Awareness - ตื่นรู้

Awareness - ตื่นรู้

Awareeness - ตื่นรู้

ชีวิตคืออะไร ความสุขที่เราต้องการคืออะไร เราควรใช้ชีวิตยังไง คำถามพวกนี้เริ่มเข้ามาในชีวิตผมเมื่อผมเรียนจบมาทำงาน เริ่มมีอิสระในชีวิตเพราะสามารถทำงานหาเงิน เลี้ยงดูตัวเองได้ ใครจะมาห้ามจะมาสั่งให้คิดแบบนั้นแบบนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว (เขาจะใช้คำว่าให้ทำกับข้าวให้กิน ใครหาเงินให้ กับเราไม่ได้อีกแล้ว) หลายสิ่งที่เคยเชื่อ หลายสิ่งที่คิดว่าถูก เมื่อใช้เริ่มใช้เหตุผลมาจับหลายเรื่องก็มักไม่จริง ความสุขที่เขาปลูกฝังอาจไม่ใช่ความสุขของเรา ดังนั้นเราจึงต้องทำตามแบบพระพุทธเจ้าที่เรานับถือกัน ซึ่งนั่นก็คือ “การออกตามหาความสุขที่แท้จริง ความหมายของชีวิต วิธีดับทุกข์” ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีไม่เหมือนกัน ของผมก็ไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้าที่ออกบวช ของผมแค่ตามหาวิธีคิด วิธีการตีความหมายของชีวิต วิธีการดับทุกข์ของคนบนโลกว่าเขาใช้วิธีอะไรกันบ้าง วิธีใดจะตรงกับเรา ซึ่งนั่นนำพาผมให้ไปเจอหนังสือปรัชญา หนังสือศาสนา ต่างๆ ซึ่งหนังสือที่ผมจะมาเล่าให้ฟังว่าอ่านแล้วได้อะไรคือ Awareness - ตื่นรู้ ของนักเขียนที่ชื่อ OSHO ซึ่งในคนจำนวนหนึ่งบูชาเป็นพระเจ้า แต่บางคน (รวมถึงผม) มองว่าเขาลวงโลกมากกว่า ดังนั้นการอ่านหนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนึ่งในความท้าทายของผมที่ต้องลดอคติ (ใช้คำว่าลดเพราะยังไงก็มี) และทำความเข้าใจสิ่งที่เขาเขียน (หรือจ้างเขียน)

บอกตามตรงว่าหนังสือเล่มนี้พูดเรื่องอะไรที่ผมคิดว่า WTF (อะไรของมึง) เยอะมาก อีกทั้งใช้การเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น ซึ่งบางอันก็สมเหตุสมผล บางอันก็อะไรของมึง ดังนั้นเนื้อหาต่อจากนี้คือแก่นที่ผมคิดว่าผมได้จากหนังสือเล่มนี้

อดีต อนาคต ปัจจุบัน

ตัวผู้เขียนพูดถึง อดีต ว่าเป็นสิ่งที่ตายไปแล้ว สิ่งที่เราไม่ควรไปให้ค่าอะไรกับมันมากจนเกินไป เพราะอดีตจบไปแล้ว เราแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ไปคิดถึง ไปสนใจ ก็เท่านั้น เช่นกัน อนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เราไม่ควรไปสนใจมันมาก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมนุษย์จะใช้ความคิดที่อยู่ในหัวของเรามุ่งไปหา อดีต และ อนาคต เช่น เราคิดถึงเรื่องในอดีต นึกถึงวันดีๆ ความรู้สึกที่ดีในอดีต และสุดท้ายเราก็จะพยายามให้อนาคตนั้นเป็นเหมือนอดีตที่เราคิดว่าดีมากที่สุด หรือ การคิดว่าอดีตที่ไม่ดีแบบนั้นแบบนี้ต้องถูกจัดการด้วยวิธีการแบบนี้ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์คล้ายๆเดิมในอดีตเราก็ตอบสนองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นแบบอดีต ซึ่งการทำแบบนี้นั้นผู้เขียนบอกว่าเป็นการฉายภาพอดีตไปยังอนาคต ชีวิตจะเป็นแบบเดิมไปเรื่อยๆ เช่นกันถ้าเราคิดแต่ถึงอนาคตเราจะวาดฝันไปเรื่อยๆ คิดว่าวันพรุ่งนี้จะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เหมือนวิ่งไล่อะไรที่ไม่มีทางเป็นจริงสักทีประมาณนั้น

สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะให้เราสนใจจริงๆคือ “ปัจจุบัน” ปัจจุบันคือวินาทีนี้ เรารู้สึกอะไร ทำอะไร ต่างหาก โดยผู้เขียนพยายามให้เราเข้าใจใกล้ปัจจุบันจนถึงขนาดไม่มีช่องว่างให้คิดกันเลยทีเดียว ซึ่งสิ่งนั้นผู้เขียนเรียกว่าการตระหนักรู้

การตระหนักรู้

การตระหนักรู้ของผู้เขียนคือการอยู่กับปัจจุบัน อยู่แล้วรู้สึกถึงปัจจุบันโดยไม่ใช้ อดีตและความทรงจำมาเกี่ยวข้องเลย ในหนังสือเปรียบเทียบด้วยการมองดอกไม้ ถ้าคุณมองดอกไม้แล้วคิดว่ามันสวยนั่นแปลว่าคุณไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน เพราะตั้งแต่การที่คุณตีความมันว่าสวย นั่นคือคุณคิด คุณไปเอาภาพดอกไม้ในอดีตมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันแล้ว ซึ่งผมก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันว่าการมองแบบปัจจุบันที่ผู้เขียนกำลังพูดถึงนั้นมันคืออะไร

การตระหนักรู้คือ “การเฝ้ามอง” ผู้เขียนบอกไว้ประมาณนั้น การเฝ้ามองคือมองเฉยๆ มองว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น มองว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ไม่มีการคิด วิเคราะห์ใดๆมาเกี่ยวข้องกับการเฝ้ามอง ปล่อยให้มันเกิดไป การเฝ้ามองที่ผู้เขียนว่านั้นรวมถึงการเฝ้ามองตัวเองด้วย เฝ้ามองว่าตัวเองกำลังโกรธ เฝ้ามองว่าตัวเองกำลังมีความสุข เฝ้ามองกำลังหายใจ กำลังทำอะไรอยู่ในขณะปัจจุบันขณะนั้น โดยไม่ตัดสินใดๆ

ผู้เขียนบอกว่าถ้าทำได้เนี่ยคุณจะได้พบกับพระเจ้าที่มาหาคุณที่บ้านทุกวัน เพียงแค่คุณนั้นไม่ได้อยู่บ้าน การเฝ้ามองคือการกลับบ้านมาเพื่อพบพระเจ้าที่กำลังรออยู่ที่บ้านเราเลยทีเดียว อีกทั้งสำหรับผู้เขียนนั้นการตระหนักรู้เหมือนยาวิเศษครอบจักรวาล ซึ่งผมอ่านแล้วดูขัดๆในหลายๆเรื่อง แบบการยกตัวอย่างว่าตระหนักรู้จะทำให้คนคนนึงเลิกเป็นโจรเลยทีเดียว ผมไม่เข้าใจว่าทำไมการตระหนักรู้มันจะมีผลมากขนาดนั้นเลย การตระหนักรู้ทำให้เรารู้หรือว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร เพราะเราเฝ้ามองมันเฉยๆนี่ แถมเราไม่ได้ใช้อดีตมาตัดสินด้วย การเฝ้ามองการกระทำของตนเองในขณะที่ฉกชิงวิ่งราว (การเป็นโจรนั่นแหละ) จะทำให้เราหยุดการเป็นโจรหรือในเมื่อเราแค่เฝ้ามอง ตระหนักรู้ว่าเรากำลังปล้น เราแค่รู้ว่าปล้นเท่านั้น เราไม่ได้ตัดสินนี่ว่ามันถูกมันผิด แล้วเหตุใดการตระหนักรู้ถึงจะทำให้โจรคนนั้นหยุดปล้นเสียล่ะ มันประหลาดไหม

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับผมการอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการกลับไปนึกถึงกับคำสอนของศาสนาพุทธที่สอนผมมาตั้งแต่เด็กแต่ไม่เคยทำได้นั่นคือ การอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งนั่นคือการมี “สติ” ใช่ครับการมีสติ รู้ตัวว่ากำลังทำอะไร คิดอะไร หนังสือทั้งเล่มที่อ่านมาคือการกลับมาหาคำว่าสติเลย แต่ชาวพุทธ (และอดีตชาวพุทธ) กลับไม่อยู่กับปัจจุบันเลย บางคนคิดแต่กรรมในชาติที่แล้ว บางคนคิดแต่หาสวรรค์ในอนาคต สนแต่เรื่องเหลือเชื่อ จนลืมสิ่งที่เรียกว่าการอยู่กับปัจจุบันซึ่งนั่นคือสติ หากท่านมีสติท่านจะรู้ตัวว่าท่านกำลังทำอะไร ไม่ปล่อยให้สิ่งจากอดีตมามีผลเหนือตัวคุณ คุณก็สามารถทำปัจจุบันได้อย่างรู้เนื้อรู้ตัวว่าควรจะทำปัจจุบันไปในทิศทางไหน ผมว่าตัวหนังสือนั้นแย่กว่าสิ่งที่ผมถูกสอนมาตั้งแต่เด็กเสียอีกนะ ในหนังสือไม่ได้บอกให้คุณใช้ ประสบการณ์จากอดีต เหตุผล มาใช้ในการตัดสินใจกระทำในสิ่งที่กำลังจะทำด้วย ดูได้จากตัวอย่างเรื่องโจรที่ผมบอกขัดๆเลย คือผู้เขียนพูดว่าแค่ตระหนักรู้ก็เลิกเป็นโจรแล้ว แต่ศาสนาพุทธสอนให้เราตระหนักรู้ (มีสติ) ว่าเรากำลังทำอะไร เรากำลังปล้น การปล้นเป็นสิ่งที่ดีไหม เหตุผลที่บอกว่ามันดีไม่ดีคืออะไร ถ้าไม่ดีเราจึงหยุด นี่สิถึงจะครบกระบวนการ

โดยส่วนตัวมองว่าหนังสือพยายามยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่าย มีพลังทำให้เชื่อแบบว้าวๆ ไม่ต้องมีเหตุผลอะไรมาก บอกว่าวิธีนี้วิธีนั้นคือการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมันดู “เกินไป” ถ้าคิดตามพยายามทำความเข้าใจมันจะรู้สึกขัดไปหมด พออ่านมาถึงตรงนี้แล้วเหมือนมันจะมีแต่ข้อเสียเต็มไปหมด ใช่ครับมันมีข้อเสียเต็มไปหมดแล้วผมเป็นคนมองหาข้อเสียด้วยแล้วผมเลยเล่าแต่ข้อเสีย แต่ข้อดีมันก็มีครับ หนังสือยกตัวอย่างวงจร อดีต กับ อนาคตได้เห็นภาพดี การอธิบายการฉายภาพจากอดีตไปหาอนาคตได้เข้าใจดี ตัวอย่างบางตัวอย่างเข้าใจง่าย แถมตลกด้วย

ในหนังสือมีอีกหลายอย่างที่ผมไม่ได้เล่า เช่น การฝึกการตระหนักรู้ (แต่จริงๆคนเคยศึกษาศาสนาพุทธ เราก็เคยฝึกกันแล้ว) ซึ่งมีหลายแบบ เรื่องระดับจิต (ผมไม่พูดถึงเพราะสำหรับผมเหมือนเพ้อเจ้อ) สำหรับใครที่สนใจเกี่ยวกับการตระหนักรู้ตามแนวคิดและวิธีปฏิบัติของ OSHO ก็ไปลองซื้อมาอ่านดูครับ