สิทธารถะ

คุยกันก่อนอ่านนะ

สิทธารถะ

บอกก่อนว่าหนังสือเล่มนี้เป็น “นิยายที่แต่งขึ้น” ย้ำอีกครั้งว่าเป็น “นิยายที่แต่งขึ้น” และขอย้ำครั้งที่สามว่าเป็น “นิยายที่แต่งขึ้น” ดังนั้นมันจึงไม่เกี่ยวกับเรื่องในพุทธประวัติใดๆอะไรทั้งนั้น โดยถึงผมจะมองว่าพุทธประวัติเป็นเรื่องแต่งแต่ผมก็เชื่อว่าหลายคนที่หลงเข้ามาอาจจะมีบางคนที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบจริงจังในเรื่องพุทธประวัติ ดังนั้นผมจึงอยากจะบอกว่าเนื้อหาต่อจากนี้ผมจะเขียนในมุมมองความคิดของผมหลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีบางถ้อยคำไปกระทบจิตใจของท่าน ผมจึงขอแนะนำให้ท่านที่เคร่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เปลี่ยนไปอ่านบทความอื่นในเว็บของผมแทน แต่หากท่านใดอยากดำดิ่งไปกับผมหนังสือเล่มนี้ก็ลองดำดิ่งตามมาครับ แต่เมื่อใดที่ท่านคิดว่ามันไม่ดี ผมก็ยืนยันว่าหยุดอ่านเถอะครับ แต่ละคนมีทางมีความเชื่อไม่เหมือนกันดังนั้นเลือกเอาเฉพาะสิ่งที่ท่านเห็นว่าสมควร

เส้นทางสู่การหลุดพ้น

ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ศึกษาศาสนาพุทธและได้นับถือศาสนาพุทธ(ปัจจุบันผมไม่รู้ว่ายังนับถืออยู่ไหม แต่ผมไม่เห็นว่าสำคัญไหมที่ผมนับถือหรือไม่นับถือ ผมแค่เอาแนวคิดหลักการมาใช้น่าจะดีกว่าการบอกปาวๆๆๆว่านับถือ) ผมไม่บอกว่ามันเป็นโชคดีหรือโชคร้ายแต่สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนจากศาสนาพุทธคือการค้นหาคำตอบของชีวิต การหลุดพ้น เราได้ฟังเรื่องเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกค้นหาคำตอบในชีวิตแล้วท่านก็ได้คำตอบของชีวิตเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง แต่คำถามคือ เราได้ค้นหาอย่างที่พระองค์ออกไปค้นหาไหม หรือเรานั่งท่องแค่่ว่าพระองค์เกิดวันเพ็ญเดือนนี้ มีพ่อแม่พี่น้องชื่อว่าอะไร เราได้สนใจสิ่งที่สิ่งที่พระองค์ทิ้งไว้ให้พวกเราหรือเปล่า หากจะว่าไปแล้วพระสงฆ์คือผู้ที่ปฏิบัติตามรอยพระพุทธเจ้าโดยใช้หลักการที่ว่าหากพระพุทธเจ้าสามารถหลุดพ้นได้ด้วยวิธีนี้ ผู้ที่ปฏิบัติตามย่อมต้องหลุดพ้นได้เช่นกัน ว่าง่ายๆก็เหมือนการแก้โจทย์คณิตศาสตร์นั่นแหละ หากท่านทำตามวิธีที่ที่อาจารย์ในวิชาสอนทุกขั้นตอนแล้ว ท่านก็ต้องสามารถแก้โจทย์ข้อนั้นได้อย่างถูกต้อง แต่เส้นทางในการหาคำตอบมาแค่ทางเดียวเหรอ ทางของพระพุทธเจ้านั้นดีที่สุดเหรอ คนทุกคนจะเหมาะกับเส้นทางของพระพุทธเจ้าเหรอ

ความอยากรู้ที่ไม่สิ้นสุด

สิทธารถะชื่อคล้ายๆกับสิทธัตถะนี่คงจะเป็นความจงใจของผู้แต่งที่อาจจะทำให้เราสงสัยว่าเกี่ยวอะไรกับพระพุทธเจ้าหรือสร้างความรำคาญใจให้คนที่เคร่งครัดในพุทธประวัติ ชายคนนี้คือเกิดในตระกูลพราหมณ์เป็นผู้เฉลียวฉลาดกว่าคนอื่นๆในวัยเดียวกัน แต่ด้วยความฉลาดของเขาทำให้เข้าใจทุกอย่างจนเกิดคำถามต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอะไรคือที่สุดของความลับ เขาเชื่อว่าไม่ใช่พระพรหมหรือเทพเจ้าต่างๆ มันต้องอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น และด้วยการที่เขาเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างของพราหมณ์ ทางเดียวที่จะตอบคำถามของเขาได้คือ ไปหาความรู้ใหม่ ความรู้อื่น ที่ไม่ใช่พราหมณ์

การหนีจากตัวเอง

ตอนหนึ่งในเรื่องเล่าถึงตอนที่สิทธารถะไปหาความรู้กับสมณะโดยทำทุกรกิริยาโดยการอดอาหาร ซึ่งพออดอาหารร่างกายก็เริ่มปิดระบบที่คิดว่าไม่จำเป็นเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อได้ เช่น ลดพละกำลัง ลดเรื่องทางเพศ ดังนั้นคงไม่แปลกครับถ้าพวกนักบวชอดอาหารจะไม่ค่อยสนใจเรื่องทางเพศ ตอนแรกสิทธารถะก็คิดว่ามันคงจะเป็นทางหลุดพ้น เขาฝึกอย่างนี้จนสามารถถอดจิตของตัวเองไปลองเป็นอย่างอื่นได้ แต่ก็ไม่นานเท่าใดสิทธารถะก็จะต้องกลับมาเป็นตัวเขาเองเสมอ ไม่ว่าเขาจะลองไปเป็นอะไรก็ตาม สุดท้ายเขาจะต้องกลับมาเป็นตัวเอง ซึ่งเมื่อเขามาคิดมันก็แค่การหนีจากตัวเองเท่านั้น วิชาที่เขาฝึกสำเร็จนั้นเทียบเท่ากับการแค่ไปนั่งกินเหล้าหนักๆจากนั้น คุณก็จะลืมไปว่าตัวเองเป็นใคร คุณจะไม่ทุกข์ คุณจะสบาย คุณจะหนีจากตัวเองได้สำเร็จ แต่สุดท้ายพอรุ่งเช้าคุณหายเมาคุณก็จะกลับมาเป็นตัวคุณเอง คุณไม่มีทางหนีจากตัวเองได้พ้น

หันหลังให้พระพุทธเจ้า

หลังจากศึกษาหาความรู้กับเหล่าสมณะจนรู้แล้วว่าเส้นทางนี้ไม่เหมาะกับตนและคิดว่าคงไม่สามารถพาไปถึงจุดหมายที่ตนอยากรู้จึงขอแยกตัวไปหาเส้นทางใหม่ ซึ่งเส้นทางใหม่ที่สิทธารถะกำลังไปหาคือ “พระพุทธเจ้า” ใช่ครับ พระพุทธเจ้าที่เรารู้จักเนี่ยแหละ (เรื่องนี้เป็นเรื่องแต่ง) เมื่อสิทธารถะได้เห็นพระพุทธเจ้า เขาก็รู้ทันทีว่าคนคนนี้แหละคือผู้ที่ได้คำตอบที่เขาค้นหาแล้ว สิทธารถะจึงนั่งฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า่คืออะไร หลักการคืออะไร ซึ่งเมื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว โควินทะเพื่อนของสิทธารถะที่ออกเดินทางมาด้วยกันเกิดความเลื่อมใสขอบวชเป็นพระ แต่สิทธารถะกลับไม่ทำอย่างนั้นเขาเลือกที่จะเดินทางต่อไปเพื่อหาคำตอบเด้วยตัวของเขาเอง คือตอนอ่านถึงจุดนี้ผมอึ้งมากแบบ “เฮ้ยนี่มันควรจะเป็นจุดจบของเรื่องแล้วนะ” คืออ่านนิทานชาดกต่างๆนา พอไปเจอพระพุทธเจ้าทุกคนเข้าใจหลักธรรมแล้วก็บรรลุกันหมด แต่เรื่องนี้แหวกแนวโคตรๆคือเขาไม่เลือกจะบวช ไม่เลือกจะทำตาม แต่เลือกจะค้นหาต่อไป ถ้าตามหนังสือธรรมะทั่วไปหรือถ้าหน้าเพจธรรมะบน Youtube คงจะบอกการกระทำนี้ของสิทธารถะเป็นความหยิ่งผยอง การกระทำที่โง่ หรือ สิทธารถะเป็นคนมีกรรม เป็นพวกสติไม่ดีแน่ๆ แต่เรื่องนี้ให้แนวคิดที่ต่างออกไป ในวันที่สิทธารถะกำลังจะเดินทางนั้นบังเอิญได้พบกับพระพุทธเจ้าตามลำพัง จึงเกิดบทสนทนาที่น่าสนใจมากซึ่งผมแนะนำให้ไปหามาอ่านจริงๆครับมันเป็นอะไรที่สุดยอดมาก สิทธารถะบอกพระพุทธเจ้าว่าคำสอนของพระองค์มีช่องโหว่ ซึ่งถ้าพูดกันตามหลักแล้วมันเป็นช่องโหว่จริงๆ (ช่องโหว่ที่ว่าคืออะไรไปซื้อมาอ่านนะ) ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ยอมรับโดยตรงว่ามันเป็นช่องโหว่จริงๆและกล่าวชมสิทธารถะที่มองเห็นด้วยซ้ำ แต่พระพุทธเจ้าก็บอกว่าทางของพระองค์นั้นก็เป็นทางที่ผู้ที่เข้าตามเส้นทางของพระองค์ก็สามารถค้นหาคำตอบได้ สามารถหลุดพ้นได้ ท่านคิดว่าทางนี้ไม่ควรจะเดินตามเหรอ สิทธารถะตอบพระองค์ว่า เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจให้ใครเดินไปเส้นทางไหน เขาตัดสินได้เฉพาะเส้นทางของตัวเองเท่านั้น และพร้อมบอกเหตุผลที่ตนเองไม่เดินไปตามเส้นทางของพระพุทธเจ้านั้นเพราะว่าการค้นหาคำตอบของการหลุดพ้นนั้นต้องค้นหาด้วยตัวเองสัมผัสด้วยตนเองไม่ใช่ฟังมาจากใคร และเมื่อใดที่เขาเข้าไปในเส้นทางของพระพุทธเจ้า เขาจะสำคัญว่าเขาเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า เข้าใจว่ามันเป็นคุณงามความดี หลงไปกับสิ่งนั้นและสุดท้ายก็จะไม่ได้คำตอบที่เขาต้องการ คือผมชอบส่วนนี้มากคือมันเป็นการเปิดว่าเราไม่จำเป็นต้องเดินตามทางใคร ไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนพระพุทธเจ้า ทำแบบพระพุทธเจ้า คือเส้นทางของพระพุทธเจ้าอาจจะไม่ใช่คำตอบของทุกคน ซึ่งการอ่านหนังสือเล่มนี้สำหรับบางคนคงเป็นการคลายปมบางปมออกจากชีวิตเลยก็ได้ อันนี้คือเส้นทางของโลกทางธรรมที่เราถูกผูกปมโดยพ่อแม่ ญาติพี่น้องหรือสังคม แต่พอไปในโลกที่เราใช้ชีวิตหาเงินหาทอง หลายๆคนพยายามเดินตามทางของคนอื่นไม่ว่าจะเป็น Bill Gates, Steve Jobs และอีกหลายๆคน จนลืมไปว่ามันไม่ได้มีแค่เส้นทางเหล่านั้น มันยังมีอีกหลายเส้นทางที่ท่านจะเดินได้ และจริงๆมันควรจะเป็นเส้นทางของท่านเองด้วย แต่ผมก็เห็นหลายๆคนเดินตาม Pattern คนอื่นอย่างหน้าตาเฉย ฝึกแบบเขา ทำตามแบบเขา จนลืมไปว่าคุณไม่ใช่เขา คุณเป็นมนุษย์ คุณไม่ใช่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนเหมือนกันแล้วจะทำตามกันได้ทั้งหมด พอไม่ประสบความสำเร็จหรือสังคมไม่ยอมรับ พวกเขาเหล่านั้นกลับก่นด่าสังคม ซึ่งสำหรับผมเมื่อคุณเลือกทางเส้นนั้นด้วยตัวคุณเองแล้วคุณจะเสียใจทำไมล่ะ คุณเลือกทางเดินนั้นด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเลือกเรียนจนจบอุดมศึกษา หรือ ออกไปท่องโลกกว้างในขณะที่ยังเรียนไม่จบ แต่ละเส้นทางท่านจะเจอสิ่งไม่เหมือนกัน สิ่งที่ตามมาไม่เหมือนกัน แล้วทำไมคุณถึงยอมรับมันไม่ได้ล่ะ

ตัวคุณเองคือใคร

หลังจากเดินตามเส้นทางของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่เขาค้นพบคือ เขาไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าตนเองเป็นยังไง รู้สึกยังไง โลกที่เป็นอยู่จริงๆคืออะไร สีของฟ้า สีของหญ้า เป็นยังไงแบบจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่ได้ถูกสอนหรือร่ำเรียนมาหรือว่าง่ายๆ เขาไม่เคยมองโลกในแบบที่มันเป็นจริงๆ แบบที่ไม่ได้แต่งเติมความหมายให้มัน เขาไม่เคยฟังเสียงจากใจของตัวเอง ฟังว่าตัวเองต้องการอะไรแบบจริงๆ เขาแค่ทำตามหลักการที่ร่ำเรียนมา ตอนนี้เป็นอีกตอนที่อ่านแล้วเจ็บมาก เจ็บเข้าไปข้างใน มันเป็นจริงอย่างที่สิทธารถะว่าเลย ผมรู้เกี่ยวกับตัวเองน้อยมาก ไม่รู้แม้กระทั่งสิ่งที่ชอบจริงๆ เวลาโกรธแสดงสีหน้ายังไง รู้สึกยังไง เวลารักทำหน้ายังไง รู้สึกยังไง ไม่เคยรู้ว่าตกลงแล้วตัวเองชอบอะไร มีความสุขตอนไหน อะไรทำให้เกิดทุกข์ ไม่เคยมองสิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็น เมื่อเห็นท้องฟ้า เราไม่เคยมองมันว่าเป็นท้องฟ้า แต่เราจับเอาสิ่งที่เราตีความว่าเป็นต้องฟ้าแล้วก็จบการมองตรงนั้น เราไม่เคยมองสิ่งที่มันเป็นจริงๆ เราแค่เอาคำที่ร่ำเรียนมาสิ่งที่เรียนรู้มาแปะมันกับสิ่งนั้น หรือจริงๆคำตอบของคำถามนั้นคือการค้นหาตัวเอง รู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร ความรู้สึกที่มีเป็นอย่างไร และมองโลกตามที่มันเป็น

โลกของคนธรรมดา

หนังสือเล่าถึงการค้นหาเส้นทางของสิทธารถะต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะลองลิ้มรสการมีชีวิตแบบคนทั่วไปที่ไม่ใช่พราหมณ์ ไม่ใช่สมณะนั้นเขาเป็นอย่างไร มีทรัพย์สินเงินทอง มีความรัก มีความโกรธ เขาได้ลองลิ้มรสมันจริงๆผ่านการมองเห็น การกระทำ ไม่ใช่เพียงคำบอกเล่าของหนังสือ หรือ ครูอาจารย์ เขาพบว่าตัวเองกำลังหมุนไปกับวงจรเหล่านี้ ตัวหนังสือไม่ได้บอกเส้นทางเหล่านี้นั้นดีหรือแย่ เขาแค่เล่าผ่านตัวสิทธารถะว่าเขาเอียนกับการใช้ชีวิตแบบนี้ เขาแค่รู้สึกว่าเขาอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ไหวแล้ว ซึ่งผมชอบมากกว่าการมาสรุปความเอาให้เลยว่า “โลก” แบบที่เราอยู่นั้นเป็นเรื่องไม่ดี ไม่แน่ว่าคนบางคนอาจจะมีความสุขในการใช้ชีวิตแบบธรรมดาแบบนี่แหละ มีเงินมีทอง อยากทำอะไรก็ทำ อยากกินอะไรก็กิน อยากรักใครก็รัก ถ้ามันเป็นความสุขของเขามันทำให้เขาถึงคำตอบของเขาได้ด้วยวิธีนั้นแล้วเขาหลุดพ้นได้

ไม่มีใครช่วยใครได้

ตอนท้ายของเรื่องได้เล่าเรื่องสิทธารถะได้พบกับลูกชายและได้มีโอกาสเลี้ยงดูลูกชายของเขา ซึ่งเขาเลี้ยงลูกชายของเขาด้วยความรักและไม่อยากให้ลูกชายของเขาต้องมาทนทุกข์ทรมานแบบที่เขาเป็น แต่ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ ตรงจุดวาสุเทพเพื่อนของสิทธารถะได้พูดกับสิทธารถะว่า ท่านลืมเรื่องสิทธารถะ ผู้ที่หนีจากการเป็นพราหมณ์ ไปเป็นสมณะ ใช้ชีวิตเป็นเศรษฐี แล้วมาเป็นชายพายเรือแล้วหรือ ไม่ว่าท่านจะรักใครเท่าไร ท่านไม่สามารถบังคับใครไม่ให้ทนทุกข์จากเรื่องที่เขาเลือกด้วยตัวเอง ไม่มีใครกันไม่ให้เขากินยาพิษที่เขาปรุงขึ้นด้วยตัวเอง ซึ่งพอผมอ่านถึงจุดนี้แล้วนี่เจ็บขึ้นมา เจ็บขึ้นมาจริงๆ นึกถึงภาพพ่อกับแม่ที่รักลูกคนนึงไม่อยากให้ลูกต้องเจออะไรแบบที่พวกท่านเจอ พวกท่านพยายามให้ลูกเดินตามทางที่ท่านคิดว่าดี แต่ลูกก็พยายามจะหนีออกจากเส้นทางนั้น ความรักเหล่านั้นไม่รู้จะเป็นการทำร้ายไหม การหนีจากเส้นทางเหล่านั้นไม่รู้เป็นสิ่งถูกต้องไหม ในมุมมองของผมทุกคนมีชีวิตของตัวเอง เขาต้องเจอกับทุกสิ่งไม่ว่าทุกข์หรือสุขด้วยตัวของเขาเอง เขาเลือกได้ทั้งจะเดินตามทางที่ถูกเขียน หรือเขาจะเดินตามทางของเขา ในเรื่องนี้ไมมีใครช่วยใครได้จริงๆอย่างที่หนังสือว่า

อ่านแล้วได้อะไร

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบนี่ถือว่าประทับใจมาก หนังสือเล่าเรื่องได้น่าติดตามแบบไม่ต้องหวือหวา เล่าแบบเรื่อยๆเหมือนเล่าเส้นทางของชีวิตคนคนหนึ่ง คนที่ต้องการหาคำตอบที่ต้องการรู้ เรื่องนี้ทำให้เห็นเส้นทางที่หลากหลาย การยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล ความรักของพ่อแม่ที่ไม่รู้ว่ามันดีหรือร้าย การที่ต้องยอมรับผลของการกระทำของตน ไม่ว่าจะเรื่องดีหรือเรื่องร้าย สำหรับผมผมว่ามันเป็นหนังสือที่แนะนำให้อ่านเลยจริงๆ มีทั้งสนุก สุข เศร้า มีเรื่องที่สอนทางธรรมสอดแทรกไว้ด้วย โดยไม่เจาะจงว่าเป็นศาสนาใด เพราะมันเป็นกลางเอาเสียมากๆ เพราะเขาพูดถึงโลกในแบบที่มันเป็น ไม่ใช่โลกในสิ่งที่เราสร้างสรรค์มันขึ้นมา

ปล. ยังมีหลายส่วนที่ไม่ได้สปอยในนี้ ทั้งตอนจบ และหลายๆจุดเปลี่ยนในเรื่องซึ่งกินใจและให้ข้อคิดมากๆ แนะนำให้ลองไปหามาอ่านดู หนังสือเล่มไม่ใหญ่อ่านวันเดียวก็จบ

เพลงประกอบการเขียนบทความนี้

ถ้าพูดถึงเส้นทางของตัวเอง ยอมรับผลที่ตามมาไม่ว่าจะดีหรือร้าย ผมว่าเพลงความเชื่อน่าจะเป็นเพลงที่พูดถึงเรื่องนี้ได้ดีอีกเพลงนึง