ปรัชญา ประวัติศาสตร์ สายธารแห่งปัญญา - A Little History of Philosophy

ความเบื่อหน่ายที่พามาพบกับ “ปรัชญา”

ปรัชญา ประวัติศาสตร์ สายธารแห่งปัญญา - A Little History of Philosophy

ตอนเด็กๆเคยได้ยินคำว่า “ปรัชญา” ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เข้าใจว่ามันคงเป็นศาสตร์หนึ่งที่จะได้เรียนตอนโต ตัดฉากมาตอนโตขึ้นมาอีกนิดก็ได้ยินคำว่าปรัชญาในวิชาสังคม ได้ยินคำว่านักปรัชญา แต่ก็ไม่เคยได้เรียนวิชาปรัชญาเลย จนเรียนจบทำงานได้ 2 - 3 ปีก็ไม่เคยรู้ว่ามันคืออะไร

จนมาช่วงหนึ่งที่ชีวิตเริ่มไร้สีสัน เบื่อกับการอ่านข่าวเทคโนโลยีบนเว็บที่ส่วนใหญ่จะมาโม้เรื่องยอดขาย เรื่องอะไรที่อ่านแล้วประมาณว่า “แล้วไงวะ” บางทีอ่าน Comment คนที่มาคุยกันนึกว่าจะถกประเด็นเรื่องความเป็นไปได้ เรื่องการนำไปใช้งาน แต่กลายเป็นดราม่าอวยบ้าง ข่มบ้าง จนถึงขีดสุดเลยต้องหาหนังสือมาอ่านแก้ความเบื่อหน่ายและความเหงาเวลาอยู่บนรถไฟฟ้า BTS จนมาลงเอยที่หนังสือ “A Little History of Philosophy” (จริงๆได้ส่วนลดมา ฮ่าๆๆ)

คนที่ตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบ

หลังจากซื้อมาด้วยราคาที่แพงระดับหนึ่ง แถมเขาห่อพลาสติกไม่ให้อ่านเนื้อหาด้านในด้วย มันเลยเป็นเหมือนการซื้อของที่ไม่รู้ว่าข้างในเป็นยังไง คือมันมีโอกาสที่เปิดมาอ่านแล้วรู้สึกว่า “ไม่น่าซื้อมาเลย” (แต่จริงๆปกก็สวยดีนะ) พออ่านไปบทแรกที่พูดถึง โสเครตีส ก็เริ่มสนุกเลย คือเคยแต่ได้ยินชื่อแต่ไม่เคยรู้ว่าเขาคือใคร พอได้รู้ประวัติและวีรกรรมของเขา ซึ่งสมมติถ้าได้ได้เจอตัวแกจริงๆก็คงจะปวดหัวน่าดู เพราะหนังสือบอกว่า โสเครตีส เป็นคนที่ชอบตั้งคำถาม แถมคำถามที่ถามนั้นเป็นคำถามที่พอตอบแล้วจะมีคำถามที่พร้อมจะโต้แย้งไอคำตอบแรกของเรา เช่น

  • A : คุณคิดว่าการมีความซื่อ เป็นเรื่องที่ดีและต้องปฏิบัติตลอดใช่หรือไม่
  • ฺB : ใช่การเป็นคนซื่อเป็นเรื่องที่ดีและต้องปฏิบัติตลอด
  • A : งั้นถ้าเพื่อนคุณจะฆ่าตัวตาย คุณได้แย่งมีดจากเขาเพื่อไม่ให้เขาฆ่าตัวตาย ด้วยการนั้นเป็นการทำไม่ซื่อ ตกลงแล้วความซื่อยังเป็นเรื่องที่ดีที่ควรปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาไหม
  • A : ……

และอีกหลายๆคำถามที่มันชวนให้ไม่สบายใจ หรือขัดกับหลักบางอย่างที่คนเชื่อกัน แต่จริงๆมันเป็นคำถามที่ควรถามนะ เพราะเมื่อถามแล้วเราได้คุยกันแลกเปลี่ยนความคิดกัน เราจะได้เห็นโลกที่อีกฝ่ายนึงมอง หาเหตุผลมาขัดกันเพื่อให้เราเข้าใกล้คำตอบที่ถูกต้องมากกว่าเดิม จริงๆผมเคยถามคำถามพวกนี้กับแม่ผมเช่นกัน เช่น ช่วงเด็กติดถ้ำ แม่ผมเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์บางอย่างขังเด็กไว้ในถ้ำ ต้องไปขอขมาเพื่อให้ปล่อยเด็กออกมา ผมเลยถามคำถามไปว่า

  • ผม : สิ่งศักดิ์สิทธิ์นี่ต้องทำแต่สิ่งที่ดี เรื่องที่ถูกต้องใช่ไหม
  • แม่ : ใช่
  • ผม : งั้นการขังเด็กไว้ในถ้ำนี่จัดว่าเป็นสิ่งที่ดีเหรอ แล้วเรายังจะนับถือไอสิ่งที่ขังเด็กไว้ในถ้ำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยเหรอ

ผมจำไม่ได้ว่าหลังจากนั้นเราคุยอะไรกันต่อแต่ที่รู้ๆกลายเป็นการทะเลาะที่รุนแรงระดับหนึ่ง ผมกลายเป็นคนลบหลู่สิ่งที่มองไม่เห็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจริงๆผมกำลังใช้เหตุผลคุยกับแม่ จริงๆผมอาจจะกำลังจะบอกว่า สิ่งที่ขังเด็กอยู่เนี่ย (ถ้าเด็กถูกขังจริงๆ) มันต้องอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่สิ่งที่แม่กำลังอ้อนวอนให้ปล่อย เพราะสิ่งนั้นคงต้องไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แน่

จริงๆมีอีกหลายเรื่องที่ผมเคยคุยกับแม่ เป็นคำถามเชิงประมาณนี้แหละ แต่ทุกครั้งที่คุยไปถึงจุดนึง ผมจะโดนว่าประมาณว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ หรือ เรียนสูงซะเปล่า คือ ผมก็พยายามบอกแม่เสมอว่า ไอสูงๆที่แม่ส่งไปเรียนเนี่ยแหละ มันทำให้ผมสงสัยและพยายามหาคำตอบด้วยเหตุผล

การที่ผมได้อ่านเรื่องนี้ของ โสเครตีส ทำให้ผมเห็นหลายอย่าง เรื่องบางเรื่องมันมีข้อยกเว้น ในบางกรณี บางสถานการณ์ เรื่องที่เราคิดว่าถูกมันไม่ถูก ในชีวิตจริงมันมีหลายอย่างที่ไม่ใช่ สัจนิรันดร์

พระเจ้ามีตัวตนไหม การพยายามหาคำตอบ ด้วยวิธีการต่างๆ

แต่ละบทของหนังสือเล่าถึงนักปรัชญาแต่ละคน ไล่เรียงไปตามยุคสมัย แต่ละคนมีคำถาม และ พยายามจะหาทฤษฏีมาให้คำตอบ และหนึ่งคำถามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคำถามหนึ่งคือ “พระเจ้ามีตัวตนไหม” นักปรัชญาหลายคนพยายามหาคำตอบ ซึ่งแต่ละคนมีทฤษฎีมารองรับมากมาย ตัวอย่างเช่น

  • ถ้าคุณคิดถึงพระเจ้านั่นแปลว่าพระเจ้าต้องมีอยู่จริง เปรียบเหมือนจิตรกรวาดภาพ ภาพนั้นมีตัวตนในความคิดของเขา แล้วเขาจึงวาดภาพนั้นออกมาจากสิ่งที่อยู่ในความคิดของเขาให้มามีตัวตนจริงๆ พระเจ้าก็คล้ายๆกัน

  • ทุกสิ่งย่อมมีสาเหตุที่เกิดขึ้นมา หากคุณหาสาเหตุของการเกิดย้อนไปเรื่อยๆมันจะเป็นอนันต์และหาคำตอบไม่ได้ แล้วอะไรอยู่ที่จุดแรกล่ะ สิ่งนั้นจะต้องเป็นพระเจ้าแน่ๆ

คืออ่านแล้วมันก็พอทำให้ผมเชื่อได้นะว่าพระเจ้ามีจริงๆ คืออ่านแล้วมันมีอะไรมาสนับสนุนเรื่อยๆ แต่เชื่อเถอะครับในโลกนี้มีคนคิดค่างเสมอ (ผมก็หนึ่งในนั้นกับการคิดต่างเรื่องพระเจ้า) หลายคนพยายามโต้แย้งสิ่งเอ่ยอ้างว่าพระเจ้ามีตัวตน เช่น ทฤษฎีแรกที่ว่าแค่คิดก็มีอยู่จริง งั้นลองจินตนาการถึง เกาะที่สมบูรณ์แบบมีทุกสิ่งที่อย่างอยู่ที่ใดที่หนึ่งกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่ไม่มีใครเคยไป คุณคิดว่ามันมีอยู่จริงไหม แค่การยกตัวอย่างนี้ก็ทำลายทฤษฏีแรกไปแบบไม่เหลืออะไรให้เชื่อละ

แต่สำหรับผมมีทฤษฏีหนึ่งที่ผมชอบในการที่จะบอกว่าพระเจ้ามีตัวตนมากๆ แต่จริงๆจะใช้คำว่าบอกว่ามีตัวตนไม่ถูกนะต้องใช้คำว่าเราควรเชื่อว่ามีพระเจ้าไหม มันคือทฤษฏีของ เบลส ปาสกาล คือที่ใช้ทฤษฎีความน่าจะเป็นและผลลัพธ์ที่ตามมาที่จะช่วยให้เราควรเชื่อว่ามีพระเจ้าไหม ว่าง่ายๆเลย การเชื่อว่าพระเจ้ามีจริงก็คือการพนันแบบ 50 / 50 อันนี้เหมือนโยนเหรียญ ถ้าคุณเป็นนักพนันมืออาชีพ คุณจะต้องดูว่าผลลัพธ์กับความเสี่ยงที่ได้รับก่อนการพนัน

  • ทางเลือกที่จะไม่เชื่อสิ่งที่คุณจะได้คือ คุณจะใช้ชีวิตแบบไหนก็ได้ เป็นอะไรที่อยากเป็น ทำอะไรที่อยากทำ ทำดีทำชั่วช่างหัวแม่งเพราะพระเจ้าไม่มีจริง แต่ความเสี่ยงที่คุณจะได้รับคือ ถ้าพระเจ้ามีจริง คุณจะต้องตกนรกไม่ได้ไปไหนชั่วนิรันดร์ ไม่ได้ไปแดนสวรรค์หรือพันธสัญญา

  • ทางเลือกที่จะเชื่อ คุณจะต้องไปทำกิจกรรมบางอย่างของศาสนา คุณจะต้องประพฤติตัวตามกฏ ชีวิตคุณจะถูกบังคับให้ทำอะไรหลายอย่าง แล้วความเสี่ยงล่ะ ถ้าพระเจ้ามีตัวตนจริงๆ คุณสบายได้เลยคุณจะได้ไปสวรรค์มีความสุขชั่วนิรันดร์ หากพระเจ้าไม่มีคุณก็แค่ตายแล้วหายไปจากโลก

จาก 2 ทางเลือกคุณจะเห็นว่าถ้าคุณเป็นนักพนันที่มีหัวคิดสักนิด คุณน่าจะเลือกเชื่อเพราะ ความเสี่ยงมีน้อยกว่ามากเลยใช่ไหมล่ะ แหม่ก็ใครมันจะไม่กลัวตกอยู่ในนรกนิรันดร์ล่ะ เรื่องนี้ถูกพูดโดยคนคริสต์ แต่ใช่ว่าจะมีแค่ศาสนาคริสต์นะ ไอเรื่องนี้ผมเคยได้ยินจากกลุ่ม หรือสมาคมทางศาสนาของศาสนาพุทธที่ผมนับถืออยู่เหมือนกัน (จริงๆผมนับถือพุทธรึเปล่าก็ไม่รู้) แต่บอกถามตรงนะ สำหรับผมมันก็เแค่อารางวัลมาล่อแหละ คุณคิดว่าถ้าคุณเป็นพระเจ้า คุณจะควรจะรับไอพวกที่กลัวพนันแพ้เลยเออออทำเรื่องดีๆเข้าไปสวรรค์เหรอ (ผมไม่ตอบนะอันนี้อยู่ที่มุมมอง)

ลงมือทำดีกว่า

บทหนึ่งที่ผมชอบที่สุดคือบทที่พูดถึงนักปรัชญาชื่อ วอลแตร์ ในช่วงของเขามีทฤษฎีที่ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง” เพราะพระเจ้าท่านทรงคิดว่ามันดี คือผมได้ยินทฤษฎีนี้แล้วแบบ เฮ้ย บ้ารึเปล่าวะ มันดีจริงๆเหรอ มันพิสูจน์ได้ยังไงว่าดี คนดีถูกคนชั่วใส่ร้ายป้ายสีแล้วนอนคุกฟรีมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหรอ ถ้าเป็นผมผมคงแหกปากบอกคนอื่นๆว่ามันไม่ใช่โว้ยแล้วยกตัวอย่างให้ฟัง(และผมคงโดนจับเข้าคุกและอาจโดนแขวนคอ) แต่วอลแตร์ไม่ได้ทำแบบบั้น เขาเขียนนิยายครับ เป็นนิยายชื่อ Candide ว่าด้วยเรื่องของนักเดินทางที่เดินทางไปพบกับเรื่องราวเลวร้ายต่างๆ คนนึงเป็นนักบวชเชื่อเสมอว่า “สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง” กับอีกคนที่เป็นผู้ติดตามก็เชื่อเหมือนกัน แต่เมื่อผ่านเรื่องราวเลวร้ายต่างๆไปเรื่อยๆตลอดการเดินทาง ผู้ติดตามเริ่มสงสัยว่ามันใช่สิ่งที่ถูกต้องเหรอวะ หนังสือเล่าเรื่อยๆจนถึงตอนจบไม่มีการตัดสินว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด แต่สิ่งที่ตัวผู้ติตตามพูดตอนจบคือ ต่อให้มันจริงไม่จริงเราก็ต้อง “ทำสวน” ทำสวนในที่นี้ของวอลแตร์คือ “การทำประโยชน์ให้โลก” ผมว่ามันดีกว่าการมาบอกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วงอมืองอเท้าไม่ทำอะไร”

ยังมีอีกหลายเรื่องในหนังสือเล่มนี้ (เล่าหมดเดี๋ยวไม่ซื้อมาอ่านกันพอดี)

จริงๆยังมีอีกหลายเรื่องในหนังสือเล่มนี้ซึ่งอ่านแล้วว้าวมากๆ ไม่ว่าจะเป็น การค้นพบทางวิทยาศาสตร์มีผลยังไงกับปรัชญา กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นระบบระเบียบขนาดนี้มาจากไหน ปรัชญาก่อให้เกิดรูปแบบแนวคิดการเมืองการปกครองอย่างไร การทดลองทางศีลธรรมที่น่าสนใจที่ทำให้เราคิดว่าทำไมเราถึงยอมรับบางกรณีได้ แต่อีกกรณีทำไมไม่ยอมรับทั้งที่ผลลัพธ์เดียวกัน ทฤษฏีต่างๆที่น่าสนใจจากนักปรัชญาหลายคนในประวัติศาสตร์

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับเล่มนี้ผมได้เห็นมุมมองแปลกใหม่เกี่ยวกับทฤษฎี การหาคำตอบ การโต้แย้งของคนในช่วงเวลาต่างๆ มันเป็นการเปิดโลกกว้างด้วยราคาประมาณ 300 กว่าบาท สำหรับใครที่เบื่อหน่าย เหงา ไม่มีอะไรทำ ผมแนะนำให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ คุณจะสนุกหยุดไม่อยู่ไปกับการรู้ว่านักปรัชญาแต่ละคนคิดอย่างไร คุณจะเกิดคำถามในใจ มีข้อโต้แย้ง หรือเห็นด้วยกับ ทฤษฎีและความคิดเหล่านั้น และไม่แน่คุณอาจเกิดคำถามว่า พระเจ้ามีจริงไหม คอมพิวเตอร์คิดได้ไหม หรือคำถามอื่นๆมากมาย และคุณอาจจะพยายามหาคำตอบเหล่านั้นเดี๋ยววิธีการ หรือ ทฤษฎีของคุณ และไม่แน่คำตอบของคุณอาจเข้าใกล้ความเป็นจริงมากกว่านักปรัชญาในประวัติศาสตร์ให้คำตอบก็ได้

ref :
https://medium.com/literally-literary/voltaires-candide-is-the-hero-we-need-59e1c9e9292
https://pixabay.com