ซาดิก - Zadig

ซาดิก - Zadig

ซาดิก - Zadig

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้เพราะเขียนโดย “วอลแตร์” ซึ่งเป็นคนแต่งเรื่อง “ก็องดีด” ซึ่งผมอ่านแล้วชอบในการเอานิยายที่ตัวเองแต่งมาใช้เป็นแรงให้คนหยุดงมงายในความเชื่อบางความเชื่อ โดยไม่ต้องใช้การก่นด่าสิ่งที่คนอื่นเคารพรัก แต่ใช้การยกตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆขึ้นมาและชี้ให้เห็นว่า แนวคิดพวกนี้มันตอบคำถามเรื่องพวกนี้ได้ไหม การกระทำแบบนี้มันถูกต้องแล้วเหรอ ซึ่งผมชอบวิธีการจิกกัดแบบนี้ มากกว่าการชี้หน้าด่าความเชื่อของอีกฝ่าย

“ซาดิก” นั้นเป็นนิทานคล้ายๆกับพันหนึ่งราตรีแต่มีสาระและมีเหตุมีผลมากกว่า(ผู้แต่งเขาว่าอย่างงั้น) โดยเล่าเรื่องของชายหนุ่มหน้าตาดี มั่งมีเงินทอง เก่งด้านการรบ และมีสติปัญญา หรือว่าง่ายๆคือดีทุกอย่างเลยแหละ แต่ส่วนที่ซาดิกพิเศษกว่าพระเอกเรื่องอื่นๆคือ ความสามารถในการวางตัวในสังคมได้อย่างยอดเยี่ยม ตัวอย่างเช่น ซาดิกสามารถพูดให้คนที่บูชาลัทธิ A กับ ลัทธิ B ซึ่งมีความเชื่อแตกต่างกันสามารถเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการบูชาเทพเจ้าของกันและกันได้ (อยากได้คนแบบนี้มาไกล่เกลี่ยพวกซ้ายสุดขวาสุดจริงๆ) ซึ่งถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้คุณคงคิดว่า “ซาดิก” ตัวเอกของเรานั้นจะมีความสุขใช่ไหมครับ แต่บอกเลยว่าไม่ครับ ซาดิกต้องเจอเรื่องต่างๆนาๆที่ทำให้เขาไม่มีความสุขแม้เขาจะประพฤติตนเป็นคนดีแค่ไหนก็ตาม ซึ่งเราต้องมาลุ้นกันว่า “ซาดิก” เรื่องราวของเขาจะจบลงอย่างไร

จิกกัด

ในเรื่องมีการจิกกัดความเชื่อแบบไม่มีเหตุผลในยุคนั้น (ในยุคนี้ก็ยังมีอยู่) ผ่านการใช้เหตุการณ์ที่ไม่ตรงกับความเชื่อต่างๆตัวอย่างเช่น ซาดิกนั้นต่อสู้กับโจรร้ายที่จะมาฉุดคู่หมั้นของเขาซั่งทำให้เขาบาดเจ็บที่ตาของเขา ซึ่งไม่นานก็มีการพาหมอดูและนักบวชมาดูอาการของซาดิก ซึ่งนักบวชและหมอดูก็ต่างทำนายว่าซาดิกจะต้องเสียตาไป ซึ่งเมื่อคู่หมั้นของซาดิกได้ยินดังนั้นก็เชื่อหมอดูและหนีไปแต่งงานกับผู้ชายอื่นเพราะคิดว่าซาดิกจะต้องเสียดวงตาตามคำพูดหมอดู แต่กลายเป็นว่าซาดิกไม่ยอมเชื่อและทำการรักษาแผล (แผลไม่ได้เข้าตา ตามันจะบอดได้ไง) จนสุดท้ายแผลก็หายซาดิกไม่ได้ตาบอด ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ก็ตอกหน้านักบวชและหมอดูว่า มึงมั่วนี่หว่า และก็เป็นการพิสูจน์ความรักของคู่หมั้นของซาดิกเช่นกัน

การจิกกัดในเรื่องยังมีอีกมากมาย ไม่ว่าจะจิกกัดเกี่ยวกับหลักทำว่าให้ทำดีกับคนอื่นเสมือนกับทำความดีกับหมาที่มันจะแว้งกัดเราก็ตาม (อ้าวกูเป็นหมาซะแล้ว) หรือจิกกัดเรื่องการความต้องการของมนุษย์ การพูดไม่ตรงกับความต้องการ ซึ่งผมแนะนำว่าลองไปหาอ่านกันดูครับ ถ้าคุณเข้าใจคุณจะหัวเราะออกมาทันที

อำนาจ

เรามักถูกสอนว่าอำนาจเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แม้เราจะมีอำนาจมากมายเพียงใดแต่มันก็สามารถหายไปได้อย่างรวดเร็ว ซาดิกก็เล่าเรื่องนี้เช่นกัน ในเรื่องเราจะเห็นว่าซาดิกแม้จะใช้ความรู้ความสามารถช่วยบ้านเมืองอย่างสุจริตเพียงใด แต่เขาก็สามารถสูญเสียอำนาจไปภายในระยะเวลาสั้นๆจากเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ เราจะได้เห็นว่าอำนาจนั้นเปลี่ยนผันรวดเร็วแค่ไหน และอำนาจถ้าอยู่ในมือคนที่ไม่มีสติแล้วจะเป็นอย่างไร

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับ “ซาดิก” เล่มนี้อ่านแล้วได้ความสนุกครับ ไม่หนักเหมือน “ก็องดีด” คืออ่านแบบเพลินๆสนุกไปกับชะตาชีวิตของซาดิกว่าจะเป็นยังไง ซาดิกจะยึดมั่นกับการเป็นคนดีแม้การทำดีของเขาจะนำพาความเลวร้ายต่างๆมาในชีวิตต่อไปหรือไม่ ผมแนะนำว่าลองไปหามาอ่านกันดูครับรับรองความสนุก (สำหรับผมสนุกกว่าพันหนึ่งราตรีอย่างที่วอลแตร์โม้ไว้จริงๆ)