ปวงปรัชญาจีน

ปวงปรัชญาจีน

ถ้าคุณเคยดูหนังจีนคุณก็คงเคยได้ยินชื่อ เล่าจื้อ (บางที่เรียกเหลาจื้อ) , ขงจื้อ , ม่อจื้อ กันมาบ้าง ซึ่งในหนังก็จะพูดถึงแนวคิดพวกเต๋า หยินหยางต่างๆนาๆ แล้วก็เอาแนวคิดเหล่านั้นมาผสมเป็นพลัง หรือใช้ในการปกครองบ้านเมืองซึ่งก็สนุกดี แต่ไม่มีหนังเรื่องไหนพูดถึงหลักการของปรัชญาเหล่านี้แบบจริงจัง หรือแยกแยะว่าแนวคิดของเล่าจื้อกับขงจื้อแตกต่างกันอย่างไร บางคนยังเข้าใจว่าเล่าจื้อกับขงจื้อนั้นเป็นคนคนเดียวกันก็มี (เช่นผมเป็นต้น) พอได้มาเห็นหนังสือ “ปวงปรัชญาจีน” ก็เลยหยิบมาลองเปิดอ่านดู ซึ่งพอได้อ่านก็ได้รู้ว่าแนวคิดของจีนก็มีหลากหลายเช่นกัน แถมมีอะไรมากกว่าหยินหยางมากมาย

4 สำนักใหญ่ 8 อาจารย์

ปรัชญาจีนแบ่งออกเป็น 4 สำนักใหญ่ๆ สำนักเล่าจื้อ (เหลาจื้อ) สำนักขงจื้อ สำนักม่อจื้อ สำนักนิตินิม ซึ่งแนวคิดของทั้ง 4 สำนักจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ส่วนอาจารย์ที่มีอิทธิพลจะมีอยู่ 8 คน ได้แก่ เล่าจื้อ(เหลาจื้อ) ขงจื้อ ม่อจื้อ หยางจื้อ เม่งจื้อ จวงจื้อ ฮั่นเฟ่ยจื้อ โดยปรัชญาของจีนส่วนใหญ่นั้นจะเน้นการเอามาใช้งานในชีวิตจริงและใช้ในการปกครองคน ปรัชญาของจีนจึงไม่ได้เน้นค้นหาความจริงแบบปรัชญากรีก แต่เน้นว่าจะทำอย่างไรให้มนุษย์อยู่อย่างมีความสุขซึ่งเหตุผลที่ทำให้ปรัชญาของจีนเป็นแบบนี้นั้นเกิดจากการรบแย่งชิงดินแดนของแคว้นต่างๆ ถ้านึกไม่ออกก็ขอให้นึกถึงยุคที่จิ๋นซีฮ่องเต้รวมประเทศจีนเป็นหนึ่งเดียวนั่นแหละครับ แต่ละแคว้นทำกันสงครามกันไม่หยุดหย่อน ประชาชนก็ต้องทนทุกข์ทรมานกับสงคราม เหล่านักปราชญ์จึงพัฒนาปรัชญาของตนขึ้นมาเพื่อหวังจะให้แนวคิดของตนทำให้บ้านเมืองอยู่อย่างสงบสุข

สำนักเล่าจื้อ (เหลาจื้อ)

แนวคิดของสำนักเล่าจื้อนั้นคิดง่ายๆคือพยายามทำให้คนกลับไปอยู่กับธรรมชาติ ไม่ต้องมีคนมาคอยบังคับ ไม่ต้องเรียนให้มากความเพราะแนวคิดของเล่าจื้อเชื่อว่าการที่คนมีปัญหารบราฆ่าฟัน แก่งแย่งชิงดีกันก็เพราะว่าคนเรามีความรู้ พอรู้ก็จะใช้ความรู้นั้นหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง พอมากขึ้นมากขึ้นก็กลายเป็นเอาเปรียบไปคนที่ไม่รู้กลายเป็นแบ่งชนชั้นมากดีมีจนกันไป กฏระเบียบพวกภาษีต่างๆนาๆที่รัฐสร้างก็ไปบีบบังคับประชาชน ประชาชนพอไม่มีเงินไม่มีของไปจ่ายภาษี (สมัยก่อนจ่ายเป็นข้าวหรือผลผลิตต่างๆ) ก็กลายเป็นโจรออกปล้นฆ่าฟัน ผมว่าคงมีคงเคยได้ยินนิทานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับการตัดสินความคดีความที่คหบดีถูกโจรปล้นบ้านแล้วผู้ตัดสินบอกว่าคนผิดคือ คหบดีที่ไม่รู้จักแบ่งปันคนยากคนจน ทำให้คนจนต้องมากลายเป็นโจรปล้นเพื่อความอยู่รอด แนวคิดก็จะประมาณที่เล่าจื้อกำลังบอกเลยครับ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทำให้เล่าจื้อสนับสนุนให้คนอยู่กับธรรมชาติไม่ต้องเรียนรู้อะไรมาก สนับสนุนให้คนอยู่กันแบบสันโดษไม่ต้องสุงสิงกันมาก เท่านี้บ้านเมืองก็จะสงบสุขไปเอง

แต่ปัญหาเมื่อคนต้องอยู่ตัวคนเดียวคือความคิดครับ พออยู่คนเดียวจิตมันก็ฟุ้งซ่านมากมายไปหมด (ผมสามารถพูดคนเดียว คุยคนเดียวหลังจากการอยู่เกือบจะคนเดียวมา 5 - 6 ปี) เล่าจื้อจึงมีแนวคิดเกี่ยวกับเต๋ามาให้เราหยุดฟุ้งซ่านครับ แนวคิดเกี่ยวกับเต๋านั้นเป็นนามธรรมมากๆครับ แต่หลักๆคือพยายามให้คนอย่าฝืนธรรมชาติ เขาชอบเปรียบเทียบว่าน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำคนเราก็ไม่ควรฝืนธรรมชาติประมาณนั้น (ซึ่งก็นามธรรมอยู่ดี) แนวทางของเต๋าที่อธิบายแล้วพอเข้าใจได้จะเป็น “การทำโดยไม่ทำ” ตัวอย่างเช่น การทำความดีนั้นต้องไม่ทำเพื่อให้ตัวเองดูดีหรือหวังผลตอบแทน แต่ทำความดีเพราะความดีเป็นเรื่องปกติที่ควรทำเป็นต้น หรือ การทำงานในหน้าที่ต่างๆนั้นควรทำเพราะเป็นหน้าที่ต้องทำให้ดีไม่ใช่ทำเพื่อหวังตำแหน่งที่สูงขึ้น ลาภยศ เงินทองเป็นผลตอบแทน (ฟังดูขัดๆแต่เป็นแนวคิดที่ดี)

ในด้านการเมืองการปกครองเล่าจื้อมีแนวคิดที่ว่าผู้ปกครองต้องปกครองคนถูกปกครองรู้ว่ากำลังถูกปกครอง ว่าง่ายๆก็คือให้อิสระกับผู้ถูกปกครองไม่ต้องมีกฏหมายอะไรมาก แล้วก็ทำให้ประชาชนมีความสุขมีความมีน้ำเพียงพอให้กับประชาชน เพียงเท่านี้บ้านเมืองก็จะสงบสุขเอง

สำนักขงจื้อ

ด้านขงจื้อจะเน้นแนวคิดที่ว่าคนนั้นต้องได้รับการสั่งสอนให้ความรู้เพื่อให้เข้าใจว่าสิ่งที่ควรทำในสังคมคืออะไร โดยขงจื้อเชื่อว่าคนในสมัยก่อนนั้น (ในยุคก่อนขงจื้อมียุคของกษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งปกครองแผ่นดินด้วยคุณธรรม แทบไม่มีสงครามเลย เรียกได้ว่าเป็นยุคในอุดมคติของชาวจีนที่ต้องเจอกับสงคราม) ได้วางรากฐานประเพณีต่างๆมาได้ดีแล้วแค่คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจและไม่ทำตาม ตัวขงจื้อจึงได้ทำการศึกษาและรวบรวมประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติของคนในยุคนั้นขึ้นมาและนำมาสั่งสอนในยุคตน ก็ที่เราเห็นประเพณีการอ่อนน้อมถ่อมตน การเคารพผู้ใหญ่ ความแน่นแฟ้นในครอบครัวของคนจีนนั้นก็มาขงจื้อเนี่ยแหละ

ตามแนวคิดของขงจื้อนั้นเชื่อว่าคนเรานั้นโดยปกตินั้นเป็นคนดีแต่ด้วยความที่ขาดความรู้จึงทำสิ่งไม่ดี โดยเขามีความคิดคล้ายๆกับโซเครตีสที่ว่า การสิ่งที่ผิดโดยรู้ว่าสิ่งนั้นผิดนั้นดีกว่าการทำโดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด อ่านแล้วอาจจะแบบเฮ้ยมันจะไปดีกว่าได้ไงวะ ในเมื่อรู้แล้วว่าผิดยังทำ ทั้งขงจื้อและโซเครตีสให้เหตุผลว่า คนทำคนนั้นก็ยังรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด ถ้ามีโอกาสหน้าที่เขาอยู่ในสถานการณ์ที่เลือกได้เขาก็ย่อมไม่ทำ และยกตัวอย่างว่า ถ้ามีสิ่งผิดที่ผิดสองอย่างมาให้เลือก มนุษย์ส่วนใหญ่จะเลือกทำสิ่งที่ผิดน้อยกว่า ด้วยแนวคิดแบบนี้ขงจื้อจึงพยายามจะสอนให้คนสังคมเรียนรู้สิ่งว่าสิ่งใดดี สิ่งในไม่ดี ดีในที่นี้ของขงจื้อคือทำให้สังคมเป็นระเบียบ ไม่เดือดร้อน ก็จะเห็นว่าก็จะประมาณสอนให้เป็นคนจิตใจดีมีเมตตา รักความยุติธรรม รักษาสัจจะ ปฏิบัติตามหน้าที่ ซึ่งถ้าทุกคนทำได้บ้านเมืองก็จะสงบสุข

ในทางการเมืองการปกครอง ขงจื้อแนะนำให้รัฐนั้นให้การศึกษาแก่ประชาชนจะได้รู้ว่าสิ่งใดดีสิ่งใดไม่ดี จากนั้นก็พยายามทำให้ประชาชนมีอาหารกินบริบูรณ์ ว่าง่ายๆคือถ้าประชาชนมีกินไม่อดอยากก็จะไม่ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องทำไม่ดีซึ่งนั่นก็คือปล้นฆ่าเอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ถ้ารัฐทำได้เช่นนี้บ้านเมืองก็จะมีความสุข

อ่านแล้วได้อะไร

การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้เห็นภาพรวมคร่าวๆของปรัชญาของจีนว่ามีแนวคิดประมาณไหนบ้าง รู้ว่าเขาเน้นการนำมาใช้มากกว่าการพยายามตามหาความจริงเหมือนกรีก แนวคิดพื้นฐานของแต่ละสำนักนั้นเข้าใจง่ายและสามารถนำไปใช้ได้เลยอย่างไม่ยากจนเกินไป แต่ถามว่ามีช่องโหว่ไหมก็ต้องบอกว่ามีช่องโหว่เพราะมันไม่มีการนิยามแบบจริงจังแบบของกรีกมันเลยมีช่องโหว่ให้โจมตี ให้แหวกมากมาย แต่ก็อย่างที่บอกเขาเน้นเอาไปใช้ในสังคมไม่เอาไปยึดหาถูกหาผิดแบบตรรกะศาสตร์

ในส่วนที่ผมเล่าไปนั้นมีแค่ 2 สำนักเท่านั้นเพราะถ้าผมเล่าหมดคุณก็คงไม่ไปหามาอ่าน อีกทั้งผมไปอ่านบทความนึงมาเขาบอกว่าการมาสรุปหนังสืออะไรแบบนี้มันผิดกฏหมายในประเทศที่คนไทยจำนวนหนึ่งยกย่องว่าเจริญแล้ว ดังนั้นผมก็เลยไม่อยากทำผิดกฏหมายของประเทศที่เขาบอกว่าเจริญแล้วสักเท่าไหร่ (แต่ที่ทำอยู่ตอนนี้ก็ผิดแหละ) ก็เลยพยายามลดทอนไม่สรุปทั้งหมด สรุปให้อยากรู้แล้วไปหาอ่านต่อ ซึ่งอีก 2 สำนักที่เหลือคือ ม่อจื้อ และ นิตินิยมนั้นผมบอกเลยว่าเล่นเอาเล่าจื้อและขงจื้อดูกระจอกไปเลย ดังนั้นถ้าอยากรู้ว่าทั้ง 2 สำนักที่เหลือนั้นเป็นอย่างไรต่างกับเล่าจื้อกับขงจื้อขนาดไหน หลักการนั้นถูกส่งต่อมาถึงปัจจุบันแบบเล่าจื้อขงจื้อรึเปล่าก็ลองไปหามาอ่านดูครับ