อิสรภาพ กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง - Freedom

ซื้อแบบไม่รู้เนื้อใน ไม่อ่าน Review ไม่อ่านอะไรทั้งนั้น

อิสรภาพ กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง - Freedom

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกของ OSHO ที่ผมอ่านซึ่งจริงๆไม่ได้รู้จักยี่ห้อ OSHO อะไรเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแกเป็นผู้นำทางความคิดหรืออะไร ซึ่งที่ซื้อมาอ่านเนี่ยเพราะ page : tactschool แนะนำให้ลองอ่านหนังสือของ OSHO บวกกับช่วงนั้นอยากหาอะไรใหม่อ่านดูซึ่งผมมักเห็นข่าวเกี่ยวกับการร้องขออิสรภาพในอะไรหลายๆอย่าง เพื่อนผมบางคนที่เรียนเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ก็โพส Face กันรัวๆเรื่องอิสรภาพ พอเห็นหนังสือชื่อเรื่อง อิสรภาพ เลยจัดมาเลยละกัน

อิสรภาพที่หลายคนโหยหา

ตอนแรกคิดว่าหนังสือเล่มนี้มาแนวประมาณ How to การสร้างอิสรภาพ หรือ ยกตัวอย่างอิสรภาพต่างๆ จริงๆคิดว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์การต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออิสรภาพด้วยซ้ำ แต่พอเริ่มอ่านนี่ผิดคาดมากครับ มาแนวศาสนาซะงั้น คือสิ่งที่ OSHO เล่าในเรื่องนี่บอกเลยว่าใครบูชาศาสนาในระดับมากๆนี่มีโกรธมากๆแน่ ซึ่ง OSHO อธิบายเรื่องอิสรภาพได้น่าสนใจ แถมเป็นการพลิกกระดานสิ่งที่เชื่อมาทั้งหมด OSHO ว่าด้วยเรื่องโครงสร้างทางสังคมในปัจจุบันเป็นเรื่องที่แย่ทำให้คนเราขาดอิสรภาพ ไม่ว่าจะเป็นกฏหมาย การเมือง ศาสนา ซึ่งอ่านไปบางทีก็หมันไส้แกอยู่เหมือนกันเพราะแบบ ไม่มีกฏหมายบ้านเมืองจะอยู่ยังไงวะ ซึ่งพออ่านไปเราจะเข้าใจสังคมอุดมคติของ OSHO ครับว่ามันจะมาได้ยังไง

อิสรภาพต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ

เป็นครั้งแรกๆเลยที่ได้ยินคำว่าอิสรภาพกับคำว่ารับผิดชอบมาด้วยกัน ปกติเวลาฟังใครพูดเรื่องอิสรภาพนี่เขาจะพูดร่ายยาวเกี่ยวกับอิสรภาพในการทำอย่างงั้นอย่างโน้นอย่างนี้ อิสรภาพที่จะทำห่าอะไรก็ได้เพราะเรามีอิสรภาพ บลาๆๆๆๆ ต่างๆนาๆ แต่ OSHO นี่มาแปลกครับ แกเล่าว่ายิ่งคุณมีอิสรภาพมากเท่าไหร่ คุณยิ่งต้องมีความรับผิดชอบมากเท่านั้น การที่เราจะมีอิสรภาพเราต้องมีความรับผิดชอบ รับผิดชอบกับอิสรภาพที่คุณเลือก ถ้าคุณอยากเลือกเส้นทางนี้คุณต้องยอมให้ได้นะกับผลที่ตามมาไม่ว่าจะดี จะร้าย จะทำให้คนเจ็บปวด สูญเสียอะไรหลายๆอย่างคุณก็ต้องรับผิดชอบกับผลนั้น ผมอ่านถึงตรงนี้แล้วแบบ นี่ดิสิ่งที่ควรจะพูดเกี่ยวกับอิสรภาพเสมอ คุณมีอิสรภาพก็จริงแต่คุณต้องรับผิดชอบการกระทำของคุณด้วยนะ ซึ่งรู้ไหมครับคนส่วนใหญ่ที่ต้องการอิสรภาพไม่เคยจะยอมรับความรับผิดชอบที่ต้องได้เลย ส่วนใหญ่จะโทษสังคมว่าห่วยแตก อย่างนั้นอย่างงี้ คือจริงๆเขาต้องยอมรับสิ่งที่เขาจะได้เจอเวลาเลือกเส้นทางนั้นนะ

อิสรภาพเพื่ออะไร สำคัญกว่า อิสรภาพจากอะไร

อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ OSHO พูดได้โดนมากครับ คือถ้าคุณเคยฟังพวกนักเรียกร้องอิสรภาพพูดเขาจะบอกเสมอว่าเขาต้องการอิสรภาพจากอะไรเสมอ แต่เขาไม่เคยพูดถึงสิ่งที่จะทำต่อจากการได้อิสรภาพแล้วเลย OSHO ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอินเดีย (น่าจะบ้านเกิดของแก) เรื่องการเรียกร้องอิสรภาพของอินเดียจากอังกฤษว่า (ซึ่งไม่รู้ว่าจริงไหม) กลุ่มปฏิวัติไล่อังกฤษออกไปแล้วจากนั้นชาวอินเดียทำอะไร ชาวอินเดียฆ่ากันเอง พวกเขาไม่รู้ว่าเขาได้อิสรภาพนั้นมาแล้วพวกเขาจะทำอะไรกัน พวกเขาได้อิสรภาพมาแล้วเขาก็กลัวว่าคนอื่นฝ่ายอื่นจะมาขโมยอิสรภาพของพวกเขาไป พวกเขาซึ่งทำอย่างอื่นไม่เป็นนอกจากการวินาศกรรม ดังนั้นเขาจึงทำได้เพียงฆ่าฝ่ายอื่น ซึ่งฝ่ายอื่นนั้นก็คือชาวอินเดียด้วยกัน OSHO จึงให้แนวทางที่ดีว่า ก่อนคุณต้องการอิสรภาพจากอะไร ขอให้คุณรู้ด้วยว่า คุณต้องการอิสรภาพนั้นเพื่ออะไร

อ่านแล้วได้อะไร

จริงๆมีอีกหลายเรื่องที่ OSHO พูดไว้ในเล่มซึ่งก็ดีในระดับนึง แต่บางส่วนก็เหมือนแกยกเมฆด่วนสรุปไปเองหลายๆเรื่อง ดังนั้นเวลาอ่านก็ควรจะวิเคราะห์แยกแยะกันด้วยอย่าเชื่อทั้งหมดที่เขาเขียน สำหรับผมแล้วการอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนเปิดโลกของคำว่าอิสรภาพในมุมมองใหม่ มากกว่าการ ร้องบอกว่า อยากทำอย่างนี้ได้โว้ย อยากทำอย่างนั้นได้โว้ย เล่มนี้สอนให้เราต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราเลือก เพราะเมื่อไหร่ที่เรากล้าที่จะรับผิดชอบสิ่งที่เราเลือกเมื่อนั้นการได้มาซึ่งอิสรภาพคงจะไม่ยากเกินไป

เพลงประกอบการเขียนบทความนี้

เพลงนี้เหมาะกับบทความนี้มากเพราะเราเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองเลือก รักผู้หญิงที่ตัวเองเลือกเอง ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องรับผิดชอบกับการเลือกนั้นด้วยตัวเราเอง จะไปว่าใครไม่ได้นอกจากตัวเราเอง