เต๋า วิถีที่ไร้เส้นทาง - Tao

คำถามเกี่ยวกับชีวิต

เต๋า วิถีที่ไร้เส้นทาง - Tao

หลังจากลืมตาดูโลกมาได้ 20 กว่าปี เราผ่านช่วงต่างๆของชีวิตมาระดับหนึ่งไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น และเริ่มลิ้มรสวัยทำงาน ถ้าคุณไม่ค่อยมีปัญหาหนักอกหนักใจ หรืออาจจะมีแต่ไม่มาก คุณอาจจะเริ่มถามคำถามกับตัวเองเช่น “เฮ้ยเรามีชีวิตทำไมวะ” “ชีวิตต่อไปควรจะเป็นอย่างไร” “สิ่งที่เราเชื่อมันถูกต้องไหม” มันเป็นปัญหาของมนุษย์ ผมเคยได้ยินทฤษฎีเกี่ยวกับมนุษย์ที่ต้องการบางอย่าง อย่างแรกๆคือปัจจัย 4 ต่อมาก็เงินตรา ต่อมาก็เรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณ ความหมายของชีวิต สำหรับผมผมข้ามเรื่องเงินตราไปเพราะไม่ค่อยอยากได้อะไร มันเลยพาไปหาเรื่องจิตวิญญาณ ความหมายของชีวิต หลังจากได้อ่านหนังสือเชิงปรัชญา จิตวิญญาณ ไปหลายเล่ม ผมก็เริ่มสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตมากขึ้นเลยทำให้ตัดสินใจซื้อหนังสือ “เต๋า วิถีที่ไร้เส้นทาง” มาอ่าน ซึ่งจริงๆมันน่าอ่านตรงชื่อหนังสือเนี่ยแหละ วิถีที่ไร้เส้นทาง คืออ่านแล้วมันแปลกๆ บวกกับเขียนโดย OSHO ผู้ซึ่งทำให้หงุดหงิด และประหลาดใจได้ในทุกทีที่อ่าน

ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน

เต๋า ผมไม่รู้ว่ามันเรียกว่าศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่เพราะใจความสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่สิ่งนั้น เต๋าพูดถึงองค์รวม ซึ่งคล้ายกับเซนเล่มที่แล้วที่อ่าน ซึ่งพออ่านๆไปก็พอจะเข้าใจว่าเซนมันเป็นการรวมกันระหว่าง พุทธ กับ เซน เต๋าบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน สอดประสานกัน เชื่อมต่อกัน ตัวท่านเชื่อมต่อกับอดีตเพราะถ้าไม่มีอดีตบางอย่างก็คงไม่มีท่าน ท่านเชื่อมต่อกับอนาคต เพราะท่านทำอะไรสักอย่างมันก็ส่งผลต่อไปในอนาคต ต่อให้ท่านไม่ทำมันก็ส่งผลต่อไปในอนาคต การกระทำทุกอย่างส่งผลต่อกันและกัน ทำให้นึกถึงคำพูดบ้าๆที่เคยได้ยินเรื่อง “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงจันทร์” อยู่เหมือนกัน ซึ่งสำหรับตัวผมมันดูสรุปอะไรง่ายไปหน่อย เพราะจริงๆทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว แต่ประเด็นมันอยู่ที่มันเกี่ยวข้องกันยังไง คุณให้บทสรุปมันง่ายไป เหมือนไปเจอคนโดนฆ่าตายแล้วบอกว่าโดนฆ่าตายโดยใครสักคนบนโลกเพราะอยากฆ่า มันสรุปง่ายไป แต่เต๋าก็ตอบกลับผมง่ายๆว่าเฮ้ยมันเป็นแบบนั้นเพราะแบบนั้น จะเถียงก็ลำบาก แต่ก็ช่างแม่งเถอะ

ขงจื้อ VS เล่าจื้อ

ในชีวิตผมเคยได้ยินชื่อขงจื้อมาเยอะแต่ไม่ค่อยว่าเขาเป็นใคร รู้แค่ว่าเป็นคนจีนที่สร้างหลักการหรือลัทธิอะไรบางอย่างที่คนนับถือมาก ส่วนเล่าจื้อนี่พึ่งเคยได้ยินเลย พอมาอ่านนี่คือแนวคิดสองสายในจีนเลย (ถ้า OSHO ไม่มั่ว และผมขี้เกียจไปหาข้อมูลเพิ่ม) สำหรับขงจื้อนั้นคือรูปแบบของ ค่านิยม ประเพณี จารีต ที่จะปลูกฝังให้คนรู้ว่า ท่านควรจะต้องทำอะไร ท่านต้องมีกริยามารยาทยังไง ใช้ชีวิตยังไง เป็นคล้ายๆ HOW TO ในการเป็นคนที่ดี(ในนิยามของคนจีน)ในสังคม ซึ่งผมก็โอเค แต่พอมาเล่าจื้อนี่บอกเลยว่า พูดอะไร พูดอะไร พูดอะไร (พูดสามครั้งเพื่อเป็นการบอกว่าไม่ได้หลงลืม ไม่ได้ไร้สติ) คือเรื่องเต๋าที่ OSHO เล่า(หรืออาจจะเป็น เต๋า Official) เป็นเรื่องสั้นๆ หรืออาจจะเป็นนิทาน พูดถึง “ขงจื้อ” ซึ่งแม่งแบบอ่านแล้ว เออก็ถูกดี เรื่องแรกที่อ่านคือ เรื่อง ขงจื้อไปเจอคนจนบนภูเขา มีความสุข มีการไต่ถามกันว่าทำไมมีความสุข คนจนตอบประมาณว่า เขาได้เกิดเป็นคนซึ่งประเสริฐที่สุด ได้มีอายุยืนยาว เขามีความสุขดี เขาสามารถหาความสุขได้ร้อยแปดพันประการ ผมอ่านแรกๆก็รู้สึกดี แต่พอ OSHO แกถอดความที่ซ่อนไว้ ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าเต๋าจะเข้ารหัสข้อความให้มันเข้าใจยากเพื่ออะไร ให้คนเลิกศึกษาเต๋า หรือให้เห็นความสำคัญถึงความยากกว่าจะถอดรหัสได้ หรืออะไร ซึ่งผมว่ามันไม่ง่ายเลยทีคนธรรมดาจะอ่านแล้วเข้าใจ มันต้องใช้การตีความในการมองกลับแบบสุดๆ เรามาดูการถอดรหัสของ OSHO กัน

ท่านสุขท่านทุกข์เพราะการเปรียบเทียบ

OSHO ถอดรหัสว่า (ผมแนะนำให้ซื้อหนังสือมาอ่านเพราะจะได้อ่านแบบ Original จริงๆ) ประโยคที่ว่า เขาโชคดีที่ได้เกิดเป็นคนซึ่งประเสริฐที่สุดนั้น นี่คือตัวอย่างแรกของการเปรียบเทียบ ทำไมล่ะ เราเกิดเป็นคนทำไมถึงประเสริฐที่สุด มด หมู แมว ต้นไม้ ทำไมไม่ใช่สิ่งประเสริฐล่ะ ประโยคที่ว่าได้โชคดีที่เกิดเป็นคนถือว่าเป็นสิ่งประเสริฐนี่คุ้นๆกันไหม ผมได้ยินมาตั้งแต่ประถมแล้วก็เชื่อว่าประเสริฐที่สุด แต่คำถามของเต๋าคือ ทำไมมนุษย์ประเสริฐที่สุดล่ะ มันมีเหตุผลอะไร ถ้าเหตุผลที่ผมได้ยินตอนเด็กคือ เราทำอะไรได้มากมายหลายอย่างมากกว่าสัตว์ เดินได้ วิ่งได้ คิดได้ “ดีกว่า” พอมีคำว่า “ดีกว่า” นั่นแปลว่าท่านกำลังเปรียบเทียบ การประเสริฐได้แปลว่าท่านดีกว่าคนอื่น แล้วความทุกข์ความสุขล่ะ ท่านเคยได้ยินคำพูดที่ว่า ดูสิท่านเดินได้ “ดีกว่า” คนพิการตั้งมากโขซึ่งท่านควรจะรู้สึกมีความสุขนะเพราะท่าน “ดีกว่า” เกิดท่านเป็นคนขาขาดข้างเดียว ท่าน “ดีกว่า” คนขาขาดสองข้าง แต่ท่าน “แย่กว่า” คนขาครบ พออ่านถึงตรงนี้ผมว่าทุกคนคงจะเริ่มเห็นภาพอะไรแปลกๆขึ้นมาแล้วรึเปล่า ความสุขของท่านมันเกิดมาจากอะไรกันแน่เหรอลองมองเข้าไปลึกๆ เวลาเราบอกว่าเรามีความสุข ความสุขที่ว่ามันมาจากอะไร มันมาจากการเปรียบเทียบรึเปล่า เรามองไปที่คนที่แย่กว่ารึเปล่า มองไปที่ขอทานแล้วนึกว่า “เฮ้ย เราก็มีความสุขดีนะ ดีกว่า เขาตั้งเยอะ” หรือ เวลามองไปที่คนที่รวยกว่า สะดวกสบายกว่า เราก็จะพูดว่า “เฮ้อ ทำไมเราไม่เป็นแบบนั้นนะ เรา แย่กว่า เขาตั้งเยอะ” จริงๆมันไม่ได้แค่การตีความแค่เทียบกับคนอื่นนะ แต่มันตีความถึงการเปรียบเทียบระหว่างอดีตด้วย เช่น สมัยก่อน “แย่กว่า” นี้ตั้งเยอะ สมัยก่อน “ดีกว่า” ตั้งเยอะ พออ่านถึงตรงนี้ผมเห็นอะไรบางอย่าง ความทุกข์ความสุขที่เห็นอยู่ตอนนี้ นั้นมาจากการเปรียบเทียบทั้งสิ้น เปรียบเทียบกับผู้อื่น เปรียบเทียบกับอดีต ความสุขไม่เคยอยู่จริงกับเราเลย ขอแค่มีตัวแปรที่เอามาเปรียบเทียบเปลี่ยน เราก็พร้อมจะเปลี่ยนเป็นทุกข์เปลี่ยนเป็นสุขได้ตลอด นี่คงเป็นสิ่งที่เล่ม “เบิกบานยินดี” กำลังจะบอกเรื่องวัฏจักรความสุขความทุกข์แต่ไม่ได้อธิบายได้เห็นภาพเท่าเล่มนี้ ถ้าความสุขเกิดจากการเปรียบเทียบแปลว่าอะไร แสดงว่าท่านต้องสร้างคนที่ทุกข์เพื่อที่ท่านจะได้ยังคงความสุขอยู่รึเปล่า การตีความแบบสวนกระแสฉีกตำราแบบนี้คงหาได้ยากตามหนังสือทั่วไป แล้วก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไม OSHO ถึงถูกระบุว่าเป็น “บุคคลอันตราย” เพราะสิ่งที่แกยึดถือนั้นออกจะทวนกระแส และเป็นมุมมองที่ฟังแล้วค่อนข้างตรงกับสิ่งที่ซ่อนเร้นในจิตใจลึกๆของเรา

เกราะทางใจ

เล่มนี้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “เกราะทางใจ” จริงๆมันไม่เรียกว่าเกราะทางใจหรอก มันเรียกว่าสิ่งลดการกระทบกระเทือนทางใจ ผมเลยเรียกมันใหม่ว่าเกราะทางใจละกันง่ายดี เกราะทางใจคือสิ่งที่เราสร้างมาเพื่อให้เราสบายใจ ว่าง่ายๆอย่างเช่น เรื่องทุกข์สุขอย่างที่ผมว่า เราบอกให้ “มองทางโลกให้มองต่ำ” มองไปแบบนี้แล้วเราก็สบายใจว่าเราดีกว่าตั้งหลายคน หรือไม่ก็ที่พีคๆหน่อยเวลาเกิดความทุกข์คือ “เพราะเราทำเวรทำกรรมไว้ ในชาติที่แล้ว” หรือ “ท่านไปไถ่บาปซะนะ ท่านจะได้มีความสุข” อันนี้เป็นเกราะทางใจทางศาสนา เกราะทางใจในเชิงวิทยาศาสตร์ก็มีเช่น เวลาไปหาหมอจิตวิทยาในแบบฟรอยด์ เขาก็ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะแม่ เป็นเพราะวัยเด็ก เป็นเพราะเก็บกดอะไรไว้ (รายละเอียดไปอ่านเพิ่มได้จาก “กล้าที่จะถูกเกลียด” แล้วท่านจะได้แนวคิดที่แตกต่างจากฟรอยด์ ) เรื่องพวกนี้ก็เป็นเกราะทางใจเหมือนกัน สำหรับผมมันเป็นเกราะทางใจจริงๆมันมีข้อดีนะ มันเป็นยาที่ช่วยให้คนอยู่ได้จริงๆ แต่สำหรับคนที่อยากรู้จริงๆ (ช่างสงสัยใคร่รู้) ก็คงอยากจะทลายเกราะทางใจนี้เพื่อตามหาว่า สุขทุกข์จริงๆมันคืออะไร อยากเห็นโลกแบบจริงๆแบบที่มันเป็น

สุภาพบุรุษ สุภาพสตรี

อีกส่วนหนึ่งที่อ่านแล้วสะท้อนความจริงได้ดีก็คือเรื่องการเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี ความหมายในที่นี้คือการเป็นคนที่กระทำบางอย่างตามระเบียบ ประเพณี มารยาท เช่น การแสดงออกทางความรู้สึก ตอนแรกผมอ่านก็เออแล้วไมวะ เป็นก็ดีแล้วนี่ แต่จริงๆแล้วการทำแบบนั้นคือการใส่หน้ากากเหมือนกัน สำหรับผมเวลาคุยกับเพื่อนโปรแกรมเมอร์ที่เรียนมาด้วยกัน หรือเพื่อนสมัยเรียน มันสบายใจมากเพราะทุกคนพร้อมจะแสดงความรู้สึกที่แท้จริง (ผมคิดว่างั้นนะ) โกรธคือโกรธ ชอบคือชอบ เกลียดคือเกลียด เราไม่ต้องกลัวเวลาอยู่กับคนพวกนี้ ถ้ามันโกรธก็ขอโทษ แต่เวลาไปคุยในห้องประชุม(หน้าหมา)ดูสิ มันเป็นความรู้สึกเหี้ยๆที่เราต้องไปคอยสังเกตอารมณ์ สังเกตกริยาท่าทาง ต้องพูดอะไรแปลกๆ ทำไมเราไม่พูดสิ่งที่เป็นจริง ต้องประดิษฐ์ประดอย ปั้นหน้า ห่าเหวอะไร เราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร สุภาพบุรุษ สุภาพสตรี เขาแสดงความรู้สึกที่แท้จริงของเขารึเปล่า เพราะมันมาจากการฝึกของพวกเขา จนบางทีพวกเขาเองอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขารู้สึกยังไง

สิ่งที่ขัดแย้ง

เวลาอ่านหนังสือของ OSHO มันจะต้องมีข้อขัดแย้งเสมอก็ตามเดิมแหละคือเขาชอบสรุปอะไรง่ายๆแบบจับแพะชนแกะ แกบอกว่าเต๋าไม่มีเส้นทาง แต่การสอนที่แกพูดในเล่มนี้เป็นเส้นทาง เต๋าไม่ตัดสินคนอื่นแต่ในเล่มตัดสินขงจื้อเป็นคนไม่ถูกต้องสำหรับเต๋าแล้ว แต่ผมก็พอเข้าใจนะเพราะหนังสือทั้งหมดของแก แกไม่ได้เขียน แต่มีคนเอาสิ่งที่แกพูดแล้วได้บันทึกไว้มาเรียบเรียงเป็นหนังสือมันเลยดูขัดแย้งกัน แต่เรื่องจับแพะชนแกะสำหรับผมยอมรับไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ดังนั้นสำหรับใครที่อ่านหนังสือของ OSHO ผมแนะนำให้คิดตาม คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล อย่าเชื่อทั้งหมด เพราะ “ทุกสิ่งที่ OSHO เล่า เป็นแค่กากตะกอนความคิด ของผู้ที่ตายไปแล้ว” ซึ่งในหนังสือก็บอกไว้เหมือนกัน ผมแค่เอาคำพูดของ OSHO มาพูดซ้ำ และผมว่าแกคงจะเห็นด้วยกับผม และสิ่งที่ถูกต้องคือ ท่านต้องลองด้วยตัวท่านเอง เพราะเรื่องพวกนี้ไม่สามารถส่งต่อกันได้ง่ายๆ

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรังเล่มนี้ทำให้ผมเห็นเรื่องความสุขความทุกข์แบบที่เป็นอยู่มากขึ้น การเปรียบเทียบ การตัดสินผู้อื่น ซึ่งทำให้เราสุขให้เราทุกข์ และพอมองเห็นวิธีจะก้าวออกจากวงจรวัฏจักรสุขทุกข์แบบนี้ เรื่องเกราะทางใจที่ทำให้เราเข้าใจคำสอนต่างๆมากขึ้นและก้าวข้ามเกราะทางใจเข้าไปลึกกว่านี้ ซึ่งก็ต้องลองว่ามันจะเป็นจริงไหม เพราะ “สิ่งที่ OSHO เล่า เป็นแค่กากตะกอนความคิดของผู้ที่ตายไปแล้ว”

เพลงที่อยากนำเสนอ

สำหรับบทความนี้ไม่มีเพลงประกอบการเขียน เนื่องจากมีพระสวดมนต์ตอนเขียนอยู่ เลยเปลี่ยนเป็นเพลงที่อยากนำเสนอ ซึ่งเพลงนี้คือ “อยากรักเท่าที่อยากรู้” ของพี่แอน (อีกแล้ว คือฟังเสียงพี่เขาแล้วสบายหูมาก แบบเครียดๆเรื่องงาน พอกลับบ้านเปิดเพลงพี่แอนฟังแล้วอารมณ์เย็นลงเยอะมาก ) เพลงนี้ผมว่าตรงกับเรื่องที่อ่านๆมาในระดับนึง รักแท้มีแต่คนนิยามกันว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมไม่ต้องเชื่อคนอื่นในเรื่องรักแท้ แค่สัมผัสเรียนรู้ไปกับมัน ใครจะบอกว่ามันคืออะไร ใครจะว่ามันดีไม่ดี ถูกต้องไม่ถูกต้องไม่สำคัญ เรารู้ว่ามันคืออะไรน่านี่สิสำคัญ เพลงนี้ก็เหมาะเปิดในงานแต่งเหมือนกันนะ ถ้าคิดแบบตลกๆหน่อยว่า ถ้าเกิดได้นั่งจัด List เพลงที่จะเปิดในงานแต่งคงมีเพลงพี่แอนอยู่ในนั้นเกินครึ่งแน่ๆเลย

ปล. เพลงนี้หา MV Official ของ GMM ใน Youtube ไม่เจอเลยไปเอาของที่คนโพสไว้มาแปะ ส่วนใครอยากฟังแบบเสียงคุณภาพ (รู้สึกสบายไปกับเสียงพี่แอน) แนะนำ http://www.joox.com/th/th/single/++5aIKhljog4nlvrU_D8+g== เลยครับ