Designing Your Work Life - คู่มือออกแบบชีวิตที่ใช่ - งานที่ชอบ

Designing Your Work Life - คู่มือออกแบบชีวิตที่ใช่ - งานที่ชอบ

Designing Your Work Life - คู่มือออกแบบชีวิตที่ใช่ - งานที่ชอบ

สำหรับหนังสือเล่มนี้ก็เป็นเหมือนหนังสือที่ชื่อ Designing Your Life คือไม่ได้ตั้งใจซื้อที่ซื้อเพราะต้องการให้ได้ส่งฟรี ซึ่งเมื่อได้อ่านเล่มแรกแล้วรู้สึกว่าเออได้เปิดมุมมองใหม่ๆ วิธีการเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนกรอบการตั้งปัญหา การออกแบบชีวิต ก็เลยไม่รอช้าหยิบเล่มที่สองมาอ่าน ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าสนใจเพราะเกี่ยวกับเรื่องงานที่ทำอยู่

หนังสือไม่ได้ว่าด้วยการลาออก

ปกติถ้าคุณเห็นหนังสือเกี่ยวกับงานในฝัน ผมว่าหลายเล่มจะบอกให้คุณลาออกจากงานไปทำตามที่ฝันเลยซึ่งเป็นการแก้ปัญหารูปแบบหนึ่ง แต่หนังสือเล่มนี้มาแปลกครับ เขาไม่ได้พูดเรื่องการลาออกจากงานแบบทันทีทันใด แต่มีขั้นตอนที่น่าสนใจเกี่ยวกับการมองงานในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีเรื่องการลาออกครับ หนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องการลาออก วิธีการลาออกในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอ่านแล้วทำเอาผมเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการลาออกไปเลย

เมื่อไหร่จะถึง

เป็นชื่อบทแรกๆของหนังสือ ตอนแรกผมก็งงๆว่าทำไมถึงใช้คำนี้ แต่พอเริ่มอ่านผมรู้สึกชอบการยกตัวอย่างแบบนี้มาก เมื่อไหร่จะถึงนั้นเป็นคำที่เวลาเราเดินทางไปเที่ยวไหนเรามักจะชอบพูด เหมือนกับว่าเมื่อไปถึงที่หมายแล้วเราจะพบความสุขที่สุขโคตรๆที่รออยู่ ซึ่งผมก็พอเห็นภาพ แต่คำถามที่ถามกลับมาคือ ทำไมตอนนี้คุณหาความสุขกับเวลาปัจจุบันไม่ได้ล่ะ ทำไมต้องถึงตรงนั้นก่อน ถึงตรงนี้ก่อน มันเหมือนกับอดเปรี้ยวไว้กินหวานอะ มันก็จริงที่เราอดเปรี้ยวจากการกินมะม่วงลูกนี้เพื่อรอมันกินหวานได้ แต่เราจำเป็นไอมะม่วงลูกเดียวเท่านั้นหรอ เราไปหาอย่างอื่นๆหวานๆกินไม่ได้เหรอ เช่นกัน ระหว่างเดินทางคุณหาความสุขระหว่างเดินทางไม่ได้เหรอ คุณอาจจะคุยกับเพื่อนร่วมทาง นั่งดู Netflix ก็ได้นี่ ความสุขจึงไม่จำเป็นต้องถึงตรงจุดหมายก็ได้ จริงๆถ้าคุณตีความใหญ่กว่านี้ ทำไมคุณถึงรอตายถึงจะไปมีความสุขกับชาติหน้า หรือบนสวรรค์ ทำไมตอนนี้คุณไม่หาความสุขล่ะ คุณจำเป็นต้องอดข้าวเย็นเพื่อให้มีความสุขเหรอ หรือคุณสามารถหาความสุขอื่นๆได้

อะไรที่คุณค่าให้ความหมาย

เช่นเดิมกับเล่มที่แล้ว เล่มนี้ยังพูดเรื่องนี้เหมือนเดิมคือ อะไรที่คุณให้ค่าและให้ความหมาย หนังสือบอกเราเขียนว่า ชีวิตคืออะไรในนิยามของคุณ อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกมีความหมาย มีความสุข เช่นกัน หนังสือก็ให้เขียนว่างานของคุณคืออะไรที่ไม่ใช่การทำงานอะไร (แบบเป็นโปรแกรมเมอร์ เป็นนักกฏหมาย) แต่งานแบบไหนที่คุณอยากทำ อะไรที่ทำให้คุณว่างานมีความหมาย มีคุณค่า มีความสุขกับมัน (ทำในสิ่งใหม่ , ทำแล้วช่วยแก้ปัญหาให้คนรุ่นหลัง) ซึ่งเมื่อเราเขียนสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว เราจะได้เข็มทิศในชีวิตให้เราเห็นว่าจริงๆเราต้องการอะไร ซึ่งบางคนเข็มทิศชีวิตคือการใช้เวลากับครอบครัว ดังนั้นถ้าเขาอยากมีความสุขเขาควรจะต้องหางานที่ทำให้เขามีโอกาสใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นเป็นต้น

เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับงาน

บางครั้งการลาออกอาจเป็นความคิดแรกที่ทำให้คุณลาออก แต่หนังสือบอกให้คุณลองปรับเปลี่ยนมุมมอง หนังสือยกตัวอย่างสถานการณ์สุดเลวร้ายที่ผู้จัดการคนใหม่ที่พึ่งมาพบว่างานที่เขากำลังจะต้องทำนั้นต้องเจอกับความวุ่นวายจากผู้บริหารที่สุดแสนจะเลวร้าย ระบบงานที่ยอดแย่ ซึ่งคุณก็อาจจะอยากลาออกเลย แต่ถ้าเขาลาออกในประวัติงานของเขาก็น่าจะมีปัญหาเพราะไปทำงานไม่ถึงเดือนแล้วลาออก การไปที่ใหม่จะลำบากขึ้นกว่าเดิม ในสถานการณ์แบบนี้คงจะทำให้ปวดหัว แต่หนังสือให้เล่าถึงการเปลี่ยนมุมมองของผู้จัดการคนนี้ ผู้จัดการคนนี้เริ่มหาว่าข้อดีของการทำงานที่นี่คืออะไร เขาพบว่าการทำงานที่นี่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และได้ไปดีลงานกับแผนกบัญชีซึ่งเป็นความรู้ใหม่ ผู้จัดการจึงเปลี่ยนมุมมองความคิดเป็น เขาจะเรียนรู้อะไรได้จากที่นี่ เขาจะรู้อะไรเกี่ยวกับงานบัญชีได้เพิ่มขึ้นได้บ้าง ซึ่งจากการเปลี่ยนมุมมองความคิดนี้ทำให้เขาสามารถทำงานอยู่บริษัทนี้ได้อีก 2 ปีและลาออกอย่างสวยๆพร้อมมีความรู้เกี่ยวกับงานสายบัญชีและ Connection กับคนในสายบัญชีด้วย ซึ่งจริงหนังสือพูดถึงอีกหลายเรื่อง แถมมีกิจกรรมให้ทำหลายตัวด้วย

การเมืองในที่ทำงาน

บทนี้ก็ทำผมว้าวเหมือนกัน การเมืองในที่ทำงานนั้นเป็นเรื่องที่ผมเกลียดมาก ถ้ามีการพูดเรื่องพวกนี้ผมจะตัดการรับรู้และไปทำอย่างอื่นทันที แต่พอมาอ่านดันได้พบความรู้ใหม่ที่น่าสนใจ หนังสือแยก อำนาจตัดสินใจ กับ อิทธิพล ออกจากกัน อำนาจตัดสินใจคือคนที่มีสิทธิ์ในการอนุมัติทำบางอย่าง ส่วนคนที่มีอิทธิพลคือ คนที่มีผลทำให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจเลือก หรือ ไม่เลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ คนมีอำนาจตัดสินใจคือคนที่หัวหน้าแผนกที่สามารถจะอนุมัติโครงการตัวอย่างเช่น อนุมัติให้ซื้อ Software version ใหม่ แต่ผู้มีอิทธิพลคือ คนที่สามารถบอกได้ว่าทำไมถึงต้องเป็น version นี้เพราะอะไร มันมีจะทำให้คนใช้งานได้มากขึ้น แล้วคนในบริษัทสามารถใช้ได้เลยไหม ว่าง่ายๆคนมีอิทธิพลคือคนที่อยู่ในเนื้องานจริงๆ และสร้างประโยชน์แก่บริษัทจริงๆ ผู้มีอำนาจตัดสินใจจึงต้องฟังผู้มีอิทธิพล หนังสือบอกว่าเราสามารถใช้จุดนี้ในการทำให้งานดีขึ้น หากคุณต้องการมีปากมีเสียงในบริษัท คุณไม่จำเป็นต้องเลื่อนตำแหน่ง แต่คุณจงทำตัวเองให้มีอิทธิพลซะ ว่าง่ายๆ คุณทำงานแล้วงานนั้นมีค่าแก่บริษัท ( แต่ละบริษัทมีแนวทางการให้คุณค่าอยู่ เช่น ถ้าคุณทำ Tools ขึ้นมาตัวนึงแล้วทำให้บริษัทสามารถออกงานได้ไวขึ้น และ บริษัทมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิต นั่นแปลว่าคุณสร้างงานที่มีคุณค่าให้บริษัท แต่ถ้าบริษัทเน้นงานที่มีคุณภาพไร้ที่ติ สิ่งที่คุณทำอาจจะไม่ตอบโจทย์ 100 % คณค่าที่ได้อาจน้อยลง ) การทำแบบนี้ทำให้คุณเริ่มมีอิทธิพล และเมื่อคุณสะสมมันมากพอ ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเห็นคุณและเมื่อนั้นแหละคุณจะสามารถทำให้เกิดการตัดสินใจตามที่คุณต้องการได้ แต่มีวิธีง่ายกว่านั้นอีกครับ หากคุณรู้แล้วว่าใครเป็นผู้มีอิทธิพล คุณก็ไปหาคนคนนั้นแล้วคุณอธิบายวิธีการที่คุณอยากจะได้ว่ามันตอบโจทย์อะไรยังไง ถ้าคุณสามารถทำให้ผู้มีอิทธิพลนั้นเข้าใจว่าวิธีของคุณช่วยอะไรได้ ถ้าเขาเห็นด้วยกับคุณไม่นานเมื่อผู้มีอำนาจตัดสินใจจะตัดสินใจอะไรก็ต้องถามผู้มีอิทธิพล แล้วผู้มีอิทธิพลเห็นด้วยกับวิธีของคุณ คุณว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นล่ะ ในหนังสือพูดเรื่องการเมืองในที่ทำงานไว้อีกหลายเรื่องและน่าสนใจมากๆ

ลาออกแบบสร้างสรรค์

หนังสือพูดการลาออกไว้ 3 แบบ คือ

  1. ตัดบัวไม่เหลือใย

    แบบนี้คือลาออกแบบจัดหนัก ด่าพ่อล่อแม่เอาเต็มที่เพราะไหนๆไม่อยู่ละ โดนทำมาเยอะจัดให้หนัก

  2. ออกแบบหงอยๆ

    แบบนี้คือลาออกธรรมดาทั่วไปครับ คือยื่นใบลาออกแล้วรอประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ แล้วก็ออกจาบริษัท ระหว่างเวลานั้นคุณก็ไม่ต้องทำอะไรมากครับ อาจจะนั่งๆนอนๆด้วยซ้ำเพราะเมื่อคุณจะลาออกบริษัทก็คงไม่มีใครมอบหมายอะไรให้คุณ แล้วเมื่อถึงเวลาคุณลาออกไป

  3. ลาออกแบบสร้างสรรค์

    การลาออกแบบนี้ผมพึ่งเคยได้ยินแล้วก็น่าสนใจมาก เขาเปรียบการลาออกเหมือนตอนจบของหนังเรื่องนึง คนส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับตอนจบ ตอนจบยิ่งดียิ่งเป็นที่น่าประทับใจและคิดถึง ดังนั้นทำไมคุณไม่ทำให้ตอนจบของการทำงานที่บริษัทนี้เป็นตอนจบที่สวยงามที่สุดล่ะ โดยการลาออกแบบสร้างสรรค์ที่หนังสือแนะนำก็มี จัดการงานที่คุณคิดว่าควรจะทำซะ ไม่ว่าจะเป็นจัดการปัญหาที่คุณมีอำนาจตัดสินใจให้มันจบ เขียนรายละเอียดปัญหาของงานที่คุยเคยเจอบ่อยๆ วิธีแก้มัน สิ่งสำคัญเกี่ยวกับงานนั้น ใครบ้างที่เกี่ยวข้องและขอความช่วยเหลือ หรือ เขียนแนวทางการทำงานคร่าวๆให้คนทำงานถัดไป แล้วก็ก่อนออกก็ควรรักษามิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมงานไว้ เพราะมันคือเส้นสายที่เรามี ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้มาร่วมงานกันใหม่

สรุป

สำหรับหนังสือเล่มนี้ผมถือว่าคุ้มนะในราคา 325 บาท เพราะเปิดให้เห็นมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะมี ในหนังสือมีอีกหลายเรื่องที่ผมไม่ได้เล่า ซึ่งน่สนใจไม่แพ้กัน ส่วนใครจะเอาไปรองขาโต๊ะไหมอันนี้แล้วแต่เลยครับ ที่รองขาโต๊ะราคา 325 บาทก็ถือว่าเท่ห์ดี ปกเรียบ กระดาษลื่นดีครับ

เพลงประกอบการเขียน Blog

เป็นช่องที่ Cover เพลงแล้วลืมต้นฉบับเลยจริงๆ ผมกลับไปฟัง version ต้นฉบับแล้วไม่เพราะเท่า version นี้เลย