มายานวัตกรรม - The myths of innovation

มายานวัตกรรม - The myths of innovation

มายานวัตกรรม - The myths of innovation

ผมเห็นหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกจากการแชร์ของเพื่อนที่รู้จักใน Facebook ทำให้รู้คร่าวๆว่าหนังสือเล่มนี้บอกเล่าเกี่ยวกับนวัตกรรมของมนุษย์ พร้อมอธิบายความเข้าใจผิด( หนังสือใช้คำว่ามายาคติ) เกี่ยวกับนวัตกรรมของมนุษย์ ด้วยความอยากรู้ว่าเนื้อหาทั้งหมดเป็นยังไงก็เลยตัดสินใจว่าจะไปลองหามาอ่านให้ได้ ซึ่งก็โชคดีซึ่งห้องสมุด TKPark เนี่ยมีหนังสือเล่มนี้อยู่พอดี ก็เลยไปยืมมาอ่านซะเลย

มายาคติปิ๊งแว๊บ

หนังสือเริ่มด้วยการอธิบายเรื่อง มายาคติปิ๊งแว๊บ ซึ่งคือความเข้าใจผิดๆที่ว่านวัตกรรมนั้นเกิดขึ้นจากการปิ๊งขึ้นมาในหัวแบบทันทีทันใด ตัวอย่างที่เรามักจะเจอก็อย่างเรื่องเล่าที่นิวตันไปนั่งใต้ต้นแอปเปิ้ลแล้วมีแอปเปิ้ลตกใส่หัว จากนั้นก็ปิ๊งเกิดเป็นทฤษฎีแรงโน้มถ่วง หรือเรื่องที่อาร์คิเมดีสไปอาบน้ำแล้วก็ ยูเรก้า คิดวิธีหาปริมาตรของวัตถุที่ไม่ใช่ทรงที่วัดได้ง่ายๆ เช่น ปริมาตรของเครื่องประดับ จะเห็นว่าเรื่องเล่าไหนเราจะถูกทำให้คิดว่านวัตกรรมเกิดจากช่วงเวลาสั้นๆ อยู่ๆก็ปิ๊งแว๊บขึ้นมา หนังสืออธิบายว่าที่มันเป็นแบบนี้เพราะคนทำข่าว คนเขียน อยากทำให้มันเข้าใจง่าย จดจำง่าย สร้างแรงบันดาลใจ หรือถ้ามองแบบแย่ๆเลยก็คือ เขาเขียนแบบนี้เพราะคนอ่านชอบที่จะอ่านแบบนี้ ซึ่งมันก็ได้ผล เรื่องเล่าตั้งแต่ยุคของอาร์คิเมดีสถูกส่งต่อสร้างแรงบันดาลใจมาถึงยุคเรา แต่มายาคติแบบนี้ก็สร้างปัญหาเช่นกัน เพราะมันทำให้เราคิดว่านวัตกรรมเกิดในรูปแบบปิ๊งแว๊บ พอคิดแบบนั้นเราก็ไปสนใจแต่จุดนั้นจนเกินไป ทำยังไงจึงจะให้เกิดการปิ๊งแว๊บได้ หรือว่าต้องไปดูว่าคนคนนั้นเป็นคนแบบไหน ใช้นาฬิกายี่ห้ออะไร ใส่เสื้อแบบไหน ดูทีวีแบบไหน ใช้ชีวิตยังไง ซึ่งคุณก็อาจเห็นตามบทความ Page ต่างๆนาๆที่นำเสนอว่า Elon musk เป็นคนแบบไหน ชอบดูอะไร ใช้เวลาว่างทำอะไร Steve jobs เรียนจบไหม มีรสนิยมยังไง ต่างๆนาๆ

หากเราลองวางความเชื่อนั้นลงแล้วมองตามความเป็นจริง ทุกนวัตกรรมนั้นไม่ได้เกิดจากช่วงเวลาปิ๊งแว๊บหรอกครับ มันเกิดจากการลองผิดลองถูกมากมายนับไม่ถ้วน คุณคิดจริงๆเหรอครับว่านิวตันจะได้ทฤษฎียากๆที่ขนาดเราแค่ทำความเข้าใจยังใช้เวลานานเพียงแค่แอปเปิ้ลตกใส่หัว ซึ่งจริงๆเรื่องแอปเปิ้ลตกใส่หัวเนี่ยเป็นเรื่องที่วัลแตร์ (ศิลปินในยุคนั้น) เป็นคนเขียนเพื่อเล่าเรื่องให้คนในยุคนั้นรู้เรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีแรงโน้มถ่วง หรือคุณคิดจริงๆเหรอว่าอาร์คิเมดีสจะคิดยูเรก้าแค่การมาอาบน้ำอย่างเดียว คิดเหรอครับว่าเขาจะไม่ได้ใช้คณิตศาสตร์เพื่อทดลองหาปริมาตร หาเครื่องต่างๆนาๆมาเพื่อพยายามวัด

หนังสืออธิบายว่านวัตกรรมก็เหมือนการต่อจิ๊กซอ ทุกความรู้ทุกการกระทำเพื่อให้เกิดนวัตกรรมก็เหมือนจิ๊กซอตัวหนึ่ง ต่อกันไปเรื่อยๆจนเหลือจิ๊กซอตัวสุดท้าย ไอตัวจิ๊กซอตัวสุดท้ายเนี่ยแหละคือการปิ๊งแว๊บที่เราไปใส่ใจมากจนเกินไป จนลืมจิ๊กซอตัวอื่นๆในภาพ การจะสร้างนวัตกรรมได้นั้นต้องอาศัยจิ๊กซอทุกตัวหาใช่เพียงจิ๊กซอสุดท้าย

นวัตกรรมถูกกำหนดผู้ชนะไว้ตั้งแต่ต้น

เราเชื่อว่านวัตกรรมไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โทรศัพท์มือถือ Search engine นั้นถูกกำหนดผู้ชนะตั้งแต่ต้น คนที่ตัดสินใจตามนวัตกรรมคือผู้ฉลาด คนที่ตัดสินใจตามยุคนั้นคือคนที่โง่ ไม่ฉลาด ไม่ทันโลก แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลยครับ ในยุคนั้นมีการแข่งขันกันอยู่ตลอดระหว่างนวัตกรรม อย่างนวัตกรรมคอมพิวเตอร์เนี่ย มีการแข่งขันกันระหว่างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและคอมพิวเตอร์แบบ Server คุณอาจมองว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้นโง่เง่าที่ไม่ออกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ปล่อยให้ Apple ชิงออกก่อน แต่ในความเป็นจริงบริษัทเหล่านั้นก็มีวิธีการตัดสินใจของเขาเป็นเหตุเป็นผลเขา ซึ่งวิธีการตัดสินใจของแต่ละคนนั้นย่อมมีเหตุผลไม่เหมือนกันอยู่แล้ว อีกทั้งมันเป็นเพียงการคาดเดาล้วนๆ

อีกทั้งปัจจัยในการที่นวัตกรรมจะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าของนั้นดีกว่า มันมีอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่นตัวสังคมวัฒนธรรมตอนนั้นอยากจะใช้นวัตกรรมนั้นรึเปล่า ตัวอย่างที่หนังสือแนะนำก็คือเรื่อง การต้มน้ำ บางวัฒนธรรมเชื่อ(เข้าใจ)ว่าน้ำที่ต้มนั้นมีไว้รักษาคนป่วย การต้มน้ำจึงไม่เป็นที่นิยม หรือตัวเครื่องจักรไอน้ำนั้นมีมานานมากแล้วตั้งแต่สมัยอียิปต์ แต่ทำไมมันถึงไม่เริ่มใช้งานตั้งแต่สมัยนั้นล่ะ คำถามคือในเมื่อคุณมีทาสที่ราคาถูกกว่าการไปหาวัตถุดิบมาต้มน้ำให้เกิดไอน้ำแล้วได้แรงไม่ได้มหาศาลอะไร คุณจะใช้นวัตกรรมเครื่องจักรไอน้ำไปทำไม

โดยในหนังสืออธิบายเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้นวัตกรรมนั้นแพร่หลายและกลายเป็นผู้ชนะไว้ดังต่อไปนี้

  1. ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ

    คือการที่นวัตกรรมนี้เปรียบเทียบกับนวัตกรรมที่ใช้ในปัจจุบันนั้นดีกว่ากันอย่างไร ซึ่งนั่นอาจทำให้คุณเห็นว่ามีการวัดแรงของรถยนต์เป็นแรงม้า หรือวัดความสว่างของแสงเป็นแรงเทียน การทำแบบนี้ก็เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบระหว่างนวัตกรรมใหม่กับสิ่งที่มีอยู่ในตอนนั้น พอมันวัดแล้วเห็นค่าความแตกต่างได้อย่างมากแล้วก็ย่อมจะทำให้คนตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้นวัตกรรมใหม่ได้

  2. การเข้ากันได้

    คือการที่จะเปลี่ยนจากนวัตกรรมเก่าไปใช้นวัตกรรมใหม่นั้นต้องใช้ความพยายามมากแค่ไหน เช่น ถ้าความพยายามคืองบประมาณ ก็หมายความว่าถ้างบประมาณที่ใช้ในการเปลี่ยนไปใช้สิ่งใหม่นั้นมากกว่าประโยชน์ที่ได้ คนก็ย่อมจะเปลี่ยนไปใช้ ถ้าความพยายามคือการเปลี่ยนความเชื่อก็คงเป็นเรื่องยากที่จะให้คนเปลี่ยนไปต้มน้ำเพื่อความสะอาด เพราะความเชื่อของเขาคือของร้อนใช้กับคนป่วย ไม่มีใครอยากให้คนอื่นคิดว่าตัวเองป่วย ก็ไม่มีเปลี่ยนไปใช้ ตัวอย่างคือเครื่องจักรไอน้ำที่ได้เล่าไป

  3. ความซับซ้อน

    คือเราสามารถเข้าใจนวัตกรรมนั้นได้ง่ายเพียงใด ถ้าสังคมในตอนนั้นมีความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมนั้นอยู่แล้วก็ไม่ยากที่จะเปลี่ยน เช่น การเปลี่ยนจากโทรเลขเป็นโทรศัพท์ คนในยุคที่ใช้โทรเลขนั้นมีความรู้ความเข้าใจในการส่งข้อมูลระยะไกล เข้าใจพื้นฐานว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เวทย์มนต์ แต่หากเรานำเอาโทรศัพท์ไปใช้ที่ยุคกลางล่ะ คนย่อมไม่ใช้แน่นอนเพราะเขาไม่รู้ว่ามันคืออะไร ทำงานอย่างไร พาลจะเข้าใจว่าเป็นเวทย์มนต์กันหมด ซึ่งน่าจะโดนส่งไปฆ่าทิ้งแน่นอนถ้าใช้

  4. ความง่ายในการทดลองใช้

    คือนวัตกรรมใหม่นั้นสามารถให้คนทดลองใช้ หรือเอาไปใช้ได้ง่ายแค่ไหน เช่นนวัตกรรมการใช้ถุงชงชาแทนใบชานั้นก็ทำให้เป็นที่นิยมเพราะมีการแจกให้ทดลองใช้แบบฟรี คนใช้เลยได้ทดลองง่าย

  5. ความง่ายในการสังเกต

    คือเราสามารถสังเกตความแตกต่างระหว่างนวัตกรรมใหม่กับสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้ง่ายแค่ไหน เช่น เราเห็นเลยว่ารถวิ่งได้เร็วกว่าม้า แถมควบคุมง่ายกว่า ผลิตได้ง่ายกว่า แต่บางนวัตกรรมนั้นอาจสร้างผลประโยชน์ได้เยอะ แต่คนไม่เห็นความแตกต่างเลยก็ได้ เช่น Web application เปลี่ยนระบบ Infrastructure ไปใช้ยน Cloud เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ผู้ใช้หาได้สนใจกับนวัตกรรมเหล่านั้นไม่ เขาก็ยังใช้ได้แบบเดิม มีประโยชน์อะไร

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับหนังสือเล่มนี้อ่านแล้วทำให้ผมได้เข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น ทำลายมายาคติหลายๆเรื่องที่เราเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปิ๊งแว๊บในระยะเวลาสั้นๆ นวัตกรรมที่ดีกว่าย่อมชนะนวัตกรรมอื่นๆ นวัตกรรมต่างๆถูกกำหนดผู้ชนะไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งพอเราตัดพวกมายาคติเหล่านี้ทิ้งไปแล้วมองตามความเป็นจริง เราจะเห็นว่าการที่นวัตกรรมนึงจะแพร่หลายนั้นยากเย็นแค่ไหน ต้องใช้ความพยายามมากแค่ไหน อีกทั้งต้องการปัจจัยหลายๆอย่างมาช่วยอีกด้วย ในหนังสือยังมีพูดอีกหลายเรื่องที่ผมไม่ได้มาเล่า ไม่ว่าจะปัญหาของนวัตกร (คนที่พยายามสร้างนวัตกรรม) การนำเสนองาน สิ่งที่นวัตกรควรทำ วิธีการคิดเชิงสร้างสรรค์ ก็สำหรับใครที่ทำลายมายาคติ หรือกำลังจะพยายามเป็นนวัตกร ผมก็แนะนำหนังสือเล่มนี้เลยครับ