500 ล้านปีของความรัก วิทยาศาสตร์ของอารมณ์ ความรัก และความเกลียดชัง

500 ล้านปีของความรัก วิทยาศาสตร์ของอารมณ์ ความรัก และความเกลียดชัง

500 ล้านปีของความรัก วิทยาศาสตร์ของอารมณ์ ความรัก และความเกลียดชัง

ผมได้รู้จักหนังสือเล่มนี้จาก Page : Tactschool ที่แนะนำหนังสือน่าอ่านเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นไม่ได้อ่านเพราะไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาและการลงทุน จนเมื่อไม่นานมานี้ผมไปเห็นหนังสือชุดนี้ใน TK Park ก็เลยยืมมาอ่าน ซึ่งพอได้อ่านแล้วก็เข้าใจเลยทำไมหลายคนถึงแนะนำว่าเป็นหนังสือดี

หนังสือเล่มนี้พาเราไปเรียนรู้เกี่ยวกับ “มนุษย์” ซึ่งก็คือตัวเราผ่านคำถามที่เราอาจจะเคยสงสัยหรือบางเรื่องที่ธรรมดามากๆจนเราไม่เคยนึกสงสัย ตัวอย่างเช่น ทำไมเราชอบกินของหวานของมันทั้งๆที่รู้ว่ามันอันตรายต่อสุขภาพ ทำไมเราต้องฆ่ากันเพียงเพราะพูดหยามกันเล็กๆน้อยๆ ทำไมคู่รักมักจะทำอะไรแบบเด็กๆ อารมณ์มาจากไหน ยาแก้ปวดทำไมสามารถช่วยให้เจ็บจากการอกหกน้อยลง ทำไมคนเราถึงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันได้ ทุกคำถามที่ว่ามาหนังสือเล่มนี้มีคำตอบให้เราทั้งหมด แถมเป็นคำตอบที่ไม่ได้มโนขึ้นมาแต่ผ่านการศึกษาจากการทดลอง การแสกนสมอง ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นมันจึงน่าเชื่อถือและสอดคล้องกัน และที่เด่นที่สุดของหนังสือเล่มนี้คือการเขียนเป็นเรื่องเล่าให้เราอ่านได้อย่างได้เรื่อยๆสบายๆไม่เครียด เหมือนเรามีเพื่อนผู้รู้มาเล่าเรื่องให้เล่าฟังด้วยศัพท์ง่ายๆสนุกและเห็นภาพ ดังนั้นคุณจะอ่านมันได้แบบเพลินๆเลยทีเดียว

ในส่วนต่อไปผมจะเขียนเล่าสิ่งที่ผมได้จากหนังสือซึ่งถือเป็นส่วนน้อยมากๆจากในหนังสือ

ทำไมทหารถึงเดินสวนสนาม

เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราซึ่งจะไปเป็นทหารทำไมเราต้องมาฝึกเดินสวนสนาม ต้องมาวิ่งจัดแถวตอนหน้ากระดาน 10 คน 20 คน วิ่งวนไปวนมา ฝึกแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา ในสมัยก่อนอาจจะจำเป็นในรูปแบบการจัดทัพสู้กันในระยะประชิด แต่ในปัจจุบันเราใช้ปืนยิงไกลห่างกันเป็น 100 - 200 เมตร ก็ยิงถึง แล้วถ้าเคลื่อนที่แบบสวนสนามรับรองเลยโดนยิงตายง่ายๆแน่ ด้วยการทำที่ไม่สมเหตุสมผลนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง (ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว) ที่ได้ไปเป็นทหารเกิดความสงสัย ว่าทำไปทำไม แต่จริงๆมันมีอีกคำถามหนึ่งซึ่งเขาก็รู้สึกได้และสงสัยคือตอนเป็นทหารเขาเริ่มรู้สึกแปลกๆหลังจากฝึกสวนสนามไปนานๆ เขารู้สึกว่าเขาเริ่มรู้สึกถึงความเป็นกลุ่ม รู้สึกฮึกเหิมไปกับกลุ่ม เริ่มรู้สึกอยากทำอะไรให้กับกลุ่ม ความรู้สึกถึงความเป็นตัวเองเริ่มลดลง ตอนแรกเขาคิดว่าเขาเป็นเพียงคนเดียวแต่เมื่อถามหลายๆคนที่ฝึกด้วยกันก็ได้คำตอบว่ารู้สึกแบบเดียวกัน

อาการแบบนี้ไม่ได้เกิดแค่การเดินสวนสนาม อาการเหล่านี้สามารถเกิดได้กับการร้องหรือการเต้นที่ทำเป็นหมู่คณะ ตัวอย่างง่ายๆถ้าคุณได้ยินและร้องเพลงชาติตอนทีมชาติของเราได้เหรียญทองในงานแข่งขันระดับใหญ่ๆเช่น เอเชียนเกมส์ หรือ ซีเกมส์ คุณจะรู้สึกถึงความฮึกเฮิม ความรักชาติ รู้สึกเราเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแปลกประหลาด (ทั้งๆที่เราฟังเพลงชาติที่อื่นเราไม่ได้อิน บางคนถึงกับบอกว่าไร้สาระ)

เมื่อความเป็นตัวตนถูกลดลงรู้สึกถึงความเป็นกลุ่มมากขึ้นอยากทำเพื่อกลุ่มมากขึ้น ดังนั้นมันจึงสามารถให้คุณทำสิ่งที่คุณไม่คิดว่าจะทำได้เช่นสละชีวิตให้กลุ่ม ทำอะไรที่ปัจเจกเขาไม่ทำกัน ทีนี้คงรู้แล้วนะครับว่าทำไมทหารถึงมีการฝึกการเดินสวนสนาม

การแลกเปลี่ยน เรื่องธรรมดาของมนุษย์แต่ไม่ธรรมดาในทางธรรมชาติ

การแลกเปลี่ยนสำหรับมนุษย์นั้นเป็นเรื่องธรรมดามาก ผมเอาเงิน 50 บาทแลกกับอาหารที่ผมอยากได้ แลกการ์ดที่ตัวเองชอบกับคนอื่น การแลกเปลี่ยนแบบนี้พบได้ทั่วโลก ชนเผ่าที่ใช้ชีวิตแบบเก็บของป่าล่าสัตว์นั้นก็สามารถทำการแลกเปลี่ยนกับมนุษย์ที่มีอารยธรรมแบบในเมืองได้ บันทึกของนักเดินเรือที่ได้ไปเจอชนเผ่าตามเกาะต่างๆในยุคช่วงเดินเรือใหม่ๆพบว่า เมื่อยื่นเหล็กหรือบางสิ่งให้กับชนเผ่า ชนเผ่าเหล่านั้นจะทำการพิจารณาและให้ของกลับแก่พวกนักเดินเรือ โดยของที่ให้กลับมานั้นจะมีคุณค่าพอๆกับของที่ได้ไป เช่น เมื่อนักเดินเรือยื่นตะปูให้เพื่อแลกเปลี่ยนกับชนเผ่า ชนเผ่าก็จะให้ปลา 2 กลับคืนไปให้กับนักเดินเรือ

แต่การแลกเปลี่ยนเหล่านี้หายากในสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกมาก ลิงชิมแปนซีญาติของเรานั้นก็ไม่สามารถทำได้ในระดับเดียวกับเรา พวกมันสามารถแลกเปลี่ยนของที่มันเห็นคุณค่ามากกับน้อยได้ เช่น แลกองุ่นกับแครอท (หวานมาก กับ ไม่หวานเลย) แต่มันไม่สามารถแลกเปลี่ยนของที่มีค่ามากๆกับมากรองลงมาได้ เช่น แลกองุ่นกับแอปเปิ้ล (หวานมากสุด กับ หวานรองลงมา) แตกต่างจากมนุษย์ที่สามารถแลกเปลี่ยนได้เกือบทุกอย่างภายใต้ความพอใจของตนเอง เราสามารถแลกของมีค่าจำนวนมากเพื่อได้กระเป๋าโง่ๆที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เยอะ

แล้วความสามารถในการแลกเปลี่ยนมันสำคัญอย่างไร เมื่อเราเริ่มแลกเปลี่ยนมันมีผลพวงกระทบเป็นลูกโซ่ ลองคิดตามนะครับ มีสองหมู่บ้าน หมู่บ้านนึงอยู่ติดทะเล กับ อีกหมู่บ้านอยู่ในป่า ทั้งสองหมู่บ้านบังเอิญได้พบกันและได้แลกเปลี่ยนของมีค่าของตน เช่น หมู่บ้านทะเลแลกปลากับหมู่บ้านในป่า ซึ่งเป็นของที่แต่ละฝ่ายอยากได้ เมื่อเริ่มแลกเปลี่ยนคนในแต่ละหมู่บ้านก็เริ่มอยากได้ของจากอีกฝั่งมากขึ้น เกิดเป็นการค้าขาย เมื่อมีการค้าขายก็ย่อมเกิดการแข่งขันจะทำอย่างไรให้ได้ของที่อีกฝั่งอยากได้ในปริมาณที่มากขึ้น แต่ละหมู่บ้านก็ต้องไปพัฒนาความสามารถในด้านนั้นของตน เช่น หมู่บ้านในป่าต้องพัฒนาความสามารถในการล่า จะล่ายังไงให้ได้เยอะ จะต้องพัฒนาเครื่องมือของตนให้ดีขึ้น การแลกเปลี่ยนอาจจะทำให้ค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น หมู่บ้านติดทะเลอาจได้ความรู้ใหม่ว่ากระดูกของสัตว์จากป่าสามารถเอามาทำอุปกรณ์ได้ดีกว่าใช้หินใช้ไม้หรือก้างปลา กระดูกของสัตว์ในป่าสามารถทำเบ็ดได้ดีกว่า หรือ หมู่บ้านป่าได้รู้ว่าเกลือสามารถถนอมอาหารได้พวกเขาก็สามารถใช้เกลือหมักเนื้อของพวกเขากลายเป็นเนื้อเค็ม

จริงๆผลกระทบที่ตามมาจากการแลกเปลี่ยนมีมากกว่านี้แต่ผมอยากคุณไปอ่านจากหนังสือจะดีกว่าเพราะมันเยอะจริงๆแถมสนุกมากด้วย

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับผมหนังสือชุดนี้คือหนังสือที่ดีมาก ผมว่าเป็นหนังสือที่ควรหามาอ่านเพราะมันเป็นหนังสือที่ช่วยให้เราเข้าใจตัวเราเองที่เป็นมนุษย์ เข้าใจว่าทำไมฉันถึงรู้สึกแบบนั้นแบบนี้ ทำไมผู้ชายชอบมองส่วนเว้าส่วนโค้งของผู้หญิง ทำไมผู้ชายถึงชอบผู้หญิงที่ดูสาว ทำไมผู้หญิงถึงเลือกผู้ชายแล้วเลือกผู้ชายอีก ทำไมเราถึงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันทั้งๆที่เราส่วนใหญ่นั้นเป็นคนมีน้ำใจช่วยเหลือกันอยู่บ่อยๆ จริยธรรมนั้นมีมาตั้งแต่มนุษย์เกิดหรือไม่ ซึ่งเมื่อเรารู้แล้วว่าทำไมเป็นอย่างนั้นเราก็สามารถหลีกเลี่ยงหรือหักห้ามใจ (ใช้คำว่าหาเหตุผลอื่นมาสนับสนุนให้ทำอีกอย่างแทนจะถูกกว่า) ไม่ทำในสิ่งนั้นได้

การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนผมกลับไปอ่านหนังสือ “พวกฉัน พวกมัน พวกเรา” “วิทยาศาสตร์แห่งความสุข” “MISBEHAVING” แต่เป็นในมุมมองภาพรวมซึ่งมีการเชื่อมโยงส่วนต่างๆให้เราเห็นด้วย โดยส่วนตัวผมยกให้เป็นหนังสือที่ควรไปหามาอ่านเพราะมันจะทำให้คุณเข้าใจ ยอมรับ ความเป็นมนุษย์ของเรา และหาทางจัดการกับความเป็นมนุษย์ของเราครับ