วรรณกรรมใช้สอย - เรื่องเล่าผิดเวลา - Geschichten zur falschen zeit

วรรณกรรมใช้สอย - เรื่องเล่าผิดเวลา - Geschichten zur falschen zeit

ผมเจอหนังสือเล่มนี้ตอนไปคืนหนังสือที่ห้องสมุด TKPark มันสะดุดตาตรงที่ขนาดของหนังสือนั้นแปลกกว่าเล่มอื่น อีกทั้งชื่อหนังสือที่ชื่อว่า “วรรณกรรมใช้สอย” นั้นยิ่งทำให้น่าสนใจขึ้นไปอีก สุดท้ายด้วยความสงสัยก็เลยยืมหนังสือเล่มนี้กลับมาอ่านซะเลย ซึ่งพอได้อ่านแล้วเป็นอะไรที่เกินความคาดหมายมาก เพราะสำนวนและวิธีการเล่าเรื่องของนักเขียนคนนี้นั้นเป็นแนวทางที่ผมชอบมาก ผู้เขียนเริ่มเล่าเรื่องที่เราก็งงๆว่าเขากำลังเล่าอะไร แต่พอค่อยๆอ่านตามผู้เขียนจะค่อยๆเปิดประเด็นที่เขาอยากพูดถึงได้อย่างแยบยล อีกอย่างที่ผมชอบมากคือเขาไม่ได้สรุปว่าสิ่งใดนั้นถูกหรือผิด แต่เป็นทิ้งคำถามที่กระอักกระอ่วนใจให้ผู้อ่าน หรือคำตอบที่เราไม่ค่อยอยากจะยอมรับ

วรรณกรรมใช้สอย

ตอนเห็นคำนี้ครั้งแรกบอกเลยว่าไม่รู้จริงๆว่ามันคืออะไร แล้วที่หนักกว่านั้นคืออ่านจบทั้งเรื่องแล้วก็ไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอะไร กว่าจะมารู้ก็ตอนไปอ่านคำตาม ซึ่งวรรณกรรมใช้สอยนั้นหมายถึงวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยมีกรอบเวลาบังคับและใช้มันเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่เหมือนพวกวรรณกรรมที่แต่งเรื่อยๆจบแล้วค่อยขาย ตัวอย่างของวรรณกรรมใช้สอยที่เห็นได้ชัดก็คือพวกนิยายในหนังสือพิมพ์ เรื่องสั้นประจำสัปดาห์ วรรณกรรรมพวกนี้มักจะถูกดูถูกว่าไม่ใช่วรรณกรรมที่ดีเพราะมันเหมือนเขียนไปส่งๆเพื่อให้ทันเวลา แต่ถ้ามองในมุมกลับแล้ว การเขียนงานให้เสร็จภายในเวลาที่จำกัดและในสภาวะที่การเขียนเรื่องต่างๆนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ คุณลองคิดว่าจะเขียนเรียงความระดับที่ลงหนังสือพิมพ์ในระยะเวลาแค่ 1 สัปดาห์มันจะยากเย็นเพียงใด อีกทั้งมันต้องสร้างสรรค์ น่าสนใจให้คนอ่านได้ด้วยแล้ว คนที่ทำได้จะต้องยอดนักเขียนแน่นอน

คำถามเมื่ออ่านจบ

ทุกเรื่องในหนังสือเล่มนี้เป็นการรวมเรื่องสั้นของผู้เขียนที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์ โดยจะเป็นเรื่องๆไปไม่ต่อกัน โดยแต่ละเรื่องจะเริ่มด้วยการเล่าเรื่องธรรมดาๆ เช่น เรื่องของพี่ชาย ผู้เขียนเล่าว่าตัวเองได้ไปเจอชายคนหนึ่งก็เลยนั่งคุยกันไปเรื่อยๆ จนชายคนที่คุยด้วยเล่าถึงเรื่องพี่ชายที่ตอนนี้กลายเป็นคนจรจัด เรื่องก็เล่าไปเรื่อยๆว่าเกิดอะไรขึ้นจนทำให้พี่ชายกลายเป็นคนจรจัด ซึ่งผู้เขียนว่าตอนที่เขาคุยเขารู้สึกหงุดหงิดแปลกๆ จนเขามารู้ว่าที่เขาหงุดหงิดเพราะผู้ชายที่เขาคุยด้วยนั้นไม่ได้ต่อว่าเลยว่าใครเป็นต้นเหตุ ไม่ว่าจะตัวพี่ชายเอง ตัวผู้ชายที่เล่า พ่อแม่ของผู้เล่า หรือแม้แต่สังคม ชายคนนั้นแค่เล่าเรื่องไม่ได้โทษว่าใครเป็นคนผิด ไม่ได้โทษใคร แล้วทำไมตัวผู้เขียนถึงหงุดหงิดล่ะ นั่นคือคำถามที่ตัวผู้เขียนตั้งขึ้นมา โดยคำตอบของตัวเขาคือเขาต้องการหาคนผิดของเรื่องเพื่อจะได้โทษทุกสิ่งทุกอย่างไปคนคนนั้นจะได้สบายใจ จนมันกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับเขา พอมาเจอเรื่องที่ไม่มีการนิยามคนผิดที่ชัดเจนเขาจึงรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมา เรื่องสั้นเรื่องนั้นจบลงแค่นั้นแต่มันได้ทิ้งคำถามให้คนอ่าน ตอนที่อ่านเราหงุดหงิดไหม แล้วเรานั้นชอบหาผู้ที่ผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งรึเปล่า คำถามนี้กระแทกเข้าหน้าผมจังๆตอนอ่าน ทุกวันนี้สังคมหน้า Feed Facebook ที่ผมเห็น ผมมักจะเห็นคนหาคนผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าหาคนไม่ได้เราก็จะโทษสังคม ระบบ รัฐ คนใหญ่คนโต ซึ่งผมก็พอเข้าใจนะว่าทำไมเราถึงทำ การหาคนผิดก็เหมือนการหาต้นตอของปัญหาเพื่อจะได้แก้ไข แต่เราก็ต้องถามตัวเองว่าเราหาคนผิดเพื่อแก้ปัญหา หรือเราหาคนผิดเพื่อจะได้โยนความผิดทั้งหมดทั้งมวล เรื่องเลวร้ายต่างๆไปให้คนผิดคนนั้นให้เราสบายใจก็เท่านั้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจคือเรื่องวัดใบต้นไม้ ผู้เขียนเล่าถึงวัยเด็กในช่วงสงครามโลกอันแสนน่าเบื่อ ผู้เขียนเล่าว่าเขาต้องนั่งรอฟังวิทยุกับพ่อแม่เพื่อดูว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งวิทยุส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าสถานการณ์ปกติ เนื่องจากผู้แต่งเป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นกลางทางสงครามทำให้ไม่ถูกบุกโจมตี (จริงๆเยอรมันก็จะบุกโจมตีแล้วแหละครับ แต่เขาดูแล้วไม่คุ้มที่จะบุกสวิตเซอร์แลนด์ที่มีชัยภูมิเป็นภูเขาที่ต้องข้ามและอาจจะซุ่มโจมตีด้วย) พอหลังจากนั้นทั้งวันผู้เขียนก็ไม่มีอะไรทำ จะออกไปเล่นก็ไม่มีคนมาเล่นเพราะอยู่ในช่วงสงคราม ทำให้ผู้เขียนเบื่อมากจนไปหาต้นมาปลูกเพื่อหาอะไรทำ ในทุกวันเขาจะวัดขนาดใบ ขนาดต้น ของต้นไม้ที่เขาปลูกเพื่อฆ่าเวลา ตอนอ่านเรื่องนี้ก็ดูงงๆว่ามันจะสื่ออะไร แต่ผู้เขียนตั้งคำถามตอนท้ายๆของเรื่องว่า เขากำลังนั่งทำเรื่องที่อาจจะเรียกว่าไร้สาระในช่วงเวลาที่คนทั่วโลกกำลังล้มตายจากสงคราม อดอยาก หวาดกลัว สิ่งที่เขาทำนั้นมันคิดหรือเปล่า ถ้ามันผิดทำไมถึงผิด แล้วจะพูดได้เต็มปากได้ไหมว่าไม่ผิด

อ่านแล้วได้อะไร

การอ่านหนังสือเล่มนี้นั้นทำให้ผมได้คำถามมากมายจากเรื่องที่ผู้เขียนเล่า ซึ่งทุกคำถามที่ได้เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว อยู่ที่ว่าเรามองจากมุมไหน ซึ่งพอเรามองจากหลายๆมุมแล้วทำให้เราเข้าใจในหลายๆเรื่องมากขึ้น ในเล่มยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะความหมายของการพูดคุยที่มากกว่าการให้ข้อมูล เด็กฝึกงานที่แกล้งป่วย การไม่อยากเห็นตัวเองในอดีต ความตาย การจราจรของชาวอเมริกา โลกใบนี้ราคาเท่าไหร่ การถ่ายภาพเพราะต้องถ่าย ก็สำหรับใครอยากหาหนังสืออ่านฆ่าเวลาที่ขนาดเล่มไม่ใหญ่พกพาสะดวก ผมก็แนะนำหนังสือเล่มนี้เลย