The Man in the High Castle - บุรุษปราสาทฟ้า

The Man in the High Castle - บุรุษปราสาทฟ้า

The Man in the High Castle - บุรุษปราสาทฟ้า

หลังจากอ่านหนังสือปรัชญา ชีวิต จิตวิญญาณ มาหลายเล่ม ก็เลยอยากพักสมองอ่านหนังสือที่ไม่ต้องมาก อ่านแค่เอาสนุก สุดท้ายก็เลยไปจบที่อ่านนิยายดีกว่า แต่จะอ่านนิยายทั้งทีมันต้องอ่านนิยายวิทยาศาสตร์สิ เพราะเราจะได้เห็นมุมมองอื่นที่ไม่ได้มาจากจิตวิญญาณ (ที่ตอนนี้โคตรเอียนละ) ก็เลยมาจบที่เรื่อง “The Man in the High Castle - บุรุษปราสาทฟ้า” เพราะไปเห็นเรื่องย่อที่โคตรว้าว อีกทั้งยังได้รับรางวัล The Hugo Award ด้วย

ถ้า A แล้ว B

ในชีวิตเราคงได้ยินคำถามประมาณนี้เสมอตั้งแต่กรณีเล็กๆเช่น ในวันที่เรื่องแย่ๆ ถ้าเราออกจากบ้านช้ากว่านั้นสัก 10 นาที เหตุการณ์มันจะเป็นแบบนี้ไหม หรือ ในงานแต่งงานที่เจ้าบ่าวบอกว่า ถ้าวันนั้นออกจากบ้านช้ากว่านั้นสัก 10 นาทีจะเป็นยังไง คงไม่ได้เจอเจ้าสาวคนนี้ หรือพีคขึ้นมาหน่อย ถ้าไทยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น ประเทศเราจะพัฒนาขึ้นไหม เราจะใช้ภาษาอังกฤษกันดีขึ้นรึเปล่า เราจะโน่นจะนี่จะนั่นไหม หนังสือเรื่องนี้ก็ใช้คำถามประมาณนี้เช่นกัน แต่อยู่ระดับที่ใหญ่กว่าประเทศแต่เป็นทั้งโลกคือ ถ้าสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายอักษะ (ญี่ปุ่น + เยอรมัน) ชนะสงครามจะเป็นยังไง

เราอยากรู้ เขาก็อยากรู้

ความสนุกอย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ ตัวละครในหนังสือนั้นบอกเล่าความเป็นไปในกรณีที่อักษะชนะ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นกับเยอรมันแบ่งครึ่งสหรัฐออกเป็น 2 ส่วนแล้วแยกการปกครอง วิทยาการที่ก้าวหน้าของโลกซึ่งเกิดจากนักวิทยาศาสตร์เยอรมัน ความบ้าคลั่งของเยอรมันในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และเชิดชูแต่เผ่าพันธุ์ของตนเอง แต่พวกเขาก็มีคำถามเช่นกันว่า ถ้าสัมพันธมิตรชนะล่ะอะไรจะเกิดขึ้น คนอ่านอย่างผมนี่ยิ้มเลยมันแบบ “กูรู้โว้ยว่าจะเป็นยังไง” แต่ถ้ามองกลับกันตัวละครฝั่งโน้นก็คงรู้สึกแบบเดียวกับผมตอนนี้

เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด

ปกติผมจะเคยอ่านแต่นิยายที่เดินเรื่องด้วยตัวละครเอกตัวเดียว หรืออย่างมากสุดก็เล่าผ่านกลุ่มตัวเอกที่แยกย้ายกัน แต่เรื่องนี้เล่าแตกต่างออกไป ตัวละครมีหลากหลายมีเส้นเรื่องของตัวเองไม่ว่าจะ นายพลญี่ปุ่น นักค้าของเก่า ครูสอนวิชาการต่อสู้ นักธุรกิจ หนุ่มตกงาน (มีเยอะกว่านี้) แต่ทุกการกระทำของทุกตัวละครส่งผลไปหาตัวละครอื่นๆ จนตอนจบนี่แบบ “เฮ้ย ทำไมมันดูลงตัวแบบนี้” ซึ่งทั้งหมดนั้นมาจากการแนะนำการกระทำของผ่าน “อี้จิง”

อี้จิง

ในเรื่องมีการใช้อี้จิงทำนายเรื่องต่างๆ ซึ่งตัวละครทุกตัวเชื่อการทำนายจากอี้จิงประหนึ่งว่ามันถูกต้องเสมอ ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม จนตอนอ่านจบมาเข้าใจเลยว่าทำไม ซึ่งจริงๆมันเป็นการบอกเป็นนัยๆในเรื่องมาตลอดอยู่แล้วซึ่งผมตีความได้แบบนึงเดี๋ยวไปสปอยด้านล่างละกัน

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับผมนิยายเรื่องนี้นั้นสนุกมาก แถมให้แนวคิด ปรัชญา ในหลายๆตอน เช่น การตัดสินของจริงกับของไม่จริง คุณค่าของศิลปะ ในเรื่องมีพูดถึงมุมมองของคนหลายๆคน หลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นชาวยิวที่รอดตายจากเยอรมัน ชาวเยอรมันว่าทำไมถึงเกลียดคนยิว หรือแม้แต่ชาวเยอรมันเองที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพวกเดียวกัน ชาวอเมริกาที่ตกเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นมองคนญี่ปุ่นอย่างไร มองคนที่ต่ำกว่าอย่างไร ซึ่งผมว่ามันดีมากเพราะหลายๆเรื่องที่เคยได้อ่านมันจะแบบ เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ แต่เรื่องนี้เล่าทุกมุมของทุกตัวละครให้เราไปตัดสินใจเอง (ซึ่งสุดท้ายเราอาจจะตัดสินใจไม่ได้ด้วยซ้ำ และมันเป็นการบอกเป็นนัยบางอย่างแก่เราผู้อ่าน) ทุกคนไม่ได้ขาวสะอาด แต่ก็ไม่ได้ดำจนไม่มีขาวเลย ทุกคนต่างมีเหตุผลของตนเพื่อเอาชีวิตรอดบนโลกใบนี้ ผมชอบคำพูดหนึ่งของตัวละครในเรื่องนี้มาก ผมขอเอามาใช้จบส่วนอ่านได้แล้วอะไรเลยละกัน

We do not have the ideal world, such as we would like, where morality is easy because cognition is easy. Where one can do right with no effort because he can detect the obvious.

เราไม่ได้อยู่ในโลกอุดมคติที่เราหวัง ที่จริยธรรมนั้นเป็นเรื่องง่ายเพราะมองเห็นได้ชัด ที่ซึ่งคนเราจะทำความดีได้ไม่ยากเพราะเขามองเห็นได้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว

เออแต่ว่าลืมไปเดี๋ยวจะหาว่าอวยเรื่องนี้อย่างเดียว ไม่พูดข้อเสียบ้างเลย ก็สำหรับผมข้อเสียคือมันพูดถึงเกี่ยวกับคนในประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งเราอาจไม่รู้จักเลยขึ้นมา (ซึ่งก็บอกเลยว่าตอนนี้ผมก็ไม่รู้จัก) แล้วไม่ปูพื้นเราด้วย ซึ่งกลายเป็นหน้าที่เราต้องไปหาว่าเขาคนนั้นคือใครเอง ( หรือไม่สนใจว่าเขาคือนาย A แล้วตัวละครพยายามบอกว่านาย A พยายามทำอะไร ) หรือในเรื่องมีการใช้ศัพท์เฉพาะแบบทับศัพท์เลย แบบ ภาษาเยอรมัน เพลงเยอรมัน หรือ ภาษาญี่ปุ่น ไปเลย ซึ่งเราจะเหวอมากแล้วเขาไม่อธิบายตรงนั้นเลย เราต้องไปไล่หาเองว่ามันคืออะไรเองอีก เวลาอ่านก็จะหงุดหงิดๆหน่อย

สปอย และ การตีความส่วนตัว

ตรงนี้เป็นสปอยและการตีความ ผมไม่อยากให้คุณอ่านตรงนี้ถ้ายังไม่หามาอ่าน เพราะคุณจะถูกครอบงำการตีความในแบบของคุณ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและน่าประทับใจที่สุดของการอ่านหนังสือนิยายประเภทที่เขาต้องการให้ตีความ

โดยส่วนตัวผมตีความว่าโลกในหนังสือก็คือโลกที่ผู้เขียนสร้างขึ้นและบงการเรื่องราวทั้งหมดหรือว่าง่ายๆผู้เขียนคือพระเจ้านั่นแหละ (ก็แน่ล่ะ ทำไมจะไม่ใช่ ก็เขาเขียน) มากกว่าทฤษฎีโลกคู่ขนาน (แต่จริงๆจะบอกว่าโลกคู่ขนานก็ได้แหละ) ที่ผมคิดอย่างนั้นเพราะผู้เขียนบงการทุกการกระทำของตัวละครในเรื่องผ่านการทำนายของอี้จิงว่าให้ทำอะไร แบบนั้นแบบนี้ดีไหม ซึ่งจะเห็นว่าตัวละครไม่มีความคิดจำพวกแบบไม่เชื่อเลยจะเชื่อกันไปหมด ไม่ว่าจะของแฟรงค์ ทาโกมิ หรือบุรุษปราสาทฟ้าเองเองก็ถูกบงการให้เขียนเรื่อง “ตั๊กแตนหมอบ” ขึ้นมาให้มีเนื้อเรื่องเป็นสัมพันธมิตรชนะสงครามเพื่อให้เนื้อเรื่องมันตรงกันข้ามกับเรื่องที่แต่งและง่ายในการเขียนของผู้แต่งเองด้วย และสุดท้ายคือการใช้ “อี้จิง” ถามว่าตกลงการที่สัมพันธมิตรชนะสงครามเป็น “ความจริง” ใช่หรือไม่แล้วอี้จิงตอบว่า “ใช่คือความจริง” คือผมตีความว่าคนเขียนกำลังบอกเราและตัวละครว่า ใช่แล้ว เรื่องจริงคือสัมพันธมิตรคือผู้ชนะและนั่นคือโลกของความจริง (โลกของคนเขียนและผู้อ่าน) ส่วนพวกคุณ (ตัวละคร) คือโลกไม่จริง โลกสมมตินั่นเอง ซึ่งตอนสุดท้ายตัวละครถามว่าคุณรู้ความจริงแล้วคุณจะทำอะไรต่อ ซึ่งมันเป็นนัยๆว่า เฮ้ย คุณรู้แล้วนะว่าคุณเป็นตัวละครเป็นโลกสมมติ (นี่มัน Break the Fourth Wall ชัดๆ) คุณยังอยากจะทำอะไรอีกเหรอ

ที่ผมตีความได้ก็น่าจะประมาณนี้ แต่ถ้าคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลไม่เอาอี้จิงมาโยง ไม่ตีความนัยแบบมากไป เรื่องนี้ก็เหมือนเป็นโลกคู่ขนานกับโลกของเรา หรือใช้ทฤษฎีมัลติเวิสมาจับก็ได้ (ต้องขอบคุณมาเวลที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจทฤษฎีกันแบบแพร่หลาย สมัยก่อนผมเอาเรื่องนี้โลกคู่ขนานไปคุยกับใครนี่เขาจะงงๆกันไปหมด) เพราะในเรื่องจะมีตอนนึงที่ทาโกมิเพ่งจิตจนตัวเองหลุดอีกโลกคู่ขนานที่สัมพันธมิตรชนะสงคราม ดูได้จากไม่มีสามล้อมีแต่แท็กซี่ ชาวญี่ปุ่นถูกดูถูก

สำหรับใครตีความแบบไหนก็ลองมาแลกเปลี่ยนการตีความกันดูครับ ผมว่ามันสนุกตรงได้แลกเปลี่ยนการตีความกันนี่แหละ ไม่แน่การตีความของคุณอาจทำให้ผมเหวอจนบอกว่า เออใช่ มันน่าจะเป็นแบบนี้มากกว่านี่แหละคำตอบที่ผมคิดว่าใช่