เรื่องเด็กๆ - โต๊ะก็คือโต๊ะ - Kindergeschichten

เรื่องเด็กๆ - โต๊ะก็คือโต๊ะ - Kindergeschichten

หลังจากได้อ่านรวมเรื่องสั้นของคุณ Peter Bichsel ที่ชื่อเรื่องเล่าผิดเวลาที่เป็นเรื่องเล่าแล้วทิ้งคำถามให้คนอ่านไปตัดสินใจเอง ซึ่งผมรู้สึกชอบมากก็เลยไปหางานเขียนอื่นๆของเขามาอ่านเพิ่ม ซึ่งก็คือเรื่อง “โต๊ะก็คือโต๊ะ” ซึ่งพออ่านแล้วบางเรื่องก็เข้าใจ บางเรื่องก็อึดอัด แต่พอได้ไปอ่านคำตาม (ส่วนอธิบายของคนแปล) ว่าผู้เขียนพยายามจะสื่ออะไรในเรื่องที่อึดอัดแล้วก็เข้าใจว่าผู้เขียนต้องการสื่ออะไรให้คนอ่านเข้าใจ

โต๊ะก็คือโต๊ะ

โต๊ะก็คือโต๊ะเป็นเรื่องสั้นที่เล่าเกี่ยวกับชายชราคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตแบบเดิมๆไปเรื่อยๆทำอะไรซ้ำๆจนวันหนึ่งเขาอยากให้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่จนแล้วจนรอดทุกอย่างก็ไม่เปลี่ยนแปลงยังคงเหมือนเดิม แต่แล้วเขาก็เกิดคำถามว่าทำไมโต๊ะถึงเรียกว่าโต๊ะ ทำไมมันไม่เรียกว่าอย่างอื่น ทันใดนั้นเขาก็เริ่มตั้งชื่อทุกอย่างขึ้นมาใหม่ โต๊ะเป็นนาฬิกา นาฬิกาเป็นคำอื่น แล้วเขาก็รู้สึกว่าชีวิตเขาเปลี่ยนไป และยิ่งทำเขาก็เหมือนยิ่งชอบแทนคำต่างๆไปเรื่อยๆจนสุดท้าย เขาก็สื่อสารกับใครไม่รู้เรื่อง

ตอนอ่านเรื่องนี้ผมปวดหัวมากเพราะผู้เขียนแทนคำไปแบบนั้นจริงๆแบบโต๊ะกลายเป็นนาฬิกา ช้อนส้อมกลายเป็นคำใหม่ พอเราไปอ่านเรื่องราวที่ถูกแทนด้วยภาษาของหนุ่มวัยชราแล้วเราไม่เข้าใจเลย อ่านแล้วปวดหัวมาก ถ้าอยากจะอ่านเข้าใจคุณต้องไปแปลงเป็นภาษาของชายชรา ตอนอ่านเรื่องนี้ผมไม่เข้าใจว่าผู้แต่งต้องการสื่ออะไร แต่เมื่อไปอ่านคำตามแล้วก็พอเข้าใจว่ามันคือการสื่อถึงการพยายามต่อสู้กับขนบธรรมเนียมของปัจเจกบุคคล ขนบธรรมเนียมที่ว่าก็คือภาษา ซึ่งชายชราไม่ได้ใช้วิธีการต่อสู้แบบออกไปโห่ร้องต่อสู้ แต่เขาต่อสู้โดยการเปลี่ยนตัวเขาเองเปลี่ยนไปใช้ภาษาของตัวเองประมาณนั้น แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่เขากำลังจะสื่อคือ ในบางมุมมองเราไม่ได้เป็นนายของภาษาแบบที่เราเข้าใจ บางทีเราก็ตกเป็นทาสของภาษาเพราะเราใช้ภาษาในการแทนความเข้าใจเช่น โต๊ะก็คือโต๊ะ แต่ในภาษาของชายชรา โต๊ะกลับไม่ใช่โตีะ โต๊ะกลับเป็นอย่างอื่น (ลองไปอ่านดูครับทรมานมาก เหมือนตกเป็นทาสเลย)

โลกกลม

เรื่องเล่าถึงชายชราคนหนึ่งที่สงสัยว่าโลกกลมจริงไหม ซึ่งวิธีที่จะพิสูจน์ได้ว่าโลกกลมไหมคือเดินทางเป็นเส้นตรงจากบ้านของเขา ไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายถ้าโลกกลมจริงเขาจะต้องกลับมาที่บ้านของเขา เมื่อตัดสินใจว่าอยากจะพิสูจน์เขาก็ไปซื้อลูกโลกและแผนที่มาลากเส้นการเดินทางจากบ้านเขาตรงไปเรื่อยๆตามทางที่กำหนด ซึ่งเขาก็พบว่ามันต้องเจออุปสรรคมากมาย เช่น ต้องเตรียมบันได เตรียมเครนยกรถ เครนยกเรือ เรือขนรถ รถขนเรือ รถขนเครน เรือขนรถขนเครน ไล่ไปเรื่อยๆไม่มีจุดจบ ซึ่งยิ่งคิดยิ่งทำให้ชายชรารู้สึกเศร้าใจว่าทำยังไงเขาก็ไม่สามารถพิสูจน์เรื่องการเดินทางรอบได้แน่ถ้ายังจะทำตามแผน จนสุดท้ายชายชราตัดสินใจหยิบกระเป๋าพร้อมบันไดแล้วเริ่มเดินทางปีนข้ามบ้านของเพื่อนบ้านไป เพื่อนบ้านที่กำลังโดนปีนข้ามบ้านก็ตกใจออกมาคุยกับชายชราว่าจะทำอะไร ซึ่งก็ได้คำตอบว่าจะพิสูจน์เรื่องโลกกลม และสุดท้ายชายชราก็ข้ามบ้านของเพื่อนบ้านไปได้และเดินทางต่อไป

สำหรับเรื่องนี้ผมเข้าใจว่ากำลังพูดถึงการจะทำอะไรอย่างหนึ่งซึ่งปกติแล้วเราต้องวางแผนว่าการจะทำให้สำเร็จนั้นต้องมีอะไรบ้าง ซึ่งชายชราก็วางแผนแล้วก็พบว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะสามารถหาทุกอย่างมาทำได้ตามแผน ซึ่งนั่นตรงกับความจริง การที่เราอยากจะทำอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่เมื่อมาวางแผนแล้วก็พบว่าเป็นไปไม่ได้และสุดท้ายก็จบลงที่ความหดหู่สิ้นหวัง แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้จบด้วยความสิ้นหวังแบบนั้นเพราะชายชราเลือกที่จะออกเดินทางพิสูจน์เลยโดยไม่สนว่าจะทำได้ไหม การจบแบบนี้เหมือนผู้เขียนกำลังจะบอกเราว่าถ้าอยากจะทำอะไรก็ไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างเพียบพร้อมตามแผนแต่ขอให้เริ่มลงมือทำเลย ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จอย่างน้อยก็ได้เริ่มทำแล้ว ซึ่งจะตรงกับตอนจบที่เพื่อนบ้านไม่ได้ข่าวของชายชราอีกเลยแต่อย่างน้อยเพื่อนบ้านหวังว่าชายชราจะทำสำเร็จ

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับเล่มนี้อ่านแล้วได้ความหงุดหงิดครับ หงุดหงิดกับหลายๆเรื่องเช่น การใช้ภาษา การเล่าแบบวนเวียน ซึ่งผู้เขียนเขาจงใจทำให้เราเห็นนั่นแหละ เช่นเรื่องโต๊ะก็คือโต๊ะเขาก็จงใจเปลี่ยนคำว่าโต๊ะไปแทนอย่างอื่นที่ไม่ใช่โต๊ะทำให้เราหงุดหงิดและเข้าใจว่าเราไม่ได้นายของภาษานะ ในมุมนี้คือเราเป็นทาสของภาษาเลย หรือการหงุดหงิดกับเรื่องการคิดวนไปวนมาของชายชราที่วางแผนจะเดินทางรอบโลกที่ต้องเตรียม รถขนเรือ เรือขนรถ รถขนเรือขนรถ วนไปวนมาเรื่อยๆ ซึ่งเขาก็จงใจให้เราเห็นถึงการวางแผนว่ามันวางได้เรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุดแถมยิ่งวางแผนแล้วยิ่งเครียดยิ่งท้อยิ่งหมดหวังที่จะทำสำเร็จ ซึ่งในเล่มยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมไม่ได้เล่า เช่น เรื่องของนักประดิษฐ์ที่ประดิษฐ์ของขึ้นมาเองแต่ก็พบว่ามันดันไปซ้ำกับคนอื่นซึ่งทำให้เราฉุกคิดเรื่องการประดิษฐ์ว่าถ้ามันถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาแล้ว อีกคนที่ประดิษฐ์ขึ้นาได้เหมือนกันนั้นเขาไม่ได้คิดมันขึ้นมาเองหรอกหรือ เรื่องของอเมริกาที่ไม่มีอยู่เป็นเรื่องเล่าเชิงล้อเลียนของเด็กชายที่ชื่อโคลัมบิน เรื่องนี้พูดถึงเรื่องที่คนที่พูดถึงสิ่งที่ไม่เคยเจอเช่น พูดถึงอเมริกาทั้งๆที่ไม่เคยไป และคนที่เคยไปก็พูดถึงอเมริกาได้ไม่แน่ชัด ทำให้เกิดความสงสัยว่าอเมริกานั้นมีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นแค่เรื่องโกหกเด็กชายโคลัมบิน

สำหรับใครที่ชอบอ่านหนังสือที่ต้องกลับมานั่งคิดทบทวนว่าผู้เขียนกำลังจะบอกอะไรเรา ต้องคิดซ้ำไปซ้ำมาเพื่อทำความเข้าใจซึ่งพอเข้าใจแล้วรู้สึกทึ่งกับกลวิธีการเขียนแล้ว ผมแนะนำให้อ่านเล่มนี้เลยครับเพราะมีครบเลย ตีความได้หลายรูปแบบแถมยังลึกซึ้งกินใจ (บาดเข้าไปในใจเลย)