เบิกบานยินดี ความสุขที่ไม่ต้องแสวงหา - Joy

ความสุขคืออะไร

เบิกบานยินดี ความสุขที่ไม่ต้องแสวงหา - Joy

ความสุขคืออะไรเป็นคำถามที่น่าปวดหัวมากคำถามหนึ่ง ถ้าใครบอกว่าวิชาเลขยากมากๆไม่เข้าใจผมว่าลองหาคำตอบของคำว่าความสุขคืออะไรดูแล้วจะรู้ว่าวิชาเลขนั้นไม่ได้ยากมากมายอะไรเลย คงเป็นเพราะความสุขอยู่ที่แต่ละมุมมองของแต่ละบุคคลว่าความสุขคืออะไร ซึ่งคนที่นิยามมันได้ถือว่าเขาคนนั้นไม่มีปัญหาเรื่องวิธีที่จะมีความสุขละเพราะเขารู้ว่าความสุขของเขาคืออะไร แต่สำหรับผมที่ไม่เคยนิยามความสุขคืออะไร หรือวิธีที่จะได้มาคืออะไร จะเป็นความสุขคงเป็นความรู้สึกสนุกตอนเล่นเกมส์รึเปล่า หรือตอนกำลังคุยกับสาว หรือว่าตอนกินอาหารอร่อย มันเป็นความรู้สึกตอนไหนกัน เนื่องจากไม่รู้ว่าความสุขคืออะไร เลยลองหาหนังสือที่พูดเกี่ยวกับความสุขมาสักเล่มนึงมาอ่าน และสุดท้ายมาจบลงที่หนังสือชื่อ “เบิกบานยินดี ความสุขที่ไม่ต้องแสวงหา” ของ OSHO อีกแล้ว ถามว่าทำไมต้องหนังสือของ OSHO คงเป็นเพราะผมอยากจะรู้ว่าตัวจะมีความคิดเห็นอย่างไรระหว่าง แนวคิดใหม่ที่พึ่งได้รับกับแนวคิดที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่จำความได้ เลยซื้อหนังสือของ OSHO มาเพราะเป็นหนังสือที่อ่านแล้วทำให้หงุดหงิดกับนวคิดของเขาแทบจะตลอดทุกวันที่อ่าน ซึ่งถ้า OSHO ยังมีชีวิตอยู่ตอนนี้เขาคงได้ค่าลิขสิทธิ์เพิ่มแล้วล่ะ

เมื่อมีสุขย่อมมีทุกข์ ถ้าไม่อยากทุกข์ จงอย่าปรารถนาในความสุข

พอเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้บอกเลยว่ากลิ่นอายความเป็นศาสนาพุทธนั้นมาเลย แต่เป็นแนวคิดทางพุทธที่พุ่งไปหาเรื่องของหลักสำคัญเสียมากกว่า ไม่เหมือนตอนที่เรียนตั้งแต่เด็ก บอกเลยว่าตอนเด็กผมเรียนโรงเรียนวัดเลยได้เรียนเกี่ยวกับพุทธศาสนามากหน่อย แต่มากในทางนิทานซะส่วนใหญ่ ผมต้องนั่งท่องว่าบิดามารดาพระพุทธเจ้าชื่ออะไร 10 ชาติก่อนพระองค์คือใคร ชื่อเมืองฝ่ายบิดา ชื่อเมืองฝ่ายมารดา วงศ์ตระกูลของพระองค์ ที่พีคกว่าคือยังต้องจำชื่อม้าที่พระองค์ใช้หนี ม้ายังไม่พอนะต้องจำชื่อคนตัดผมพระองค์อีก ตอนนั้นก็ไม่คิดอะไรนะจำได้แล้วเอาไปตอบถูกก็ดีใจ แถมมีเรื่องไปเล่าให้พ่อให้แม่ฟังว่าเรียนอย่างโน้นอย่างนี้ แต่พอโตมาผมเหมือนโดนสอนเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนวนเทป ป.1 - ป.6 ม.1 - ม.6 ทำไมผมต้องมานั่งจำอะไรพวกนี้ด้วยวะ สิ่งที่ศาสนาควรสอนคือส่วนสำคัญสิ ส่วนที่จะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทำไมต้องนั่งสมาธิ มีอย่างอื่นทำได้นอกจากใช้นั่งสมาธิไหม เวลาทุกข์ เวลาสุข เราจะรู้ได้ไงว่ากำลังทุกข์ กำลังสุข และจะไปนิพพานได้ไง บางคนก็บอกว่าถ้าจะนิพพานต้องบวช เฮ้ย นี่ถ้าไม่เคยฟังเรื่องที่สอนมาตั้งแต่เด็กนะจะบอกว่า “อ้อต้องบวช” แต่ถ้าได้ฟังเรื่องที่เล่าที่ชอบเล่ากันจะบอกว่า “คนธรรมดาก็ไปนิพพานได้โว้ย” ไม่เห็นต้องบวชเลย ถามว่าเข้าใจว่าทำไมเขาต้องสอนแบบนี้ก็พอเข้าใจนะเพราะเด็กมันจะฟังเรื่องทุกข์สุขมันก็คงจะปวดหัวตายก่อน เลยต้องเล่าอะไรที่เป็นนิทานให้ฟัง แต่ผมไม่ค่อยชอบตรงที่พอเด็กเริ่มโตแล้ว เช่น มัธยม ผมว่าควรจะสอนอะไรที่ไม่ใช่นิทานละ ควรสอนอะไรที่เจาะลึกไปเลยว่า สุข ทุกข์ คืออะไร อาจให้เด็กยกตัวอย่างความสุขของตัวเองขึ้นมา ยกตัวอย่างความทุกข์ขึ้นมา ยกตัวอย่างว่าสุขวันนี้กับสุขเมื่อวานเท่ากันไหม ความสุขเริ่มหายไปตอนไหน ทุกข์มาได้ยังไง อะไรประมาณนี้ นอกเรื่องไปไกลละตอนนี้กลับมาที่หนังสือเล่มนี้ หนังสือเล่มนี้เริ่มพูดถึงความทุกข์ความสุขโดยใช้การยกตัวอย่างความสุขให้เราเห็นและเริ่มชี้ให้เห็นวัฏจักรเกี่ยวกับสุขทุกข์ด้วยภาพในชีวิตประจำวัน ซึ่งอธิบายง่ายๆและเห็นภาพ เช่น พอเรามีความสุขกับสิ่งหนึ่ง เราจะยิ่งโหยหาความสุขที่ใหญ่กว่านั้นไปเรื่อยๆ พอไม่ได้ก็ทุกข์ มันวนเวียนไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ไม่พูดถึงเวรกรรมห่าเหวอะไรเลย เขาพูดถึงทุกข์ ณ ปัจจุบันล้วนๆซึ่งใกล้ตัวกว่ามาก ไม่ต้องละครจบแล้วตัวโกงได้รับโทษ แต่อันนี้คือชี้ให้เห็นความทุกข์ง่ายๆที่เกิดกับใครก็ได้ไม่ว่าจะพระเอก นางเอก ตัวโกง คนใช้ ทุกคนเจอกับมันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และไม่ต้องเอากรรมเก่ามาอ้างว่าทุกข์เพราะเคยทำอะไรไว้ พอเล่าถึงจุดนึงทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์ก็คือสุขของเราเนี่ยแหละ การจะหลุดพ้นจากมันได้คือ “ต้องไม่ปรารถนาความสุข” ซึ่งฟังแล้วก็ประหลาดมากเลยนะ คือ เฮ้ยไม่ปรารถนาความสุขแล้วจะสุขได้ไงวะ ซึ่งพออ่านไปคือเราไม่ต้องปรารถนาความสุข แต่เราต้องออกมาจากวัฏจักรความทุกข์ความสุข เราต้องเห็นภาพรวมของมัน อะไรก็ไม่เที่ยงแท้ สำหรับผมมันไม่ใช่คำว่า “ทำใจ” ที่หลายคนบอกว่าต้องทำใจเรื่องความทุกข์ แต่เราต้อง “เข้าใจ” เพราะทำใจเราแค่กดความทุกข์ไว้ แต่เข้าใจคือเราเข้าใจว่าทำไมเป็นแบบนั้น เราจะไม่ทุกข์เพราะเข้าใจว่ามันเป็นแบบนั้นเพราะอะไร ผมว่าอันนี้แหละเหมาะกับว่า “ตรัสรู้” ที่เราชอบท่องกัน คือพระองค์รู้และเข้าใจเรื่องความสุขความทุกข์อย่างแท้จริง พระองค์จึงไม่ต้องทุกข์อีกแล้ว

อ่านแล้วยังหงุดหงิด

ในส่วนที่น่าหงุดหงิดก็มีมากมายครับสำหรับเล่มนี้ คือผมไม่รู้ว่า OSHO แกชอบยกตัวอย่างอะไรเกี่ยวกับสัตว์ แกชอบบอกว่าสัตว์มันไม่ทุกข์หรอกมันมีแต่ความสุข คือถ้า OSHO ได้ดูสารคดีอย่างที่ผมเคยดูเกี่ยวกับแม่ลิงที่ลูกลิงตายแล้วนั่งหงอย นั่งเศร้า อีกตัวอย่างนึงคือสัตว์ไม่เคยกักตุน อันนี้ OSHO คงจะไม่ได้ดูสารคดีหน้าหนาวของสัตว์โลก ไม่ว่าจะเป็นกระรอกที่เอาลูกไม้ไปฝังเพื่อใช้กับกินในหน้าหนาว คือมันฝังแหลกแจกโชคถึงขนาดจำไม่ได้ว่าฝังไว้ที่ไหนบ้าง คิดดูละกันว่ากักตุนแค่ไหนล่ะ หรือการยกตัวอย่างเรื่องน้ำหนักว่าคนอ้วนชอบคือคนชอบกักตุน คนท้องผูกคือคนชอบกักตุน เฮ้ยนี่จับแพะชนแกะสรุปกันง่ายๆนี่หว่า ในมุมมองผม OSHO คงอยากยกตัวอย่างง่ายๆ แต่สำหรับผมที่ได้ดูสารคดีและโชคดีกว่าที่เกิดหลังแกตายไปแล้วเลยได้พบเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่สรุปอะไรได้ดีกว่าแกเลยมองว่าแกออกจะสรุปอะไรแบบมั่วๆมากไปหน่อย ดังนั้นเรื่องนี้สอนให้ผมรู้ว่า “เราต้องคิดและพิจารณาเสมอเมื่อเรากำลังอ่านอะไร”

อ่านแล้วได้อะไร

สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้คงทำให้เข้าใจเรื่องความทุกข์ความสุขมากขึ้นอีกนิด ทำให้เราเข้าใจวัฏจักรเวียนว่ายตายเกิดในเวอร์ชั่นที่ใช้กับชีวิตจริงได้และไม่ต้องพึ่งบุญหรือโทษเวรกรรม สิ่งที่เราต้องทำคือเราต้องทำความเข้าใจตัวเองให้มากขึ้น ต้องรู้ว่าตัวเองทำไมสุข ตัวเองทำไมทุกข์ มองโลกด้วยความเข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในขณะนี้มันคืออะไร ถ้าเราเข้าใจจริงๆเราคงจะได้นิพพานอย่างที่พระพุทธเจ้าทำได้ สำหรับผมหนังสือเล่มนี้เอาไปเป็นหนังสือนอกเวลาให้เด็กอ่านได้อย่างสบายๆเลย สำหรับใครที่ว่างๆหรือหาอะไรอ่านระหว่างกำลังเดินทาง (ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ตอนอยู่บน BTS ) ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้เลย

เพลงประกอบการเขียนบทความนี้

เพลงไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาเลย แค่ชอบมากเพราะพี่ปิงปองกับพี่แอนร้องเพลงคู่กันอีกครั้ง สำหรับแฟนคลับถือเป็นอะไรที่เซอไพร์มากๆ จริงๆอยากให้พี่เขาออกอัลบั้มคู่กันอีกสักรอบ แต่คงจะยากเพราะทำออกมาแล้วคนที่ซื้อคงจะมีแต่แฟนคลับทำแล้วคงไม่คุ้ม ตัดกลับมาสมัยนี้แค่ขายบัตรจับมือบริษัทบางบริษัทบางบริษัทก็รวยเละเทะแล้ว แกรมมี่น่าจะลองทำบัตรจับมือบ้างนะ ฮ่าๆๆๆ บัตรจับมือพี่เบิร์ดอะไรอย่างงี้