ปวงปรัชญากรีก
เมื่อใช้ชีวิตมานานระดับหนึ่งก็เริ่มเกิดความสงสัยว่าความจริงแท้คืออะไร เรามาจากไหน จักรวาลมาจากอะไร พระเจ้ามีจริงไหม ตายแล้วไปไหน จริงๆคำถามพวกนี้ผมก็ได้คำตอบมาตั้งแต่เด็กบ้างแล้วเช่น ตายแล้วจะไปสวรรค์ถ้าทำดีไปนรกถ้าทำเลว มีพระอินทร์ พระพรหม พระอิศวร ต่างๆนาๆ แต่พอคุณได้เรียนมากขึ้น มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตมากขึ้น คุณจะเริ่มมีคำถามกับสิ่งที่คนเชื่อ ทำไมต้องรอตายก่อนล่ะถึงจะต้องตัดสิน ทำไมไม่ตัดสินกันตอนนี้ให้เป็นธรรมไปเลยจะยืดรอไปถึงการตายทำไม ถ้าพระเจ้ามีจริง สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ทำไมคนที่ศาสนาบอกว่าดีกลับใช้ชีวิตอย่างลำบากกว่าคนที่ชั่ว
อีกทั้งโลกเราก็กว้างใหญ่ไพศาล ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาเดียวที่มีบนโลกยังมีศาสนาอีกมากมายและมีสิ่งที่ไม่ใช่ศาสนาที่พยายามค้นหาและพยายามอธิบายความจริงให้แก่มวลมนุษย์ซึ่งนั่นก็คือวิชาปรัชญา
ปรัชญาคืออะไร
การจะนิยามว่าปรัชญาคืออะไรนั้นยากมากเพราะปรัชญานั้นพยายามหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องเชิงวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุว่าประกอบขึ้นจากอะไร คุณสมบัติของมัน การเคลื่อนไหว การกำเนิดจักรวาล ทำไมปลาถึงเป็นปลา ทำไมมนุษย์ไม่เหมือนปลา หรือจะเป็นเรื่องเชิงจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นตายแล้วไปไหนจะตายแล้วตายเลย หรือจะวนเวียนตายแล้วเกิดใหม่ หรือจะไปเกิดในโลกที่สูงกว่า โดยหนังสือนิยามว่าปรัชญาคืออะไรไว้ดังนี้ “ปรัชญาคือการแสวงหาความจริง ตั้งแต่ระดับสามัญธรรมดาจนถึงระดับสูงสุดของสิ่งต่างๆ ทั้งทางอาณาจักรรูปธรรมและอาณาจักรนามธรรม เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ แล้วนำความรู้นั้นมาเป็นมาเป็นโลกทัศน์และชีวทัศน์ หรือแนวทางในการดำเนินชีวิต”
ปรัชญาในกรีก
ปรัชญาของกรีกส่วนใหญ่นั้นจะใช้เหตุผลในการอธิบายความจริง พยายามจะไม่พึ่งพาสิ่งที่เรียกว่าพระเจ้า (พระเจ้าของกรีกก็พวก ซุส โพไซดอน ฮาเดส พวกนั้น) นักปรัชญาหลายคนก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับพระเจ้าว่า ถ้าพระเจ้าเป็นสิ่งที่ดีงามจริง มีความกล้าหาญที่จะจัดการปัญหา แต่เหตุใดปล่อยให้โลกมีความไม่ดีเกิดขึ้น ถ้าพระเจ้ามีจริงและมีความกล้าหาญเหตุใดจึงไม่เข้ามาจัดการ ดังนั้นก็แปลว่าพระเจ้านั้นไม่มีจริง หรือหากจะพระเจ้ามีจริง พระเจ้าก็จะเป็นสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์เพราะขาดความกล้าหาญเป็นต้น จะเห็นว่านักปรัชญาในกรีกนั้นจะใช้เหตุผลในการหาความจริง ซึ่งปรัชญากรีกนั้นมีหลากหลายแนวคิดหลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ต่อสู้กันด้วยเหตุผล เอาเหตุผลมาหักล้างแนวคิดของแต่ละแนวคิดมากกว่าการทำสงครามฆ่าฟันกันเพื่อพิสูจน์ความจริง
นักปรัชญากรีกนั้นมีมากมายหลายคน หลายกลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มมีแนวคิดของตัวเอง บางคนเป็นกลุ่มที่เน้นศึกษาเรื่องวัตถุพยายามหาคำตอบของวัตถุมากกว่าหาความจริงทางจิตใจ บางพวกก็หาความจริงทางจิตใจอย่างเดียว บางพวกก็หาความจริงรวมทั้งหมดทั้งทางวัตถุและจิตใจ แต่นักปรัชญาที่ผมสนใจนั้นคือ โซเครตีส
โซเครตีส
โซเครตีสเป็นนักปรัชญาที่เน้นการถามตอบโดยโซเครตีสจะไปหาผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆเพื่อหาความรู้แลกเปลี่ยนแนวคิด และเมื่อรู้แล้วก็เดินทางเพื่อเผยแพร่ความรู้ สั่งสอนคนในเมือง โดยที่ต้องออกสั่งสอนนั้นเพราะสังคมในตอนนั้นถูกพวกลัทธิโสฟิสต์ครอบงำและให้ความรู้ผิดๆ พวกโสฟิสต์นั้นเป็นพวกที่สอนคนให้ใช้วาทศิลป์เพื่อผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผิดให้เป็นถูก ประจบประแจง ทำให้คนทั้งหมู่มากถูกใจและคล้อยตามเพื่อผลลัพธ์ที่อยากได้ ซึ่งผลลัพธ์ที่อยากได้สมัยนั้นคือการไปมีอำนาจทางการเมือง เป็นผู้แทน ซึ่งเป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรีแถมมั่งคั่ง แถมพวกโสฟิสต์นั้นก็ไม่ได้สอนฟรีแต่เรียกเก็บเงินผู้เรียนอีกต่างหาก ตัวอย่างแนวคิดของลัทธิโสฟิสต์คือ “มนุษย์คือผู้ตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นอย่างไร ถูกหรือผิด จริงหรือไม่จริง เพราะคนคนนั้นได้เห็นได้รู้” อ่านครั้งแรกก็เออดูไม่มีปัญหาอะไร แต่มันมีปัญหาตรงที่ถ้าคิดแบบนี้ ทุกอย่างมาจากการรับรู้ของมนุษย์ ความรู้สึก ความถูกผิด ถูกต้อง จริงไม่จริง ทุกอย่างมาจากความรู้สึกของคน แล้วแต่ละคนรู้สึกไม่เหมือนกัน แล้วเราจะหาอะไรมายึดว่าอะไรคือความจริง ความดี ความชั่ว ถูกต้อง ไม่ถูกต้องล่ะ ซึ่งขัดจากแนวคิดปรัชญาของกรีกที่ทุกอย่างต้องเป็นเหตุเป็นผล ต้องมีที่มาที่ไป ถึงบางเรื่องอาจจะดูไร้สาระสำหรับเราในยุคนี้ แต่ก็มีเหตุผลมารองรับ เช่น เรื่องโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาลเพราะคนสมัยนั้นเห็นว่าพระอาทิตย์พระจันทร์ขึ้นและลงมีแต่โลกที่อยู่เหมือนเดิม ดังนั้นคนสมัยนั้นจึงใช้เหตุผลนี้สนับสนุนว่าโลกเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล
รูปแบบการสอนคนของโซเครตีส
การสอนของโซเครตีสจะเป็นแนวถามตอบโดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- เสแสร้ง
ขั้นตอนนี้โซเครตีสจะเข้าไปคุยกับคนที่อยากสอน หรือคนที่อยากเรียนด้วย จากนั้นจะเริ่มคุยกับเป้าหมายถึงเรื่องที่สนใจโดยที่ตัวเองทำตัวเป็นไม่รู้
- สนทนา
ขั้นตอนนี้จะเป็นการเริ่มคุยกันเรื่อยๆโดยโซเครตีสจะเป็นคนถามคำถามและให้คนที่คุยด้วยเป็นคนตอบไปเรื่อยๆ เพื่อหาสาระ หลักการ จากผู้ที่คุยด้วย
- นิยาม
ขั้นตอนนี้จะเป็นการนิยามหรือหาข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกันได้ เกี่ยวกับเรื่องที่จะคุยกันหรือหาข้อสรุป เพื่อไม่ให้ทะเลาะกันหลังจากเริ่มหาข้อสรุป
- อุปนัย
ขั้นตอนนี้จะเป็นการยกตัวอย่างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนหรือขัดกับสิ่งที่นิยามกันไว้
- นิรนัย
ขั้นตอนนี้จะเป็นการสรุปผลว่าสิ่งที่นิยามนั้นถูกต้องหรือมีข้อขัดแย้งใดๆ
ตัวอย่างวิธีการสอนคนของโซเครตีส (แบบง่ายๆ)
- เสแสร้ง
โซเครตีสไปคุยกับคนคนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องหมาคืออะไร
- สนทนา
โซเครตีสจะถามผู้ที่คุยด้วยหมาเป็นยังไง เช่น รูปร่าง ลักษณะ เป็นแบบไหน
- นิยาม
โซเครตีสกับคนที่คุยจะร่วมกันนิยามว่าหมาคืออะไร ซึ่งอาจจะนิยามว่า หมาคือสัตว์ที่มีสี่ขา มีหาง เลี้ยงให้เชื่องได้ ร้องได้
- อุปนัย
โซเครตีสจะยกตัวอย่างมาขัดแย้งกับนิยามนี้ เช่น แมวก็เป็นสัตว์ที่มีสี่ขา มีหาง เลี้ยงให้เชื่องได้ ร้องได้ งั้นแปลว่าแมวก็คือหมาน่ะสิ
- นิรนัย
โซเครตีสก็จะสรุปว่านิยามที่ว่า หมาคือสัตว์ที่มีสี่ขา มีหาง เลี้ยงให้เชื่องได้ ร้องได้ นั้นไม่ถูกต้องจากเหตุผลในข้อที่ 4
โดยนี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ แต่สิ่งที่โซเครตีสถามอาจจะเป็นเรื่อง ความกล้าหาญคืออะไร ความกล้าหาญคือสิ่งที่ถูกต้องไหม โดยมานั่งนิยามกัน หรือสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด เช่น การที่โซเครตีสหักล้างแนวคิดของพวกโสฟิสต์ที่ว่า ความจริง นั้นมาจากการตัดสินของคนที่ตัดสิน โดยยกตัวอย่างว่า ถ้าทุกความจริงมาจากแต่ละคนตัดสินดังนั้นโลกนี้คงไม่มีความจริงสากล (ความจริงที่เป็นความจริง ไม่ได้มาจากการตัดสินจากใครคนใดคนหนึ่ง) แต่ในโลกนี้มีความจริงสากล เราต่างรู้ความจริงสากลว่า ม้ามีหน้าตาแบบไหน เป็นอย่างไร ดังนั้นความจริงสากลนั้นมีอยู่
แต่วิธีการสอนของโซเครตีสนั้นมักจะสร้างความหงุดหงิดหรือความโกรธแค้นให้กับคนที่คุยหรือสอนด้วยเพราะมันเหมือนการหักหน้ากันเมื่อได้ผลสรุป คุณลองคิดดูละกันว่าสิ่งที่คุณเชื่อหรือศรัทธาโดนหักล้าง ถ้ามันแค่สองคนอาจไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าต่อหน้าฝูงชนจำนวนมากล่ะ ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุให้คนที่โดนโซเครตีสขัดผลประโยชน์ รวมตัวกันฟ้องร้องว่าโซเครตีสเป็นบุคคลอันตราย ด้วยข้อหายุยงสอนคนไม่ดี เป็นพวกไม่บูชาพระเจ้า ซึ่งสุดท้ายโซเครตีสเป็นฝ่ายแพ้ (แพ้เพราะโดนรุมฟ้อง) ซึ่งโทษที่โซเครตีสคือการประหาร แต่ศาลอนุญาตให้ฝ่ายจำเลยขอลดโทษได้ แต่โซเครตีสกลับไม่ยอมลดโทษเพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้ผิดอะไรและยอมตายเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ผิด คือถ้าขอลดโทษเนี่ยแปลว่ายอมรับว่าตัวเองผิด อีกทั้งโทษที่ลดได้มากสุดคือโดนเนรเทศให้ไปอยู่เมืองอื่น พอไปอยู่เมืองอื่นก็จะโดนว่าเป็นคนผิด ไปสอนใครใครจะเชื่อ แถมตัวเองก็อายุเยอะแล้ว สู้รักษาความดีที่สร้างมีทั้งชีวิตไว้ดีกว่า
การกระทำนี้ของโซเครตีสแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนยึดมั่นในคุณธรรมและปฏิบัติตามคุณธรรม พูดจริงทำจริง สอนให้คนยึดถือคุณธรรมตัวเองยึดถือคุณธรรมความถูกต้องตามที่ตัวเองสอน แม้การจะรักษาคุณธรรมนั้นจะทำให้ตัวเองต้องตายก็ตาม สุดท้ายโซเครตีสก็ต้องโทษประหารโดยดื่มยาพิษ ซึ่งนั่นถือเป็นการจากไปของปราชญ์ชาวกรีกที่สำคัญคนหนึ่งของกรีก
เนื่องจากโซเครตีสนั้นเรียนรู้และสั่งสอนคนด้วยการพูดคุยกับคนจริงๆเป็นหลัก ดังนั้นตัวโซเครตีสเองไม่มีการจดบันทึกคำสอนอะไรไว้เลย คำสอนที่เรารู้ตอนนี้ทั้งหมดนั้นมาจากการจดบันทึกของเพลโตซึ่งเป็นศิษย์ของโซเครตีส ซึ่งก็มีข้อกังขามากมายว่า เรื่องที่เพลโตจดบันทึกนั้นเป็นสิ่งที่โซเครตีสสอนจริงๆ หรือเป็นเรื่องที่ตัวเองสอนแต่ใช้ชื่อโซเครตีสเป็นคนเล่า เพราะหลังจากโซเครตีสตายเพลโตเองก็ได้พัฒนาแนวคิดของโซเครตีสไปในแนวทางของตน
อ่านแล้วได้อะไร
การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจว่าปรัชญาของกรีกนั้นเป็นแบบไหน แนวคิดของแต่ละกลุ่ม เหตุผลที่เขาเชื่อแบบนั้น ทำให้เราเห็นมุมมองที่เราไม่เคยคิดหรือคิดว่าจะมีคนคิดแบบนั้น และบางทีก็รู้สึกทึ่งว่าคนในยุคนั้นที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดหรือเทคโนโลยีสามารถคิดกันได้ขนาดนั้นเลย อีกทั้งแนวคิดหลักการพิสูจน์ด้านตรรกะศาสตร์ก็เริ่มจากปรัชญากรีกด้วย
ในเล่มยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมไม่ได้พูดถึง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของกลุ่มต่างๆแบบละเอียด ไม่ว่าจะเป็นพวก ไอออนิก ไพธากอเรียน หรือ แนวคิดของเพลโตที่น่าสนใจ ในเรื่องโลกของแบบ และ โลกที่เป็นเงา (โลกของเรา) ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร แนวคิดของรัฐที่สมบูรณ์แบบซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ บางเรื่องในปัจจุบันเราก็ใช้คล้ายๆกับแนวคิดของเพลโต้ หรือแนวคิดของอริสโตเติ้ล จนถึงจุดล่มสลายของปรัชญากรีกว่าเกิดขึ้นจากอะไร ก็ถ้าคุณสนใจอยากรู้ว่าคนบนโลกมีแนวคิด มุมมอง เกี่ยวกับโลก ความจริง โลกของวัตถุ โลกของจิตวิญญาณ อย่างไร หรือวิวัฒนาการของแนวคิด ผมก็แนะนำให้ไปหามาอ่านครับ รับรองว่าสนุกน่าสนใจมากๆเลยครับ