา

ทุกอย่างมันมีเหตุผล

ละครค่อยๆเฉลยปมที่ผูกไว้แต่ต้นว่า ไอคนไข้น่ากระทืบคนนี้มันทำไปทำไม พอรู้เหตุผลทั้งหมดแล้วมันไม่ใช่เรื่องไม่ปกติเลย แถมเหตุผลมันง่ายเสียกว่าการทำความเข้าใจที่มาของอนุพันธ์ ปริพันธ์ เสียอีก สุดท้ายฉากตัดกลับมาที่หมอ หมอพยายามบอกว่าเขาสามารถทำให้คนคนนี้เป็นปกติได้ แต่มันควรจะทำจริงๆเหรอ ให้เขามาอยู่ในสภาพแบบเรา นับถือพระเจ้าที่ชื่อว่าปกติ มาใช้ชีวิตแบบปกติที่ซ้ำไปซ้ำมา มันจะดีกับคนคนนั้นจริงๆเหรอ

ขอชื่นชม

คือไปดูละครที่นี่มา 3 ครั้งละ รู้สึกได้เลยว่าเขาเล่มกันเต็มที่มาก ถึงพวกอุปกรณ์ประกอบฉาก ความสมจริงของอุปกรณ์อาจจะมีน้อยซึ่งอาจเกิดจากงบประมาณ แต่มันไม่ทำให้ละครลดความสนุกลงไปเลย ดูไปดูมามันอาจจะสนุกกว่าหนังในโรงภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างเป็นร้อยล้านเสียอีก

สำหรับเรื่องเป็นบทหนังบทละครของต่างประเทศมีการเคยทำเป็นหนังมาแล้วด้วย คนในวงการการแสดงคงรู้จักแต่คนในสายงานอื่นคงไม่รู้จัก ก็แนะนำให้ลองหาดูนะ สนุกดี