วิทยาศาสตร์แห่งความสำเร็จ - สูตรครอบจักรวาลสำหรับการทำให้โลกรู้จักและจดจำคุณ

วิทยาศาสตร์แห่งความสำเร็จ - สูตรครอบจักรวาลสำหรับการทำให้โลกรู้จักและจดจำคุณ

วิทยาศาสตร์แห่งความสำเร็จ - สูตรครอบจักรวาลสำหรับการทำให้โลกรู้จักและจดจำคุณ

ผมเจอหนังสือเล่มจากการหาหนังสือจากสำนักพิมพ์ SALT ซึ่งมีหนังสือเชิงปรัชญาและวิทยาศาสตร์หลายเล่มที่น่าสนใจ โดยตอนแรกที่เห็นหนังสือเล่มนี้แล้วแบบ “แม่งแนวจิตวิทยา พัฒนา ตนเอง” อีกแล้วเหรอวะ แต่พออ่านคำโปรยดูแล้วน่าสนใจตรงที่เขาใช้ วิทยาศาสตร์ ในการพิสูจน์ แถมเรื่องที่เขาพยายามจะพิสูจน์ก็คือ การทำยังไงให้โลกรู้จักและจดจำ ก็เลยไปหามาอ่าน

ความสำเร็จเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคุณเพียงคนเดียว

หนังสือเกริ่นนำเกี่ยวกับเรื่องความสำเร็จโดยแยกความสำเร็จออกเป็นสองประเภทคือ ความสำเร็จส่วนตัวซึ่งคือความสำเร็จที่เราทำแล้วรู้สึกดีเพียงคนเดียว เราเป็นคนวัด มันอาจจะมีคุณภาพห่วยแตกอย่างเช่น ผมวาดรูปผู้หญิงได้ ซึ่งอาจจะเป็นรูปที่โคตรห่วยแตก แต่สำหรับผมอาจจะเป็นความสำเร็จโคตรๆแล้ว ถ้าเป็นความสำเร็จแบบนี้หนังสือจะไม่พูดถึง ส่วนความสำเร็จอีกแบบคือความสำเร็จที่วัดจากคนจดจำคุณ ซึ่งตัวหนังสือจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับความสำเร็จประเภทนี้

หนังสือเล่าถึงนักบินในยุคสงครามโลกที่ได้ชื่อว่า Red baron ซึ่งเป็นนักบินของเยอรมัน (ลองไป Search ดูครับ โคตรดัง) ทุกคนต่างเชื่อว่า Red baron นั้นโคตรเก่ง เก่งที่สุดในสงครามโลกแล้ว แต่ทางทีมของผู้เขียนเนี่ยไปทำศึกษาข้อมูลจริงๆกับพบว่า เรอร์เน ฟงก์ (ลอง Search หาใน Google ดู ไม่มีข้อมูลเลย) ซึ่งเป็นนักบินที่เก่งกว่า เพราะเขายิงเครื่องบินตกได้เยอะกว่า แถมแกยังมีชีวิตรอดหลังสงครามด้วยนะครับ พออ่านมาถึงตรงนี้ผมก็เริ่มเหวอละว่า อ้าวทำไมคนเก่งกว่าไม่ถูกจดจำ ซึ่งมันก็เหมือนเรื่องที่คุณในสังคม นักดนตรีเก่งๆ นักวิชาการเก่งๆ นักแสดงเก่งๆ กลับไม่ค่อยมีคนรู้จัก เราจะรู้จักแต่ใครที่อยู่ในกระแส หนังสือให้ข้อสรุปง่ายๆว่า ความสำเร็จเป็นเรื่องของเรา ความสำเร็จจะดูมีคุณค่า มีคนรับรู้ พูดถึง ความสำเร็จของ Red baron มาจากสื่อที่ยกย่องเขาเป็นวีรบุรุษสงคราม บอกเล่าความเก่งกาจจนมีคนสนใจ ต่างจาก เรอร์เน ฟงก์ ที่ภายหลังไปเล่นการเมืองแล้วชื่อเสีย ไม่มีใครกล่าวชมเขาเพราะชื่อของเขาเสียไปแล้ว ไม่มีใครพูดถึงความเก่งกาจ ความเสียสละของเขาในสงครามเลย ดังนั้นเขาจึงหายไปตามเวลา คุณจะรู้จักเขารู้ถึงความสำเร็จก็ต่อเมื่อคุณไปวิจัยแบบที่ทีมนักเขียนทำ

หนังสือพูดถึงกฏ 5 ข้อ ที่ถ้าคุณทำได้แล้วโลกจะจดคุณ ซึ่งพอผมอ่านแล้วก็จริง แต่พออ่านแล้วก็หดหู่เช่นกัน เดี๋ยวบอกละกันว่าทำไมถึงหดหู่

กฏข้อที่ 1 ผลงานขับเคลื่อนความสำเร็จ แต่ถ้าความสำเร็จวัดค่าไม่ได้ เครือข่ายจะเป็นตัวขับเคลื่อนความสำเร็จแทน

ในส่วนของ ผลงานขับเคลื่อนความสำเร็จ ก็ตามนั้นครับ ถ้าคุณเก่งทำผลงานได้ดี สิ่งนี้แหละจะเป็นตัวการันตีความสำเร็จของคุณ ทีมผู้เขียนทำการศึกษาข้อมูลนักเทนนิสจากฐานข้อมูลการแข่งขัน จากนั้นนำไปเปรียบเทียบกับความสำเร็จของนักเทนนิสคนนั้นโดยวัดจากการเป็นที่จดจำและรายได้ ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาตามสิ่งที่เราคิดคือ ถ้าคุณมีความสามารถคุณจะเป็นที่จดจำและมีรายได้ดี ซึ่งจากการพิสูจน์นี้ทำลายความเชื่อเรื่องสถานศึกษาที่ชอบโม้ว่ากันว่า “ถ้าคุณเข้าสถานศึกษานี้ได้ คุณจะได้เงินเดือนมากกว่าคนที่เรียนจากอีกสถานศึกษานึง” ทีมนักเขียนทำการพิสูจน์ว่าไม่จริงครับ โดยไปดูคะแนนของคนที่ได้เข้าที่ดังกับที่ที่รองลงมา ซึ่งคะแนนของทั้งสองคนห่างกันแค่คะแนนหรือครึ่งคะแนนก็เท่านั้น ซึ่งเมื่อพวกเขาตามไปดูหน้าที่การเงินของทั้ง 2 กลุ่มก็พบว่า ทั้งสองกลุ่มได้เงินเดือนแทบไม่แตกต่างกันเลย

คราวนี้มาถึงเรื่องที่ประหลาดกันบ้างครับ ถ้าความสำเร็จวัดค่าไม่ได้ เครือข่ายจะเป็นตัวขับเคลื่อนความสำเร็จแทน คือการศึกษาเกี่ยวกับนักเทนนิสนั้นมันสามารถวัดค่าได้ ซึ่งวัดจากผลการแข่งขันแพ้ชนะ แต่ถ้าเป็นความสำเร็จที่วัดค่าไม่ได้อย่างเช่น งานศิลปะ เราจะวัดค่ายังไง ทีมผู้เขียนได้ทำการศึกษาผ่านเครือข่ายการแสดงผลงานของศิลปินทั้งหลายผ่านแกลลอรี่และพิพิธภัณฑ์ ซึ่งพบว่าพวกศิลปินที่ประสบความสำเร็จนั้นมีรูปแบบการแสดงผลงานที่แกลลอรี่และพิพิธภัณฑ์คล้ายๆกัน กล่าวคือถ้าคุณไปแสดงผลงานในแกลลอรี่ A ซึ่งเป็นแกลลอรี่ที่ศิลปินดังๆไปแสดงผลงาน คุณก็จะประสบความสำเร็จคล้ายๆกับศิลปินดังๆเหล่านั้น เพราะเครือข่ายแกลลอรี่เหล่านั้นต่างส่งเสริมกันและกัน ศิลปินแสดงงานที่แกลลอรี่ดัง แกลลอรี่อยากให้ผลงานของศิลปินนั้นดังเพื่อให้ได้เงินและสร้างชื่อเสียงก็เลยส่งผลงานต่อไปให้เครือข่ายแกลลอรี่ชื่อดัง เพื่อแสดงผลงานต่อไป พอไปโชว์ในเครือข่ายแกลลอรี่ดังๆ คนก็คิดว่างานนั้นมีมูลค่า ศิลปินก็เลยดัง พอดังก็เป็นการเพิ่มชื่อเสียงให้แก่แกลลอรี่ ซึ่งมันก็วนซ้ำกันไปกันมา พอศิลปินดัง แกลลอรี่ก็พยายามทำให้ศิลปินนั้นดังขึ้นไปอีก เพื่อเป็นการการันตีว่าแกลลอรี่นี้แสดงผลงานของศิลปินที่มีฝีมือ (และเงินจากค่าเข้าชมและการประมูลก็เพิ่มสูงขึ้นไปอีก) ซึ่งหนังสือบอกเลยว่านี่คือเรื่องน่าขยะแขยงในวงการศิลปะ ซึ่งผมก็เห็นด้วยและผมก็เห็นด้วยว่าหลายๆวงการก็มีสภาพไม่ต่างจากวงการศิลปะ

กฏข้อที่ 2 : ผลงานมีจำกัด แต่ความสำเร็จนั้นไม่มี

ทีมผู้เขียนยกตัวอย่างเรื่องผลงานมีจำกัดไว้ว่า มนุษย์วิ่ง 100 เมตรได้เร็วที่สุดได้แค่ 8.28 วินาที จะไม่มีเร็วกว่านี้อีกแล้วเนื่องจากข้อจำกัดของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นผลงานจึงมีจำกัด แต่ความสำเร็จนั้นไม่มีจำกัด คุณสามารถดูได้จาก ยูเซน โบลต์ที่ความสำเร็จ (ในแง่ของคนที่เป็นที่รู้จัก) นั้นมีเพิ่มขึ้นอย่างเรื่อยๆไปจนถึงระดับโลก ซึ่งทำให้เห็นว่าความสำเร็จนั้นเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ ในกีฬาอื่นๆก็เช่นกัน ไทเกอร์ ที่ตีกอล์ฟเก่งๆเราจะเห็นว่าความสำเร็จของเขานั้นไม่มีจำกัด เขาสามารถดังได้เรื่อยๆ เช่นกัน

ทีมผู้เขียนอธิบายถึงความประหลาดเรื่องการตัดสินผลงานของมนุษย์ว่า ถ้าเราวัดผลงานที่สุดยอดๆอย่างพวกการวิ่งด้วยเครื่องจับภาพความเร็วสูง ซึ่งเป็นของที่วัดได้อย่างแม่นยำเนื่องจากเป็นเครื่องมือ แล้วการวัดความสามารถโดยมนุษย์กับงานที่ใช้เครื่องไม่ได้ล่ะมันจะเที่ยงทำแค่ไหน โดยปกติมนุษย์แยกคนร้องเพลงเพราะออกจากคนร้องไม่เพราะได้ แยกอาหารอร่อยออกจากอาหารระดับกลางได้ แต่ถ้าผู้เข้าแข่งขันเหล่านั้นเป็นคนที่ร้องเพลงเพราะเหมือนกันหมดล่ะ อาหารเหล่านั้นถูกทำจากพ่อครัวระดับเทพหมดล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น ใช่ครับมันเกิดจากการใช้ความรู้สึกซึ่งไม่แน่นอนตัดสินใจ ทีมผู้เขียนใช้การทดลองของกรรมการชิมไวน์ท่านหนึ่งที่สงสัยว่าพวกกรรมการชิมไวน์นี่เที่ยงตรงแค่ไหน โดยทำการให้ชิมไวน์ตัวเดิม 3 ครั้ง โดยไม่บอก และไม่เรียงลำดับ ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่านักชิมไวน์นั้นให้คะแนนได้โคตรมั่วมากครับ คือให้คะแนนไวน์ตัวเดียวกันตั้งแต่ 80 จนถึง 97 (ระดับ 97 นี่คือชนะรางวัล) ทั้งที่เป็นไวน์ตัวเดียวกัน โอเคคุณอาจจะบอกว่ามันอาจเป็นเรืองการรับรส ทางทีมผู้เขียนก็เลยไปหาข้อมูลเพิ่มโดยเปลี่ยนไปที่การแข่งขันดนตรีของอังกฤษที่ได้ชื่อว่ายุติธรรมที่สุด โดยมีขั้นตอนที่โคตรยุติธรรม โดยผู้แข่งขันจะได้รับโน๊ตเพลงที่แต่งใหม่เพื่อการแข่งขันนี้โดยเฉพาะในวันก่อนโชว์ในระยะเวลาเท่ากัน เช่น ได้ 7 วันก่อนแสดง เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันไม่ได้เปรียบเสียเปรียบเรื่องการซ้อม หรือรู้โน๊ตก่อนกัน อีกทั้งห้ามเปลี่ยนการให้คะแนนที่ให้ไปแล้วด้วย (กันการใต้โต๊ะเปลี่ยนคะแนน) ซึ่งฟังดูแล้วมันเหมือนยุติธรรมดีนครับ แต่จากผลการตรวจสอบพบว่า คนที่แสดงวันแรกๆ ไม่มีใครชนะการแข่งขันเลย กลับกลายเป็นคนที่แสดงวันท้ายๆที่ชนะ ซึ่งเป็นติดต่อกันมาหลายสิบปีด้วย พอถามว่าคนที่เข้าแข่งนั้นเก่งหรืออ่อนกว่ากันไหม ไม่เลยครับคนที่เข้าแข่งขันคือเทพในระดับวงการในเวลานั้น สุดท้ายเลยมีการตรวจสอบก็พบว่า เหล่ากรรมการมีปัญหาเรื่อง การอคติจากเวลาปัจจุบันครับ ว่าง่ายๆคือเขาไม่เคยฟังเพลงนี้เลยสักครั้งเพราะเป็นเพลงแต่งใหม่ เมื่อเขาฟังเพลงนี้ครั้งแรกๆเขาจะไม่พบความสุดยอดอะไร แต่เมื่อเขาฟังบ่อยขึ้นมันก็เริ่มเพราะขึ้น คะแนนก็เริ่มมากขึ้น อีกทั้งเขายังเปรียบเทียบกับการเล่นก่อนหน้าว่าการเล่นก่อนหน้านั้นไม่เพราะไปกว่าการเล่นครั้งนี้ เขาจดจำครั้งปัจจุบันได้ดีกว่า การเล่นปัจจุบันเลยถูกใจกว่า สุดท้ายคะแนนก็เลยเอนเอียงไปให้กับคนที่เล่นทีหลัง คุณอาจเห็นความประหลาดนี้บ่อยๆ เช่น คนสัมภาษณ์งานคนสุดท้ายได้งาน

นี่คือความหดหู่เมื่อคุณต้องมารู้อะไรแบบนี้ ยิ่งคุณไปดูความแตกต่างระหว่างคนชนะการแข่งขันดนตรีกับคนที่แพ้นะครับ คนที่ชนะได้ออกอัลบั้ม เชิญไปเดินสายต่างๆนาๆ ตามกฏเรื่องความสำเร็จนั้นไม่จำกัด เขายิ่งดังยิ่งสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ แต่คนที่แพ้ล่ะ เขาเล่นดนตรีแย่กว่าคนที่ชนะไหม จากผลการศึกษาที่เราเห็นแล้ว ไม่เลยครับ ไม่แน่เขาอาจจะเก่งกว่าเสียด้วยซ้ำ แค่เขาได้ลำดับการเล่นที่ไม่ดี หรือกรรมการไม่มีความเที่ยงตรงเหมือนการชิมไวน์นั่นแหละ สำหรับผมเป็นอะไรที่หดหู่เอาเสียมากๆ ดังนั้นถ้าคุณมีโอกาสได้จัดงานแข่งขันอะไรพวกนี้ คุณควรหาแค่คนเก่งสุดๆในระดับที่แยกแยะออกแล้วให้เขาชนะร่วมกันดีกว่าไหม

กฏข้อที่ 3 : ความสำเร็จที่ผ่าน X ความเหมาะสม

ทีมผู้เขียนได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องที่ทำยังไงถึงจะประสบความสำเร็จในตอนเริ่มได้ง่าย ซึ่งเขาไปทดลองกับ Platform : KickStarter ที่ซึ่งผู้คนมาระดุมทุนเอาเงินไปทำไอเดียที่ตัวเองคิดขึ้นมา ซึ่งก็มีที่สำเร็จและไม่สำเร็จมากมาย ทีมวิจัยพบว่า Project ที่สำเร็จมักสำเร็จส่วนใหญ่เกิดจากมีคนเริ่มบริจาค เพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้เขาเลยเลือก Project ใน Kick starter แบบสุ่มๆมา จากนั้นลองสนับสนุน Project นั้น จากนั้นพวกเขาก็พบว่า หลังจากนั้น Project เหล่านั้นก็ถูกสนับสนุนต่อไปเรื่อยๆในระดับที่มีแตกต่างกับ Project ที่ไม่ได้รับการสนับสนุน (จากการเลือกแบบสุ่มๆ คุณสามารถตัดเรื่องคุณภาพของ Project ทิ้งได้เลย) จากนั้นทีมผู้เขียนก็ไปศึกษาระบบให้คะแนนของ Amazon ต่อก็พบว่า หนังสือที่ได้รับคำวิจารณ์ดีๆ จะกลายเป็นจุดสนใจและขายได้ดีกว่า ซึ่งมันก็ตรงกับความรู้สึกทั่วๆไปนะ แต่ถ้าคำชมคำวิจารณ์ คะแนนนั้นไม่ได้มาจากคุณภาพจริงๆ แต่เป็นการมาจาก “หน้าม้า” หรือ การทำเพื่อหวังผลล่ะ หนังสือบางเล่ม สินค้าบางอย่างอาจไม่ได้ดีไปกว่ามาตรฐาน แต่แค่จ้างคนมากดไลค์ กดวิจารณ์ดีๆ ก็กลายเป็นได้รับความสำเร็จละ ทั้งหมดนี้คือ “ความสำเร็จที่ผ่านมา” ยิ่งสำเร็จที่ผ่านมายิ่งเยอะยิ่งทำให้สำเร็จต่อไปได้เยอะ

ส่วนความเหมาะสมก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าคุณภาพของเนื้องานครับ ว่าง่ายๆถ้าคุณภาพงานของคุณดีจริง มันต้องมีสักคนที่พบและวิจารณ์มัน ไม่นานมันก็จะไปเข้ากับกฏแรก ตัวอย่างนี้มีกับหนังสือยอดฮิตที่ใครก็รู้จักคือ แฮรี่ พอร์ตเตอร์ ครับ คือตอนที่เขาพิมพ์ครั้งแรกและขายได้เนี่ย ส่วนใหญ่ถูกขายแล้วส่งให้ฟรีๆให้กับห้องสมุดต่างๆ และใช้เวลาอีกนับปีกว่าจะมีคนรู้จักนั่นคือความเหมาะสม

ตรงกฏข้อนี้ผมเห็นด้วยเรื่องความเหมาะสมนะ แต่ในทางปฏิบัติแล้วผมเห็นวงดนตรีดีๆหลายวงที่มีความเหมาะสมสูงมาก แต่กลับไม่มีคนรู้จัก ไม่มีคนสนใจ เพราะไม่มีใครให้ดาวหรือไม่มีหน้าม้าไปกดไลค์ คำถามคือถ้าอยากให้สำเร็จเราต้องใช้วิธีสกปรกเช่นหน้าม้าจริงๆรหรือ แต่มันก็เป็นที่ยอมรับในสังคมล่ะนะ เพราะมีคนทำมันเยอะแยะแล้ว คำถามคือเมื่อคุณอ่านถึงบรรทัดนี้แล้วคุณจะยังทำเหมือนเดิมไหม

กฏข้อที่ 4 : ความสำเร็จของทีมมาจากความหลากหลายที่สมดุล แต่มีเพียงคนเดียวที่จะได้เครดิตว่าเป็นผู้สร้างความสำเร็จ

“ความสำเร็จของทีมมาจากความหลากหลายที่สมดุล” อันนี้ทางทีมผู้เขียนทำการศึกษาการทำอัลบั้ม Kind of blue ซึ่งได้รับความนิยมข้ามกาลเวลา ซึ่งอัลบั้มนี้ไม่ได้เล่นคนเดียวครับ แต่เล่นกันหลายคน คำถามเวลาทำงานเป็นทีมคำถามหนึ่งที่ยอดนิยมคือถ้าเราเอาคนเทพๆมาทำงานร่วมกันงานจะออกมาสุดยอดไหม ซึ่งผลจากการทดลองส่วนใหญ่ก็คือ ไม่ได้สำเร็จอะไรมากมายไม่แน่อาจจะบรรลัยด้วยซ้ำ ตัวอย่างพวกทีม All star ที่มาเล่นด้วยกันแล้วผลงานแย่กว่าเล่นกับทีม จากการตรวจสอบดูพบว่าในอัลบั้ม Kind of blue นั้นประกอบด้วยคนหลากหลายแบบ มีทั้งคนที่มีความสัมพันธ์สนิทกัน จนคนที่เหินห่างกันจัดๆ คนที่ไม่เคยเล่นดนตรีด้วยกันเลย กับคนที่เคยเล่นด้วยกันบ้าง จนถึงเล่นด้วยกันบ่อยๆ คนที่ด้นสดโคตรๆ กับคนที่รักษาโครงสร้างของเพลง ทุกอย่างมันลงตัวเพราะมีทั้งความเข้าขากัน และความไม่เกรงใจ กล่าวคือ การเล่นเข้าขาเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเข้าขากันมากก็จะเกิดความเกรงใจ บางส่วนบางตอนอาจแย่แต่ด้วยความเกรงใจอาจเลยตามเลย ถ้าคนไม่สนิทที่อยู่ในทีมคนคนนั้นก็จะเบรคคนในทีมอธิบายสิ่งเหล่านั้นให้ฟังได้ ทีมผู้วิจัยทำการตรวจสอบทฤษฎีนี้ต่อโดยไปดูโครงการต่างๆบน Github ซึ่งพบว่าโครงการที่สำเร็จส่วนใหญ่นั้นประกอบไปด้วยคนหลากหลายรูปแบบ จากหลากหลายสายงาน แต่สิ่งหนึ่งที่เขาพบคือ คนที่เขียน Code นั้นกลับเป็นคนคนเดิมที่เขียน คนอื่นที่มาร่วมในทีมส่วนใหญ่จะเป็นที่ปรึกษา และเปิดมุมมองใหม่ให้ทีมเสียมากกว่า เรื่องนี้ทีมผู้เขียนอธิบายว่าการทำงานเป็นทีมส่วนใหญ่นั้นแต่ละคนจะมีหน้าที่ของตัวเอง เราไม่ต้องการการทำหน้าที่ทับซ้อนกัน แต่เราต้องการคนคอยให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะจากมุมมองที่ต่างกันมากกว่า เช่นเดียวกับความสนิทสนม ทีมต้องการทั้งคนที่สนิทเพื่อให้ทำงานได้อย่างราบรื่น และคนที่ไม่สนิทเพื่อให้คอยเตือนทีมได้อย่างไม่มีความเกรงใจ

“แต่มีเพียงคนเดียวที่จะได้เครดิตว่าเป็นผู้สร้างความสำเร็จ” ก็ตามประโยคข้างหน้าครับ งานบนโลกนี้คนส่วนใหญ่มักให้เครดิตคนคนเดียว ลองไปดูนักร้องดังเล่นในงานครับ คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเหล่า Backup เลย เขาสนแต่นักร้องนำ นักร้องนำดีๆหลายคนพยายามแก้ปัญหานี้โดยพยายามแนะนำแต่ละคนในวง Backup ให้คนที่มาฟังรู้จัก ที่ผมเห็นบ่อยคือ น้อง “อิงค์ วรันธร” ที่จะแนะนำวงคนในวง ฺBackup เสมอ แต่ถ้าถามคนดูอย่างพวกเราล่ะเคยสนใจไหม ไม่พวกเราไม่เคยสนใจ เราสนใจแค่เราไปฟังน้องอิงค์ เช่นกันกับการไปดูละคร เราไม่เคยสนใจว่า Marketing ช่างแต่งหน้า คนออกแบบ ต่างๆนาๆในหนังสือใคร เราสนแค่ว่าใครกำกับ เป็น “เต๋อ นวพล” หรือ “ไทกา ไวทีที” อันนี้วงการบันเทิงอาจจะบอกว่าเป็นแบบนี้เพราะเป็นวัฒนธรรมอะนะ เราลองมาวงการเทคโนโลยีกันบ้าง อย่าง จ็อบ คนเทิดทูนบูชาเขาเป็นอย่างมาก แต่มีคนสนใจเหล่านักวิศวกรที่พยายาม Optimize เครื่องให้อยู่ในรูปแบบนั้นไหม มีใครสนใจนักออกแบบที่ขัดเกลาวิสัยทัศน์ของ จ็อบ ให้ออกมาเป็นของจริง ซึ่งก็แน่ว่าไม่มีใครนึกถึงเลย

วงการวิทยาศาสตร์งานวิจัย ในงานวิจัยปัจจุบันนั้นเป็นการทำงานเป็นทีมมากกว่าคนเดียวแล้ว คำถามคือทำไมรางวัลโนเบลถึงให้กับบางคน ไม่ให้กับทั้งทีม จริงๆมันมีข้อบังคับว่าให้ได้แค่สามคน คำถามถัดไปคือ 3 คนนั้นคือใคร คำถามนี้ได้รับการสรุปจากงานวิจัยของทีมผู้เขียนว่า มันมาจากว่า ในเรื่องที่เขาจะให้รางวัลวิจัยนั้น ใครเป็นคนที่เป็นที่ “รู้จัก” มากที่สุด ใช่ครับ ใช้คำว่ารู้จักมากที่สุดเลยครับ หนังสือยกเคสนึงที่ผมอ่านแล้วอยากจะร้องไห้ นั่นคือนักวิจัยท่านนึงทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการใช้เซลล์ของแมงกระพรุนในการทำบางอย่างในการทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งเขาเป็นคนแรกที่ทำและนำมันไปประยุกต์ใช้ได้จริง แต่ในเวลานั้นไม่มีคนสนับสนุนทุนวิจัย สุดท้ายเขาก็หยุดงานวิจัยเรื่องนั้นและหยุดมาทำงานตามปกติมนุษย์เพื่อจะให้เวลากับครอบครัว แต่สิ่งที่ประเสริฐของนักวิจัยท่านนี้คือเขาส่งต่อผลลงานวิจัยของเขาซึ่งเขาทำมาทั้งหมดให้กับนักวิจัยท่านอื่นที่ศึกษาในงานวิจัยใกล้เคียงนั้นแบบฟรีๆ เพื่อมวลมนุษย์ หลังจากนั้น 17 ปี นักวิจัยที่ได้รับงานวิจัยต่อจากนักวิจัยท่านนั้นได้รับรางวัลโนเบล แต่นักวิจัยท่านนั้นเป็นแค่คนขับรถส่งของธรรมดา ไม่มีใครตามไปดูว่าต้นกำเนิดงานวิจัยมาจากนักวิจัยท่านนี้ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ แถมไม่หวงความรู้อีกต่างหาก ในส่วนนี้ผมไม่ได้บอกนะว่าคนที่เอางานวิจัยไปต่อยอดไม่สมควรได้รางวัลโนเบล แต่อย่างน้อยทั้งโลกก็ควรให้เครดิตแก่นักวิจัยท่านที่ตอนนี้กลายเป็นคนส่งของ ควรยกย่องเขาบ้างสิ จริงไหม

จากทั้งหมดเราได้ข้อสรุปง่ายๆว่า ในการสร้างชื่อเสียงเบื้องต้นเราควรทำงานกับคนดัง แต่พอเริ่มมีชื่อเสียงนิดหน่อยๆแล้ว คุณควรออกจากไปงานที่แตกต่างที่ไม่มีเจ้าครองตลาดอยู่ เช่น ถ้าคุณทำวิจัยเรื่องนึงอยู่แล้วมีคนที่ดังคับฟ้าคับแผ่นดินอยู่ คุณควรจะออกจากเงาของเขาไปทำอะไรแตกต่างจากเขา เพื่อให้คุณกลายเป็นที่สนใจใหม่ได้ง่าย เพราะอย่างลืม “มีเพียงคนเดียวที่จะได้เครดิตว่าเป็นผู้สร้างความสำเร็จ” ส่วนคนที่อ่านแล้วหดหู่อย่างผมเวลาจะให้เครดิตใคร ผมคงจะต้องให้เครดิตเป็นทีม มากกว่าคนหนึ่งคน จะเห็นได้ว่าผมใช้คำว่า “ทีมผู้เขียน” ไม่ใช่ผู้เขียน

กฏข้อที่ 5 : ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

กฏข้อนี้ก็ตามนั้นครับ “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” แต่มันเหมือนคำพูดนี้มันจะไม่จริงเพราะอัจฉริยะมากมายมักบอกว่า ความสำเร็จของเขามักมาจากตอนหนุ่ม ถ้าเลย 30 ไปแล้ว แล้วยังไม่ประสบความสำเร็จก็บอกลาการประสบไปได้เลย ซึ่งส่วนใหญ่เราพบมักจะจริงครับ แต่ทีมผู้เขียนได้ลองศึกษาก็พบว่ามันอาจจะไม่จริง เพราะเขาดูสัดส่วนแล้วก่อนอายุ 30 นั้นพวกนักวิจัยหรือพวกอัจฉริยะต่างๆผลิตผลงานออกมาเยอะที่สุด แต่พอหลัง 30 ไปแล้วพวกเขาผลิตผลงานน้อยลง นั่นเป็นแปลว่าพองานน้อยโอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็น้อยลงตาม หนังสือให้กฏเรื่องความพยายามเป็นค่า ความสำเร็จ = Q x r โดย Q คือความสามารถของคุณในงานงานนั้น ส่วน r คือ คุณค่าของไอเดียนั้น

Q คือความสามารถของคุณในงานนั้นเช่น ความสามารถในการเขียนโปรแกรม ความสามารถในการเล่นดนตรี ความสามารถในการเจรจาต่อรอง ยิ่งคุณมีค่าพวกนี้สูงเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่งานชิ้นนั้นจะสำเร็จได้ จากการศึกของทีมผู้เขียนพบว่าค่า Q นั้นเพิ่มได้อย่างจำกัด ดังนั้นเมื่อคุณลองทำงานนั้นแล้วมันไม่ใช่ เช่น วาดรูปยังไงก็ไม่สวย เขียนโปรแกรมยังไงก็ไม่เข้าใจ ก็แนะนำให้ลองไปทำอย่างอื่นครับ เผื่อว่ามันจะดีกว่า

r คือคุณค่าของไอเดียนั้น ไอเดียนั้นอาจมีคุณค่ามากเท่าไหร่ ไอเดียมีได้มากมายและส่วนใหญ่เราไม่รู้ว่ามันมีคุณค่าเท่าไหร่ จะรู้ก็ต่อเมื่อออกไปแล้ว เช่น คุณค่าของไอโฟน กับ เครื่องลิซ่า ที่คุณค่าของไอเดียนั้นห่างกันราวฟ้ากับเหว

จากสองค่าจะเห็นว่าค่า Q นั้นเหมือนจะเพิ่มขึ้นแล้วกลายเป็นค่าคงที่ดังนั้นถ้าคุณเก่งจริงค่านี้จะมีค่าสูง คราวนี้สิ่งที่จะทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงคือค่า r ครับ ซึ่งค่า r เราไม่รู้ว่ามันคือเท่าไหร่ วิธีที่หนังสือกำลังบอกคือ คุณก็ทำไปเรื่อยๆจนกว่าจะเจองานที่ค่า r มันสูง ถ้าค่า r มันสูงเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละคุณก็ประสบความสำเร็จ

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับหนังสือเล่มนี้อ่านแล้วทำให้รู้ว่าถ้าเราอยากเป็นที่รู้จักนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ต้องทำความเข้าใจว่าความสำเร็จเป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องของการรับรู้ของฝูงชน ดังนั้นถ้าอยากมีความสำเร็จเป็นที่รู้จักก็ต้องเผยแพร่ผลงาน คราวนี้ก็ไล่ไปตามข้อต่างๆเลย ตั้งแต่เพิ่มความสามารถของตัวเองให้งานออกมาดี สิ่งต่อไปคือถ้างานมันวัดผลได้ งานมันจะดังเอง แต่ถ้าวัดผลง่ายๆไม่ได้ก็ต้องใช้เครือข่าย ดังนั้นเวลาจะทำอะไรเราก็ต้องดูว่าเราจะเอาผลงานของเราเข้าเครือข่ายนั้นได้อย่างไร ต่อไปก็เป็นเรื่องการเริ่มต้นความประสบความสำเร็จนั้นจะต้องใช้ความสำเร็จที่มีมาก่อน ดังนั้นเราต้องสร้างความสำเร็จเบื้องต้นเพื่อดึงคนเข้ามาไม่ว่าจะเป็นการหาคนมากดไลค์ หรือทำให้งานของตัวเองเป็นจุดสนใจ เมื่องานเราอยู่ในกระแสเป็นที่รู้จักแล้วอะไรก็จะง่ายขึ้น เรื่องเครดิตก็สำคัญคนส่วนใหญ่สนใจคนที่รู้จัก การเริ่มต้นควรเริ่มทำงานกับคนมีชื่อเสียง พอเริ่มมีชื่อเสียงแล้วควรจะแยกออกไปทำงานที่ไม่มีใครโด่งดังอยู่ หรือทำงานของตัวเอง สุดท้ายคือการดูว่าเรามีความสามารถในงานที่เราทำแค่ไหน ถ้ามีเยอะก็ทำต่อแต่ถ้าดูแล้วเราไม่มีความสามารถด้านนั้นเลยก็ควรเปลี่ยนสายงานไปหางานที่ตนทำแล้วดี เมื่อคุณมีความสามารถในงานของคุณแล้วก็หมั่นผลิตผลงานดีๆนั้นออกมาเรื่อยๆ ผสมกับการใช้กฏข้ออื่นๆ สุดท้ายคุณก็น่าจะประสบความสำเร็จ

ข้างบนที่ผมกล่าวมาคงจะเป็นสิ่งที่คนอ่านแล้วได้ประโยชน์จากมันเป็นด้านดีๆที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ แต่สำหรับผมผมได้เห็นความน่าหดหู่ของเหล่าคนแบบเราๆ ไม่ว่าจะเป็นการหลงไปกับคำวิจารณ์ ให้ค่าคำวิจารณ์มากกว่าไปดู ไปสัมผัสสินค้า หรือลองอ่านหนังสือจริงๆ ซึ่งนั่นก็ไม่ผิดหรอกครับ เพราะเงินมันต้องเสียอย่างน้อยก็ต้องหาคำวิจารณ์มาอ่านประกอบการตัดสินใจ ความหดหู่เรื่องการตัดสินของกรรมการที่ทำให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จ แต่อีกคนไม่ทั้งๆที่ฝีมือพอๆกัน ความน่าหดหู่ของการใช้เครือข่ายศิลปะ การให้เครดิตผลงานกับคนคนเดียวแทนที่จะเป็นทั้งทีม คนที่สำเร็จยิ่งมีคนสนใจและทุ่มความสนใจไปที่นั่นหมด เหมือนที่ผมบอกว่าศิลปินวงเล็กๆมากมายแต่คนไม่เหลียวแลไปฟัง ฟังแต่วงใหญ่ๆ แล้วมันก็น่าตลกตรงที่ไอคนกลุ่มนี้แหละที่ชอบออกมาบ่นเรื่องความไม่เท่าเทียม กินรวบ ไม่สนใจตัวเล็กตัวน้อย

ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเห็นกลไกอันน่าหดหู่ในการไปสู่ความสำเร็จของมนุษย์แล้วเราควรจะทำยังไง ถ้าได้จัดงานแข่งขันผมคงไม่หาที่ 1 2 3 แต่คงคัดเฉพาะคนเก่งแล้วให้ชนะร่วมไปเลยรึเปล่า ผมควรจะไปหาหนังสือที่ไม่ดัง มารีวิวบ้างดีรึเปล่า เวลาให้เครดิตควรให้เครดิตเป็นทีมมากกว่าคน ก็ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้ก็ฝากช่วยคิดละกันครับว่าเราควรจะทำอย่างไรกับเรื่องน่าหดหู่นี้ดี