Foundation - สถาบันสถาปนา

สถาบันสถาปนา

Foundation - สถาบันสถาปนา

ใครๆคงเคยอ่านนิยายไม่ว่าจะเป็นแนวแฟนตาซี เวทย์มนต์ สืบสวนสอบสวน และอีกหลายๆแนว ยิ่งแนวแฟนตาซีนี่ผมเห็นเพื่อนสมัยมัธยมอ่านกันเป็นว่าเล่นชนิดสัปดาห์ละเรื่องเลยทีเดียว อย่างที่คุ้นหูเลยคือ หัวขโมยแห่งบารามอส แต่ผมดันไปอ่านนิยายกำลังภายในที่เล่าเรื่องคุณธรรมน้ำมิตรที่ประหัตประหารกันด้วยวรยุทธ์เลยคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง พอโตหน่อยก็เริ่มไปอ่านนิยายแนววิทยาศาสตร์เพราะดู Series ต่างประเทศเรื่อง Doctor who ซึ่งดูแล้วมันเจ๋งดีทำให้จินตนาการไปถึงเอเลี่ยน การเดินทางข้ามเวลา และเรื่องนึงที่ได้อ่านแล้วรู้สึกสนุกมาๆคือ สถาบันสถาปนา

ทำนายอนาคตแบบคณิตศาสตร์

เรื่องเล่าถึงยุคที่มนุษย์ได้สร้างอารยธรรมในอวกาศและถูกปกครองโดยจักรวรรดิซึ่งตอนนั้นเทคโนโลยีต่างๆก้าวไปถึงขีดสุด แต่ว่าไม่มีสิ่งใดจะรุ่งเรืองได้ตลอด ตัวเอกของเรื่อง ฮาริ เซลดอน (จะว่าตัวเอกก็ไม่ถูกเสียทีเดียว) ได้พัฒนาวิชา อนาคตประวัติศาสตร์ ซึ่งใช้คณิตศาสตร์คำนวณโดยใส่ตัวแปรต่างๆของสภาพสังคม การเมือง และอื่นๆเข้าไปเพื่อจำลองอนาคตที่อาจเกิดขึ้นมา คืออ่านถึงตรงนี้แล้วผมแบบ เฮ้ยนี่ดิ จะบอกว่าทำนายอนาคตได้มันต้องแบบนี้ ไม่ใช่ใครคนนั้นนั่งสมาธิแล้วกลับมาบอกว่าเป็นแบบนี้ และยิ่งพีคกว่านั้น มันเป็นแบบจำลองที่ทำนายระดับมวลชนไม่ได้ทำนายระดับบุคคลซึ่งตอกย้ำให้คิดว่าเฮ้ยในอนาคตมันอาจจะเป็นไปได้ ซึ่งด้วยวิชานี้ ฮาริ เซลดอน ได้พบว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปจักรวรรดิจะล่มสลายและเข้าสู่ยุคมืดที่เทคโนโลยี ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และต่างๆนาๆจะถดถอยหายไป ซึ่งกินเวลา 1 หมื่นปี กว่ามนุษย์จะกลับมารุ่งเรืองเท่าปัจจุบัน อย่ากระนั้นเลยเมื่อมีสูตรคำนวณที่พอจะทำนายอนาคตได้แล้ว ฮาริ เซลดอน เลยพยายามสร้างหนทางที่จะย่นย่อการล่มสลายจาก 1 หมื่นปี เหลือแค่ 1000 ปีเท่านั้น โดยการจะทำอย่างนั้นได้นั้นเขาจึงสร้าง สถาบันสถาปนา เพื่อทำการสร้างตัวแปรต่างๆเพื่อทำให้อนาคตเป็นไปตามที่ได้ใช้สูตรคณิตศาสตร์คำนวณไว้

เทคโนโลยี ศาสนา การค้า จิตวิทยา หักเหลี่ยม จริยธรรม ทุกอย่างทีว่ามีในเรื่องนี้

มันเป็นความสุดยอดของสุดยอดที่ได้อ่านนิยายวิทยาศาสตร์แต่ดันมีเรื่องพวก ศาสนา การค้า การเมือง และอื่นๆที่ว่าอยู่ในนั้น คืออ่านแล้วบอกว่า เฮ้ย เอาจริงดิ ไม่ว่าจะเป็นการที่ทำให้เห็นว่าการมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามันได้เปรียบกว่ายังไง การใช้ศาสนาที่แบบนี่ล้อเล่นกันใช่ไหม การค้าที่เคยมองว่าแค่ซื้อขายของแต่เรื่องนี้ทำเอาอ้าปากค้าง การแก้ปัญหาจากหลายๆมุม ซึ่งแต่ละมุมมีเหตุผลรองรับมากกว่าเป็นเพราะนิสัยความชอบส่วนตัว

ความทันสมัย

เชื่อไหมว่านิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1942 แบบเฮ้ยยุคนั้นคอมพิวเตอร์ยังเครื่องยังเท่าบ้าน แต่คนเขียนสามารถเขียนบรรยายเทคโนโลยีต่างๆที่คนยุค 2000 อ่านแล้วอินว่ามันอาจเกิดขึ้นได้ ปัญหาเรื่องหุ่นยนต์ที่พึ่งเป็นกระแสมาเมื่อไม่นานนั้น เรื่องนี้ทำได้ล้ำลึกกว่าแค่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์อย่างในคนเหล็ก มันเป็นอะไรทีอ่านแล้วแบบมันถูกตามหลักเหตุผล จริยธรรม แต่มันเป็นทางเลือกที่เลือกได้ยากจริงๆ

อ่านแล้วได้อะไร

อ่านแล้วก็ได้ความสนุก ซึ่งเป็นความสนุกที่ไม่ได้มาจากฉากรักหวือหวา การต่อสู้ด้วยวรยุทธ์ แต่มันสนุกด้วยเหตุด้วยผลที่ทำให้เราตกใจ การหักมุมที่ The sixth sensee เป็นเด็กไปเลย อ่านเรื่องนี้แล้วทำให้เราเห็นเรื่องต่างๆที่เราคิดว่าไม่เกี่ยวกันแต่มันเกี่ยวโยงกันแบบไม่น่าเชื่อ เรื่อง สถาบันสถาปนา นี้เแต่งโดย Isaac Asimov ซึ่งมารู้ที่หลังว่าเขาคือนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ระดับตำนาน อีกทั้งสถาบันสถาปนาเนี่ยมีจักรวาลของมันด้วยนะ เหมือน marvel dc เลย ก็แอบคิดเหมือนกันว่าจะมีค่ายภาพยนตร์ค่ายไหนซื้อมาแล้วเอาไปทำไหมนะ แต่ประเด็นคือคนจะดูรึเปล่าเพราะสนุกด้วยเหตุผลไม่ได้สนุกด้วยการต่อสู้ สุดท้ายขอปิดด้วยคำคมของเรื่องทีว่า

Never let your sense of morals prevent you from doing what is right.