THE INTELLIGENT INVESTOR - คัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า

THE INTELLIGENT INVESTOR - คัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า

THE INTELLIGENT INVESTOR - คัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า

สำหรับหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือชุดแรกๆที่ผมซื้อมาอ่าน (ดูจากคำหนังสือแนะนำของคุณ Tactschool ) โดยตอนนั้นตั้งเป้าว่าอยากจะเป็นนักลงทุน นักเล่นหุ้น วาดภาพฝันว่ากลางวันเขียน Code การคืนอ่านเรื่องการลงทุนพอพร้อมก็เริ่มลงทุนจะรวยเป็นเศรษฐีบลาๆ แต่พอได้เห็นหนังสือก็อุทานว่า “เล่มใหญ่ชิบหาย” ประกอบกับช่วงนั้นมีหลายเรื่องเข้ามาในชีวิตไม่ว่าจะเรื่องความรัก เรื่องเรียน ป.โท ทำให้ตัวเองเปลี่ยนไปสนใจหนังสือปรัชญาที่ พยายามทำความเข้าใจชีวิต

กว่าจะได้กลับมาอ่านแบบจริงจังก็ปีนี้เพราะเริ่มรู้สึกว่าเราน่าจะต้องวางแผนเรื่องการลงทุนแบบจริงจังละก็เลยกลับมาอ่าน ซึ่งพอมาอ่านก็รู้สึกว่าสมแล้วที่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหลายคนแนะนำ เพราะเนื้อหานั้นเป็นเรื่องจริง ตรงไปตรงมา และจริงใจ

การลงทุน กับ การเก็งกำไร

หนังสือเล่มนี้แนะนำตั้งแต่ต้นว่าจะพูดเรื่องการลงทุนไม่ใช่เรื่องการเก็งกำไร ตัวผู้เขียนจึงอธิบายเกี่ยวกับการลงทุนและการเก็งกำไรไว้ว่า “การลงทุนเป็นการกระทำที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์อย่างละเอียด ซึ่งจะปกป้องเงินต้นและสร้างผลตอบแทนที่เพียงพอให้ การกระทำใดๆที่นอกเหนือกฏเกณฑ์นี้จะถือว่าเป็นการเก็งกำไร” จะเห็นว่าผู้เขียนไม่ได้บอกการลงทุนกับอะไรเป็นการเก็งกำไร แต่มันจะเป็นการเก็งกำไรทันทีเมื่อคุณไม่ได้วิเคราะห์อย่างละเอียดและการกระทำนั้นไม่ได้ปกป้องเงินต้นของคุณ ซึ่งมันตอบคำถามหลายๆคำถามของผมเช่น ผมควรจะลงทุนในอะไรดี ตอนแรกว่าจะไปลงทุนในคริปโต เทรดคริปโต แบบไม่รู้ แต่พอมาเจอการอธิบายนี้ถ้าผมยังคิดจะไปลงทุนคริปโตโดยการเทรดแบบไม่รู้ นั่นไม่ใช่การลงทุน มันคือการเก็งกำไร เพราะผมไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคริปโต เข้าไปใช้ใจใช้ความรู้สึกดูๆว่ามันจะขึ้นจะลง แต่กลับกันถ้าผมไปศึกษาเรื่องเทรดคริปโตแบบจริงจัง หามูลค่าที่แท้จริง หาวิธีที่ทำแล้วไม่มีทางเสียเงินต้นหรือโอกาสเสียเงินต้นน้อยมาก แล้วไปทำการเทรดอะไรแบบนั้น สิ่งนี้ถึงเรียกว่าการลงทุน

ไม่ได้สอนให้เอาชนะ แต่สอนป้องกันความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

หนังสือได้เล่มนี้จริงใจกับเรามากถึงขนาดบอกตั้งแต่ต้นเลยว่า เป้าหมายของเขาไม่ได้สอนวิธีที่จะเอาชนะตลาด หรือได้กำไรแบบเป็นกอบเป็นกำ หรือการเก็งกำไร แต่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้จะสอนคือ ความผิดพลาดของนักลงทุนที่ผิดพลาดกัน ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งซื้อหุ้นเติบโตแบบไม่คิด การซื้อหุ้น IPO ในภาวะตลาดกำลังขึ้น การจับจังหวะซื้อขายรายวัน ซึ่งสิ่งที่หนังสือสอนมีหลักฐานอ้างอิงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว และเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเสียด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวผมชอบแนวการสอนแบบนี้นะครับเพราะถ้าเราไม่ผิดพลาดแล้วเราจะเหลือแค่เท่าทุนกับกำไรซึ่งทำให้เราสบายใจในการลงทุนไม่ต้องมานั่งหวาดวิตก กลัวว่าจะมีปัญหาอะไรไหม เงินเราจะหายไปรึเปล่า

นักลงทุนเชิงรุก กับ นักลงทุนเชิงรับ

หนังสือนิยามนักลงทุนไว้สองประเภทใหญ่ๆคือ นักลงทุนเชิงรุก กับ นักลงทุนเชิงรับ ซึ่งเชิงรุกกับเชิงรับเนี่ยไม่ได้เกี่ยวกับการซื้อขายด้วยเงินจำนวนเยอะ หรือซื้อบ่อยแค่ไหน แต่เป็น นักลงทุนเชิงรับ (บางครั้งเรียกว่า นักลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม) คือผู้ที่ลงทุนแบบเน้นไปยังเรื่องความปลอดภัยและไม่ต้องลงมือทำอะไรมากมาย ส่วนนักลงทุนเชิงรุกคือผู้ที่ยอมเสียเวลา ลงแรง ศึกษาเกี่ยวกับลงทุนนั้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากกว่านักลงทุนเชิงรับ คำถามคือนักลงทุนเชิงรับได้ผลตอบแทนประมาณนั้นก็ขอท่านไปดูพวกกองทุนรวมดัชนีได้กำไรเท่าไหร่ นั่นแหละคือสิ่งที่นักลงทุนเชิงรับคาดหวังว่าจะได้

พออ่านมาถึงตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนความคิดเรื่องการลงทุนของผมเลย เพราะเมื่อลองคิดแล้วตัวผมเป็นนักลงทุนเชิงรับ เพราะผมไม่สนุกกับการที่ตัวเองต้องไปนั่งไล่อ่านงบการเงิน อ่านแผนการดำเนินงานบริษัท ทำความเข้าใจธุรกิจ ผมสนุกกับการเขียนโปรแกรม เขียนนิยาย อ่านหนังสือ มากกว่า ดังนั้นเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นลงทุนเชิงรับแล้ว หนังสือก็แนะนำว่าควรไปลงทุนในวิธีที่เหมาะกับตัวเองน่าจะดีกว่า เพราะจะทำให้คุณสบายใจไม่ต้องกังวล และไม่ต้องเจอกับศัตรูทางการลงทุนที่น่ากลัวตัวหนึ่งซึ่งก็คือตัวคุณเอง

ศัตรูคือตัวคุณเอง

หนังสือได้บอกว่าตัวคุณเองเป็นศัตรูที่น่ากลัวในการลงทุนตัวหนึ่งเลยเพราะคุณอาจจะอารมณ์ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนมากกว่าเหตุผล ตัวอย่างธรรมดาที่คุณเห็นได้ชัดเลยคือเมื่อราคาหุ้นขึ้นคุณมีแนวโน้มจะซื้อมัน ทั้งๆที่คุณไม่ได้ทำการวิเคราะห์มันก่อนว่า ราคานั้นกับมูลค่าที่แท้จริงนั้นมีราคาเท่าไหร่ ถ้ามันห่างกันมากคุณไม่ควรจะซื้อมันเสียด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายอารมณ์ก็จะบอกคุณว่าเห้ยมันจะขึ้นอีกนะ ซื้อมันซะตอนนี้เลยดีกว่าแล้วพอมันขึ้นค่อยขาย ในทางกลับกันเมื่อราคาหุ้นลง คุณก็มีแนวโน้มที่จะขายหุ้นนั้น โดยถ้าคุณทำการวิเคราะห์ประเมินหามูลค่าที่แท้จริงแล้วพบว่า ราคามันถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนั้น เหตุใดคุณจึงต้องขายมันล่ะ มันควรจะเป็นเวลาที่คุณควรจะซื้อมันสิเพราะต่อให้มันแย่ขนาดไหนคุณก็ได้กำไรเพราะถ้าขายทั้งบริษัทตามมูลค่าที่แท้จริง คุณก็ย่อมได้เงินมากกว่าตอนซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง แต่ในความเป็นจริงล่ะมันเป็นยังไง เฮ้ย ราคามันตก มันจะตกลงกว่านี้อีก รีบขายมันเลยสิจะเก็บมันไว้ทำไม นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆที่แสดงให้เห็นว่าตัวคุณเองนั่นแหละที่เป็นหนึ่งในศัตรูของการลงทุน

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับผมการอ่านหนังสือให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนที่สุดยอดมากเพราะเป็นการสอนหลักการการลงทุนที่ปลอดภัยโดยใช้เหตุใช้ผลในการวิเคราะห์ บอกเล่าข้อผิดพลาดของนักลงทุนในอดีตว่าเขาผิดพลาดเรื่องอะไร เพราะอะไร เพื่อเราจะได้ไม่ผิดซ้ำตาม ซึ่งแตกต่างจากหนังสือสอนการลงทุนเล่มอื่นๆที่เปิดมาก็สอนวิธีที่จะทำให้กำไร บอกแต่ข้อดีของวิธีนั้น ไม่ได้พูดถึงข้อเสีย วิธีป้องกันเลย พอพูดถึงตรงนี้เพื่อไม่ให้ผมพูดแต่ข้อดีของหนังสือเล่มนี้อย่างที่ผมพึ่งพูดไป ดังนั้นผมจะขอพูดถึงข้อเสียของหนังสือเล่มนี้ซึ่งมีดังต่อไปนี้ อย่างแรกเลยคือมันไม่ได้หวือหวาอะไรเลย ออกแนวอ่านแล้วน่าเบื่อเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากเขาไม่ได้บอกวิธีที่ทำกำไรได้ดีซึ่งไม่ตรงกับที่หลายคนคาดหวัง อย่างที่สองคือหนังสือพูดถึงเรื่องในสหรัฐซะเยอะไม่ว่าหุ้น กองทุ้น พันธบัตร ซึ่งสำหรับคนไทยนอกวงการการลงทุนอย่างผมนี่คือไม่รู้จักเลย เวลาเขาเปรียบเทียบหรืออ้างถึงมันก็จะอึ้งๆ ข้อที่สามพอเราเริ่มเข้าใจว่าตัวเองเป็นนักลงทุนเชิงรับแล้ว บางบทนั้นแทบไม่มีความน่าสนใจที่จะอ่านเลยเพราะเป็นการวิเคราะห์บริษัทซึ่งนักลงทุนเชิงรับอย่างผมนั้นจะโยนเงินไปเข้ากองทุนแบบดัชนีที่มีคนจัดการให้น่าจะดีกว่า (แต่ถ้าจะลงทุนด้วยตัวเองก็ได้นะ แต่พอมันต้องเริ่มใช้ความพยายามมันจะเริ่มกลายเป็นนักลงทุนเชิงรุก)

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจว่าตัวเองเป็นนักลงทุนเชิงรับ ก็ขี้เกียจทำอะไรมากมายอะนะ ไปเขียนนิยาย ทำ Blog เขียนโปรแกรมสนุกกว่าเยอะ ดังนั้นการลงทุนที่ผมทำมาตั้งแต่เริ่มซึ่งคือกองทุนรวมดัชนีก็ตอบโจทย์การลงทุนอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องไปดูตัวอื่น เช่นตราสารหนี้ระยะยาว เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่ต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนในเวลาที่หุ้นดิ่งลงเหว (แต่ตอนมันดิ่งลงเหวผมก็คงไม่ขายมันออกมาอะนะ จริงๆมีเงินสดไว้อยู่แล้วแต่มันโดนเงินเฟ้อเล่นงานอยู่ทุกวัน)

จริงๆในหนังสือเล่มนี้มีอีกหลายเรื่องที่ผมไม่ได้พูดถึง ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ว่าหุ้นตัวนี้ดีหรือไม่ดี มูลค่าที่แท้จริงควรจะเป็นเท่าไหร่ ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยคืออะไร จะจัดการเงินเฟ้อยังไง จะตรวจสอบที่ปรึกษาทางการเงินอย่างไร เป็นต้น โดยส่วนตัวถ้าคุณพอมีเงิน หรือสามารถไปยืมจากห้องสมุดได้ ผมก็แนะนำให้ไปหาอ่านครับ รับรองคุ้มกับเวลาและเงินที่เสียไปแน่นอน