Protagoras - โปรตากอรัส

Protagoras - โปรตากอรัส

ความคิดเห็นส่วนตัว : ถ้าท่านเป็นผู้ชอบตั้งคำถาม ชอบการต่อสู้กันด้วยคำพูด แนะนำให้อ่านเป็นอย่างยิ่ง

Protagoras - โปรตากอรัส

หลังจากได้อ่านงานของเพลโตที่ชื่อ Republic แล้วรู้สึกชอบแนวคิดกับวิธีการสนทนาของโสคราตีส ซึ่งเพลโตเป็นลูกศิษย์ของโสคราตีส ผลงานที่เขาเขียนนั้นจะเอาอาจารย์ของเขาเป็นตัวดำเนินเรื่องโดยไปทำการสนทนากับผู้รู้ต่างๆและพยายามตามหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่สนทนา หลังจากไปลองหางานของเพลโตดูก็พบว่ามีอกหลายเล่มที่มีลักษณะแบบนี้ ซึ่งเล่มที่พอจะยืมมาอ่านได้เลยก็คือ Protagoras - โปรตากอรัส เล่มนี้

หนังสือเล่มนี้เป็น “นิยาย” ย้ำนะครับว่า “นิยาย” เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นโดยเฟลโต ซึ่งมีจุดประสงค์ใช้มันในการเผยแพร่แนวคิดของตนกับอาจารย์ และสั่งสอนชาวกรีกในยุคนั้นให้เป็นคนที่มีคุณธรรมแบบที่ถูกต้องตามแนวคิดของตน อีกทั้งยังทิ้งคำถามต่างๆที่ยังแก้ไม่ได้ให้คนที่ได้อ่านนำไปขบคิดกัน ซึ่งก็เหมือนจะได้ผลเพราะทุกวันนี้คำถามที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ก็ยังถูกนำมาขบคิดกันอยู่ว่ามันใช่หรือไม่ใช่ เราควรแบ่งสิ่งนั้นแบบไหนและอย่างไร โดยเรื่องนี้จะแต่งให้โสคราตีสมาสนทนาและพยายามหาความจริงกับ โปรตากอรัส ซึ่งได้รับขนานนามว่าเป็นนักปราชญ์ชื่อดังแห่งยุค และเป็นนักปราชญ์ที่ริเริ่มเก็บเงินจากคนที่มาขอเรียน (ติวเตอร์ยุคแรกเลยนะเนี่ย)

คุณธรรมของชาวกรีก

คุณธรรมของแต่ละที่บนโลกนั้นแตกต่างกัน คุณธรรมของชาวพุทธอาจจะเป็นแบบหนึ่ง คุณธรรมของชาวคริสต์ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นก็แน่นอนว่าคุณธรรมของชาวกรีกก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนที่อื่นโดยคุณธรรมของชาวกรีกจะประกอบไปด้วย

  • ปัญญา (Wisdom) : คือความรู้ในเรื่องศาสตร์ต่างๆรวมถึงความรู้ในการใช้ชีวิตให้มีความสุข

  • ความชอบธรรม (Justice) : คือความถูกต้อง เป็นธรรม ซึ่งจะความหมายแบบเดียวกันกับยุคเราเลย

  • ความกล้าหาญ (Courage) : คือความกล้าหาญที่จะไปสู้รบทำสงคราม ในข้อนี้อาจจะแปลกๆในยุคนี้แต่ในยุคกรีกนั้นมีสงครามเกิดขึ้นอยู่ตลอด ถ้าคนไม่มีความกล้าหาญออกไปสู้สงคราม บ้านเมืองก็จะล่มสลายเพราะถูกศัตรูเข้ามาโจมตีและยึดเมืองและสุดท้ายก็สูญสิ้นอิสรภาพ

  • ความเคารพกฎของเทพ (Piety) : คือการทำกฎของเทพหรือจะมองง่ายๆก็คือการทำตามหลักของศาสนา

  • ความรู้จักพอดี (Temperance) : คือรู้ว่าเท่าใดที่เหมาะไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป เช่น กล้าหาญมากจนเกินไปก็จะทำให้ไปตายเปล่า ประหยัดมากเกินไปจนกลายเป็นตระหนี่ก็ทำให้ใช้ชีวิตลำบาก ว่าง่ายๆก็คือทางสายกลางของพุทธศาสนานั่นแหละครับ

ในเรื่องนั้นโสคราตีสอยากจะให้โปรตากอรัสอธิบายว่าและพิสูจน์ว่าคุณธรรมนั้นสามารถสั่งสอนกันได้หรือไม่ เพราะโสคราตีสนั้นไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้นเลยอยากจะขอร้องให้ผู้ที่มีความรู้แห่งยุคช่วยอธิบายและพิสูจน์

คุณธรรมทั้ง 5 อย่างนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน หรือ ทั้ง 5 อย่างแยกเป็นส่วนๆแล้วมารวมกันเป็นคุณธรรม

อีกคำถามหนึ่งซึ่งโสคราตีสถามโปรตากอรัสก็คือ คุณธรรมทั้ง 5 เป็นสิ่งเดียวกัน หรือ ทั้ง 5 อย่างเป็นคนละอย่างกันแต่รวมกันแล้วจะกลายเป็นคุณธรรม คำถามนี้อาจจะดูไร้สาระในมุมมองของเรา แต่ผู้แปลได้ให้คำอธิบายถึงความสำคัญของคำถามนี้ ซึ่งก็คือหากคุณธรรมเป็นสิ่งเดียวกันหมด คนเราจะมีแค่ มีคุณธรรมกับไม่มีคุณธรรมเพียงเท่านั้น ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเป็นผู้ไม่มีคุณธรรม เช่น เป็นคนมีความกล้าหาญแต่ขาดความรู้ย่อมไม่ใช่ผู้มีคุณธรรม เขาจะเป็นแค่คนบ้าบิ่นที่พร้อมจะทำอะไรก็ได้โดยไม่คิด หรือ หากเป็นคนมีความรู้แต่ไม่มีความกล้าหาญก็ไม่ใช่ผู้มีคุณธรรมแถมเขาก็ไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ด้วย เพราะอย่าลืมว่าทั้ง 5 อย่างคือสิ่งเดียวกันถ้าไม่มีสิ่งใดก็เแปลว่าไม่มีอีก 4 อย่างด้วยไปโดยปริยาย ดังนั้นคนที่บอกว่ามีความรู้แต่ไม่มีความกล้าหาญก็แปลว่าไม่มีความรู้จริง เพราะคนรู้จริงย่อมจะรู้ว่าเวลาไหนควรมีความกล้าหาญที่จะเข้าไปต่อสู้ ซึ่งแตกต่างจากถ้าคุณธรรมเกิดจาก 5 สิ่งรวมกันเราสามารถบอกได้ว่าเขาเป็นผู้มีคุณธรรม 3 ส่วน 4 ส่วน 1 ส่วน

การวัดระดับคุณธรรม

การวัดว่าคนคนหนึ่งมีคุณธรรมหรือไม่นั้นอาจจะวัดจากการที่เขาประพฤติและการกระทำของเขาตอนที่เราเห็น โดยการที่เขาตามคุณธรรมนั้นเขาอาจจะทำเพราะกลัวความผิดที่จะได้รับไม่ว่าจะจากกฎหมายหรือสังคม ซึ่งทางโปรตากอรัสก็มองว่าเพียงพอแล้วเพราะคนอยู่ในกฏหมายและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนแล้ว (สมัยนี้เราก็ยึดหลักนั้น) แต่ในมุมมองของโสคราตีสนั้นมองว่าคนคนนั้นไม่ได้เป็นผู้มีคุณธรรม คนผู้ที่มีคุณธรรมจริงๆนั้นจะยึดมั่นในคุณธรรมทุกชั่วขณะ ไม่ว่าจะมีคนเห็นหรือคนไม่เห็น หรือแม้แต่กฏเกณฑ์กติกาจะแปรเปลี่ยแบบสุดขั้ว ลองนึกถึงตัวอย่างว่ามีคนชั่วมาปกครองแผ่นดินแล้วออกกฎหมายว่าการขโมยนั้นไม่ผิดตราบเท่าที่แบ่งส่วนที่ปล้นได้ให้รัฐด้วย ถ้าคุณมีคุณธรรมแบบแรก คุณสามารถเปลี่ยนไปปล้นฆ่าคนได้เพราะมันไม่ผิดกฎหมายแล้วและสังคมมองว่ามันถูกต้อง แต่คนในแบบที่สองจะไม่ทำเพราะเขาเข้าใจว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง ไม่มีคุณธรรม ซึ่งถ้ามองดูแล้วก็จะคล้ายๆกับหลักการของศาสนาพุทธที่มักสอนเราอยู่เสมอว่า ทำชั่ว ทำดี เรารู้อยู่แก่ใจ ต่อให้ขโมยโดยไม่มีใครเห็นตัวเราก็รู้อยู่ดีว่าเราขโมย ซึ่งจะเห็นว่าหลักการพวกนี้มีอยู่ทั่วโลกไม่ได้มีแค่ในศาสนาพุทธ (จริงๆตั้งแต่เรื่องความพอดีละ)

เฉือดเฉือนกันด้วยเหตุผล

ในเรื่องนี่จะมีการต่อสู้กันด้วยวาทศิลป์ซึ่งเป็นอะไรที่สนุกมาก มันเหมือนคุณไปดูผู้สมัครเลือกตั้งมาโต้เถียงกันในหัวข้อต่างๆ โดยในเรื่องคุณจะได้เห็นคน 2 คนพยายามเอาชนะกัน คนนึงเป็นสาย พรรณาให้เห็นภาพใช้วาทศิลป์ทำให้คนคล้อยตาม (ซึ่งคนในปัจจุบันเราจะเจอคนเหล่านี้เยอะมาก) กับอีกคนนึงที่จะใช้เหตุผลในการพิสูจน์ทฤษฎีของอีกฝั่ง และใช้มันเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของตน (คนแบบนี้หายากในยุคปัจจุบัน) เราจะได้เห็นการแก้เกมส์ของทั้งสองคนเพื่อพิสูจน์คำพูดของตนเองและทำให้คนอื่นเชื่อด้วย (อย่าลืมว่าคำพูดของคุณแม้จะจริง แต่ถ้าคนอื่นไม่เชื่อก็ไม่มีประโยชน์) ซึ่งผมขอบอกเลยว่ามันสนุกจริงๆ

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับการได้อ่านหนังสือเล่มนี้นั้นทำให้ผมได้คำถามมากมายที่น่าสนใจ ไม่ว่าเรื่องคุณธรรมนั้นสามารถสั่งสอนกันได้หรือไม่ คุณธรรมเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ แล้วเราใช้อะไรเป็นตัวบอกว่าคนคนนั้นมีคุณธรรม ต้องพิสูจน์ระดับไหน ซึ่งจริงๆผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับโปรตากอรัสที่เราตัดสินมนุษย์ว่ามีคุณธรรมผ่านการกระทำก็น่าจะเพียงพอ ซึ่งถ้าคุณธรรมอยู่ในระดับนี้เราก็สามารถสั่งสอนให้คนมีคุณธรรมได้โดยการสอนให้รู้ว่าการไม่มีคุณธรรมแล้วจะเจอกับอะไร แต่นั่นมันใช่คุณธรรมควรที่จะเป็นหรือเปล่า เพราะคุณทำไม่ดีไม่มีคุณธรรมแต่ไม่มีคนเห็นคุณก็ยังเป็นผู้มีคุณธรรมอยู่

แล้วถ้าคุณธรรมนั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าคือไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ใดผู้มีคุณธรรมต้องยึดมั่นที่จะรักษาคุณธรรม ถ้าเป็นคุณธรรมคือสิ่งนี้มันเป็นไปได้ไหมที่จะสั่งสอนได้ หรือมันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แล้วถ้ามันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลอะไรที่ทำให้เขามีคุณธรรมล่ะ

อีกอย่างหนึ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ตอนจบนั้นเราจะไม่เห็นผู้ที่ชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เราจะเห็นว่าพอมาถึงข้อสรุปเราจะพบว่าข้อสรุปนั้นมันขัดแย้งในตัวเองกันทั้ง 2 ฝั่ง (ซึ่งความขัดแย้งนั้นคืออะไรไปลองอ่านดู มันเป็นอะไรที่น่าตกใจ) ซึ่งนั่นทำให้เกิดความสงสัยว่า ข้อสรุปที่พิสูจน์กันได้นั้นมันผิด หรือสิ่งที่ตนเองนั้นเชื่อนั้นผิด ซึ่งนั่นเปิดโอกาสให้เราได้ใช้ความคิดของเราซึ่งเป็นคนยุคใหม่ที่เรามักพูดเสมอเจริญกว่า เก่งกว่า ไปทำการพิสูจน์ต่อว่าตกลงแล้ว คุณธรรมสามารถสั่งสอนกันได้หรือไม่ และ คุณธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งเดียวกัน หรือ คุณธรรมแยกเป็นส่วนๆแล้วมาร่วมกันกลายเป็นคุณธรรม