จากดับสูญสู่นิรันดร์ - From here to Eternity

จากดับสูญสู่นิรันดร์ - From here to Eternity

จากดับสูญสู่นิรันดร์ - From here to Eternity

สำหรับหนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มที่ซื้อเพราะอยากให้จำนวนเล่มมันถึงจำนวนเล่มที่ได้ส่วนลด จึงไม่ค่อยได้คาดหวังอะไรมาก ซึ่งเมื่อได้อ่านก็เลยทำให้รู้สึกกลางๆ แต่ก็มีเรื่องน่าสนใจหลายอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัฒนธรรมและความเชื่อของแต่ละที่ที่ผู้เขียนได้ไป แต่ส่วนหนึ่งที่ผมไม่ชอบคือคนเขียนมักใส่การจิกกัดกับพิธีศพในปัจจุบันซึ่งผู้เขียนมองว่ามันไม่ดีแบบนั้นแบบนี้ แต่สิ่งที่ตัวหนังสือบอกว่า เราควรเคารพพิธีกรรมของแต่ละที่ แต่ตัวผู้เขียนเองกลับต่อว่าพิธีของคนในปัจจุบัน ดังนั้นมนุษย์ที่มี Logic ก็เลยไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ที่เขาพูดแบบนั้น แต่ถ้าตัดเรื่องนี้ออกหนังสือก็เล่าเรื่องพิธีกรรมเกี่ยวกับศพที่ไม่เคยรู้หลายเรื่อง

พิธีกรรมแต่ละและความเชื่อแต่ละที่ไม่เหมือนกัน

หนังสือเล่าบันทึกของ Herodotus ที่บันทึกเกี่ยวกับผู้ปกครองอาณาจักรเปอร์เซียได้ถามชาวกรีกที่มีจัดพิธีศพโดยการเผาร่างของผู้ตาย “อะไรที่จะทำให้พวกเขากินเนื้อของบิดาที่เสียชีวิตไปแล้วบ้าง” ชาวกรีกก็ตอบทันทีว่า “ไม่มีอะไรที่จะทำให้พวกเขากินเนื้อของบิดาของตนที่ตายไปแล้ว” ไม่นานผู้ปกครองก็เรียกชาว Callatian ซึ่งจัดพิธีศพโดยการกินเนื้อศพผู้ล่วงลับ (ใช่ครับคุณอ่านไม่ผิด เขากินเนื้อศพครับ) แล้วถามว่า “อะไรที่จะทำให้พวกท่านเอาศพของบิดาท่านไปเผา” ชาว Callatian ก็บอกเช่นกันว่าไม่มีอะไรที่จะทำให้พวกเขาเอาศพของบิดาของตัวเองไปเผา ซึ่งพอเปิดด้วยเรื่องนี้แล้วมันทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับการจัดพิธีศพว่ามันมีหลากหลาย (กินเนื้อศพ อะ โคตรแล้ว) และเราก็ไม่ควรตัดสินมุมมองการจัดพิธีศพของผู้อื่นโดยใช้มุมมองการจัดพิธีศพของเรา แต่โดยส่วนตัวสำหรับเรื่องนี้คนที่แตกต่างก็ต้องยอมรับการที่คนอื่นมองคุณว่าประหลาด เพราะมุมมองของเขามันไม่ปกติ ลองไปงานศพแล้วเจอคนกำลังหั่นเนื้อศพมากินแบบชาว Callatian อันนี้เราก็น่าจะช็อกกันน่าดู อาจจะถึงโทรเรียกตำรวจทันที

การจัดพิธีศพของ : อินโดนิเซีย : สุลาเวสีใต้

ผู้เขียนหนังสือเล่าพิธีศพของชาวสุลาเวสีใต้ว่าเขาจะเก็บศพของผู้ตายไว้โดยมีทั้งไปเก็บรวมไว้เป็นสุสานหรือถ้ามีที่มีเงินหน่อยก็เก็บไว้ที่บ้านเลย โดยศพที่เขาเก็บไว้เนี่ยเขาจะมีวิธีการรักษาศพคือใช้น้ำยาที่ชาวบ้านเขาคิดขึ้นมาแบบโบราณทาและฉีดเข้าตัวศพ หรือแบบสมัยใหม่หน่อยก็จะฉีดฟอร์มาลีนเข้าไปในศพเลย จากนั้นเขาก็จะทำความสะอาดศพใส่เสื้อผ้าแล้วก็เอาศพเก็บไว้ที่ที่จะเก็บ โดยถ้าเก็บไว้ที่บ้าน เขาจะดูแลศพประหนึ่งเป็นคนคนหนึ่งในบ้านเลย มีทำอาหารไปให้ ไปพูดคุย อาบน้ำ วันสำคัญที่ญาติกลับมาเยี่ยมบ้านก็มีถ่ายรูปครอบครัวกับศพที่อยู่ในบ้านด้วย (คุณอ่านไม่ผิดครับ ถ่ายรูปครอบครัวกับศพที่เก็บไว้) บางบ้านนี่เก็บศพปู่ไว้ จนหลานที่เกิดใหม่มาโต และก็ไปพูดคุยกับศพของปู่ ทำความรู้จักกับปู่ ประหนึ่งปู่ยังไม่ตาย โดยความเชื่อของชาวสุลาเวสีใต้ (จริงๆเป็นแค่หมู่บ้านไม่กี่หมู่บ้านในสุลาเวสีใต้นะครับ) เขาเชื่อกันว่าคนตายน่ะแค่ตายวิญญาณยังคงอยู่ในร่างนั้น จนกว่าจะมาทำพิธีเอาวิญญาณออกจากร่างก่อนวิญญาณจึงจะออกจากร่าง ผู้เขียนกล่าวชมพิธีการศพอะไรแบบนี้บอกว่ามันดูเป็นพิธีกรรมที่มีความรู้สึก ความรัก ที่ผู้อยู่มอบให้ผู้ตาย ซึ่งดูดีกว่าพิธีศพในปัจจุบัน (ของชาวอเมริกา) ที่เข้าไปนั่งรอส่งโลงเข้าเตาเผา ไม่ได้มีการที่ลูกหลานคนในครอบครัวได้อาลัยกับศพเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งผู้เขียนยังบอกอีกว่ามันเป็นการทำคนกลัวความตายไม่กล้าเผชิญหน้ากับความตาย (ผมไม่ค่อยเห็นด้วยแต่เดี๋ยวผมค่อยใส่ความเห็นของผมข้างล่างละกัน)

เผาศพกลางแจ้ง

สำหรับคนไทยแบบเราๆการเผาศพกลางแจ้ง(เผาศพแบบเชิงตะกอน) เป็นอะไรที่ไม่แปลก แต่สำหรับผู้เขียนดูจะชื่นชมอะไรแบบนี้มาก ซึ่งผมก็พอจะเข้าใจคงไม่ชอบการพิธีศพแบบชาวอเมริกาที่จัดเป็นพิธีแบบเป็น Pattern อะไรไปหมด ผู้เขียนเล่าเหตุการณ์ที่เจอว่าเป็นพิธีที่สุดซึ้ง มีคนมาร่วมงานวางดอกไม้เพื่อจะเผา มีการแห่ศพ ต่างๆนาๆ ซึ่งสำหรับผมมันคืองานแบบไทยสมัยก่อนเลย ที่มีแห่ศพ โยนข้าวตอก (มันมีความหมายนะครับ ข้าวตอกคือข้าวที่ไม่สามารถปลูกได้แล้ว เปรียบเทียบกับความตายคือตายก็ตายไปเลย กลับมามีชีวิตไม่ได้) แล้วก็ไปเผา รอเก็บกระดูก ต่างๆนาๆนั่นแหละ ผู้เขียนพยายามบอกว่ามันเป็นอะไรที่สุดยอดมากๆ แต่ทางการสหรัฐกลับพยายามขัดขวางการจัดพิธีศพแบบนี้

อ่านแล้วได้อะไร

ในหนังสือยังมีเล่าพิธีศพของอีกหลายๆประเทศ ทั้งญี่ปุ่น แม็กซิโก พิธีแบบการฝัง การปล่อยให้แร้งลงมากิน ซึ่งเป็นอะไรที่น่าสนใจ แต่ส่วนที่ไม่ชอบคือการที่ผู้เขียนพยายามบอกว่าพิธีศพแบบปัจจุบันนั้นแย่ ไม่ดี ต่างๆนาๆ ทั้งๆที่ตัวผู้เขียนพยายามบอกด้วยซ้ำว่าอย่าไปตัดสินพิธีศพแบบอื่น ผมพอเข้าใจว่าทำไมผู้เขียนถึงไม่ชอบ สาเหตุที่ผู้เขียนไม่ชอบเนี่ยเพราะการจัดพิธีศพเนี่ยมันกลายเป็นธุรกิจ มีการจัด Package มีการกำหนดการต่างๆแบบเป๊ะๆ เหมือนทำๆให้จบไป ผมไม่เถียงเลยครับว่ามันเป็นธุรกิจจริงๆ ที่ไทยคุณลองไปที่วัดแล้วถามวัดก็ได้นะครับว่าจะจัดงานศพเนี่ยมีแบบไหนบ้าง หลายวัดเขามีเลยครับ จะสวดกี่วัด สวดควบไหม มีอาหารให้แขกแบบไหนบ้าง เขาจะมีราคาทั้งหมดมาให้เราเลย แถมมีสัปเหร่อคอยจัดงานให้ครบ มีคนดำเนินงานให้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะถวายผ้าบังสุกุล เริ่มนำสวด แต่ในมุมมองผมผมก็มองว่ามันก็คือการอำนวยความสะดวกให้สำหรับคนที่ไม่รู้พิธีการ ใจความสำคัญจริงๆของงานศพสำหรับผมคือการได้จัดการกับผู้ที่ตายไปแล้ว ดูเขาเป็นครั้งสุดท้าย ทราบว่าเขาจะตายจากไปแล้ว เขาจะไม่ได้เจอกับเราอีกแล้ว คนที่อยู่ก็อาจจะมาขอขมา หรือมาอภัยในสิ่งต่างๆที่เคยทำกันมาจะได้สบายใจ ซึ่งทั้งหมดมันทำเพื่อคนเป็น ใช่ครับ ผมมองว่ามันเป็นงานสำหรับคนเป็น ถ้าคุณไปในงานคุณจะเห็นอะไรหลายๆอย่าง เช่น คุณจะเห็นคนเอาข้าวไปให้ศพกิน ถามจริงว่าศพมันกินข้าวได้ไหม มันกินไม่ได้ไง แล้วทำไมคุณถึงต้องเอาไปให้ มันทำให้เห็นไงว่าคนตายไปแล้วกินไม่ได้ ถ้าอยากให้เขากินอะไรก็ควรให้กินตอนเขาอยู่ จะมาขออภัยกันทำไมตอนเขาตายทำไม เขาอยู่ทำไมไม่ขอ อีกทั้งมันเป็นการเตือนสติให้คุณทราบว่า “ความตาย” ไม่ใช่เรื่องตลก ตายคือจบทำอะไรไม่ได้แล้วและความตายอาจเลือกเวลาไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่ผู้ไปร่วมพิธีศพควรทราบ ควรรู้ ในมุมมองของผม ไอพิธีศพที่เอาคนตายมาอยู่ด้วยเรื่อยๆ(ของสุลาเวสีใต้) สำหรับผมมันก็แค่การหลอกตัวเองว่าเขายังอยู่ เขายังไม่ไปไหน ผมเข้านะว่าพิธีแบบนั้นมันเป็นการบรรเทาความเจ็บปวดของคนที่ยังอยู่นั่นเอง สุดท้ายพิธีแบบไหนคงไม่สำคัญ สำคัญว่าคนอยู่จะรู้และได้อะไรจากการเห็นความตายตรงหน้ามากกว่า

สำหรับใครอยากรู้ว่าบนโลกนี้มีการจัดพิธีศพแบบอื่นที่เราเคยเห็นในประเทศไทย วิธีจัดการศพที่ไม่ใช่การเผา ผมก็แนะนำในระดับกลางๆในการซื้อมาอ่านเพราะเนื้อหามันน้อยและไม่ได้ลงรายละเอียดแบบลึกๆ ความหมายที่ทำไมต้องทำแบบนั้นครับ