ปรัชญาแมว ปรัชญาเหมียว - แมวและความหมายของชีวิต

ปรัชญาแมว ปรัชญาเหมียว - แมวและความหมายของชีวิต

ปรัชญาแมว ปรัชญาเหมียว

ก่อนที่จะเข้าเรื่องผมขอออกตัวก่อนเลยว่า ผมไม่ใช่คนรักแมว ไม่ได้เป็นทาสแมว ไม่ได้นั่งสังเกตุแมว ไม่เคยได้เลี้ยงแมวจริงๆจังๆ จะเคยเลี้ยงก็แต่แมวจรที่มาทำท่าทางน่าสงสารจนใจอ่อนให้ข้าวและสุดท้ายก็มานั่งรอกินข้าวทุกวัน ดังนั้นผมอาจจะไม่ค่อยเข้าใจความเป็นแมวที่หนังสือพยายามสื่อให้เห็น ดังนั้นผมเลยอาจจะไม่เข้าใจความสุดยอดของหนังสือเล่มนี้อย่างลึกซึ้ง

ผมได้หนังสือเล่มนี้มาอ่านจากน้องในบริษัท ตอนแรกผมคาดหวังไว้ว่าเขาจะมาพูดถึงปรัชญาของแมวในทางทฤษฎีหรือทำให้เราเข้าใจความเป็นแมวมากขึ้น แต่พอเริ่มอ่านแล้วนี่ไม่ใช่เลย หนังสือเล่มนี้มันคือการพูดถึงการใช้ชีวิตของมนุษย์เทียบกับแมว โดยยกให้แมวนั้นดูจะเหนือกว่ามนุษย์ในมุมมองของผู้เขียน พอเขาทำแบบนี้ผมเลยเริ่มรู้สึกอึดอัดกับแนวทางการเขียนของเขา ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าเขาจะโมเมเชิงคิดเอาเองเลยว่าแมวมันมีความสุข มันหลุดพ้น มันต่างๆนาๆ ซึ่งเขายกเอาบางเหตุการณ์มาเหมารวมว่ามันดีแบบนั้นแบบนี้ โดยเขาไม่ได้เทียบมันแบบจริงๆจังๆ ซึ่งเมื่อผมเคยเจอคนละเหตุการณ์แบบที่เขาเจอผมก็รู้สึกว่ามันไม่น่าจะใช่แล้วแหละ ดังนั้นพอยิ่งอ่านมันเลยรู้สึกไม่น่าเชื่อถือขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดที่คิดว่าควรเลิกสนใจแมวเลยละกัน ซึ่งพอทำแบบนั้นก็ทำให้ผมสามารถเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้ต้องการบอกอะไร

การรู้ว่าตัวเองคือตัวเอง

การรู้ว่าตัวเองคือตัวเองเป็นความสามารถที่สัตว์จำนวนหนึ่งมี ตัวอย่างเช่น มนุษย์ ลิง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถทดลองว่าสัตว์มีความสามารถเหล่านี้หรือไม่ได้ด้วยการให้มันส่องกระจก ถ้าสัตว์พวกนั้นรู้ว่าสิ่งที่อยู่ในกระจกคือตัวเอง พวกมันจะเริ่มลองจับสิ่งนั้นสิ่งนี้ของตัวเอง อย่างลิงเนี่ยมันจะมีการจัดขนตัวเองเลียขนตัวเองให้ดูดี อ่านถึงตรงนี้คงสงสัยว่าแล้วมันเกี่ยวกับปรัชญายังไง การที่เรารู้ว่าตัวเองคือตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นของการรู้ว่าเรามีตัวตน เราต่างจากคนอื่น จากนั้นเราเริ่มมีความรู้สึกว่าเราอยากเป็นที่ตัวตนที่ดีขึ้น ดีกว่าเดิม หรืออย่างน้อยก็รักษาสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีไว้ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งปัจจัยจากอีกหลายๆปัจจัยที่ทำให้ ศาสนา ค่านิยม ศีลธรรม ต่างๆนาๆในสังคมทีมักจะบอกว่าให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อให้เป็นสิ่งที่ดีกว่าหรือคงความดีไว้ (ผมใช้คำว่าเป็นปัจจัยหนึ่งเพราะมันไม่ใช่มีแค่การรู้ตัวเองแล้วจะทำให้เกิดศาสนา ค่านิยม ศีลธรรมขึ้นมา มันมีอีกหลายๆปัจจัยร่วมกันจึงทำให้เกิด) ซึ่งนั่นก็มีผลเสียสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนให้กับมนุษย์อย่างเราให้ต้องขวนขวายให้ได้มาซึ่งการเป็นสิ่งที่ดีกว่าและรักษามันไว้ ในหนังสือเปรียบเทียบว่าแมวไม่รู้ว่าตัวเองคือตัวเอง (แต่เขาไม่กล้าฟันธงนะเขาบอกว่ามันอาจรู้แต่ไม่สนใจ ผมเลยสงสัยว่า เอ้า คุณยังไม่มั่นใจมันเลยแล้วจะมายกย่องมันได้อย่างไร) ดังนั้นมันจึงไม่ต้องขวนขวายอะไร มันใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ตามสัญชาตญาณ เหตุกาณณ์ฉพาะหน้า อยากทำอะไรก็ทำ มันไม่สนใจว่ามันควรจะทำให้ตัวเองดีขึ้นหรือคงความดีไว้ไหม

ความหมายของชีวิต

ความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัว (แต่บางคนก็ไม่กลัว) ทำไมมันถึงน่ากลัวก็คงมีหลายเหตุผลแต่เหตุผลที่หนังสืออธิบายไว้คือการที่คุณจะหายไปจากโลกนี้และถูกลืมเลือน ซึ่งแน่นอนว่าหลายๆคนคงไม่ชอบ (ผมคือหนึ่งในนั้น) ดังนั้นหลายๆคนจึงพยายามทำบางสิ่งบางอย่างทิ้งไว้เพื่อให้เหมือนตัวเองไม่ได้หายไปจากโลก ตัวอย่างง่ายๆที่เราเห็นคงเป็นการทำป้ายหลุมศพ การเอาชื่อตัวเองไปเป็นสถานที่ ใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้ร่วมสร้างอะไรบางอย่าง หรือบางคนทำให้ตัวเองเป็นที่โด่งดังเพื่อเป็นที่จดจำด้วยวิธีการต่างๆ ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือเมื่อเรารู้ว่าเราต้องตายแล้วการมีชีวิตอยู่นี้คืออะไร มันมีความหมายอะไร ถ้าเราคิดแบบง่ายๆว่าแบบวิชาชีววิทยาว่า “เราก็แค่เกิดมามีชีวิตสืบพันธุ์แล้วก็ตาย” ซึ่งมันก็อาจจะดูไม่มีความหมายสูงส่งอะไร (หากคุณไม่ให้ค่าการทำให้เผ่าพันธุ์ของเราไม่สูญพันธุ์) ด้วยความที่มันดูไร้ค่าแบบนี้คนเราจึงพยายามหาความหมายของชีวิตให้กับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นต้องเป็นคนดี ต้องช่วยเหลือคนอื่น ต้องเป็นที่หนึ่ง ต้องแต่งเติมเรื่องราวต่างๆให้กับชีวิตตนเองเพื่อให้ชีวิตนั้นมีความหมาย ซึ่งสิ่งนี้ต่างจากแมวที่ผู้เขียนอ้างว่าแมวไม่ได้สนใจความหมายของชีวิตมันจึงไม่ต้องมาทนทุกข์ในการพยายามหาความหมายให้กับชีวิตดังนั้นแมวจึงไม่ต้องวุ่นวายและน่าจะมีความสุขและอิสรภาพมากกว่าคน (แต่เขาถ้าเขาคิดสักนิดว่าถ้าความสุขของคนคนหนึ่งคือการหาความหมายให้ชีวิตเขาอาจจะมีความสุขเท่ากับหรือมากกว่าแมวก็ได้)

สรุป

สำหรับผมเล่มนี้อาจแล้วอึดอัดในระดับหนึ่งเพราะมันเขียนยกสิ่งหนึ่งให้ดีกว่าสิ่งหนึ่งโดยไม่ได้ให้เหตุผลหรือหลักการที่ดีมากพอ แถมบางทีมันก็เล่าเรื่องผ่านนิยายที่เขียนเกี่ยวกับแมวแล้วโยงมาบอกว่าแมวเป็นแบบนั้นแบบนี้ซึ่งดูจะไม่ค่อยเกี่ยวกับปรัชญาสักเท่าไหร่ แถมบางกรณีมันไม่ตรงกับแมวที่ผมเคยเลี้ยงด้วยสิ เพราะแมวที่ผมเคยเลี้ยงมันจะพยายามคลอเคลียจนกว่ามันจะได้ข้าว ไม่ใช่ทำยิ่งยโสโอหังว่าจะให้ไม่ให้ก็เรื่องของคุณ ซึ่งผมก็พอเข้าใจว่าเขาคงเขียนขายเจาะจงไปในกลุ่มคนเลี้ยงแมวมันเลยออกมาในแนวนี้ แต่หากตัดเรื่องการเปรียบเทียบและใช้เหตุผลที่ไม่ค่อยครอบคลุมทุกกรณีทิ้งไป หนังสือเล่มนี้ก็ชี้ให้เห็นว่าคนอย่างเรานี่พยายามทำในเรื่องแปลกๆกว่าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแมว ไม่ว่าการพยายามทำให้ตัวเองเป็นตัวตนที่ดีขึ้น การพยายามสร้างความหมายให้กับชีวิตตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่เราพยายามทำมันเป็นตัวสร้างปัญหาอื่นขึ้นมามากมายไม่ว่าจะเรื่องเล็กระดับบุคลเช่นการขัดใจตนเองไม่ให้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำเพื่อต้องการเป็นตัวเองที่ดีกว่าหรือเรื่องใหญ่ระดับโลกเช่นสงครามเพื่อทำให้โลกนี้เป็นโลกที่ดีกว่าทำให้คนทุกคนเป็นคนที่ดีกว่าหรือจะให้ตัวเองเป็นที่ถูกจดจำว่าเป็นคนทำให้โลกดีขึ้น

ก็สำหรับใครที่ชื่นชอบเกี่ยวกับแมวแล้วอยากได้ความรู้เรื่องปรัชญาผมก็แนะนำให้อ่านเลยครับ รับรองว่าคุณจะรู้สึกเพลิดเพลินไปกับมันอย่างแน่นอน (ยกยอแมวซะขนาดนั้น) แต่หากใครสนใจปรัชญาเพียวๆหรือชอบการอ่านอะไรที่มีเหตุผลหนักแน่นผมก็ไม่ค่อยแนะนำให้อ่านครับ