พวกฉัน พวกมัน พวกเรา - Moral tribes

พวกฉัน พวกมัน พวกเรา - Moral tribes

พวกฉัน พวกมัน พวกเรา - Moral tribes

ผมเห็นหนังสือเล่มนี้จากการไปดูหนังสืออ่านเล่นในสำนักพิมพ์ SALT ซึ่งชื่อหนังสือที่เขียนว่า “พวกฉัน พวกมัน พวกเรา” ซึ่งตรงกับสถานการณ์ของสังคมที่ผมอยู่ (สังคมของผมคือสังคมในโลกออนไลน์ที่ชื่อว่า Facebook ซึ่งมีกลุ่มคนรู้จักและเพื่อนแลกเปลี่ยนข่าวสารกันในนั้น) ที่ต่างฝ่ายต่างทำการบอกว่าฝ่ายตัวเองถูกซึ่งผมก็เห็นว่าฝั่งหนึ่งดูมีเหตุผล แต่บางเรื่องเขาก็ขาดเหตุผลหรือก็ขัดแย้งในหลักการของตัวเองเช่นกัน

ถ้าการแบ่งกลุ่มนั้นมีไว้แค่บอกกลุ่มเฉยๆไม่ได้มีผลต่อการเข้าสังคม ไม่ได้มีผลต่อการปฏิบัติต่อกัน ไม่มีผลต่อการตัดสินใจที่จะใช้แค่ว่าอยู่กลุ่มไหนโดยไม่ใช้เหตุผลแล้วมาเลือกปฏิบัติ การจัดกลุ่มคงจะเป็นอะไรที่ทำกันได้แบบไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แต่มันไม่ใช่สิครับ พอคุณถูกจัดอยู่กลุ่มไหนแล้ว คุณจะถูกเลือกปฏิบัติอย่างทันทีทันใด โดนดูถูก เหยียดหยาม โดนตัดสินว่าไร้สมอง ต่างๆนาๆ ซึ่งถามว่ามันทำได้ไหม ก็ต้องบอกว่าทำได้ครับ ผมไม่มีสิทธิ์ห้ามใดๆ มันอาจสมควรแล้วก็ได้ การปฏิบัติต่อคนที่ถูกจัดกลุ่มว่าเลวร้ายแล้ว การจัดคนเข้ากลุ่มต่างๆนั้นเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะเพียงแค่คุณเห็นต่างนิดหน่อยเช่น คุณอาจจะเห็นด้วยเรื่อง A แต่คุณไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่จะทำให้ A เกิดขึ้น เพียงเท่านี้คุณก็จะถูกจัดเป็นฝ่ายตรงข้ามของกลุ่มนั้นทันที

ด้วยเหตุผลที่ผมสาธยายไปจึงทำให้ผมสนใจหนังสือเล่มนี้มากจนจะสั่งมาอ่านแต่สุดท้ายก็ไม่ได้สั่งเนื่องจากไม่ได้มีขายในงานหนังสือ แต่สุดท้ายก็ได้อ่านหนังสือเล่มผ่านห้องสมุด Tk park

ชนเผ่าเลี้ยงแกะ

หนังสือเริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับชนเผ่าเลี้ยงแกะในทิศต่างๆ ซึ่งแต่ละเผ่ามีพื้นที่เลี้ยงแกะที่จำกัด แต่ละเผ่ามีวิธีเลี้ยงแกแตกต่างกันเช่น เผ่าหนึ่งใช้วิธีแบ่งให้แต่ละครอบครัวเลี้ยงแกะในจำนวนที่เท่ากันโดยไม่สนว่าครอบครัวนั้นจะมีกี่คน ในเผ่านั้นมีปัญหาเกิดขึ้นบ้างแต่สุดท้ายเผ่านั้นก็สามารถอยู่รอดและรุ่งเรือง อีกเฝ่าหนึ่งมีวิธีการจัดการการเลี้ยงแกะให้ครอบครัวนั้นสามารถเลี้ยงแกะได้ตามจำนวนคนในครอบครัว ในเผ่าก็เกิดปัญหามากมายตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งพึ่งมีคนเสียชีวิตก็ต้องมาลดจำนวนแกะในครอบครัวลงอีก แต่ต่อให้มีปัญหานั้นเผ่านั้นก็ยังอยู่รอดและรุ่งเรืองขึ้นมา อีกเผ่าหนึ่งให้แต่ละคนเลี้ยงแกะตามกำลังความสามารถของแต่ละครอบครัว เผ่านี้ก็มีปัญหามากมายเช่น เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีกำลังความสามารถในการเลี้ยงแกะก็จะมีความสามารถในการเลี้ยงแกะต่อไปมากขึ้นเรื่อยๆ เบียดเบียนครอบครัวอื่นๆ แต่เผ่านี้ก็ยังสามารถอยู่รอดและรุ่งเรืองต่อไปนี้ อีกเผ่าหนึ่งมีวิธีการเลี้ยงแกะโดยแกะทุกตัวเป็นของทุกคนในเผ่า ทุกคนต้องช่วยกันเลี้ยงแกะ เผ่านี้ก็เจอปัญหามากมายตัวอย่างเช่น มีหลายคนในเผ่าอู้งานเลี้ยงแกะไม่เต็มที่ แต่เผ่านี้ก็สามารถอยู่รอดและรุ่งเรือง จะเห็นว่าทุกเผ่าต่างมีวิธีของตนและวิธีของแต่ละเผ่าก็สามารถพาให้เผ่าอยู่รอดมาได้ ปัญหาเริ่มขึ้นเมื่อป่าขนาดใหญ่ซึ่งเคยกั้นชาวเผ่าแต่ละเผ่าออกจากกันได้หายไปทำให้เกิดพื้นที่เลี้ยงแกะใหม่ขึ้นมา ทุกเผ่าต่างไปที่พื้นที่ใหม่นั้นเพื่อจะใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงแกะ ปัญหาเกิดขึ้นทันทีเมื่อคนต่างเผ่าเจอกัน แต่ล่ะเผ่าต่างอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของพื้นที่นั้น ต่างใช้หลักการของตนเองเพื่อบอกว่าพื้นที่เลี้ยงแกะตรงนี้ควรจะใช้อย่างไร สุดท้ายก็เกิดความขัดแย้งจนนำไปถึงการเสียเลือดเสียเนื้อ

หากคุณลองตีความปัญหานี้คุณจะเห็นเลยว่ามันคือปัญหาของสังคมในปัจจุบัน ชนเผ่าแต่ละชนเผ่าก็คือแนวคิดเกี่ยวกับการเมืองการปกครองรูปแบบต่างๆซึ่งมันทำให้เผ่าของเขาอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาที่เราพบคือเมื่อชนเผ่าแต่ละชนเผ่ามาเจอกันก็เริ่มบอกว่าเฮ้ย คุณควรทำแบบนั้นสิ แบบนี้สิด้วยหลักการของเผ่าตนเอง บางเผ่าก็อ้างสิทธิ์บนพื้นที่ใหม่ที่พึ่งถูกค้นพบหรือรุนแรงกว่าคืออ้างสิทธิ์ในพื้นที่ของอีกชนเผ่า

นี่คือปัญหาซึ่งก่อให้เกิดคำถามมากมายเช่น เราจะแก้ปัญหานี้ยังไง มันมีหลักการพื้นฐานทางความเชื่อ จริยธรรมกลางที่สามารถใช้ร่วมกันได้ไหม (ถ้ามีเราคงยึดกฏนั้นเป็นกฏกลางทำให้เราไม่ต้องมีปัญหากัน) ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดจากความเป็นมนุษย์หรือไม่ เพราะมนุษย์เป็นสายพันธุ์ที่แก่งแย่งกันตั้งแต่กำเนิดเลยรึเปล่าทำให้เรามีปัญหาแบบนี้กัน หนังสือเล่มนี้อาจไม่ได้ตอบทุกคำถามที่ผมว่าแต่อย่างน้อยเขาก็พยายามหาคำตอบและทำให้เห็นมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับการปัญหาและการแก้ปัญหา

โศกนาฏกรรมสาธารณะ

โศกนาฏกรรมของสาธารณะ (tragedy of the commons) เป็นปัญหาที่ว่าด้วยเรื่องการทำอะไรบางอย่างเพื่อส่วนตัวตามเหตุตามผลแต่มันส่งผลไม่ดีต่อส่วนรวม ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีพื้นที่เลี้ยงแกะจำนวนหนึ่ง ถ้าตามเหตุผลการเพิ่มจำนวนแกะที่ตนเองเลี้ยงจะทำให้ตัวเองมีความมั่งคั่งมากขึ้น ดังนั้นมันจึงสมเหตุสมผลที่เราจะเพิ่มจำนวนแกะเข้าไป ซึ่งทุกคนก็ย่อมคิดแบบนั้น ปัญหาคือพื้นที่การเลี้ยงแกะนั้นมีจำกัดหญ้าที่ใช้เลี้ยงแกะนั้นมีจำกัดเมื่อทุกคนต่างเพิ่มจำนวนการเลี้ยงแกะมากจนหญ้าไม่สามารถโตได้ทัน สุดท้ายแกะของทุกคนก็จะตาย นี่เป็นตัวอย่างพื้นฐานของโศกนาฏกรรมสาธารณะ ซึ่งหากใครยังไม่เข้าใจ (เพราะผมอธิบายไม่ดี) ว่ามันเป็นแบบไหน หรืออยากได้ตัวอย่างอื่นๆอีก ผมแนะนำช่อง TED-ED ใน Youtube เลยครับ มีการทำ Video อธิบายเรื่องโศกนาฏกรรมของสาธารณะไว้ คุณสามารถดูได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=CxC161GvMPc เลย (มีซัปไทยด้วยไม่ต้องกลัวไม่รู้เรื่อง)

โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ (tragedy of the commons)

หากจะสรุปง่ายๆปัญหาโศกนาฏกรรมสาธารณะนั้นเป็นปัญหาความเห็นแก่ตัวไม่เห็นแก่ส่วนรวม ในหนังสือใช้คำว่าปัญหา “ฉัน vs เรา” หากคุณมองว่าปัญหา โศกนาฏกรรมสาธารณะนั้นใหญ่ไป เราไม่เคยหรอก เรามาลองดูปัญหาเล็กๆที่เป็นปัญหา “ฉัน vs เรา” เช่นกันซึ่งนั่นก็คือ “ปัญหาความลำบากใจของนักโทษ”

ปัญหาความลำบากใจของนักโทษ

ปัญหาความลำบากใจของนักโทษ (Prisoner’s dilemma) เป็นปัญหาว่าด้วยนักโทษ 2 คนที่ทำงานด้วยกันถูกจับ แต่ตำรวจไม่สามารถจับพวกเขาในข้อหาหนักได้ เช่น จับโจร 2 ที่ไปขโมยดินสอร้านเครื่องเขียน ซึ่ง 2 คนเนี้ยตำรวจรู้ว่าคือพวกเขาโจรปล้นธนาคาร แต่ตำรวจไม่มีหลักฐานคดีปล้นธนาคารซึ่งเป็นโทษหนัก ซึ่งทางตำรวจก็เลยเกิดปิ๊งไอเดียเพื่อจะจับโจรในข้อหาปล้นธนาคารว่า ถ้าโจรยอมสารภาพในคดีปล้นธนาคารว่ามีใครร่วมปล้นบ้าง โจรคนนั้นจะได้รับการกันตัวเป็นพยานไม่ต้องรับโทษไปเลย ส่วนอีกคนก็จะโดนจับเข้าคุกไป ซึ่งตำรวจไม่ได้ยื่นข้อเสนอแค่คนเดียวครับ คุณตำรวจผู้แสนฉลาดก็ยื่นข้อเสนอให้โจรอีกคนเช่นกัน ซึ่งนั่นทำให้เกิดเหตุการณ์ได้ 4 กรณีดังภาพด้านล่าง จะเห็นว่าถ้าทั้งสองคนสารภาพทั้งสองคนจะติดคุก แต่ถ้าทั้งสองคนไม่สารภาพจะโดนคุกคนละ 1 ปี แต่ถ้าคนหนึ่งสารภาพอีกคนไม่สารภาพ คนสารภาพจะไม่มีโทษ ส่วนคนที่ไม่สารถาพจะติดคุก 3 ปี

หากคุณเป็นคนใช้เหตุผลและคุณเชื่อได้แต่ตัวคุณเอง คุณย่อมคิดว่าการสารภาพนั้นดีที่สุดครับเพราะอย่างน้อยคุณก็คว้าโอกาสที่จะไม่ติดคุกไว้แล้ว อีกทั้งคุณจะต้องรู้สึกแค้นเป็นแน่นอนหากคุณเลือกที่จะเป็นคนปิดปากเงียบแต่เพื่อนของคุณสารภาพซึ่งนั่นจะกลายเป็นคุณติดคุกแต่เพื่อนหักหลังคุณลอยนวลไป และสุดท้ายต่อให้คุณและเพื่อนต่างหักหลังกันมันก็จบที่ติดคุกด้วยกันทั้งคู่ซึ่งก็ถือว่า “เจ๊า” กันไป ซึ่งถ้ามองโดยทั่วไปแล้วมันเหมือนการสารภาพนั้นเป็นทางเลือกที่ดีใช่ไหมครับ แต่หากมองภาพรวมแล้วจะเห็นว่าการเลือกแบบนี้สร้างผลเสียโดยรวมให้แก่ทุกคน ผลลัพธ์ดีที่สุดสำหรับทุกคนในปัญหานี้คือทั้งสองฝ่ายไม่สารภาพ (ติดคุกคนละปี) ในหนังสือเรียกผลลัพธ์นี้ว่า “มุมวิเศษ” ซึ่งถ้าคุณมองไปในชีวิตจริงมันมีจริงๆนะครับคนที่ไม่ยอมสารภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด คำถามคืออะไรที่ทำให้คนเราไปอยู่ในมุมวิเศษนั้นได้

ในหนังสือยกตัวอย่างเหตุผลต่างๆที่ทำให้คนเลือกที่จะไม่ยอมสารภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ส่วนรวมที่ดีที่สุดไว้มากมายตัวอย่าง เช่น

  • คุณธรรมขั้นต่ำ

เรื่องนี้อาจดูตลกแต่เรานั้นถูกสั่งสอนให้เป็นคนดี ซึ่งคนดีๆส่วนใหญ่ที่หลายๆที่นิยามกันก็จะมีเรื่องการไม่หักหลังใคร หรือ อย่าทำสิ่งที่คุณไม่อยากโดนกับคนอื่นอยู่ในนั้นด้วย (โจรสองคนคงไม่ใช่คนดีในเรื่องไม่ขโมยของใคร แต่ก็ย่อมไม่อยากถูกใครหักหลัง) ดังนั้นด้วยคุณธรรมที่พวกเขาได้ถูกสอนมาพวกเขาจึงไม่หักหลังกัน

  • คนที่ปล้นด้วยเป็นญาติใกล้ชิด หรือ คนรัก

อันนี้แน่นอนอยู่แล้วครับ ถ้าคนคนนั้นเป็นเพื่อนรักคุณ ญาติคุณ ครอบครัวคุณ คุณย่อมจะไม่หักหลังคนที่คุณรักแน่นอน

  • การล้างแค้น

ข้อที่แล้วคือรักข้อนี้คือแค้นครับ เมื่อคุณถูกหักหลังคุณย่อมต้องล้างแค้น ดังนั้นหากแต่ล่ะฝั่งรู้ว่าอีกฝ่ายจะมาล้างแค้นคุณแน่นอนเมื่อคุณหักหลัง ถ้าคุณไม่อยากเสี่ยงหรือมีปัญหาคุณก็น่าจะเลือกที่ไม่หักหลังเพราะกลัวโดนตามล้างแค้น

  • ประโยชน์ในอนาคต

ข้อนี้เป็นการมองไปในอนาคตของทั้งสองคน หากทั้งสองเป็นโคตรโจรที่ถ้าร่วมมือกันจะปล้นได้ทุกอย่าง การที่ฝั่งหนึ่งทรยศ จะทำให้ผลประโยชน์ในอนาคตเสียไป ไม่ว่าจะเกิดจากโจรคนที่ถูกปล่อยไม่สามารถปล้นธนาคารใหญ่ๆได้เพราะไม่มีคนมีฝีมือมาร่วมปล้นด้วย หรือ โจรอีกคนรู้ว่าโดนหักหลังก็จะไม่รวมมือกับโจรอีกคนกลายเป็นทั้งสองเสียประโยชน์ในการปล้นธนาคารใหญ่ๆ

  • ชื่อเสียงในวงการ

อันนี้แน่นอนว่าหากคุณหักหลังเพื่อนโจร ชื่อเสียงด้านการหักหลังของคุณจะดังไปทั่วในวงการ ซึ่งแน่นอนไม่มีใครอยากทำงานกับคนหักหลัง

  • องค์กร

ชื่อเสียงนั้นเกิดจากการข่าวในวงการซึ่งอยู่ในพื้นที่นั้น ดังนั้นหากคุณหักหลังคนอื่นไปแล้ววิธีง่ายๆที่จะแก้ปัญหาเรื่องชื่อเสียงก็คือก็แค่ย้ายไปพื้นที่ใหม่ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหานี้เกิดขึ้นจึงมีการตั้งองค์กรขึ้นมา ซึ่งการจะเป็นสมาชิกในองค์กรนี้ได้นั้นต้องไม่มีประวัติหักหลังซึ่งเมื่อคุณอยู่ในองค์กรคุณก็จะทำงานกับสมาชิกในองค์กรได้อย่างสบายใจ และคุณก็ไม่กล้าคิดที่จะหักหลังใครแน่นอนเพราะถ้าคุณทำ คนในองค์กรก็จะไล่ล่าคุณเพื่อลงโทษเพื่อไม่ให้คนอื่นในองค์กรเสียชื่อ อีกทั้งยังรักษาความน่าเชื่อถือขององค์กรด้วย

จริงๆในหนังสือมีเหตุผลอีกมากมายหลายข้อ ซึ่งแต่ทุกข้อที่กล่าวในหนังสือนั้นมีการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างมากมายเพื่อสนับสนุนทฤษฏีดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องมั่วๆที่คิดขึ้นเองโดยไม่มีเหตุผลและการทดลองรองรับ จากทุกข้อที่กล่าวมาเราจะเห็นได้ว่า อารยธรรมของเรานั้นได้สร้างระบบต่างๆขึ้นมาเพื่อทำให้เราเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน พยายามผลักดันให้คนเลือกที่จะอยู่ใน มุมวิเศษ ไม่ว่าจะเรื่องศีลธรรม การสร้างความรัก การสร้างพวกเรา การมีชื่อเสียง การสร้างวัฒนธรรมการล้างแค้น(ซึ่งอาจจะดูขัดศีลธรรมแต่มันได้ผล) การสร้างองค์กรขึ้นมา

ปัญหารถราง

ปัญหารถราง - Trolley Problem

หากคุณเล่นสื่อสังคมออนไลน์คุณคงจะเคยเห็นปัญหารถราง (Trolley Problem) ซึ่งเป็นกระแสกันอยู่บ้าง ส่วนผมรู้จักปัญหานี้ตอน ม.ปลาย โดยอาจารย์ที่ปรึกษาเอาคำถามนี้มาถามตอนคาบ Home room คำถามนี้ก็ง่ายๆคือมีรถรางกำลังวิ่งมาซึ่งเบรคน่าจะมีปัญหา ซึ่งถ้ารถรางยังวิ่งต่อไปจะมีคน 5 คนต้องตาย คุณซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สับราง (หรือคนที่พอดีอยู่ตรงตำแหน่งสับราง) คุณสามารถช่วย 5 คนนั้นโดยสับรางรถไฟไปอีกทาง แต่การทำอย่างนั้นจะทำให้ 1 คนตาย คำถามคือคุณจะเลือกทางไหน สำหรับเพื่อนๆในห้องเรียนผมตอนนั้นส่วนใหญ่จะตอบข้อเลือกให้ 5 คนรอด ส่วนผมเป็นแกะดำเลือกให้ 5 คนตาย (ถ้าถามว่าทำไมผมปล่อยให้ 5 คนตายน่ะเหรอ ก็เพราะว่า 1 คนตรงนั้นไม่ควรตายตั้งแต่แรก ถ้าผมช่วย 5 คนนั้นแปลว่าผมฆ่าคน 1 คน ใครล่ะจะกล้าฆ่าคน) ซึ่งเหตุผลที่ที่คนส่วนใหญ่ตอบว่าเลือกให้ 5 คนรอดเพราะจำนวนคนที่มากกว่าซึ่งก็ดูมีเหตุผลดี แต่คราวนี้ลองมาดูคำถามคล้ายๆกันครับชื่อคำถามว่า Fatman

Fatman

คำถามข้อนี้เหมือนเดิมคือมีรถรางวิ่งมาและถ้าไม่ทำไรอะไรจะมี 5 คนตาย คราวนี้คุณยืนอยู่บนสะพานและเห็นชายอ้วนคนหนึ่งยืนอยู่บนสะพานด้วย ถ้าคุณผลักชายอ้วนคนนี้ตกลงไปให้รถรางเหยียบตายก็จะทำให้ 5 คนนั้นรอด พอคุณอ่านถึงตรงนี้มันคุ้นๆไหมครับ จะเห็นว่ามันเหมือนกับคำถามข้อปัญหารถรางเป๊ะๆเลย แต่ปัญหาที่น่าแปลกคือคนส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่ทำ เขาจะไม่ผลักชายอ้วนลงไปให้รถไฟเหยียบแน่นอน

คำถามคือมันเกิดอะไรขึ้นทั้งที่ผลลัพธ์เหมือนกันทุกประการคือ 1 คนตาย 5 คนรอด ถ้าคุณบอกว่าคุณเลือกสับรางให้ 1 คนตาย แต่เพื่อให้ 5 คนที่จำนวนมากกว่ารอดแล้วทำไมคุณไม่ผลักคนอ้วนลงไปตายล่ะเพราะ 1 คนตาย ช่วย 5 คนรอดเหมือนกัน นี่มันคำถามที่ทำให้เกิดการศึกษาทดลองในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งคุณสามารถไปหาหนังสือมาอ่านได้ครับ เขามีการทดลองและผลการทดลองในหลายๆแง่มุมให้คุณได้ดูไม่ว่าจะเปลี่ยนโจทย์เป็นใช้การกดปุ่มประตูกลให้ชายอ้วนตกลงไป หรือเปลี่ยนเป็นไม่ผลักชายอ้วนแต่เป็นชายอ้วนขวางทางไปสับรางคุณจึงต้องวิ่งชนเขาทำให้เขาตกสะพานตาย (ตกจากที่สูงตายไม่ได้โดนรถรางทับตาย) เพื่อช่วยชีวิต 5 คน เมื่อเปลี่ยนตัวแปรต่างๆเหล่านี้ผู้คนจะตอบกันอย่างไร และบางการทดลองถึงขนาดแสกนสมองส่วนที่เกี่ยวกับสัญชาตญาณกับส่วนที่ใช้เหตุผลเพื่อดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างเมื่อเจอคำถามเหล่านี้

หนังสือสรุปเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมเราไม่ผลักชายอ้วนลงไปไว้หลายข้อ ผมจะเอามาเล่าสักข้อ ส่วนที่เหลือคุณต้องไปหาอ่านเองในหนังสือครับ รับรองว่าคุณจะเข้าใจว่าทำไมเราถึงไม่เลือกผลักชายอ้วนลงไปให้รถรางเหยียบตาย

  • วิธีการและผลข้างเคียง

โดยจริยธรรมที่สอนกันมาเราถูกสอนหรือปลูกฝังตามค่านิยมว่าเราจะไม่ใช้มนุษย์ด้วยกันเป็นเครื่องมือหรือวิธีการเพื่อผลลัพธ์ ในกรณีคำถามชายอ้วนนั้นจะเห็นว่าเราใช้ชายอ้วนเป็นเครื่องมือหรือวิธีการในการหยุดรถไฟ ดังนั้นเราจึงคิดว่ามันไม่เหมาะสมที่จะทำแบบนั้น แต่การสับรางรถไฟที่ทำให้ 1 คนตายนั้นเป็นผลข้างเคียงจากการช่วยเหลือ (คุณไม่ได้ใช้คน 1 คนให้ตายเพื่อช่วย 5 คน) ดังนั้นคุณจึงไม่รู้สึกว่ามันผิดอะไร กรณีนี้มีให้เห็นมากมายในชีวิตจริงครับ หากคุณทำสงครามการทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายเช่นโรงเรียนหรือโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่เรายอมรับไม่ได้ แต่การระบิดโรงเก็บระเบิดทำให้โรงเรียนและโรงพยาบาลระเบิดไปด้วยเป็นผลข้างเคียงซึ่งคนส่วนใหญ่ยอมรับได้

วิธีคิด 2 แบบ

ในหนังสือพูดถึงวิธีการคิดสองแบบคือวิธีคิดโดยสัญชาตญาณกับวิธีคิดโดยใช้เหตุผล ซึ่งจริงๆมีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ละเอียดมากแล้วคือ THINKING, FAST AND SLOW คิด, เร็วและช้า โดยสรุปง่ายๆก็ตามชื่อเลยครับ คิดเร็วคือคิดตามสัญชาตญาณเป็นระบบอัตโนมัติซึ่งทำงานได้ดีกับปัญหาบางปัญหาซึ่งหนังสือนี้หมายถึงปัญหาโศกนาฏกรรมสาธารณะ (ปัญหา ฉัน VS เรา) เช่น เมื่อพูดถึงการช่วยเหลือส่วนรวม (ในกลุ่มของคุณไม่ว่าจะครอบครัว หมู่บ้าน จังหวัด ประเทศ) เรามักจะใช้สมองส่วนอัตโนมัติก่อน ซึ่งถามว่าดีไหมก็บอกว่าดีครับ แต่มันก็ไม่ดีทุกกรณี ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อเป็นปัญหาที่เป็นปัญหาระหว่าง “พวกเรา vs พวกเขา” เพราะเราต่างถูกสอน ถูกปลูกฝังวิธีคิดแบบอัตโนมัติโดยใช้ตัวแปรการให้ค่าต่างกัน เช่น กลุ่มหนึ่งให้ความปัจเจก กลุ่มหนึ่งให้ความสำคัญต่อส่วนรวม บางกลุ่มให้ความสำคัญต่อความเชื่อของเทพเจ้าหรือความศักดิ์สิทธิ์ที่คนในกลุ่มเชื่อ ซึ่งพอเป็นแบบนั้นคุณจะคุยกันไม่รู้เรื่องครับ ดังนั้นมนุษย์จึงมีวิธีคิดอีกแบบซึ่งนั่นก็คือวิธีคิดโดยใช้เหตุผล คำนวณต้นทุน สิ่งที่ได้มาหรือเสียไป ซึ่งจะเห็นว่าวิธีคิดแบบนี้นั้นยืดหยุ่นในการแก้ปัญหามากกว่า ซึ่งมันเหมาะกับปัญหาระหว่าง พวกเรา vs พวกเขา

หนังสือแนะนำว่าถ้าเจอปัญหาเกี่ยวกับ ฉัน vs เรา ให้เรารับฟังวิธีคิดแบบอัตโนมัติความคิดแรกที่โผล่เข้ามาซึ่งส่วนใหญ่จะเหมาะสมกับปัญหานั้น (แต่ก็ให้ลองคิดด้วยเหตุผลอีกทีนะครับถ้าคุณรู้สึกคลางแคลงใจ) ส่วนปัญหาที่เป็นความขัดแย้งระหว่าง พวกเรา vs พวกเขา เช่น ปัญหาการทำแท้ง ปัญหาสภาพแวดล้อม การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยวิธีที่อีกฝ่ายเสนอ ให้เราวางความคิดที่เป็นอัตโนมัติที่โผล่ขึ้นมาลงทันทีเลยครับ จากนั้นใหใช้เหตุผลคิดคำนวนต้นทุน สิ่งที่ได้ สิ่งที่เสีย มาคิดแทน

ประโยชน์นิยม

ส่วนที่สำคัญที่สุดในหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นแนวคิดเรื่องประโยชน์นิยม - Utilitarianism เป็นแนวคิดหนึ่งซึ่งโด่งดังในสมัยศตวรรษที่ 19 ( ค.ศ. 1800 - 1900 ) ถ้าเทียบปีไทยก็ประมาณปี พ.ศ. 2343 - 2453 น่าจะช่วงหลังกรุงศรีแตกรอบที่ 2 เริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (แค่ +543 แล้วเอาไปเทียบกับปีที่คุณจำได้ผมว่าไม่น่ายากที่จะหาเหตุการณ์ร่วมของโลก ) โดยประโยชน์ให้ความสำคัญกับความสุขของทุกคนเป็นสำคัญ (วิธีหาว่าความสุขคืออะไรให้ลองไล่กลับจากสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข ไล่กลับไปเรื่อยๆคุณจะรู้ว่าความสุขคืออะไร ความสุขไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เกิดความสุขนะครับ) ซึ่งพอพูดถึงจุดนี้จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นทันทีครับ ปัญหาแรกคือความสุขคืออะไร (แต่ส่วนใหญ่จะไปอยู่คำตอบเดียวกันเป็นส่วนใหญ่) แต่อันนั้นเล็กน้อยมากครับ ปัญหาของแนวคิดนี้ คือให้ความสำคัญแก่ความสุขทุกคน ถ้าคุณเป็นคนพอมีพอกินเป็นชนชั้นกลางที่พอมีเงิน ตัวอย่างเช่นผมที่มีเงินเดือนเหลือพอที่จะจะถ่ายรูปกับไอดอลได้ในราคา 150 - 300 บาท ผมควรจะต้องสละความสุขส่วนนี้เพื่อนำเงินตรงนี้ไปช่วยเหลือคนที่ลำบากมากกว่า อย่าลืมว่าเงิน 150 - 300 บาท อาจช่วยชีวิตของเขาได้เลย มันฟังดูดีครับแต่ถ้าคุณยึดหลักประโยชน์นิยมแบบสุดโต่งมันเท่ากับว่าผมต้องสละความสุขส่วนนี้ไปจนกว่าทั้งโลกจะมีความสุขอย่างนั้นหรือ แล้วผมไม่ม่สิทธิ์มีความสุขจากเงินที่ผมหามาจากแรงของผมเลยเหรอ

ปัญหานี้อาจจะแบบโถ่ คุณอะ คุณมันเหี้ยแค่สละความสุขส่วนตัวเล็กๆน้อยๆไม่ได้เหรอ งั้นเปลี่ยนเป็นมีคนป่วยที่ต้องการอวัยวะอยู่ 5 คน หากอยากให้ 5 คนรอด เพียงคุณเสียสละชีวิตคุณเองยอมตายเอาอวัยวะไปให้ 5 คนนั้น เท่านี้คน 5 คนรอด นั่ทำให้ความสุขโดยรวมในโลกเพิ่มขึ้น ใช่ครับพอคุณคิดในกรณีสุดโต่งในแนวคิดของประโยชน์นิยมแล้วคุณอาจจะร้องว่า “แนวคิดเหี้ยไรเนี่ย”

ทั้งหมดมันเป็นปัญหาในกรณีสุดโต่งครับอยากให้ลองวางมันลงก่อนแล้วลองเปิดใจ (ผมไม่ควรพูดกรณีสุดโต่งก่อนนะ แต่ผมคิดว่าถ้าไม่เปิดด้วยเรื่องไม่ดีก่อนมันจะเป็นหลอกขายความคิด ดังนั้นบอกด้านแย่ก่อนเลยดีกว่าแล้วค่อยมาหาด้านดี )

แนวคิดของประโยชน์นิยมที่นำไปใช้งานจริงนั้นคือการประนีประนอมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ทุกคนมีความสุขครับ จริงๆคุณอาจจะคุ้นเคยกับหลักการประโยชน์นิยมอยู่แล้วครับ ลองคิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำกันดูครับ เราจะแก้ปัญหานี้กันยังไง ฝ่ายหนึ่งบอกว่า เฮ้ย ไอพวกนั้นมันพวกขี้เกียจมันจนแบบนั้นก็สมควรแล้วจะไปช่วยเหลือคนแบบนั้นทำไม กว่าฉันจะมีทุกวันนี้ได้ฉันก็ลงทุนลงแรงไปเยอะนะโว้ย อีกฝ่ายหนึ่งก็จะบอกว่า เฮ้ยในเมื่อเรามีทรัพยากรเหลือตั้งมากตั้งมากทำไมเราไม่แชร์กันล่ะให้ทุกคนล่ะ สองแนวคิดนี้คือปัญหา พวกเรา vs พวกเขา ครับ ต่างคนต่างยึดแนวคิดของตัวเองอาจจะสุดโต่งไม่สุดโต่งก็แล้วแต่ สุดท้ายถ้าเรายังเถียงกันแบบนี้มันก็ไม่จบ ดังนั้นเรามาประนีประนอมกันดีกว่า ซึ่งนั่นคือระบบภาษีครับ ซึ่งภาษีที่เจ่ายกันนั้นไม่เท่ากันใช่ไหมครับ (ในกรณีภาษีเงินได้บุคคล) จะเห็นว่าคนได้น้อยก็จ่ายน้อย พอได้มากก็จ่ายมาก สงสัยไหมครับทำไมถึงเป็นแบบนั้น ถ้าคิดแบบประโยชน์นิยมที่คิดว่า “เราควรทำให้ทุกคนมีความสุข” เรามาดูความสุขที่อาจเกิดขึ้นมาได้จากเงินผ่านรูปด้านล่างกันครับ หรือเอาไป search ด้วยคำว่า diminishing sensitivity ได้ครับ มี Paper ด้วยนะ

Prospect Theory

ในกรณีของคนที่มีรายได้น้อยหรือกลางๆให้มองตรงกลางของกราฟจะเห็นว่าการขึ้นลงนิดหน่อยของจำนวนเงินเนี่ยทำให้ Psycological value หรือมองง่ายๆว่าความสุขเนี่ยขึ้นลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่สำหรับคนที่มีรายได้เยอะให้มองด้านขวาของกราฟจะเห็นว่าค่าความสุขนั้นเพิ่มขึ้นน้อยมาก คุณลองคิดง่ายๆเช่น คุณได้เงิน 12,000,000.00 ต่อปี การที่คุณได้เงินลดลง 3,659,000.00 บาท (คิดภาษีผ่านเว็บ https://www.uobam.co.th/en/tax-calculation) คุณยังมีเงินเหลือใช้ต่อปีถึง 8,341,000 บาท สำหรับการใช้ชีวิตไม่เลิศหรูฟุ่มเฟือยจนเกินไปผมว่าคุณสามารถใช้เงินหาความสุขได้ตลอดทั้งปีครับ ตัวอย่างเช่นคุณสามารถกินโอมากาเซะมื้อละ 2,000 ทั้งปีก็ยังใช้เงินเพียงแค่ 2,190,000 เท่านั้นเอง ดังนั้นการเก็บเงินผู้มีรายได้มากเป็นจำนวนเงินที่เยอะนั้นไม่ได้ทำให้ความสุขของคุณลดลงมากเท่าไหร่ ถ้าเทียบเงิน 3,659,000 บาทแล้วเอาไปเป็นกองทุนการศึกษาให้เด็กที่ต้องการเรียนจบปริญญาตรีคนละ 216,000 บาท (ผมตีปีละ 54,000 บาท เรียน 4 ปีรวมเป็นเงิน 216,000) ได้ถึง 16 คนเลยครับ และเด็ก 16 คนนี้ก็จะได้มีวิชาความรู้อาชีพไปทำงานไม่ต้องเป็นภาระให้สังคมอีก จะเห็นว่าถ้าคุณใช้ประโยชน์นิยมคุณจะไม่มาเถียงกันเลยเพราะคุณจะเห็นว่าวิธีการแบบนี้คุณเสียอะไร ได้อะไร สิ่งที่ได้คุ้มเสียหรือไม่

หรือถ้าปัญหานี้ด้านบนมันดูเล็กไป ประโยชน์นิยมสามารถบอกว่าการใช้งานทาสนั้นเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการ วิธีคิดไม่ยากครับ การที่คุณมีทาสทำให้คุณได้เงินจากการที่ทาสทำเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่เช่นทาส 1 คนอาจทำงานสร้างเงินให้กับคุณได้ 500 x 365 = 182,500 บาท (ผมใช้ค่าแรงคนหนึ่งคนคือ 500 บาทต่อวัน 1 ปีจึงเป็นเงิน 182,500 บาท) ซึ่งการจะมีทาสได้แปลว่าคุณต้องรวยระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้ามองในมุมของทาสว่าต้องเสียอะไรไปบ้าง ขาดอิสรภาพ โดนกดขี่ โดนทำร้าย โดนข่มขืน จะเห็นว่าสิ่งที่ทาสโดนนั้นทำให้ความสุขของเขาไปมากมายขนาดไหน เมื่อเทียบกับเงิน 182,500 บาทที่คนรวยในระดับหนึ่งจะหาความสุขเพิ่มได้แล้วดูไม่สมเหตุสมผลเลยใช่ไหมครับ ถ้าคุณคิดด้วยเหตุผลแบบนี้หลักการเรื่องการมีทาสจะขัดกับหลักการประโยชน์นิยมในทันที

ในหนังสือมีการลงรายละเอียดเกี่ยวกับประโยชน์นิยมไว้เยอะมาก มันอธิบายหลักการที่น่าสนใจและตอบกรณีสุดโต่งต่างๆได้ดี และทางผู้เขียนใช้คำว่า “ปฏิบัตินิยมเชิงลึก” แทนประโยชน์นิยม เพื่อสื่อให้เห็นว่ามันต้องใช้ในทางปฏิบัติภายใต้ข้อจำกัดของมนุษย์ เช่น คนไม่จำเป็นต้องเสียเงินทุกบาทที่เกินจากส่วนที่ทำให้มีชีวิตรอดเพื่อช่วยคนทั้งโลก คุณแค่เสียในจำนวนที่คุณคิดว่าสมควรสำหรับคุณ ที่จะไม่ลดความสุขของคุณมากจนเกินไป ผมแนะนำไปลองหามาอ่านครับคุณจะเข้าใจแนวคิดประโยชน์นิยมและเห็นว่ามันอาจจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งได้ดี

ท่าไม้ตายที่ชื่อว่า สิทธิ์ หน้าที่

หนังสือพูดถึงคำว่าสิทธิ์และหน้าที่ที่คนส่วนใหญ่ชอบเอามาใช้เวลาเกิดข้อขัดแย้ง เช่น สิทธิ์ในการที่จะพูดอะไรก็ได้ ถ้าคุณอ้างสิทธิ์นี้ขึ้นมามันก็เหมือนการประกาศว่าคุณจะไม่ฟังห่าอะไรที่อีกฝ่ายหนึ่งพูดหรือเอาหลักฐานมาพูดเลยครับ ถ้าคุณมองในเหตุการณ์ของสังคมปัจจุบันนี่คือใช่เลยครับ คุณจะเห็นฝ่ายหนึ่งยึดสิทธิ์บางสิทธิ์แล้วเขาบอกว่าเขามีสิทธิ์นี้เขาทำได้ โดยเขาไม่ได้ดูเลยว่าการใช้สิทธิ์นั้นบางทีก็อาจเกิดปัญหา เช่น สิทธิ์ในการพูดอะไรก็ได้ ซึ่งจำลองเหตุการณ์ว่าถ้าคุณกำลังอยู่ในคอนเสิร์ตที่คนแออัดแล้วคุณบอกว่าคุณมีสิทธิ์พูดอะไรก็ได้ คุณก็สามารถแหกปากได้เลยสินะครับว่า “ไอเหี้ย ไฟไหม้” ผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่ามันจะเกิดความโกลาหลวุ่นวายแค่ไหนหรือถึงขึ้นอาจจะเกิดการเหยียบกันตายก็ได้

อีกคำหนึ่งที่คุณเจอคือคำว่าหน้าที่ครับ มันคล้ายๆกันเลย หน้าที่ที่จะทำ xxx เพื่อปกป้องบางสิ่งบางอย่าง เช่น ปกป้องเสรีภาพ ปกวัฒนธรรม พอคุณพูดคำนี้มันก็เหมือนคุณไม่สนห่าเหวอะไรที่อีกฝ่ายเอามาพูดให้คุณฟังแล้วครับ มันเหมือนสิทธิ์เลย แล้วถ้าคุณมองไปไกลกว่านั้นนิดนึงมันแทบจะไม่ต่างอะไรกับการที่คนกลุ่มหนึ่งอ้างเรื่องความเชื่อทางศาสนามาพูด ใช่ครับ ถ้าคนคนนึงบอกว่านี่คือที่ที่พระเจ้าประทานให้เขา คุณจะไม่สนห่าเหวอะไรที่ฝ่ายตรงข้ามเอามาโต้แย้งเลย เห็นไหมครับมันแทบไม่ต่างกันเลย แค่เปลี่ยนจากความเชื่อในพระเจ้ามาเป็นคำเท่ห์ๆที่ชื่อว่า สิทธิ์ หน้าที่ หรือต่างๆนาๆที่คุณจะใช้ในยุคนั้น

ซึ่งหากคุณลองคิดดูดีๆนี่คือปัญหา พวกเรา vs พวกเขา ใช่ไหมครับ ต่างฝ่ายต่างมีแนวคิดที่ตัวเองเชื่อ ยึดคนละแนวคิด ให้ค่าไม่เหมือนกัน ดังนั้นก็ตามที่พูดไปครับ เราต้องวางวิธีคิดแบบอัตโนมัติของเราลงและย้ายไปใช้ระบบการใช้เหตุผล คิดว่าสิ่งที่จะทำนั้นมีข้อดีข้อเสียอะไรเกิดขึ้นกับคนทั้งหมดในสังคม ซึ่งคุ้นๆไหมครับคือวิธีแนวคิดแบบ “ประโยชน์นิยม” นั่นเอง (หนังสืออวยมากเลย แต่ผมอ่านแล้วมันก็ดีจริงๆนะ)

(เสริมส่วนนี้นิดถึงในหนังสือบอกว่าคุณสามารถอ้างสิทธิ์ได้เมื่อต้องการจบข้อโต้แย้ง คุณควรใช้มันกับข้อโต้แย้งที่เป็นที่ยอมรับแล้วเช่น สิทธิ์ความเท่าเทียมของมนุษย์ การห้ามมีทาส เป็นต้น)

ข้อแนะนำจากหนังสือ

หนังสือแนะนำว่าเวลาเจอปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆสิ่งที่เราควรทำอยู่หลายข้อ ผมจะขอยกตัวอย่างสองข้อที่ผมคิดว่าทำได้เลยคือ

  • ดูก่อนว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาแบบไหน ปัญหา ฉัน VS เรา (โศกนาฏกรรมสาธารณะ) หรือปัญหา พวกเรา vs พวกเรา (ความเชื่อ หลักการ การให้ค่าความสำคัญคนละรูปแบบ) เพื่อเราจะได้รู้ว่าเราควรใช้วิธีคิดแบบสัญชาตญาณ หรือ เหตุผลมาช่วยคิด (แต่ผมก็คิดว่าสุดท้ายก็ต้องใช้เหตุผลมาคิดด้วยตลอดนะ) แก้ปัญหานั้น

  • เมื่อเกิดข้อโต้แย้งสิ่งที่เราต้องทราบคือแนวคิดที่อีกฝ่ายสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานั้นมีแนวคิดอย่างไร ระบบการทำงานของมันเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าเราลงไปศึกษามันอย่างจริงจังแล้ว เราอาจจะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงแบบนั้น จะได้ชี้แนะหรือชี้ถึงปัญหาให้กับฝั่งเข้าใจ ไม่ใช่พออยู่คนละฝ่ายก็ขัดกันเลย เช่นกันต่อให้คุณอยู่ฝ่ายเดียวกับคนที่เสนอวิธีแก้ปัญาคุณก็ต้องเข้าใจวิธีแก้ปัญหานั้นด้วยไม่ใช่ว่าอยู่ฝ่ายเดียวกันแล้วบอกว่ามันถูกต้อง ว่าง่ายๆวางสัญชาตญาณแล้วใช้เหตุผลคิดหา สิ่งที่ได้สิ่งที่เสีย ทำแล้วทุกคนได้ความสุขได้ประโยชน์จริงๆไหม

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับเล่มนี้ผมอ่านแล้วได้อะไรเยอะมาก อย่างแรกที่ผมได้คือได้เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาโศกนาฏกรรมสาธารณะ (ฉัน VS เรา) ซึ่งมันทำให้เกิดหลายๆอย่างตามมาไม่ว่าจะเป็น ค่านิยม จารีต กฏ ประเพณี กฏหมาย ศาสนา แนวคิดเรื่องการเมืองการปกครอง ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ จากนั้นก็ได้เข้าใจปัญหา พวกเรา vs พวกเขา ซึ่งก็คือปัญหาที่เราใช้วิธีคิด การให้ค่าความสำคัญ แตกต่างกันมาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งทำให้เกิดปัญหาใหญ่โต จากนั้นก็ได้เข้าใจกลไกการทำงานเกี่ยวกับจริยธรรมของเราว่ามีการทำงานคร่าวๆยังไง จุดอ่อน จุดแข็งของมันคืออะไร จากปัญหารถราง และที่เหมือนจะดีที่สุดคือได้รู้เกี่ยวกับวิธีคิดแบบประโยชน์นิยมที่ดูจะสามารถนำมาใช้ในการจัดการกับข้อขัดแย้งในปัญหาพวกเขาพวกเราได้ดีในระดับที่คุยกันได้โดยไม่อ้างความคิดส่วนตัว (หรือของพวกตัวเองขึ้นมา)

จากที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี่ยังถือว่าน้อยมากกับสิ่งที่หนังสือเล่มนี้อธิบาย หนังสือมีพูดถึงเรื่องอื่นๆที่ผมไม่ได้พูดถึงเช่น ปัญหาเรื่องความยุติธรรมเจืออคติ ความแตกต่างของวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกันจนน่าเหลือเชื่อผ่านการทดลองที่จะทำให้คุณได้รู้ว่าแนวคิดที่ถูกต้องของคุณอาจจะไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องในที่อื่น การใช้ประโยชน์นิยมในนโยบายการทำแท้ง (หัวข้อนี้สนุกมา มันส์สุดๆเพราะเราจะเห็นกระบวนการตั้งแต่การไม่ใช้ประโยชน์นิยมว่ามันเจอทางตันยังไง และการนำประโยชน์นิยมมาใช้และเกิดการประนีประนอมจนเกิดเป็นนโยบายที่ทั้ง 2 ฝ่ายพอรับได้)

ผมแนะนำว่าควรไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านนะครับ ผมเชื่อว่าเมื่ออ่านมันอาจจะทำให้คุณเข้าใจอะไรมากขึ้น เวลามีข้อขัดแย้งกับคนกลุ่มอื่นคุณจะใช้ได้แนวคิดที่ได้จากหนังสือมาจัดการข้อขัดแย้งมากกว่าที่จะมาบอกว่า “ไอเหี้ย นี่มันสิทธิ์ที่พึงมี และ อีกฝ่ายก็บอกว่า “ไอเหี้ยมันเป็นหน้าที่ของกู” ซึ่งจะไปคล้ายกับ “ไอเหี้ยพระเจ้าฝั่งกูบอกแบบนี้” แต่อีกฝ่าย “ไอเหี้ยพระเจ้าของกูบอกอีกแบบว่ะ” ไปหามาอ่านเถอะครับ คุ้มมาก คุ้มจริงๆ มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมนี้คุยกันด้วยเหตุผลมากขึ้นเลยล่ะครับ

ปล. ผมไม่ได้ค่าโปรโมตหนังสืออะไรเลยแม้แต่แดงเดียว ที่ผมแนะนำเพราะผมอ่านแล้วคิดว่ามันดีจริงๆ
ปล2. ข้อเสียของหนังสือเล่มนี้คือ หนาชิบหาย 400 กว่าหน้า รูปประกอบน้อยมาก ถ้าคนไม่ชอบอ่านหนังสือนี่บอกเลยว่าอ่านจนท้อ
ปล3. การทำตามแนวทางของหนังสือนั้นไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่วนใหญ่จะเป็นการประนีประนอมทั้งสองฝั่งเพื่อให้คนทั้งหมดในสังคมได้ประโยชน์ (ความสุข) จากการเลือกนั้น (การจับใครสักคนไปฆ่าแล้วอวัยวะเนี่ยมันเพิ่มความสุขแต่กับคนที่รอดครับแต่มันลบความสุขทั้งหมดกับคนที่ถูกจับดังนั้นประโยชน์นิยมจะไม่เลือกจับคน 1 คนมาฆ่าทิ้งเอาอวัยวะให้คน 5 คน)

เพลงที่เข้ากับเนื้อหา

เพลง Which Witch (แม่มด) ของวง Melt Mallow (ตอนนี้วงนี้ยุบไปแล้ว) ที่พูดถึงการเป็น Social justice แค่เขาทำอะไรที่ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ คุณก็พร้อมจะประนามเขา ด่าทอเขา โดยไม่ค้นหาความจริงก่อน หรือรับฟังเหตุผลของอีกฝั่งเลย ซึ่งในหนังสือที่ผมอ่านมีมีการพูดเรื่อง ความยุติธรรมเจืออคติอยู่ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณไม่ได้มีความยุติธรรมที่เทียงธรรมจริงๆ คุณก็ใช้ความยุติธรรมเจืออคติของคุณไปตัดสินคนอื่น นั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วจริงๆหรือ ลองถามตัวพวกคุณดูเองครับ