Game design theory ออกแบบเกมให้โดนใจ

Game design theory ออกแบบเกมให้โดนใจ

ตอนเด็กพอได้เริ่มเล่นเกมส์ Mario จากการที่น้าชายซื้อมาให้ หลังจากนั้นก็เริ่มชีวิตเด็กติดเกมส์ที่เล่นเกมส์ทุกวัน ความฝันหนึ่งที่เด็กเล่นเกมส์จำนวนหนึ่งฝันกันคืออยากจะสร้างเกมส์ของตัวเองขึ้นมาครับ ซึ่งฝันนั้นก็ทำให้เด็กหลายคนสอบเข้าคณะที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่ก็กลายเป็นฝันร้ายของเด็กหลายๆคน (เรื่องเด็กไม่น่าได้แล้วเพราะอายุคนเหล่านั้นน่าจะ 18 ไม่ใช่เด็กแล้ว) เพราะเมื่อเรียนแล้วพบว่ามันไม่ใช่อย่างที่คิด มันไม่มีการสอนเขียนเกมส์แต่เป็นการสอนเขียนโปรแกรมที่มีแต่ตัวอักษร Algorithm ที่เข้าใจยาก การจะทำภาพเคลื่อนไหวในเกมส์ การตรวจจับการชนก็แสนยากไม่มีการลากวางลากวางตามจินตนาการ สุดท้ายหลายคนก็ย้ายคณะหนี บางคนก็อยู่ต่อเพราะเสียดายเวลาตามแต่ทางเลือกของตัวเอง

แต่สมัยนี้นั้นง่ายกว่าสมัยนั้นเยอะครับ สมัยนี้มีสิ่งที่เรียกว่า Game engine (โปรแกรมช่วยทำเกมส์) ฟรีหลายตัวให้ใช้งานทำให้เขียนเกมส์ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องมาเขียน Code เช็คการชน ทำ Animetion ต่างๆนาๆ พอทุกอย่างมันง่ายสิ่งสำคัญเลยไม่ได้อยู่ที่การเขียนโปรแกรมแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับการออกแบบเกมส์ครับ คือต้องยอมรับจริงๆว่าผมอยากเขียนเกมส์โดยไม่รู้เรื่องการออกแบบเลย พอเขียนเกมส์แบบไม่ได้ Design ก็เหมือนทำระบบที่ไม่ได้ Design ที่ออกมาทำงานได้แต่ทำได้ไม่ดี แต่มันต่างกันตรงที่ระบบงานนั้นคนทำงานนั้นจำเป็นต้องใช้มันเลยมีคนใช้ (พวก App ที่ทำงานเฉพาะทาง) แต่ถ้าเป็นเกมส์แล้วถ้าเล่นแล้วไม่สนุกคนก็เลิกไปเล่นเกมส์อื่นครับ ดังนั้นการรู้พื้นฐานเพื่อออกแบบจึงเป็นเรื่องสำคัญ พอได้เห็นหนังสือเล่มนี้ก็รู้สึกว่าเออลองหยิบมาอ่านดูดีกว่า เผื่อเวลาจะไปเขียน Side project เกมส์ จะได้เป็นเกมส์ที่ดี

การเล่นคืออะไร

จริงๆคำถามนี้ผมก็ไม่เคยคิดเลยนะว่ามันคืออะไร หนังสือให้นิยามการเล่นว่า การเล่น คือกิจกรรมที่เราทำโดยสมัครใจ เพื่อเรียนรู้ฝึกฝนทักษะด้านใดด้านหนึ่ง สัตว์ทุกชนิดเล่นเพื่อฝึกฝนทักษะในการเอาตัวรอด รวมทั้งมนุษย์ จะเห็นว่าการเล่นคือเล่นด้วยความสมัครใจ ดังนั้นมันไม่ใช่การขู่เข็ญให้เล่น และการเล่นเป็นการฝึกฝนอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นการเล่นเกมส์คือการเล่นสิ่งที่เรียกว่าเกมส์โดยสมัครใจและเกมส์นั้นน่าจะต้องการทักษะบางอย่าง

เกมส์คืออะไร

เกมส์คือสิ่งที่ถูกเล่นตามนิยามการเล่น ซึ่งเกมส์จะต้องใช้ทักษะเล่นดังนั้นจะการเล่นจะค่อยๆเป็นการฝึกฝนทักษะในการเล่น ยิ่งเล่นก็จะยิ่งเก่งขึ้น เหมือนคุณเล่นเกมส์ยิงตอนแรกคุณจะกากมาก วิ่งอยู่ดีๆโดนยิง แถมไม่รู้ว่าโดนยิงจากไหน แต่พอเล่นนานๆเข้าคุณจะรู้ว่าการโดนยิงแบบนี้มาจากไหน ศัตรูอยู่ตรงไหน ควรจะยิงไปตรงไหน โดยเกมส์จะเป็นเกมส์ได้นั้นต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • Interactive - อนุญาตให้โต้ตอบกับมันได้ อันนี้ง่ายๆคือการเล่นกับมันและมันโต้ตอบกลับกับคุณ ไม่เหมือนหนังสือที่มันโต้ตอบกับคุณได้ (ถ้าหนังสือเถียงคุณได้ แนะนำให้วิ่งครับ)
  • Goal - มีเป้าหมายชัดเจนว่าให้ทำอะไร เช่น ฆ่าบอสใหญ่ ตีฐานใหญ่ศัตรู ยึดพื้นที่ เป็นต้น
  • Active Obstacle - มีอุปสรรคที่ทำให้ผู้เล่นแพ้ได้

ผู้เล่นต้องการอะไร

หัวข้อนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ผมไม่เคยถามตัวเองเวลาทำเกมส์เหมือนกัน พอไม่ได้คิดมันก็เลยเป็นเกมส์มั่วๆไม่ได้ตอบสนองผู้เล่น โดยหนังสือแนะนำความต้องการของผู้เล่นไว้ดังนี้

  • ผู้เล่นต้องการความท้าทาย

    ความท้าทายคือการได้ทำอะไรที่ท้าทายความสามารถในการเล่นเกมส์นั้น เช่น ความท้าทายจากการบริหารทรัพยากร ความท้าทายกับแข่งกับเวลา ความท้าทายจากความคล่องแคล่วในการเล่น ความท้าทายจากความอดทน ความท้าทายจากความจำ ความท้าทายจากการใช้สติปัญญาแก้ปัญหา

  • ผู้เล่นต้องการมีปฏิสัมพันธ์

    อันนี้ก็ง่ายๆครับคืออยากได้รับการตอบโต้กลับ ถ้าเป็นดูหนังคุณดูอย่างเดียวคุณไม่สามารถให้หนังตอบโต้คุณกลับได้ (ยกเว้นหนังที่ทำเป็นตัวเลือกให้เลือกระหว่างดู) แต่เกมส์มันสามารถตอบโต้กับคุณได้ไม่ว่าจะทำให้คุณแพ้ ตอบโต้กับตัวเลือกที่คุณเลือก

  • ผู้เล่นต้องการเข้าสังคม

    อันนี้คือการได้ไปเจอคนอื่นๆที่เล่นเกมส์เดียวกับคุณ เช่น RO ที่คนเล่นกันสมัยก่อน การเล่น RO อาจจะเป็นการเก็บเลเวลแต่สำหรับคนบางกลุ่มมันคือการพบปะผู้คนทำความรู้จัก เป็นเพื่อนกัน บางคนถึงกับได้สามีได้ภรรยาจากเกมส์นี้เลยนะครับ (ต้องเข้าใจว่าสมัยก่อนไม่มี App Chat ให้เล่นครับ)

  • ผู้เล่นต้องการหนีจากความเป็นจริง

    ข้อนี้คืออยากทำอะไรที่โลกแห่งความเป็นจริงทำไม่ได้ เช่น การไปเที่ยวที่อื่นๆบนโลกได้แบบรวดเร็ว การใช้ความรุนแรง การทำผิดกฏหมาย เป็นต้น

  • ผู้เล่นต้องการพิสูจน์ตนเอง ต้องการชื่อเสียง

    ส่วนข้อนี้เห็นได้ทั่วไปในเกมส์ที่มีระบบ Rank เลยที่ผู้เล่นพยายามจะพยายามพาตัวเองไปอยู่ใน Rank ที่สูงเพื่อโชว์ความเก่งกาจของตน หรือทำการจบเกมส์ที่ยากมากๆแบบ Dark souls ที่เล่นจบแล้วสามารถพิสูจน์ว่าตัวเองเล่นเกมที่โคตรยากได้จบ

การเดินเกมส์ (Game progression)

สำหรับหัวข้อนี้ผมพึ่งรู้จักตอนอ่านหนังสือเล่มนี้แหละ โดย Progression แปลว่า “การเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือพัฒนาเพื่อมุ่งไปสู่จุดหมาย อย่างมีขั้นตอนและเป็นไปตามลำดับ” พอเอาเกมส์ไปรวมก็กลายเป็นการที่เกมส์เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างเป็นลำดับ ถ้ามองง่ายๆก็เหมือนละครที่ค่อยๆเปิดเผยเนื้อเรื่อง โดย Game progression นั้นมีหลากหลายวิธีในการทำ แต่วิธีพื้นฐานที่นิยมคือ “กฏสามองค์” ซึ่งก็คือการแบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยใช้ได้ทั้งกับระบบเกมส์และเนื้อเรื่อง

  • องก์ 1

    องก์นี้จะเป็นส่วนเริ่มต้นที่จะบอกพื้นฐานคร่าวๆเกี่ยวกับเกมส์ให้เราหรือว่าง่ายๆก็คล้ายๆส่วนนี้เป็นส่วนสอนเล่นเกมส์ ให้เราเข้าใจว่าหลักๆเกมส์ทำอะไรได้บ้าง เช่น ปล่อย Skill ได้ โจมตีได้ กฏหลักๆของเกมส์ เช่น ห้ามโดนตัวศัตรู ห้ามโดนหนาม ถ้าอย่างในเกมส์ Rockman ก็คือด่านแรกจะเป็นด่านง่ายๆให้ลองเล่นให้รู้ว่ากระโดดได้ ยิงได้ ชาร์ตยิงได้ dash ได้ บอสด่านแรกจะกากๆหน่อยให้รู้ว่าเจอบอสจะเป็นไง บอสไม่ได้โดนทีเดียวตายประมาณนั้น ถ้าเป็นส่วนเนื้อเรื่องก็เป็นส่วนที่บอกเล่าคร่าวๆเกี่ยวกับโลกเกมส์นี้ว่าเป็นยังไง ตัวเอกจะต้องทำอะไรเป็นต้น

  • องก์ 2

    องก์นี้จะเป็นการปล่อยให้ผู้เล่นสามารถทำสิ่งต่างๆที่เกมส์ทำได้มากขึ้น เช่น ไปหาอาวุธ ฆ่าบอสเอาสกิลเพิ่ม เพื่อทำอะไรต่างๆในเกมส์ได้มากขึ้น ถ้าอย่างในเกมส์ Rockman ก็จะเป็นให้เราสามารถเลือกด่านไปสู้กับบอสเพื่อจัดการเอาสกิลใหม่ ไปหาเกราะเพิ่ม ส่วนเนื้อเรื่องก็จะค่อยๆเปิดเผยความลับปูไปถึงการจะสู้กับบอสใหญ่หรือความลบของเรื่อง

  • องก์ 3

    องก์นี้จะเป็นจุดที่ปล่อยผู้เล่นได้ใช้ทุกสิ่งที่จะฝึกฝนและเรียนรู้จากการเล่นเกมส์ทั้งหมดมาใช้จบเกมส์ให้ได้ เช่น สู้กับบอสใหญ่ แก้ปริศนาที่ต้องใช้ทุกวิธีที่ได้เรียนรู้จากเกมส์ หรือต้องจัดสรรทรัพยากรให้ได้ดีที่สุดในเงื่อนไขที่ยากที่สุด ถ้าเทียบกับ Rockman ก็ประมาณไปด่านบอสใหญ่ที่จะต้องสู้กับบอสทุกตัวใหม่อีกครั้ง สู้กับบอสใหญ่ที่อาจจะมีหลายร่างแถมเลือดหลอดยาวทะลุจอ ส่วนในทางเนื้อเรื่องก็คือการคลายทุกปมที่ผูกไว้ให้ผู้เล่นได้เข้าใจเนื้อเรื่องทั้งหมด

อ่านแล้วได้อะไร

ในหนังสือยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมไม่ได้เอามาเล่า (ถ้าเล่าหมดคุณก็ไม่หามาอ่านน่ะสิ) ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กลไก และ กฏ (Machanic and Rule ) ความลึกและความซับซ้อน ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญในการออกแบบเกมส์ อีกทั้งยังมีเรื่อง Design Document ที่ว่าด้วยเรื่องเอกสารที่ใช้สื่อสารกันในทีมนักพัฒนาเกมส์ว่ามันมีหน้าตาอย่างไรมีอะไรบ้าง เพื่อให้การสื่อสารง่ายขึ้น เข้าใจกันได้เร็วขึ้น

สำหรับผมหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจการ Design เกมส์หนึ่งเกมส์ว่าเขามีวิธีคิดยังไง มี Pattern แบบไหนบ้าง ซึ่งก็ถือว่าคุ้มกับเวลาที่เสียไปมาก สำหรับใครที่อยากสร้างเกมส์ผมก็แนะนำว่าลองไปหาอ่านดูครับ