History Of Reading - โลกในมือนักอ่าน

History Of Reading - โลกในมือนักอ่าน

History Of Reading - โลกในมือนักอ่าน

History Of Reading โลกในมือนักอ่าน หนังสือเล่มนี้ซื้อมาตอนงานหนังสือคือปกติผมอ่านหนังสือแนวประวัติของเรื่องต่างๆ พอเห็นเรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องการอ่านก็เลยกดซื้อมา พอได้หนังสือมานี่ช็อกเลย เพราะหนังสือเล่มหนาในระดับหนึ่งเลยแถมหนักใช่เล่นด้วยพกใส่กระเป๋าทีก็หนักโคตร ซึ่งด้วยเหตุผลนี้เลยทำให้ใช้เวลานานมากกว่าจะอ่านจบ

การอ่านในหลายๆแง่มุม

หนังสือเล่มนี้พูดถึงการอ่านหนังสือในหลายๆแง่มุม ตั้งแต่การอ่านนั้นต้องอ่านออกเสียงเท่านั้น การอ่านเป็นพิธีกรรม การอ่านให้คนอื่นฟัง เทคโนโลยีในการเขียนหนังสือ การทำหนังสือ การใช้หนังสือ การขโมยหนังสือ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งหลายเรื่องนี่เล่นเอาประหลาดใจมากๆ

การอ่านต้องออกเสียง

ในยุคกลางยุคที่หนังสือยังมีไม่มาก คนที่อ่านหนังสือออกนั้นมีจำนวนน้อยมาก และหนังสือส่วนใหญ่นั้นก็เป็นหนังสือเกี่ยวกับศาสนา ไม่ว่าจะหลักศาสนา การวางตัว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้อ่านที่ต้องอ่านออกเสียง ให้ผู้ที่อ่านไม่ออกฟัง และเป็นการสอนศาสนาให้กับคนทั่วไปด้วย และด้วยอีกเหตุผลนึงที่ต้องอ่านออกเสียงด้วยเนี่ยเพราะสมัยก่อนการเขียนหนังสือนั้นไม่ได้มีการกำหนดการเว้นวรรค สัญลักษณ์ ต่างๆนาๆ ดังนั้นการสอนการอ่านหนังสือต้องอ่านออกเสียงให้ฟัง รู้ว่าข้อความในหน้านี้ต้องอ่านจากไหนถึงไหน แล้วเว้นวรรคตรงไหน คนที่เรียนก็ต้องจดจำทั้งวิธีการอ่าน และจำด้วยว่าหนังสือเล่มนี้หน้านี้ต้องอ่านยังไง เว้นวรรคตรงไหน ซึ่งพออ่านถึงตรงนี้ก็รู้สึกเฮ้ย จริงดิ แต่พอคิดตามก็เออ น่าจะเป็นไปได้เพราะ สมัยก่อนต่างคนต่างเขียนไม่ได้มีมาตรฐานกลาง ดังนั้นก็ไม่แปลกที่อะไรแบบนี้จะเกิดขึ้น

เมื่ออ่านภาพ

ในยุคกลาง (อีกแล้ว) จากที่ได้เล่าไปในหัวข้อที่แล้วว่าในตอนนั้นคนอ่านหนังสือออกนั้นมีน้อย ทางศาสนจักรเองก็ต้องการเผยแผ่ศาสนาให้กับเหล่าคนที่อ่านหนังสือไม่ออก หรือ อาจจะเป็นเหล่าพ่อค้าที่ต้องการขายหนังสือให้กับลูกค้ากลุ่มที่อ่านหนังสือไม่ออก จึงเกิดการทำหนังสือที่มีภาพประกอบขึ้นมา โดยภาพเหล่านั้นจะวาดเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆในศาสนาไม่ว่าจะเป็นวันเกิด วันถูกตรึงไม้กางเขน หรือ ภาพ ที่เกี่ยวกับหลักคำสอนต่างๆในพระคัมภีร์ ซึ่งด้วยการอ่านภาพนี้ก็ทำให้เชื่อมโยงกับหลักคำสอนที่ได้ฟังจากบาทหลวง จากคนอื่นที่ไปฟังมา หรือตีความจากภาพเอาเอง ซึ่งด้วยวิธีนี้ทำให้ชาวคริสต์สามารถเข้าถึงหลักคำสอนได้มากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดี เนื่องจากมันเป็นภาพ ดังนั้นความเข้าใจต่างๆมาจากการตีความผ่านภาพ (ถึงตัวหนังสือจะต้องตีความเหมือนกันแต่กรอบในการตีความมันแคบกว่า) ซึ่งแต่ล่ะคนมองภาพอาจจะตีความไม่เหมือนกัน ลองนึกถึงการมองภาพที่แผงนัยยะบางอย่างไว้ ซึ่งผู้วาดต้องการจะบอกอย่างหนึ่ง แต่คนดูภาพอาจไม่เข้าใจเหมือนกัน (เดี๋ยวผมลองยกตัวอย่างภาพภาพนึงด้านล่าง ผมก็ไม่รู้ว่ามันตีความว่าอะไร) ซึ่งนั่นทำให้เกิดการเข้าใจไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาต่างๆนาตามมา

ภาพจากหนังสือในเรื่อง ninth gate (เป็นเรื่องแต่ง ไม่ใช่เรื่องจริง แต่มันเข้ากับเรื่องการตีความดีเลยเอาทำให้เห็น)

เมื่อฟังคนอื่นอ่าน

เรื่องนี้ตอนอ่านครั้งแรกผมแทบไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง แต่มันมีจริงๆที่คิวบา คือในยุคปี ศ.ศ. 1860 คิวบาเป็นประเทศขึ้นชื่อเรื่องการทำซิกการ์ แต่การทำซิกการ์นั้นเป็นงานที่น่าเบื่อมากๆ ดังนั้นจะหาอะไรมาให้เหล่าคนงานอยู่กับงานที่โคตรน่าเบื่อนี้ได้ ประจวบเหมาะกับตอนนั้นเหล่าคนก้าวหน้ามีความคิดที่ว่าจะทำให้ยังไงให้เหล่าคนงาน และผู้อ่านหนังสือไม่ออกนั้นสามารถเข้าถึงความรู้ในหนังสือหรือหนังสือพิมพ์ได้ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการจ้างนักอ่าน มาอ่านหนังสือให้คนงานฟัง ซึ่งผลตอบรับนั้นดีมาก เหล่าคนงานบางที่ถึงกับยอมรวมเงินจ้างนักอ่านมาอ่านหนังสือให้ฟัง บางกลุ่มถึงขนาดซื้อหนังสือ หรือ จดรายการที่ต้องการฟังให้กับนักอ่าน จนสุดท้ายโรงงานผลิตซิกการ์มากมายต้องจ้างนักอ่านเหล่านี้มาประจำที่โรงงานกันเลยทีเดียว (ประมาณว่าถ้าไม่มีพนักงานจะย้ายออก หนีไปโรงงานอื่น) ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงการรูปแบบการอ่านให้ฟังและฟังคนอื่นอ่านที่โดดเด่นที่สุดบนโลกขึ้นมา แต่จริงๆแล้วการฟังคนอื่นอ่านหรืออ่านให้คนอื่นฟังนั้นก็มีมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคกลาง (อีกแล้ว) ที่วณิพก กวี จะร่อนเร่ เปิดการแสดงแลกเงิน ซึ่งการแสดงของ วณิพก และ กวี ก็คือการอ่านงานเขียนของตนให้คนอื่นฟังนั่นเอง

จริงๆผมรู้จักการเรื่องฟังคนอื่นอ่านและอ่านให้คนอื่นฟังที่คิวบาผ่านละครเวทีเรื่องนึง แต่ตอนนั้นคิดว่ามันเป็นเรื่องแต่งที่มีการจ้างนักอ่านมาอ่านหนังสือให้คนอื่นฟัง แต่พอมาอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วแบบ เฮ้ย แม่งเรื่องจริงนี่หว่า

อำนาจของหนังสือ

เนื่องด้วยในสมัยก่อนหนังสือเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ราคาแพง ว่าง่ายๆมันกลายเป็นตัวบ่งบอกฐานะได้เลย คนรวยเท่านั้นจึงจะสามารถมีหนังสือไว้ครอบครอง ต่อมาเมื่อหนังสือเริ่มผลิตง่ายขึ้น ถูกลง หนังสือเลยกลายเป็นตัวบอกอย่างอื่นเช่น บ่งบอกการเป็นผู้ใฝ่รู้ บ่งบอกรสนิยม บางทีถึงกับบ่งบอกแนวคิดด้านการเมือง ซึ่งเราก็เห็นได้ในปัจจุบันที่คนจำนวนหนึ่ง เวลาดูรายการเปิดบ้านคนดังหรือสัมภาษณ์คนดัง มักจะมองหาชั้นหนังสือหรือคนดังเหล่านั้นเองก็ชอบจะให้สัมภาษณ์ให้เห็นชั้นหนังสือด้านหลัง แล้วคนเหล่านั้นก็มาวี๊ดว้ายวัดค่าคนดังเหล่านั้นเป็นคนแบบไหนผ่านหนังสือที่เขาแสดงให้เห็น ซึ่งมันไม่เป็นเรื่องใหม่อะไรหรอกครับแต่อยากให้รู้ว่า การทำแบบนี้มันปลอมกันได้ในยุคปี ศ.ศ. 1900 กว่าๆเนี่ยมีการทำปกหนังสือปลอมขายให้บ้านเหล่าผู้ดี หรือ ขุนนางมากมาย เพื่อเอาไปใส่ในชั้นหนังสือ เพื่อสร้างภาพให้ตัวเองเป็นคนมีความรู้ หรือแสดงรสนิยมของตนเองให้ตรงกับผู้มีอำนาจในขณะนั้นเช่น กษัตริย์ ผู้ครองเมือง เป็นต้น ดังนั้นครั้งต่อไปที่คุณเห็นการหนังสือในชั้นวางหนังสือของคนดัง ก็พึงระลึกไว้เถิดว่ามันอาจจะเป็นการจัดฉากเหมือนที่เหล่าผู้ดี หรือ ขุนนางในยุคปี ศ.ศ. 1900 ทำกัน

สรุป

หนังสือ History Of Reading - โลกในมือนักอ่าน นั้นได้บอกเล่าเรื่องในแง่มุมต่างๆของการอ่าน และการเขียน ไว้มากมาย บางมุมมองเราก็ไม่รู้ว่ามันมีอยู่ด้วย โดยที่ผมเล่าไปนั้นเป็นแค่ส่วนน้อยมากๆ ในเล่มมีพูดถึง การแปลหนังสือจากภาษานึงเป็นอีกภาษานึงนั้นมันมีผลกระทบมากมาย หรือจะเป็นเรื่องของหนังสือนั้นเป็นภัยต่อการปกครองถึงขนาดออกกฏหมายจำกัดการอ่าน หรือ การปฏิวัติรูปแบบการผลิตหนังสือจนทำให้หนังสือเป็นที่แพร่หลาย ความบ้าคลั่งในการอยากครอบครองหนังสือ การเขียนหนังสือเพื่ออ่านเอง และอื่นๆ ซึ่งด้วยจำนวนหน้าหนังสือถึง 500 กว่าหน้า (จริงๆมากกว่านี้แต่เป็นบรรณานุกรม) กับราคา 495 บาทก็ถือว่าคุ้มมากมายทีเดียว สำหรับใครที่อ่านหนังสือฆ่าเวลา เก็บเรื่องน่าสนใจไว้เป็นความรู้ ไว้คุยกับเพื่อน ผมก็ขอแนะนำเลย ส่วนข้อเสียของหนังสือเล่มนี้คือมักจะอ้างถึงหนังสือต่างประเทศ ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่ามันคือเรื่องอะไร บางทีเป็นหนังสือเยอรมันแล้วอ้างมันขึ้นมาแบบไม่มีการปูพื้นมาก่อนว่ามันคือหนังสืออะไร ซึ่งอ่านแล้วเราก็จะงงๆ ต้องไป Search หาว่ามันคือหนังสืออะไร พูดถึงอะไร

ปล. สำหรับใครจะเอาหนังสือเล่มนี้ไปรองขาโต๊ะก็แนะนำนะครับ เล่มหนาดี ราคาประมาณ 495 บาท ก็ถือเป็นที่รองขาโต๊ะชั้นดี แถมทำให้คุณดูดีมีรสนิยมไปอีกแบบเหมือนยุคปี ค.ศ. 1900 เลย