พลังสร้างสรรค์ ของกำนัลแด่ผู้ฉีกกรอบ - Creativity

อะไรคือความสร้างสรรค์ แล้วทำยังไงถึงจะสร้างมันขึ้นมาได้

พลังสร้างสรรค์ ของกำนัลแด่ผู้ฉีกกรอบ - Creativity

เมื่อเป็นโปรแกรมเมอร์ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ชีวิตของคุณจะต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างศาสตร์และศิลป์ คุณต้องมีเหตุผลแต่คุณก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ผสมปนกันไปมันเป็นอะไรที่โคตรจะยาก การจะอยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่งที่ต่างกันสุดขั้ว เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ จะทำยังไงให้สร้างสรรค์อะไรที่แตกต่าง อะไรที่ดูแล้วร้องว้าว เลยไปลองสุ่มหาชื่อหนังสือในเว็บขายหนังสือจนเจอหนังสือชื่อ พลังสร้างสรรค์ ของกำนัลแด่ผู้ฉีกกรอบ ซึ่งพอเห็นปกก็ร้องอ๋อเลยเพราะเป็นหนังสือในชุดของ OSHO ซึ่งเคยอ่านไปแล้วเล่มนึงเรื่องอิสรภาพซึ่งเนื้อหาอ่านยากแต่เปิดมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับการมองโลกเลยลองสั่งซื้อมาอ่านดู

นามธรรม เปรียบเทียบ และ ไม้บรรทัดที่เป็นวิทยาศาสตร์

เป็นไปตามคาดครับหนังสือของ OSHO นั้นอ่านยากจริง แถมยากกว่าเล่มแรกอีกคงเป็นเพราะคำว่าอิสรภาพเข้าใจง่ายกว่า (ไว้ว่างๆจะมีเขียนถึงเล่มนั้น) แต่พอมาเรื่องความสร้างสรรค์ซึ่งเราไม่เข้าใจอยู่แล้วเราเลยยิ่งมืดแปดด้าน อ่านแต่ละบรรทัดมีแต่อะไรที่เป็นนามธรรม การเปรียบเทียบ ตัวเรื่องจะยกตัวอย่างพวกเรื่องเล่า นิทาน นิยาย หรือ เรื่องของบุคคลในประวัติศาสตร์มายกตัวอย่าง ซึ่งอ่านไปบางท่อนบางตอนก็โคตรจะขัดแย้งกับหลักที่เราคิด และยึดถือปฏิบัติมากมาย บางตอนนี่ถ้าคนเคร่งศาสนาหรือศีลธรรมมเยอะหน่อยนี่ อาจจะอยากปาทิ้งหรือฉีกเอาง่ายๆ ตัวผมเองก็มีบางตอนที่รู้สึกแบบ ดูถูกศาสตร์บางศาสตร์เกินไปรึเปล่า บางทีก็ยกย่องบางคนซะออกหน้าออกตา บางคนกลับดูถูกเขาซะไม่มีชิ้นดี ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจว่า OSHO เอาอะไรเป็นไม้บรรทัดวัดค่าของงานสร้างสรรค์แต่ละงาน เช่น ภาพของแวนโก๊ะในสายตาผมแม่งโคตรจะแบบ โอ แล้วไง ถ้าเทียบกับภาพที่เพื่อนผมเคยวาดเมื่อตอนประถมผมว่ามันสวยกว่าเสียอีก แต่ OSHO กลับยกย่องซะแบบนี่แหละภาพที่สุดยอดมีความหมาย คือเหมือนแกคิดเองเออเองเป็นส่วนใหญ่ หรือผมอาจจะเข้าไม่ถึง OSHO เองก็ได้ แต่เขาก็เขียนไว้ดีว่า เราตัดสินคนอื่นจากตัวของเรา เราไม่มีทางรู้จักคนอื่นได้ดีกับตัวเขาเองหรอก ดังนั้นผมก็เลยคิดว่าปล่อยเรื่องที่ OSHO เขาคิดยังไงทิ้งไป มันคงไม่มีคำตอบและไม่มีใครตอบได้เพราะ OSHO ตายไปแล้ว

ความคิดสร้างสรรค์มีในเด็กทุกคน

อ่านไปเรื่อยๆจนเจอตอนนึงพูดถึงความคิดสร้างสรรค์นั้นมีอยู่ในเด็กทุกคน เด็กทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์เสมอ ซึ่งพออ่านตามไปเรื่อยก็เจอว่าจริงนะ ผมนึกถึงตัวเองตอนเด็กวาดภาพอย่างสนุก ลากเส้นต่อกันเป็นบ้าน ระบายสีบ้านเป็นสีเหลือง ระบายพระอาทิตย์เป็นสีฟ้า วาดนกประหลาดๆ ตอนเราเป็นเด็กเราไม่มีอะไรมาครอบ มาสั่งสอน มากีดกันความคิด อะไรก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งจริงๆ OSHO บอกว่ามันไม่ใช่อะไรที่ทำนอกกรอบ แต่เป็นการทำอะไรที่ใจเรานึกถึงตอนนั้นไม่มีอะไรมากั้นขวางต่างหาก ไม่มีคนมาบอกเราว่าพระอาทิตย์ต้องสีแดงแล้วมีแฉกสีเหลือง บ้านต้องเป็นเหลี่ยม นกต้องเป็นอย่างนั้น และจริงๆแล้ว ความคิดสร้างสรรค์คือการที่เราทำสิ่งนั้นอย่างสนุก ไม่ได้คิดถึงชื่อเสียง เงินทอง ทำแล้วจดจ่อกับมัน เพลิดเพลินไปกับมันนั่นแหละคือความสร้างสรรค์ พอถึงจุดนี้มันทำให้ผมนึกถึงตอนที่ผมหัดเขียน Program ใหม่ๆ ตอนนั้นอะไรก็สนุกไปหมด เรามีหนังสือสอน Syntax แต่ไม่มีหนังสือสอนวิธีการแก้ปัญหา เราสนุกกับการคิดค้นวิธีไปเรื่อยๆ การแก้ปัญหาสนุกสุดมันส์ จำได้ว่าตอนแก้ปัญหาด้วย Recusive เป็นอะไรที่สนุกมาก คือไม่รู้ว่าอะไรคือ Recursive แต่ตอนนั้นลองเล่นเอา Function เรียกตัวเอง แล้วแบบเฮ้ยมันทำได้ด้วยว่ะ ถ้างั้นลองเอามาทำแบบนี้ดูสิ ผสมปนเปไปเรื่อยๆ มันเป็นอะไรที่สนุกมาก ความรู้สึกในตอนนั้นคงจะเป็นความรู้สึกที่ OSHO อาจจะกำลังบอกก็ได้ เวลาที่เราทำอะไรบางอย่างอย่างสนุกสนาน จิตใจจดจ่ออยู่กับมัน ไม่มีเงินทอง ชื่อเสียง หรืออะไรมาบีบบังคับ นี่คงเป็นสิ่งที่เรียกว่าสร้างสรรค์ เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรใหม่ เราแค่ทำมันอย่างสนุกสนาน อย่างจดจ่อ แค่นั้นก็เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์แล้ว ไม่ว่าจะโปรแกรมเมอร์ คนล้างจาน ชาวนา อาชีพไหนๆก็มีความสร้างสรรค์ได้ทั้งนั้น

อ่านแล้วได้อะไร

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วได้อะไรเหรอ บอกตามตรงว่าไม่ได้สิ่งที่เรียกว่าความสร้างสรรค์ที่ผมต้องการเลย ผมอยากได้วิธีสร้างสรรค์งานแบบฉีกกรอบ แหวกแนว ดูแล้วว้าว แต่สิ่งที่ได้จากเล่มนี้กลับเป็นอะไรที่สุดยอดมากกว่า การที่ทำให้เราจำได้ว่า ความรู้สึกสนุกตอนนั้นคืออะไร แล้วทำยังไงถึงจะเอามันกลับมา การละทิ้งความยึดมั่นถือมั่นบางอย่าง กลายเป็นคนที่ว่างเปล่าที่พร้อมจะรับทุกอย่าง วิธีที่จะกลับไปมีความรู้สึกแบบเด็กอีกครั้ง แต่ข้อเสียของหนังสือก็เยอะเหมือนกัน อย่างแรกเลยคือ่านยาก อย่างที่สองคือมีเนื้อหาที่ค่อนข้างขัดกับแนวคิดที่เราเชื่อถืออยู่ การวัดค่าอะไรมาจากใจของ OSHO ล้วนๆไม่มีอะไรที่อ้างอิงได้วิทยาศาสตร์ อ่านๆไปอยากจะฉีกทิ้งก็มี ดังนั้นผมแนะนำว่าเวลาอ่านหนังสือเล่มนี้หรือหนังสือของ OSHO พยายามลืมทุกอย่างที่เรียนมา ปล่อยมันทิ้งไป แล้วทำความเข้าใจกับมัน เพราะมันไม่ใช่วิทยาศาสตร์แต่เป็นอะไรที่ต้องใช้ความรู้สึก