ก็องดิก - Candide

ก็องดิก - Candide

ก็องดิก - Candide

“ก็องดิก” เป็นนิยายที่ “วอลแตร์” เขียนขึ้นเพื่อโจมตีแนวคิด “สุทรรศนนิยม” (Optimism) ที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้นั้นเป็นเรื่องที่ดีที่สุดแล้ว พระเจ้าทรงคิดว่ามันดีที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์ ซึ่งวิธีการต่อสู้ของวอลแตร์นั้นไม่ได้ชี้หน้าด่าว่าแนวคิดนี้นั้นมันเลว มันไร้สาระ มันไม่จริง แต่เขาใช้วิธีการแต่งนิยายพร้อมสร้างเหตุการณ์ต่างๆที่สุดแสนจะเลวร้าย เหตุการณ์ซึ่งไม่ยุติธรรม เหตุการณ์ที่เห็นแล้วยังไงยังไงมันก็ไม่น่าจะใช่เรื่องดีหรือมันจะนำพาไปให้เกิดสิ่งนี้มันมีเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งวิธีนี้นั้นถือเป็นการสู้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่การบังคับให้คนต้องเชื่อ แต่ให้เชื่อด้วยการตัดสินใจด้วยตนเอง (เหตุผลที่วอลแตร์ไม่ใช้วิธีชี้หน้าด่าก็เพราะถ้าชี้หน้าด่า บอกว่ามันเลว มันไม่จริง วอลแตร์อาจจะโดนจับแขวนคอไปแล้วก็ได้เพราะอาจจะโดนยัดข้อหาดูหมิ่นพระเจ้า)

ก็องดิกเล่าเรื่องด้วยชายหนุ่มที่ชื่อว่า “ก็องดิก” เด็กหนุ่มคนใช้ในปราสาท ผู้เป็นคนใสซื่อบริสุทธ์ ก็องดิกเป็นคนเชื่อฟังคำสั่งสอนของอาจารย์ ปองโกส ผู้มีแนวคิด (Optimism) อย่างสุดหัวใจไม่มีข้อสงสัยใดๆ ไม่ว่าการที่เขาได้มาอยู่ที่ปราสาท การที่เขาได้มองเจ้าหญิงลูกของเจ้าของปราสาททุกวัน แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ก็องดิกต้องออกไปผจญโลกและพบกับความโหดร้ายต่างๆนาๆของโลก ซึ่งนั่นจะทำให้ก็องดิกยังรักษาความเชื่อในแนวคิด สุทรรศนนิยม Optimism) ได้หรือไม่

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นก็เพื่อสิ่งที่ดี

แนวคิด “สุทรรศนนิยม” (Optimistic) บอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นล้วนมีเหตุมีผลและสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นย่อมส่งผลให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นมากกว่า ซึ่งถ้ามองในแง่ดีนะครับ มันช่วยให้เราสามารถเลิกคิดกับสิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตเช่น ถ้าคุณดวงซวยลื่นล้ม คุณอาจจะเลิกคิดถึงความซวยนั้นได้ด้วยการคิดว่าการที่เราลื่นล้มเนี่ยมันอาจจะพาเราไปเจอสิ่งที่ดีกว่า หรือ การที่ลูกคุณตายตั้งแต่เกิดเนี่ยถ้าคุณมัวแต่คิดว่ามันเป็นความผิดคุณ คุณก็จะจมไปกับมันไม่ไปไหนสักที แต่ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นประสงค์ของพระเจ้า การเกิดเรื่องพวกนี้มันเป็นบททดสอบทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้นหรือเพื่อที่คุณจะได้ไปเจอสิ่งที่ดี ถ้าคุณเอามันมาใช้เพื่อกำจัดความทุกข์แบบนี้มันดีครับ แต่คนนำมันมาใช้แบบเกินเลย แบบผิดๆ เช่น การจับคนมาเป็นทาสนั้นก็เพื่อสิ่งที่ดี จับคนมาบูชายันต์เพื่อสิ่งที่ดี ก่อสงครามเกิดขึ้นโดยอ้างว่าเพื่อสิ่งที่ดี หรือทำให้สังคมละเลยเรื่องที่เพื่อนมนุษย์ควรทำเช่นช่วยเหลือผู้อื่นเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นย่อมดีก่อให้เกิดสิ่งดี

ในเรื่องก็องดิกคุณจะเห็นเหตุการณ์ประมาณนี้เต็มไปหมด ตัวอย่างที่เลวร้ายสุดๆก็คือเหตุการณ์ที่เกิดภูเขาไฟระเบิดทำให้คนตายเกือบทั้งเมือง แต่ตัวละครในเรื่องบอกว่ามันเกิดขึ้นเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ผมอ่านแล้วแบบ “เฮ้ย เอาจริงดิ” ซึ่งมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เป็นแบบนี้ ซึ่งผมเชื่อเลยว่าคนอ่านอีกหลายๆคนในยุคนั้นก็คงคิดแบบผมแล้วก็คงหยุดเชื่อแนวคิดสุทรรศนนิยม

ทำงานกันเถอะ

ในเรื่องนั้นไม่ได้ให้ตัวละครทำการสรุปว่าตกลงแล้วแนวคิดสุทรรศนนิยมนั้นไม่ถูกต้องควรถูกลบล้างให้หายไป จะมีก็แต่การชี้นำผ่านเหตุการณ์ต่างๆในเรื่องว่า “เอาจริงดิ” ซึ่งในตอนท้ายเรื่องนั้นตัวก็องดิกได้พบกับชายแก่ธรรมดาคนหนึ่งและได้สอบถามชายแก่เกี่ยวกับความเชื่อ เห็นด้วยไม่เห็นด้วย หรือรู้ข่าวอะไรเกี่ยวกับเรื่องของศาสนจักรบ้าง ชายแก่กลับบอกว่าเขาไม่ได้สนใจเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่ออะไรเหล่านั้น เขาสนก็แค่การทำงานในที่ดินของเขาเพียงเท่านั้น ซึ่งคำตอบของชายแก่นั้นไปกระตุ้นให้ก็องดิกรู้ว่าปัญหาของเขานั้นเอาแต่คิด ไม่ทำอะไรสักอย่าง แล้วก็ฟุ้งซ่านไปกับการคิด แต่เมื่อเขาเริ่มลงมือทำงานเขาก็ไม่ต้องคิดฟุ้งซ่านเกี่ยวกับเรื่องแนวคิดไหน เขาอยากทำให้โลกนี้มันน่าอยู่เขาก็สามารถทำมันผ่านการลงมือ (ในการตีความของผมมันเป็นการพยายามบอกว่าไม่เกี่ยวกับว่าพระเจ้าลิขิตอะไร เราต่างหากต้องเป็นคนทำ)

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับผมการได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นว่าคุณสามารถต่อสู้ทางแนวคิด ความเชื่อ ผ่านนิยายได้แบบที่วอลแตร์พยายามทำซึ่งดูเหมือนจะทำได้ดีด้วย อีกทั้งยังทำให้ผมรู้ว่าในสมัยก่อนนั้นคนเชื่อลัทธิสุทรรศนนิยมแบบไม่คิดเยอะมาก ส่วนเรื่องความบันเทิงที่ได้จากเรื่องนี้คือการได้อ่านการจิกกัดของวัลแตร์ที่จิกกัดได้เจ็บไม่เปลี่ยน ก็สำหรับใครที่อยากอ่านนิยายที่เกี่ยวกับแนวคิด ปรัชญา ความเชื่อ ผมแนะนำว่าไม่ควรพลาดเรื่องนี้ครับ