TALK LIKE TED - 9 เคล็ดลับการนำเสนอให้เปี่ยมพลัง ตรึงใจ และสร้างสรรค์

TALK LIKE TED - 9 เคล็ดลับการนำเสนอให้เปี่ยมพลัง ตรึงใจ และสร้างสรรค์

TALK LIKE TED - 9 เคล็ดลับการนำเสนอให้เปี่ยมพลัง ตรึงใจ และสร้างสรรค์

หนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนังสืออีกเล่มที่ซื้อมาตอนงานหนังสือออนไลน์ โดยที่ซื้อหนังสือเล่มนี้เพราะอยากรู้ว่าคนที่เขาออกงาน TED เนี่ยเขามีเทคนิคอะไร หลายคนถึงกับยกย่องบูชาว่างาน TED เนี่ยคืองานพูดที่สร้างแรงบันดาลใจที่ดีที่สุดงานนึง ก็เลยลองซื้อมาเผื่อจะประยุกต์ใช้ในการพูดกับมนุษย์ได้ดีขึ้น หรือ เอาไปใช้เวลาอธิบายหลักการและแนวคิดในการเขียนโปรแกรม

หนังสือมีทฤษฏีและการทดลองทางวิทยาศาสตร์รองรับ

หนังสือที่สอนเกี่ยวกับเทคนิคอะไรต่างๆที่เคยอ่านส่วนใหญ่จะบอกว่าทำแล้วดี ทำแล้วแบบนั้นแบบนี้ โดยไม่ได้อ้างอิงกับอะไรเลย แต่สำหรับหนังสือเล่มนี้จะมีการใช้การวัดด้วยวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นจับคลื่นสมองของผู้ฟังขณะฟังการนำเสนอของ TED มีการวิเคราะห์คำพูดทุกคำ แยกเป็นประเภทต่างๆ แล้วดูว่าการนำเสนอที่ได้รับความนิยมมากๆเนี่ยมีคำประเภทไหนมากที่สุด ซึ่งทำให้เทคนิค วิธีการที่เขานำเสนอในหนังสือนั้นดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

คนชอบเรื่องเล่า

บทนึงในหนังสือแนะนำเทคนิคว่าให้นำเสนอเป็นเรื่องเล่า โดยพอเป็นเรื่องเล่าคนที่ฟังจะเปิดใจรับฟังง่ายกว่า แล้วมันฟังง่ายกว่าการเปิดมาพูดด้วยทฤษฏีหรือเนื้อหาหนักๆเลย อีกทั้งบางคนนั้นมีอคติ ถ้าเปิดด้วยเนื้อหาหลักเลยก็จะไม่ยอมเปิดใจ แต่ถ้าเป็นเรื่องเล่าเขาสามารถคิดตามได้ และคิดได้ว่ามันสามารถเกิดขึ้นจริงได้ พอเล่าจบแล้วพาเข้าเนื้อเรื่องหลัก อคติที่มีอยู่ก็อาจจะลดลงจนยอมเปิดใจฟัง ซึ่งพอเราไปดู Video ของ TED ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเล่า ของไทยก็มีนะครับที่ผมเคยดูก็อันนี้

ฟังไปก็เพลินๆแถมสร้างแรงบันดาลใจได้ดี ถึงผมจะไม่ค่อยอินเท่าไหร่เพราะผมมองว่าเขาทำเพราะอยากสนองความต้องการตัวเองก็เท่านั้น แต่ก็ถือเป็นการเปิดมุมมองแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งถ้าเขาไม่ได้เล่าเรื่องเล่าของเขาแล้วเปิดหัวมายัดเรื่องแบบนั้นล่ะก็ บอกเลยว่าผมไม่น่าจะฟังจนจบ โดยในหนังสือมีการบอกว่าเราสามารถหาเรื่องเล่าต่างๆมาเล่าประกอบการนำเสนอได้ โดยเรื่องเล่าที่เขาแนะนำมี 3 ประเภทคือ

  1. เรื่องราวส่วนตัว ก็ง่ายๆครับ มันคือเรื่องราวของตัวคุณเองซึ่งตัวอย่างก็เรื่องราวของ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ที่เล่าเรื่องของตัวเอง

  2. เรื่องของคนอื่น ก็ง่ายๆครับ เรื่องเล่าต่างๆของคนอื่น ไม่ว่าจะคนดัง หรือ อะไรก็ตาม

  3. เรื่องเล่าของแบรนค์ดังๆ อันนี้ก็ยกตัวอย่างเช่น Google ที่เริ่มจากบริษัทเล็กๆ วิศวกรไม่กี่คน แต่สามารถพัฒนาขึ้นมายิ่งใหญ่ในปัจจุบัน

ให้ข้อมูลใหม่กับผู้ฟัง

นี่เป็นอีกเทคนิคที่หนังสือแนะนำคือ ให้ข้อมูลใหม่ที่ผู้ฟังไม่เคยรู้ เช่น “ถ้าสหรัฐเปลี่ยนเงินที่ใช้ในการสำรวจอวกาศ 1 ปีไปใช้สำรวจมหาสมุทรนั้นจะสามารถใช้สำรวจได้นานถึง 1600 ปี” ซึ่งการทำแบบนี้นั้นทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจและตื่นเต้น โดยหนังสือก็ได้อธิบายให้ฟังถึงวิธีนี้ในหลายๆรูปแบบ

เวลาที่ใช้ในการนำเสนอ

หนังสือบอกว่าเวลาที่ใช้ในการนำเสนอของ TED คือไม่เกิน 18 นาที ซึ่งจากสถิติของ TED พบว่า Video ที่ผู้ชมใช้ความสนใจเยอะจะอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว อีกทั้งมีการศึกษาเรื่อง “การคั่งค้างในการรู้คิด” ของคน กล่าวคือถ้าคุณต้องฟังอะไรนานๆสมองจะค่อยๆล้าจนสุดท้ายจะไม่ค่อยสนใจ ซึ่งก็ไม่แปลกใจที่เวลาเรียน 3 ชั่วโมงตอนอุดมศึกษามันทรมานแถมไม่ค่อยรู้เรื่องเท่ากับเรียนตอนมัธยมที่เรียนแค่ 50 นาที โดยหนังสือแนะนำว่าควรนำเสนอแค่ 18 นาที ถ้านานกว่านั้นก็ควรหยุดจากเรื่องหลักไปเล่าเรื่องอื่น อาจจะเป็นเรื่องเล่า มุกตลก เพื่อให้สมองผู้ฟังได้พัก จากนั้นค่อยกลับเข้าเนื้อหาหลัก ซึ่งพอมาคิดดูแล้วอาจารย์ที่สอนตอนเรียนมหาวิทยาลัยท่านนึงก็ใช้เทคนิคประมาณนี้ อาจารย์จะสอนทฤษฎีพอจบเรื่องนั้น แกก็จะตัดไปเล่าเรื่องอื่น เช่น ตอนไปเรียนต่างประเทศแรกๆ นั่งเครื่องบินแล้วเจอคนนั่งข้างเป็นใคร อะไรประมาณนี้ แล้วค่อยกลับไปสอนต่อ ซึ่งน่าแปลกใจที่เราเข้าใจวิชานี้มากกว่าวิชาที่สอนลากยาว 3 ชั่วโมง

สรุป

ในหนังสือมีอีกหลายเทคนิคสำหรับการนำเสนอ ซึ่งถ้าใครอยากได้เทคนิคที่ทำให้การนำเสนอให้ไม่น่าเบื่อน่าจดจำอีกทั้งมีทฤษฎีรองรับ ก็ลองไปหาซื้อมาอ่านกันดูครับ