ความหมายของการมีชีวิต
ความหมายของการมีชีวิตเป็นคำถามคลาสิกที่คนที่จำนวนมากมักตั้งคำถามขึ้นมา ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เริ่มต้นถามคำถามนี้ ซึ่งผมก็จำไม่ได้เหมือนกันว่าเริ่มมีคำถามนี้มาอยู่ในหัวเมื่อไหร่ สำหรับบางคนคำถามนี้อาจเป็นคำถามแก้เบื่อ คำถามที่สุดของชีวิต สำหรับผมมันคือความใคร่รู้ โดยผมมีคำตอบอยู่ในใจคำตอบนึงแล้วซึ่งมันก็คือ “ชีวิตแม่งไม่มีความหมายตั้งแต่ต้น เราเป็นคนใส่ความหมายให้มันเอง” แต่โลกนี้มีหลายแนวคิด หลายแนวทาง ดังนั้นก็เป็นเรื่องดีที่เราควรจะศึกษาถึงแนวคิดต่างๆเพื่อนำมาทดลองหรือทำเพื่อหาว่า คำตอบที่เหมาะสมกับตัวเราคือคำตอบอะไร
อิคิไก
คำนี้ผมเคยเห็นผ่าน Facebook เพราะเพื่อนในกลุ่มคนหนึ่งแชร์มา มันเป็นภาพของวงกลมกี่วงไม่รู้มาซ้อนทับกันแล้วตรงกลางคือ อิคิไก โดยจำได้คร่าวๆคือมันต้องเป็นงานที่เลี้ยงตัวเองได้ งานที่ชอบ และงานที่มีคุณค่าต่อส่วนรวมอะไรประมาณนั้น ซึ่งพออ่านจากชื่อก็น่าจะเป็นแนวคิดของญี่ปุ่น ตอนนั้นผมก็ไม่ได้สนใจอะไรมากเพราะช่วงนั้นมีเรื่องน่าสนใจมากมายไม่ว่าจะเป็น OOP, JAVA, DATABASE และอีกมากมายหลายอย่างที่ทุกวันคือการอยากตื่นไปเรียนเพื่อรู้เรื่องพวกนี้ อยากจะเก่งมากขึ้นกว่านี้
เหตุผลที่เราอยากตื่นขึ้นมา
หนังสือเล่มนี้ได้เล่าเกี่ยวกับนิยามของคำว่าอิคิไกว่าคือความหมายของการมีชีวิต พร้อมเล่าเหตุผลต่างๆนาๆว่าญี่ปุ่นพัฒนาแนวคิดนี้มาจากอะไรอย่างไร ซึ่งผมอ่านก็มึนๆงงๆเกี่ยวกับเขาอะนะ มันมีเรื่องเสาหลักห้าประการของอิคิไก ซึ่งผมก็จำไม่ได้หรอกเพราะมันไม่น่าสนใจเอาเสียเลย แต่ที่อ่านแล้วน่าสนใจคือ “เหตุผลในการที่เราอยากตื่น” คำนี้แหละทำให้ผมนึกถึงตอนเรียนอุดมศึกษาช่วงนึงที่ผมอยากไปเรียนวิชา DATABASE อยากรู้วิธีการออกแบบ หลงใหลในความสวยงามของหลักการ การแก้ปัญหาที่เป็นระบบระเบียบ หรือ วิชา OOP ที่เราเห็นแนวคิดการเขียน CODE ที่เหมือนต่อ LEGO สวยงามและยืดหยุ่น ช่วงนั้นเป็นเวลาที่อยากตื่น อยากลุกไปทำอะไรอย่างนี้ทุกวัน หนังสือเล่าว่าการที่เราอยากตื่นไปทำอะไรสักอย่างก็เป็นหนึ่งในอิคิไกแล้ว ซึ่งอิคิไกของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เช่น ชาวประมงบางคนอยากตื่นเช้าเพื่อไปล่าปลาดีๆสักตัว คนบางคนอยากตื่นมาแค่เล่นหมากรุกกับเพื่อน คนบางคนอยากตื่นขึ้นมาเพื่อเลี้ยงหลาน เหลน โหลน แค่คุณมีความรู้สึกนี้ก็ถือว่าคุณมีส่วนหนึ่งของอิคิไกละ
มาตรฐานที่สูงส่ง
อีกเรื่องนึงที่อ่านแล้วน่าสนใจคือ การรักษามาตรฐานหรือใฝ่หาความสมบูรณ์แบบของคนญี่ปุ่นคือ คนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งหรือหน่วยงานของญี่ปุ่นเนี่ยเขาจะมีการตั้งมาตรฐานของตัวเองขึ้นมาแล้วเขาจะต้องรักษามาตรฐานแบบนี้ไว้ให้ได้ ตัวอย่างที่คนต้องทึ่งคือ ความตรงต่อเวลาของรถไฟญี่ปุ่นที่เคยมีเคมเปญของการรถไฟญี่ปุ่นว่า “ถ้าเวลานี้รถไฟยังไม่มาเนี่ยแสดงว่านาฬิกาของคุณเนี่ยเดินไม่ตรงนะ” เชี่ยคือต้องมั่นใจมากขนาดไหนวะหรือต้องรักษามาตรฐานดีแค่ไหนวะถึงจะกล้าพูดแบบนี้ คนแต่งเขาบอกว่า (ไม่รู้จะพูดเกินจริงไหม) ว่าคนญี่ปุ่นเวลาทำอะไรจะมีมาตรฐานพวกนี้อยู่เสมอและใฝ่หาการพัฒนามาตรฐานพวกนี้ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วเขาก็ยกตัวอย่างการใฝ่หาความสมบูรณ์แบบของคนญี่ปุ่นอื่นๆอีกมากมาย เช่น การปลูกต้นเมล่อนเกรดเอที่ต้องพิถีพิถันปลูก ปลูกแบบลูกเดียวขายได้หลายหมื่นอะไรประมาณนี้ซึ่งเขามีมาตรฐานที่เรียกว่าเข้าใกล้อุดมคติและรักษามาตรฐานเหล่านี้เเรื่อยมาจนคนยอมเสียเงินเป็นหมื่นเพื่อซื้อกินกัน (คือมันต้องอร่อยขนาดไหนวะจนยอมเสียเงิน 1 หมื่นเพื่อซื้อเมล่อนลูกนึงกิน) หรือ นักทำถ้วยชงชาที่พยายามทำถ้วยชงชาให้สมบูรณ์แบบลอกเลียนถ้วยชงชาที่ผลิตขึ้นเมื่อโบราณกาลซึ่งเป็นสมบันติประจำประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตอนแรกอ่านก็นึกว่าทำแค่ 10 - 20 ปี พออ่านไปอ่านมากลายเป็น “เฮ้ยนี่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นทวดส่งต่อความฝันลากยาวมายันเหลน”
จุดหมายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ตอนนึงในหนังสือพูดถึงกีฬาซูโม่ คุณฟังไม่ผิดครับกีฬาซูโม่ซึ่งผมคิดว่ามันคือการแสดงแต่จริงๆแม่งคือกีฬาอาชีพจริงๆแล้วแม่งก็เป็นกีฬาอาชีพที่แบ่งแยกชนชั้นอย่างโหดร้ายเลยทีเดียว คือในหนังสืออธิบายว่า คือต้องเป็นระดับ Rank TOP ไรสักอย่างเท่านั้นที่จะมีสิทธิพิเศษต่างๆ ส่วนพวกที่ไม่ใช่ Rank TOP แทบจะไม่มีสิทธิ์ไม่มีชื่อเสียงไม่มีเงินทองไม่มีใครจดจำเลย แต่พวกนักซูโม่บางคนนี่คือยังยินดีที่จะแข่งต่อไปทั้งที่ต่อให้แข่งจนแก่ตายก็ไม่มีทางไปถึง Rank TOP แต่ทำไมเขาจึงยังอยู่ต่อล่ะ เพราะจริงๆเขาไม่ได้หวังจะไปถึง Rank TOP ไงล่ะ นักซูโม่บางคนแค่อยากได้ขึ้นไปบนเวทีไปสัมผัสบรรยากาศการต่อสู้แม้จะรู้ว่าแพ้แน่ๆแต่เขาก็ชอบการได้ประจันหน้ากับศัตรู บางคนก็ชอบช่วงเวลาก่อนขึ้นเวที บางคนก็ชอบเวลาตัวเองถูกขานชื่อ
สร้างใหม่ให้เหมือนเดิม
หนังสือเล่าการกระทำแปลกประหลาดอย่างหนึ่งคือการบูรณะศาลเจ้าในญี่ปุ่นที่หนึ่งซึ่งการบูรณะของเขาคือ การรื้อของเก่าทิ้งทั้งหมดแล้วสร้างใหม่ให้เหมือนเดิมทุกอย่าง โดยจะทำอย่างนี้ทุก 20 ปี คืออ่านตอนแรกนี่บอกเลยว่าในเชิงการเขียนโปรแกรมนี่คือไร้สาระมากคือทำของใหม่โดย copy ทุกอย่างให้เหมือนของเดิมทุกอย่าง เชี่ยมึงจะเสียเวลาทำไปทำไม แต่พอมองในด้านศิลปะมองในด้านที่ต้องทำด้วยมนุษย์แล้วมันคงเป็นอะไรที่ยากโคตรๆ เพราะศาลเจ้าที่ว่าเนี่ยเขาบอกว่าไม่ได้ใช้ตะปูสักตัว แปลว่ามันใช้การต่อแบบปรานีตจริงๆ ทุกส่วนต้องเป๊ะระดับห้ามพลาดแม้แต่มิลเดียว ไม้ที่เอามาทำบางต้นนี่ต้องใช้ต้นไม้อายุเป็น 100 ปี (ลองนึกถึงบ้านเราที่ตัดไม้มาบูรณะเสาชิงช้า กว่าจะหาได้ยากแค่ไหน) คือมันต้องเป็นการเตรียมการปลูกต้นตั้งแค่คนรุ่นปู่เพื่อให้หลานทำ แล้วถ้าเขาทำทุก 20 ปีแปลว่าเขาต้องสอนประสบการณ์พวกนี้ให้แก่คนรุ่นถัดไปตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นการรักษาภูมิปัญญางานไม้ระดับตำนานนี้ให้อยู่ต่อไปด้วยวิธีที่ค่อนข้างฉลาดเลยทีเดียว เพราะคนรุ่นใหม่จะได้มีโอกาสลองงานจริงในการสร้างศาลเจ้าที่ใช้ภูมิปัญญางานไม้ขั้นสูงสุดนี้ตลอด เรื่องนี้ทำให้เห็นวิธีการอันชาญฉลาดของคนญี่ปุ่นในการรักษาภูมิปัญญา เห็นถึงการวางแผนการเตรียมตัว เห็นความสม่ำเสมอ แล้วที่น่าแปลกคือคนที่มาทำงานพวกนี้เขาต้องมีใจรักจริงๆว่าง่ายๆ เขาอยากตื่นเข้าขึ้นมาเพื่อสักวันหนึ่งจะได้สร้างศาลเจ้านี้ ได้ส่งต่อภูมิปัญญางานไม้นี้ เขามีอิคิไกคือการรักษาภูมิปัญญานี้ให้อยู่ต่อไป
อ่านแล้วได้อะไร
สำหรับหนังสือเล่มนี้อ่านแล้วทำให้ได้คำตอบ “ความหมายของการมีชีวิต” ในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นคำตอบที่ง่ายมากๆและว่ามันตอบโจทย์มากๆคือ การอยากตื่นขึ้นมาเพื่อทำอะไรบางอย่าง ซึ่งความหมายของการมีชีวิตของแต่ละคนนั้นแล้วแต่ละบุคคลเลย ไม่มีใครมาบอกว่า ความหมายของการมีชีวิตของทุกคนคือ การรับใช้พระเจ้า การทำเพื่อคนอื่น ความหมายของการมีชีวิตอาจเป็นแค่ อยากตื่นขึ้นมา กินกาแฟอร่อยๆสักแก้ว การได้วิ่ง การได้ติดตามไอดอล การได้ชอบใครสักคน การไปตกปลา การฆ่าคน (ก็อาจเป็นความหมายของการมีชีวิตของใครสักคนก็ได้) การเขียนโปรแกรม สำหรับผมแล้วเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ คำตอบของความหมายของการมีชีวิตของผมก็ยังคงเดิมคือ “ชีวิตแม่งไม่มีความหมายตั้งแต่ต้น เราเป็นคนใส่ความหมายให้มันเอง” แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้คือ ผมสามารถใส่ความหมายให้มันได้เองในเวลานี้ตอนนี้แล้วมันก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนหรือแตกต่างกับใคร
เพลงประกอบการเขียนบทความนี้
ครั้งแรกที่ฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกเหงาแปลกๆ พอมาดูชื่อเพลง “ฤดูฝน” โอ้ พี่ๆจะทำเพลงเป็นซีรีย์สินะ ตอนเด็กฟัง “ฤดูร้อน” โตมาหน่อยฟังฤดูฝน พอกลางคนผมคงได้ฟังเพลง “ฤดูหนาว” แน่ๆเลย ตอนนี้คงได้แต่รอเพลง ฤดูหนาว ของพี่ๆเขาต่อไป