เต๋า วิถีที่ไร้เส้นทาง - Tao

คำถามเกี่ยวกับชีวิต

เต๋า วิถีที่ไร้เส้นทาง - Tao

หลังจากลืมตาดูโลกมาได้ 20 กว่าปี เราผ่านช่วงต่างๆของชีวิตมาระดับหนึ่งไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น และเริ่มลิ้มรสวัยทำงาน ถ้าคุณไม่ค่อยมีปัญหาหนักอกหนักใจ หรืออาจจะมีแต่ไม่มาก คุณอาจจะเริ่มถามคำถามกับตัวเองเช่น “เฮ้ยเรามีชีวิตทำไมวะ” “ชีวิตต่อไปควรจะเป็นอย่างไร” “สิ่งที่เราเชื่อมันถูกต้องไหม” มันเป็นปัญหาของมนุษย์ ผมเคยได้ยินทฤษฎีเกี่ยวกับมนุษย์ที่ต้องการบางอย่าง อย่างแรกๆคือปัจจัย 4 ต่อมาก็เงินตรา ต่อมาก็เรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณ ความหมายของชีวิต สำหรับผมผมข้ามเรื่องเงินตราไปเพราะไม่ค่อยอยากได้อะไร มันเลยพาไปหาเรื่องจิตวิญญาณ ความหมายของชีวิต หลังจากได้อ่านหนังสือเชิงปรัชญา จิตวิญญาณ ไปหลายเล่ม ผมก็เริ่มสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตมากขึ้นเลยทำให้ตัดสินใจซื้อหนังสือ “เต๋า วิถีที่ไร้เส้นทาง” มาอ่าน ซึ่งจริงๆมันน่าอ่านตรงชื่อหนังสือเนี่ยแหละ วิถีที่ไร้เส้นทาง คืออ่านแล้วมันแปลกๆ บวกกับเขียนโดย OSHO ผู้ซึ่งทำให้หงุดหงิด และประหลาดใจได้ในทุกทีที่อ่าน

ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน

เต๋า ผมไม่รู้ว่ามันเรียกว่าศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่เพราะใจความสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่สิ่งนั้น เต๋าพูดถึงองค์รวม ซึ่งคล้ายกับเซนเล่มที่แล้วที่อ่าน ซึ่งพออ่านๆไปก็พอจะเข้าใจว่าเซนมันเป็นการรวมกันระหว่าง พุทธ กับ เซน เต๋าบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน สอดประสานกัน เชื่อมต่อกัน ตัวท่านเชื่อมต่อกับอดีตเพราะถ้าไม่มีอดีตบางอย่างก็คงไม่มีท่าน ท่านเชื่อมต่อกับอนาคต เพราะท่านทำอะไรสักอย่างมันก็ส่งผลต่อไปในอนาคต ต่อให้ท่านไม่ทำมันก็ส่งผลต่อไปในอนาคต การกระทำทุกอย่างส่งผลต่อกันและกัน ทำให้นึกถึงคำพูดบ้าๆที่เคยได้ยินเรื่อง “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงจันทร์” อยู่เหมือนกัน ซึ่งสำหรับตัวผมมันดูสรุปอะไรง่ายไปหน่อย เพราะจริงๆทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว แต่ประเด็นมันอยู่ที่มันเกี่ยวข้องกันยังไง คุณให้บทสรุปมันง่ายไป เหมือนไปเจอคนโดนฆ่าตายแล้วบอกว่าโดนฆ่าตายโดยใครสักคนบนโลกเพราะอยากฆ่า มันสรุปง่ายไป แต่เต๋าก็ตอบกลับผมง่ายๆว่าเฮ้ยมันเป็นแบบนั้นเพราะแบบนั้น จะเถียงก็ลำบาก แต่ก็ช่างแม่งเถอะ

ขงจื้อ VS เล่าจื้อ

ในชีวิตผมเคยได้ยินชื่อขงจื้อมาเยอะแต่ไม่ค่อยว่าเขาเป็นใคร รู้แค่ว่าเป็นคนจีนที่สร้างหลักการหรือลัทธิอะไรบางอย่างที่คนนับถือมาก ส่วนเล่าจื้อนี่พึ่งเคยได้ยินเลย พอมาอ่านนี่คือแนวคิดสองสายในจีนเลย (ถ้า OSHO ไม่มั่ว และผมขี้เกียจไปหาข้อมูลเพิ่ม) สำหรับขงจื้อนั้นคือรูปแบบของ ค่านิยม ประเพณี จารีต ที่จะปลูกฝังให้คนรู้ว่า ท่านควรจะต้องทำอะไร ท่านต้องมีกริยามารยาทยังไง ใช้ชีวิตยังไง เป็นคล้ายๆ HOW TO ในการเป็นคนที่ดี(ในนิยามของคนจีน)ในสังคม ซึ่งผมก็โอเค แต่พอมาเล่าจื้อนี่บอกเลยว่า พูดอะไร พูดอะไร พูดอะไร (พูดสามครั้งเพื่อเป็นการบอกว่าไม่ได้หลงลืม ไม่ได้ไร้สติ) คือเรื่องเต๋าที่ OSHO เล่า(หรืออาจจะเป็น เต๋า Official) เป็นเรื่องสั้นๆ หรืออาจจะเป็นนิทาน พูดถึง “ขงจื้อ” ซึ่งแม่งแบบอ่านแล้ว เออก็ถูกดี เรื่องแรกที่อ่านคือ เรื่อง ขงจื้อไปเจอคนจนบนภูเขา มีความสุข มีการไต่ถามกันว่าทำไมมีความสุข คนจนตอบประมาณว่า เขาได้เกิดเป็นคนซึ่งประเสริฐที่สุด ได้มีอายุยืนยาว เขามีความสุขดี เขาสามารถหาความสุขได้ร้อยแปดพันประการ ผมอ่านแรกๆก็รู้สึกดี แต่พอ OSHO แกถอดความที่ซ่อนไว้ ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าเต๋าจะเข้ารหัสข้อความให้มันเข้าใจยากเพื่ออะไร ให้คนเลิกศึกษาเต๋า หรือให้เห็นความสำคัญถึงความยากกว่าจะถอดรหัสได้ หรืออะไร ซึ่งผมว่ามันไม่ง่ายเลยทีคนธรรมดาจะอ่านแล้วเข้าใจ มันต้องใช้การตีความในการมองกลับแบบสุดๆ เรามาดูการถอดรหัสของ OSHO กัน

ท่านสุขท่านทุกข์เพราะการเปรียบเทียบ

OSHO ถอดรหัสว่า (ผมแนะนำให้ซื้อหนังสือมาอ่านเพราะจะได้อ่านแบบ Original จริงๆ) ประโยคที่ว่า เขาโชคดีที่ได้เกิดเป็นคนซึ่งประเสริฐที่สุดนั้น นี่คือตัวอย่างแรกของการเปรียบเทียบ ทำไมล่ะ เราเกิดเป็นคนทำไมถึงประเสริฐที่สุด มด หมู แมว ต้นไม้ ทำไมไม่ใช่สิ่งประเสริฐล่ะ ประโยคที่ว่าได้โชคดีที่เกิดเป็นคนถือว่าเป็นสิ่งประเสริฐนี่คุ้นๆกันไหม ผมได้ยินมาตั้งแต่ประถมแล้วก็เชื่อว่าประเสริฐที่สุด แต่คำถามของเต๋าคือ ทำไมมนุษย์ประเสริฐที่สุดล่ะ มันมีเหตุผลอะไร ถ้าเหตุผลที่ผมได้ยินตอนเด็กคือ เราทำอะไรได้มากมายหลายอย่างมากกว่าสัตว์ เดินได้ วิ่งได้ คิดได้ “ดีกว่า” พอมีคำว่า “ดีกว่า” นั่นแปลว่าท่านกำลังเปรียบเทียบ การประเสริฐได้แปลว่าท่านดีกว่าคนอื่น แล้วความทุกข์ความสุขล่ะ ท่านเคยได้ยินคำพูดที่ว่า ดูสิท่านเดินได้ “ดีกว่า” คนพิการตั้งมากโขซึ่งท่านควรจะรู้สึกมีความสุขนะเพราะท่าน “ดีกว่า” เกิดท่านเป็นคนขาขาดข้างเดียว ท่าน “ดีกว่า” คนขาขาดสองข้าง แต่ท่าน “แย่กว่า” คนขาครบ พออ่านถึงตรงนี้ผมว่าทุกคนคงจะเริ่มเห็นภาพอะไรแปลกๆขึ้นมาแล้วรึเปล่า ความสุขของท่านมันเกิดมาจากอะไรกันแน่เหรอลองมองเข้าไปลึกๆ เวลาเราบอกว่าเรามีความสุข ความสุขที่ว่ามันมาจากอะไร มันมาจากการเปรียบเทียบรึเปล่า เรามองไปที่คนที่แย่กว่ารึเปล่า มองไปที่ขอทานแล้วนึกว่า “เฮ้ย เราก็มีความสุขดีนะ ดีกว่า เขาตั้งเยอะ” หรือ เวลามองไปที่คนที่รวยกว่า สะดวกสบายกว่า เราก็จะพูดว่า “เฮ้อ ทำไมเราไม่เป็นแบบนั้นนะ เรา แย่กว่า เขาตั้งเยอะ” จริงๆมันไม่ได้แค่การตีความแค่เทียบกับคนอื่นนะ แต่มันตีความถึงการเปรียบเทียบระหว่างอดีตด้วย เช่น สมัยก่อน “แย่กว่า” นี้ตั้งเยอะ สมัยก่อน “ดีกว่า” ตั้งเยอะ พออ่านถึงตรงนี้ผมเห็นอะไรบางอย่าง ความทุกข์ความสุขที่เห็นอยู่ตอนนี้ นั้นมาจากการเปรียบเทียบทั้งสิ้น เปรียบเทียบกับผู้อื่น เปรียบเทียบกับอดีต ความสุขไม่เคยอยู่จริงกับเราเลย ขอแค่มีตัวแปรที่เอามาเปรียบเทียบเปลี่ยน เราก็พร้อมจะเปลี่ยนเป็นทุกข์เปลี่ยนเป็นสุขได้ตลอด นี่คงเป็นสิ่งที่เล่ม “เบิกบานยินดี” กำลังจะบอกเรื่องวัฏจักรความสุขความทุกข์แต่ไม่ได้อธิบายได้เห็นภาพเท่าเล่มนี้ ถ้าความสุขเกิดจากการเปรียบเทียบแปลว่าอะไร แสดงว่าท่านต้องสร้างคนที่ทุกข์เพื่อที่ท่านจะได้ยังคงความสุขอยู่รึเปล่า การตีความแบบสวนกระแสฉีกตำราแบบนี้คงหาได้ยากตามหนังสือทั่วไป แล้วก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไม OSHO ถึงถูกระบุว่าเป็น “บุคคลอันตราย” เพราะสิ่งที่แกยึดถือนั้นออกจะทวนกระแส และเป็นมุมมองที่ฟังแล้วค่อนข้างตรงกับสิ่งที่ซ่อนเร้นในจิตใจลึกๆของเรา

เกราะทางใจ

เล่มนี้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “เกราะทางใจ” จริงๆมันไม่เรียกว่าเกราะทางใจหรอก มันเรียกว่าสิ่งลดการกระทบกระเทือนทางใจ ผมเลยเรียกมันใหม่ว่าเกราะทางใจละกันง่ายดี เกราะทางใจคือสิ่งที่เราสร้างมาเพื่อให้เราสบายใจ ว่าง่ายๆอย่างเช่น เรื่องทุกข์สุขอย่างที่ผมว่า เราบอกให้ “มองทางโลกให้มองต่ำ” มองไปแบบนี้แล้วเราก็สบายใจว่าเราดีกว่าตั้งหลายคน หรือไม่ก็ที่พีคๆหน่อยเวลาเกิดความทุกข์คือ “เพราะเราทำเวรทำกรรมไว้ ในชาติที่แล้ว” หรือ “ท่านไปไถ่บาปซะนะ ท่านจะได้มีความสุข” อันนี้เป็นเกราะทางใจทางศาสนา เกราะทางใจในเชิงวิทยาศาสตร์ก็มีเช่น เวลาไปหาหมอจิตวิทยาในแบบฟรอยด์ เขาก็ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะแม่ เป็นเพราะวัยเด็ก เป็นเพราะเก็บกดอะไรไว้ (รายละเอียดไปอ่านเพิ่มได้จาก “กล้าที่จะถูกเกลียด” แล้วท่านจะได้แนวคิดที่แตกต่างจากฟรอยด์ ) เรื่องพวกนี้ก็เป็นเกราะทางใจเหมือนกัน สำหรับผมมันเป็นเกราะทางใจจริงๆมันมีข้อดีนะ มันเป็นยาที่ช่วยให้คนอยู่ได้จริงๆ แต่สำหรับคนที่อยากรู้จริงๆ (ช่างสงสัยใคร่รู้) ก็คงอยากจะทลายเกราะทางใจนี้เพื่อตามหาว่า สุขทุกข์จริงๆมันคืออะไร อยากเห็นโลกแบบจริงๆแบบที่มันเป็น

สุภาพบุรุษ สุภาพสตรี

อีกส่วนหนึ่งที่อ่านแล้วสะท้อนความจริงได้ดีก็คือเรื่องการเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี ความหมายในที่นี้คือการเป็นคนที่กระทำบางอย่างตามระเบียบ ประเพณี มารยาท เช่น การแสดงออกทางความรู้สึก ตอนแรกผมอ่านก็เออแล้วไมวะ เป็นก็ดีแล้วนี่ แต่จริงๆแล้วการทำแบบนั้นคือการใส่หน้ากากเหมือนกัน สำหรับผมเวลาคุยกับเพื่อนโปรแกรมเมอร์ที่เรียนมาด้วยกัน หรือเพื่อนสมัยเรียน มันสบายใจมากเพราะทุกคนพร้อมจะแสดงความรู้สึกที่แท้จริง (ผมคิดว่างั้นนะ) โกรธคือโกรธ ชอบคือชอบ เกลียดคือเกลียด เราไม่ต้องกลัวเวลาอยู่กับคนพวกนี้ ถ้ามันโกรธก็ขอโทษ แต่เวลาไปคุยในห้องประชุม(หน้าหมา)ดูสิ มันเป็นความรู้สึกเหี้ยๆที่เราต้องไปคอยสังเกตอารมณ์ สังเกตกริยาท่าทาง ต้องพูดอะไรแปลกๆ ทำไมเราไม่พูดสิ่งที่เป็นจริง ต้องประดิษฐ์ประดอย ปั้นหน้า ห่าเหวอะไร เราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร สุภาพบุรุษ สุภาพสตรี เขาแสดงความรู้สึกที่แท้จริงของเขารึเปล่า เพราะมันมาจากการฝึกของพวกเขา จนบางทีพวกเขาเองอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขารู้สึกยังไง

สิ่งที่ขัดแย้ง

เวลาอ่านหนังสือของ OSHO มันจะต้องมีข้อขัดแย้งเสมอก็ตามเดิมแหละคือเขาชอบสรุปอะไรง่ายๆแบบจับแพะชนแกะ แกบอกว่าเต๋าไม่มีเส้นทาง แต่การสอนที่แกพูดในเล่มนี้เป็นเส้นทาง เต๋าไม่ตัดสินคนอื่นแต่ในเล่มตัดสินขงจื้อเป็นคนไม่ถูกต้องสำหรับเต๋าแล้ว แต่ผมก็พอเข้าใจนะเพราะหนังสือทั้งหมดของแก แกไม่ได้เขียน แต่มีคนเอาสิ่งที่แกพูดแล้วได้บันทึกไว้มาเรียบเรียงเป็นหนังสือมันเลยดูขัดแย้งกัน แต่เรื่องจับแพะชนแกะสำหรับผมยอมรับไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ดังนั้นสำหรับใครที่อ่านหนังสือของ OSHO ผมแนะนำให้คิดตาม คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล อย่าเชื่อทั้งหมด เพราะ “ทุกสิ่งที่ OSHO เล่า เป็นแค่กากตะกอนความคิด ของผู้ที่ตายไปแล้ว” ซึ่งในหนังสือก็บอกไว้เหมือนกัน ผมแค่เอาคำพูดของ OSHO มาพูดซ้ำ และผมว่าแกคงจะเห็นด้วยกับผม และสิ่งที่ถูกต้องคือ ท่านต้องลองด้วยตัวท่านเอง เพราะเรื่องพวกนี้ไม่สามารถส่งต่อกันได้ง่ายๆ

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรังเล่มนี้ทำให้ผมเห็นเรื่องความสุขความทุกข์แบบที่เป็นอยู่มากขึ้น การเปรียบเทียบ การตัดสินผู้อื่น ซึ่งทำให้เราสุขให้เราทุกข์ และพอมองเห็นวิธีจะก้าวออกจากวงจรวัฏจักรสุขทุกข์แบบนี้ เรื่องเกราะทางใจที่ทำให้เราเข้าใจคำสอนต่างๆมากขึ้นและก้าวข้ามเกราะทางใจเข้าไปลึกกว่านี้ ซึ่งก็ต้องลองว่ามันจะเป็นจริงไหม เพราะ “สิ่งที่ OSHO เล่า เป็นแค่กากตะกอนความคิดของผู้ที่ตายไปแล้ว”

เพลงที่อยากนำเสนอ

สำหรับบทความนี้ไม่มีเพลงประกอบการเขียน เนื่องจากมีพระสวดมนต์ตอนเขียนอยู่ เลยเปลี่ยนเป็นเพลงที่อยากนำเสนอ ซึ่งเพลงนี้คือ “อยากรักเท่าที่อยากรู้” ของพี่แอน (อีกแล้ว คือฟังเสียงพี่เขาแล้วสบายหูมาก แบบเครียดๆเรื่องงาน พอกลับบ้านเปิดเพลงพี่แอนฟังแล้วอารมณ์เย็นลงเยอะมาก ) เพลงนี้ผมว่าตรงกับเรื่องที่อ่านๆมาในระดับนึง รักแท้มีแต่คนนิยามกันว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมไม่ต้องเชื่อคนอื่นในเรื่องรักแท้ แค่สัมผัสเรียนรู้ไปกับมัน ใครจะบอกว่ามันคืออะไร ใครจะว่ามันดีไม่ดี ถูกต้องไม่ถูกต้องไม่สำคัญ เรารู้ว่ามันคืออะไรน่านี่สิสำคัญ เพลงนี้ก็เหมาะเปิดในงานแต่งเหมือนกันนะ ถ้าคิดแบบตลกๆหน่อยว่า ถ้าเกิดได้นั่งจัด List เพลงที่จะเปิดในงานแต่งคงมีเพลงพี่แอนอยู่ในนั้นเกินครึ่งแน่ๆเลย

ปล. เพลงนี้หา MV Official ของ GMM ใน Youtube ไม่เจอเลยไปเอาของที่คนโพสไว้มาแปะ ส่วนใครอยากฟังแบบเสียงคุณภาพ (รู้สึกสบายไปกับเสียงพี่แอน) แนะนำ http://www.joox.com/th/th/single/++5aIKhljog4nlvrU_D8+g== เลยครับ

เมตตาอาทร กลิ่นหอมยามรักผลิบาน - Compassion

ความเมตตาคืออะไร

เมตตาอาทร กลิ่นหอมยามรักผลิบาน - Compassion

ความหมายของคำว่าเมตตาคืออะไร ถ้าถามกันตรงๆผมก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่ามันคืออะไร มันคือความรักที่คนมอบให้แก่กันหรือ ผมเคยเมตตาใครสักคนหรือเปล่า ไอความสงสารที่ผุดขึ้นมาในบางครั้งมันคือความเมตตาไหม แล้วความเมตตาของเรามันก่อให้เกิดประโยชน์จริงรึเปล่า ถ้าคุณเคยให้เงินขอทานแล้วมารู้ทีหลังว่าโดนหลอกคุณแล้วรู้สึกโกรธนั่นแปลว่าคุณมีความเมตตาไหม พอไปเห็นหนังสือชื่อเรื่องเมตตาอาทร ก็เลยสั่งมาอ่านซะเลย แล้วก็ตามเดิมคือหนังสือเล่มนี้เป็นของ OSHO นั่นแปลว่าผมกำลังจะได้มุมมองแปลกๆซึ่งเหมาะกับการแก้เบื่อบนรถไฟฟ้า BTS ที่ยาวนาน

กลับบ้าน

เริ่มอ่านก็มาแนวศาสนาพุทธเลย พูดถึงการหลุดพ้น ทำการแยกระหว่างปัจเจกพระพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้าว่าแตกต่างกันอย่างไร โดยก็ตามนิยามที่ว่าปัจเจกคือผู้ที่บรรลุแล้วก็บรรลุเลย ส่วนพระพุทธเจ้านั้นแตกต่างเพราะพระองค์มีสิ่งที่เรียกว่าเมตตาอาทร พระองค์จึงพยายามอธิบายช่วยผู้คนบรรลุไปด้วย OSHO ยกตัวอย่างการบรรลุเหมือนการกลับบ้าน เมื่อท่านถึงบ้านของท่านแล้วท่านจะสนใจคนอื่นทำพระแสงอะไร ท่านถึงบ้านท่านแล้วท่านสบายแล้ว ท่านไม่ได้ทำอะไรผิด ท่านก็แค่เข้าไปพักในบ้านท่าน ท่านไม่ใช่คนเห็นแก่ตัวอะไรเลย แต่พระพุทธเจ้านั้นแปลกกว่าตรงที่ ท่านถึงบ้านละ รู้ละว่าจะได้พัก แต่ท่านมีความเมตตาอาทรท่านเลยช่วยเหลือให้ผู้อื่นกลับบ้านด้วย OSHO ยกทฤษฏีอะไรสักอย่างซึ่งผมเห็นว่าเพ้อเจ้อมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งอ่านแล้วคิดว่าถ้าเอาออกก็ไม่เสียหายอะไร

ความเมตตาจอมปลอม

ในปัจจุบันคนเรามีความเมตตาจอมปลอมเยอะมาก ซึ่งมันถูกนิยามให้กลายเป็นความเมตตาที่ควรทำ เช่น การช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อตอบสนองให้ตัวเองรู้สึกเป็นคนดี อันนี้คือเรื่องจริงๆนะ คือในส่วนลึกของจิตใจหยาบๆของผมนั้นมีแว๊บนึงเสมอเวลาช่วยใครสักคนแล้วมันทำให้รู้สึกว่า เฮ้ย “กูเนี่ยคนดี” ยกตัวอย่างกรณีง่ายๆก็อย่างกรณีลุกให้ผู้หญิงนั่งนี่โคตรจะเห็นภาพเลย คือจริงๆเราแค่ไม่ได้อยากช่วยหรอกแค่อยากสนองความรู้สึกที่ทำให้ตัวเองเป็นคนดี ซึ่งข้อนี้ถือเป็นการพูดเรื่องที่หลายคนพยายามซ่อนมันไว้ในใจ เคยมีคนบอกว่าสนทำไมผลลัพธ์มันเหมือนกัน อันนี้ผมไม่ค่อยเห็นด้วยนะเพราะผมทำมันมาทุกวันจนมันเริ่มทำให้ผมคิดว่าตกลงมันเป็นสิ่งมีคุณค่าไหม มันใช่สิ่งควรทำจริงหรือ

จงปฏิบัติกับคนอื่นเหมือนกับที่อยากให้คนอื่นปฏิบัติกับตัวเอง

นี่เป็นอีกคำสอนที่ผมได้รับการสั่งสอนมา มันเหมือนเป็นเรื่องดีนะ แต่ลองมองให้ลึกๆเข้าไปจะเห็นบางอย่างมันคือเงื่อนไขไง เงื่อนไขที่ว่าเราทำบางอย่างเพื่อให้คนอื่นทำกับเราแบบนั้น เราช่วยเพราะอยากให้อื่นมาช่วยเราบ้างเป็นการทำบางอย่างเพื่อหวังผลตอบแทน แล้วมันเป็นยังไงต่อ พอช่วยก็หวังผลตอบแทน พอเขาไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น ทันใดนั้นคุณก็หมายหัวคนคนนั้นไปแล้วว่า ไอ้เวรนี่น่าจะไม่ใช่คนดี ไม่ปกติ กรณีนี้อาจจะไม่เห็นภาพเท่าไหร่ กรณีที่เห็นภาพชัดๆคือเรื่อง นรก สวรรค์ อันนี้ภาพง่ายเลย คนทำดีได้ไปสวรรค์ ซึ่งมันก็คือการตั้งเงื่อนไข เราทำเพื่อให้เราได้ไปสวรรค์ เราทำเพื่อตอบสนองให้เห็นว่าเราเป็นคนดี เราพยายามแบ่งแยก แบ่งว่าเราเป็นคนดี แบ่งคนอีกกลุ่มที่ไม่ทำเป็นคนไม่ดี จะต้องตกนรก ซึ่งจริงๆเขาอาจจะเป็นคนปกติก็ได้แค่เขาไม่ทำอะไรแบบคุณ สำหรับผมผมเกลียดไอเรื่องสวรรค์นรกนี่มากเพราะมันทำให้คนทำดีเพราะหวังอยากขึ้นสวรรค์ ทำไปแบบส่งๆ ทำให้คนเพ้อฝันอยู่กับโลกหน้ามากกว่าจะอยู่กับป้จจุบัน รู้ว่าความสุขมีได้ตั้งแต่ตอนนี้

ยอมรับในตัวตน

ในหนังสือพูดถึงความเมตตาอาทรว่าคือความรักเป็นความรักที่บริสุทธ์ OSHO บอกว่าคนที่จะมีความเมตตาอาทรแบบนี้ได้ต้องปฏิบัตสมาธิภาวนามาก่อน ซึ่งตรงนี้ผมค่อนข้างจะเบื่อมากกับการพูดแบบนี้ของแก เพราะทุกเล่มที่แกเขียนแกตอบแบบนี้หมด ในมุมมองผมสำหรับแกแล้วสมาธิภาวนาคงเป็นกระสุนเงินฆ่าปิศาจแน่ๆ แต่ช่างมันเถอะครับ รายละเอียดที่ผมอ่านแล้วพอจะเอามาใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้คือ การยอมรับในตัวตน ไม่ว่าจะเป็นของตัวเองหรือผู้อื่น การยอมรับตัวตนทีว่าคือการยอมรับว่าแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ยอมรับในความแตกต่าง ยอมรับในการที่เขาเป็นตัวเขา ยอมรับว่าตัวเราก็คือตัวเรา ไม่ต้องตัดสินว่าเขาผิด ไม่ตัดสินว่าเขาเป็นคนพวกไหน แต่จงยอมรับเขาว่าเขาคือเขา เขามีหนึ่งเดียวในโลกใบนี้ หากทำได้เราจะปฏิบัติกับเขาตามสภาพความเป็นจริง ปราศจากอคติ ไม่ได้หวังผลตอบแทนหรือสิ่งใด เป็นการปฏิบัติอย่างใสซื่อกับเขา ซึ่งเรื่องนี้ผมยอมรับว่าดีเลย ในสังคมสมัยใหม่ เราพยายามชูประเด็นเรื่องความแตกต่าง แต่คนที่เรียกร้องกลับพยายามแบ่งแยกคนเป็นกลุ่มๆซึ่งนั่นมันใช่เหรอ คุณต้องการให้ยอมรับความแตกต่าง แต่คุณกลับจับคนไปรวมเป็นพวกๆ จัดกลุ่มคน แล้วมันต่างอะไรกับคนที่คุณเกลียดทำอยู่ล่ะ ในหนังสือเขียนให้ลองนึกภาพถามว่า หากมีใครสักคนมองมาที่คุณ ยอมรับในความเป็นตัวคุณ ยอมรับว่าคุณคือตัวคุณ คุณคิดว่าคุณจะรู้สึกมีความสุขแค่ไหน ผมลองนึกภาพตามว่า หากมีใครสักคนยอมรับผม ยอมรับแนวคิด ยอมรับความปากหมา ยอมรับความเป็นตัวตนของเราได้ขนาดนั้น ผมว่าผมคงรู้สึกตื้นตันใจขอบคุณคนคนนั้นที่ยอมรับความเป็นตัวผม หากทุกคนทำอย่างนั้นได้ผมว่าโลกนี้คงสวยงามน่าดู

รักตัวเองก่อนรักคนอื่น

ประเด็นนี้ก็ถือว่าเจ็บมากคือเราถูกสอนให้ช่วยผู้อื่นตลอด แต่เราไม่เคยถูกสอนให้รักตัวเองมากๆเพราะมันจะกลายเป็นการเห็นแก่ตัว สำหรับผมผมเห็นด้วยกับการรักตัวเองก่อนนะ เพราะการที่เราจะรักคนอื่นได้เราต้องรักตัวเองก่อน มันเหมือนกับการช่วยคน ถ้าจะช่วยใครสักคนคุณควรจะอยู่ในสภาวะที่พร้อมที่จะช่วย เช่น ถ้าจะช่วยคนจมน้ำแต่คุ่ณว่ายน้ำไม่เป็น คุณกระโดดน้ำไปช่วยคนจมน้ำอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าคุณจะช่วยเหลือคนอื่นคุณต้องประเมินตัวเองก่อนว่าคุณช่วยเขาได้ไหม รักตัวเองในความคิดของผมนั้น คือการทำให้ตัวเองอยู่ในสภาวะที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้โดยที่ตัวเองไม่เดือดร้อน ส่วนในด้านจิตวิญญาณคือก่อนจะช่วยคนอื่น ช่วยให้ตัวเองหลุดพ้นให้ได้ก่อนไหม เพราะถ้าตัวเองยังไม่หลุดพ้นก็เหมือนคนว่ายน้ำไม่เป็นกำลังไปช่วยคนที่จมน้ำ ผลลัพธ์ออกมาคืออาจจะช่วยคนจมไม่ได้ หรือไม่ก็จมน้ำตายห่าด้วยกันทั้งคู่ แต่ในสังคมกลับแปลกประหลาด เวลาคนรวยจ่ายเงินมหาศาลช่วยคนยากไร้ถูกกลับมองว่าเอาหน้า จริงอยู่ที่มันเอาหน้าแต่เขาช่วยโดยเขาไม่เดือดร้อนนี่มันเป็นเรื่องดีออก แต่เวลาคนไม่มีอันจะกินช่วยกันกลับกลายเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เพราะอะไรก็คงเพราะเฮ้ยยังเอาตัวเองจะไม่รอดแต่ยังช่วยคนอื่น ซึ่งนั่นเหมือนแสดงคนคนนี้ต้องเป็นคนดีที่แสนจะเมตตาเลย ซึ่งการกระทำของคนสองคนมีปลายทางเดียวกันแท้ๆ คนนึงกลับถูกตราหน้าอีกคนกลับถูกสรรเสริญ เราเอาอะไรมาแบ่งเรื่องพวกนี้อะ ผมคิดว่าเรากำลังพยายามแบ่งพวกกันอยู่แน่ๆ

เรื่องหงุดหงิด

ถ้าคุณได้อ่านหนังสือพวกนี้บ่อยๆคุณจะเริ่มเห็นความจับแพะชนแกะ หรือการสรุปสิ่งต่างๆเอาง่ายๆของคนเขียนหนังสือแนวๆนี้ อย่าง OSHO แกชอบเอาธรรมชาติมาเปรียบเทียบ เช่น ความเมตตาอาทรเปรียบเหมือนกับกลิ่นหอมดอกไม้ เพราะว่ามันปล่อยกลิ่นหอมออกมาโดยไม่ระบุเป้าหมาย มันปล่อยให้ล่องลอยไปตามลม มันเป็นความรักที่ไม่หวังผลตอบแทน เอ่อ ถ้า OSHO ได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์อย่างที่ผมได้เรียนเขาคงไม่ตอบอย่างนั้น เพราะกลิ่นหอมนั้นล่อแมลงเพื่อให้แมลงมาผสมเกสร เพื่อพัฒนาจากดอกให้กลายเป็นผลและแพร่พันธุ์ต้นไม้ต่อไป ถ้าเขาใช้เปรียบเทียบผมโอเคนะ แต่จะมาเออออว่ามันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ วิทยาศาสตร์คือศาสตร์ในการหาความจริงแบบพิสูจน์กลับได้ แตกต่างจากสิ่งที่ OSHO กำลังบอก จริงๆมีอีกหลายเรื่องเช่น การมีกฏเกณฑ์ในสังคม การพยายามยกตัวอย่างที่จะออกมาแนว Best casae เสมอเช่น โจรขึ้นบ้าน แทนที่เราจะฆ่าโจร ป้องกันโจรไม่ให้ขึ้นบ้าน แต่กลับพูดดีกับโจร บอกโจรว่าเอาไปแล้วเหลือให้ด้วย ให้โจรขอบคุณ ใช่ครับโจรมันอาจจะโอเค แต่จะมีโจรกี่คนซาบซึ้งในสิ่งที่ท่านทำให้นี้ ผมว่ามีแต่มันจะหัวเราะเยาะ ไม่แน่มันอาจเอามีดปาดคอท่านปิดปากเนื่องจากเห็นหน้าท่านไปแล้วก็ได้ OHSO ยกแต่ Best case เสมอ คิดว่ามนุษย์ทุกคนต้องคิดได้ ผมว่ามันตลกถ้าทุกคนคิดได้คงไม่มีโจรแล้วแหละ หลายๆเรื่องที่อ่านไปก็มีสับสน ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจ ซึ่งคงทำได้แต่เอาส่วนที่พอจะเอาไปใช้ในชีวิตได้มาใช้

อ่านแล้วได้อะไร

เล่มนี้อ่านแล้วได้อะไร สำหรับผมผมว่าอ่านแล้วได้รู้จักกับความรักที่จะยอมรับใครสักคนในแบบที่เขาทำ มองเขาแบบที่เขาเป็น ส่งเสริมช่วยเหลือเขาในระดับที่เราช่วยเหลือได้ และไม่สร้างความเดือดร้อนให้เราไม่ว่าจะเดือดร้อนทางกายหรือทางใจ เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นเราจะช่วยเขาโดยไม่หวังผลตอบแทน เราจะมีความเมตตาอาทรที่สวยสดงดงามที่สุดเท่าที่เราจะคิดได้

เพลงประกอบการเขียนบทความนี้

สำหรับเพลงนี้ผมได้ยินครั้งแรกตอนดูละครช่อง 5 แล้วมันก็หายไปเนิ่นนาน จนมาอยู่ในช่วงเศร้าเมื่อไม่นานมานี้ซึ่งตอนนั้นไม่รู้จะทำอะไรให้หายเศร้าเลยไปโหลด Joox แล้วมาสร้าง Playlist เพลงฟังแก้เศร้าขึ้นมา เลยได้มีโอกาสมาฟังเพลงนี้อีกครั้ง แล้วพอได้อ่านหนังสือเล่มนี้เรื่องการยอมรับความแตกต่าง ยอมรับตัวตนของคนคนนั้นซึ่งเพลงนี้ก็ตรงตามนั้นเลย เช่นท่อน “ไม่มีตรงไหนที่ไม่รัก รักเธอที่เธอเป็นเธอ” พอฟังแล้วนึกตามความหมายนี้แล้ว ผู้ชายคนคนนี้คงต้องรักผู้หญิงคนนี้มากแน่ๆ เพราะเขาสามารถยอมรับทุกสิ่งที่คนรักของเขาเป็นได้ เหมาะกับการเป็นเพลงบอกรักจริงๆ ฮ่าๆๆๆๆ

The Dumb Waiter

The Dumb Waiter

ละครเวทีอีกรอบ

ตั้งแต่ต้นปีที่ได้มีโอกาสไปเจอใบปลิวเกี่ยวกับละครเวทีฟรีที่จุฬา ตั้งแต่นั้นก็ได้ไปชมละครเวทีฟรีทุกครั้งที่มีโอกาส ซึ่งถามว่าทำไมต้องฟรีก็ว่าง่ายๆอะครับ ไม่อยากเสียเงิน รอบนี้ก็เป็นอีกรอบที่ไปดู บรรยากาศเมื่อไปถึงคือ เฮ้ย ทำไมคนเยอะจังวะ เยอะมากครับ ผมเคยมาดูรอบประมาณสำหรับเรื่องอื่นนี่เกือบจะไม่มีคนเลย ประมาณว่าจะเลือกนั่งตรงไหนก็ตามใจเลย รอบนี้เนื่องจากคนเยอะทำให้นั่งเกือบบนสุด แต่ก็ดีนะได้บรรยากาศใหม่เพราะปกตินั่งหน้าตลอด รอบนี้เลยได้ดูจากมุมสูงได้เห็นอะไรเยอะขึ้น

เนือย เนือย เนือย

ละครเริ่มก็บอกถึงความเนือยเลยครับ ในช่วงแรกนี่แบบเนือยมากไม่มีอะไรให้น่าสนใจ 5 นาทีแรกเราอยู่กับความเงียบ นั่งดูการเคลื่อนไหวไปมาของนักแสดง บทสนทนาก็ดูอึดอัด ฝ่ายหนึ่งถาม ฝ่ายหนึ่งไม่ตอบ ฝ่ายหนึ่งถาม ฝ่ายหนึ่งตอบไม่ตรง ดูแล้วมันขัดอารมณ์มาก ละครต้องการบอกอะไรก็ไม่รู้ ลากยาวไปตอนกลางเรื่องก็ค่อยมีเรื่องให้น่าติดตามว่าทำไมถึงมีของส่งลงมา แต่ประเด็นมันอยู่ที่ ทำไมตัวละครต้องแบบนั้นด้วย แม่งโคตรไม่สมเหตุสมผล ดูไปเรื่อยๆจนจบก็ไม่มีข้อสรุปอะไรสักอย่าง จบแบบงงๆ

งง แล้วก็ งง

บอกตามตรงพอละครจบนี่ไม่อยากปรบมือเลยนะคือมันหงุดหงิดจริงๆนะเวลาเจอละครแบบนี้ แต่พอมาคิดก็ เขาอุตส่าห์แสดง เตรียมงาน ฝึกซ้อม มันคือการพยายาม ก็เลยปรบมือให้เรื่องพวกนี้แทน จากนั้นเดินออกจากโรงแบบเหงาๆ รอบนี้ไม่มีใบประเมินก็เลยเดินตรงกับบ้าน ด้วยความสงสัยเลยเข้าไป Search ว่าเรื่องนี้เขาแต่งขึ้นเอง หรือไปเอาบทละครที่มีอยู่แล้วมาเล่น ซึ่งพอค้นหาก็พบว่าเป็นบทละครที่มีอยู่แล้ว ตามลิ้งนี้เลย ซึ่ง Search ไป Search มามีทำเป็นหนังด้วยนะ

ซึ่งพออ่านคร่าวๆก็พบว่าเนื้อเรื่องเขาเขียนแบบนั้นจริงๆ ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าคนเขียนเขาต้องการสื่ออะไร คงจะต้องไปหาอ่านแบบจริงๆจังๆว่าเขาหมายความว่าอะไร ส่วนตัวนักแสดงผมว่าเล่นได้ดีนะ แบบคนนึงก็กวนได้ดีจริงๆ ส่วนอีกคนก็ช่างถาม แล้วก็เล่นได้โอเคมากเลยนะ ที่ติมีอย่างเดียวคือเนื้อเรื่องเนี่ยแหละที่ตกลงมันต้องการสื่ออะไรกันแน่ อ้อ แล้วถ้าใครอ่าน Blog ผมแล้วเจอโปรแกรมเมอร์ใส่แว่นเดินไปดูละครเวทีที่จุฬาก็ทักได้นะครับ เผื่อว่าเราดูละครจบแล้วจะได้คุยกันว่า ตกลงมันหมายความว่าอะไรวะ

คำตอบ

รวมตัวเหล่าโปรแกรมเมอร์

หลังจากเรียนจบปริญญาโทได้ไม่นาน เพื่อนๆสมัยเรียนอุดมศึกษาก็อยากจะนัดเลี้ยงเนื่องในโอกาสเรียนจบ ซึ่งจริงๆอยากมาเจอกันแหละแต่นัดกันยากเหลือเกินมันต้องมีวาระเช่น เรียนจบ งานแต่ง งานบวช งานศพ ถึงจะมาเจอกันได้ มันเลยใช้โอกาสนี้ในการนัดมาเจอกันซึ่งรอบนี้แปลกหน่อยตรงที่จะนัดไปกินข้าวดันนัดไปลานเบียร์ ซึ่งพอถึงวันนัดกว่าจะครบองค์ประชุมได้ก็ล่อไป 3 ทุ่มกว่าๆ

ลิ้นเริ่มพันอะไรก็เกิดขึ้นได้

ระหว่างรอครบองค์ประชุมผมกับเพื่อนๆก็เล่นกันไปหลายแก้ว จนองค์ประชุมเริ่มมาครบก็เริ่มคุยกันแต่รอบนี้เสียงเพลงมันดังเหลือเกินคุยกันต้องตะโกนคุย พอยิ่งกินยิ่งไม่เหมือนเดิม ถามว่ามีสติไหมก็มีนะไม่ได้กินจนไม่รู้เรื่องแบบ Hangover จำไม่ได้ว่าคุยเรื่องอะไรไปบ้างแต่จำได้แม่นก็เรื่องความรัก แต่ละคนก็มีทางของตัวเอง พอคุยไปสักพักนึงก็นึกถึงตัวเอง เฮ้ย “มันยังมีคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบอยู่นี่หว่า” ทำไมไม่ถามให้มันสิ้นเรื่องสิ้นราววะ คือจริงๆที่เธอ Block ทุกช่องทางการติดต่อที่ผมติดต่อได้นั้น จริงๆหลังจากนั้นสักพักเนี่ย ผมรู้ว่าเธอสมัคร Line ใหม่ ซึ่งจริงๆผมก็แค่ Add ไปแล้วถามให้จบเรื่องจบราว แต่ผมก็ไม่ทำ จริงๆมีช็อตที่ง่ายกว่า Line อีกก็คือ ตอนนั้นมีนัดกินข้าวกันแล้วบังเอิญผมไปเจอกับเธอตัวเป็นๆแต่ก็ไม่กล้าถามกลัวจะไปทำให้เธอไม่สบายใจ ซึ่งตอนนั้นคิดว่าเฮ้ยดีแล้ว แต่ ณ ตอนนั้นที่ลานเบียร์ผมคิดว่า แม่ง “โคตรโง่ โง่บัดซบ” เลยตัดสินใจ Add Line แล้วพิมพ์ถามเลยละกัน ถ้าจะ Block อีกก็ให้มันรู้กันไป ถามว่า “เราสงสัยมานานแล้ว ตอนนั้นเราทำอะไรไม่ดีรึเปล่า บอกเราได้ไหม” ตอนจะกด Enter ส่งข้อความเนี่ยยังมีชะงักนะว่า เฮ้ยมันจะดีเหรอวะ แต่พอมาคิดไปคิดมา คำตอบนี้มีแต่เธอที่ตอบได้ ถ้าไม่ถามมันก็จะติดอย่างงี้ไปจนวันตายเลยนะโว้ย ก็เลยส่งไป

คำตอบที่รอคอย

หลังจากส่งไปก็พึ่งมาคิดได้ว่า ไอสาด แม่งดึกละเธอคงจะตอบมึงล่ะ แต่คิดไปคิดมา เอ้อเธออยู่ต่างประเทศนี่หว่า โซนเวลาที่โน่นพึ่งตอนเช้า เออ ตอนเช้าก็ดีจะได้ตอบ ไม่รู้ว่านานเท่าไหร่กว่าจะมีคำตอบ แต่คำตอบที่ได้คือ “ล้ำเส้นเพื่อน” ตอนนั้นหัวเราะในใจเลยนะ แบบคำตอบที่ได้มาคือล้ำเส้นเพื่อน ว่าง่ายๆก็อย่างที่เคยโดนประจำคือ “หนูคิดกับพี่ แบบพี่ชาย” หรือ “เราอยากเป็นเพื่อนกับเธอ ไม่ได้อยากเป็นแฟน” ซึ่งธรรมดามากเวลาเจอ แต่จะมโนเองว่าล้ำเส้นเพื่อนคืออะไรเลยถามว่า “ล้ำเส้นเพื่อนนี่ยังไง” เหมือนเธอก็หายไปนานนะ จนแบบ แม่งโทร Line เลยละกัน โทรไป 2 ทีก็ไม่รับ ตอนนั้นนี่ถึงขั้นจะ Tag เธอใน Facebook แล้วถามเลยว่ายังไงวะ แต่สติก็บอกครับว่า “เฮ้ย มึงก็เหี้ยเกินไปป่าวประกาศถามเธอแบบนั้น” ก็เลยรอคำตอบไป พอไปถึงหอเพื่อนแล้วยังนั่งคุยกันต่ออีกซักพัก เธอก็ตอบกลับมาคล้ายๆเดิม พร้อมบอกว่า “อย่าถามเลยเรื่องมันนานแล้ว” คืออยากจะถามต่อนะ แต่ก็แบบ “อือ มันคงดีที่สุดแล้ว”

แล้วยังเป็นเพื่อนได้ไหม

จากทั้งหมดที่ผ่านมาเธอคงคิดกับผมแค่เพื่อน ผมเลยถามไปว่า “แล้วเรายังเป็นเพื่อนกันได้ไหม” เธอก็ตอบมาสั้นๆว่า “อื้อ” ผมไม่รู้ว่ามันเป็นคำตอบที่ดีไหม แต่อย่างน้อยผมก็รู้ว่าเราเป็นเพื่อนกันได้อยู่ล่ะนะ จากนั้นก็ถามสารทุกข์สุกดิบนิดหน่อย สุดท้ายผมก็อวยพรเธอเหมือนที่ผมทำทุกครั้ง ซึ่งมันคงจืดชืดสิ้นดี และผมคงคิดว่ามันคงเป็นประโยคสุดท้ายที่ผมคงจะได้คุยกับเธอแล้ว เพราะเมื่อไม่มีคำถามที่ผมสงสัยอีกแล้ว มันก็ไม่มีความจำเป็นอะไรให้เพื่อนห่างๆอย่างผมต้องไปคุยกับเธออีก

ขอให้โชคดี

ปลดปล่อยวิญญาณ

พอคุยจบและเห็นว่าเธออ่านสิ่งที่ผมพิมพ์ไปแล้ว มันรู้สึกเหมือนถูกปลดปล่อยจากอะไรบางอย่าง จริงๆมันอาจเป็นการปลดปล่อยตัวเองจากคำถามโง่ๆว่า “กูผิดอะไรวะ” ที่ค้างคาใจมานานเหลือเกิน ซึ่งทำให้นึกถึงเพลง “วิญญาณ” ท่อนสุดท้ายที่บอกว่า “คำพูดเธอจะปล่อยฉันไปได้” ซึ่งมันก็จริงเพราะคำตอบของเธอได้ปลดปล่อยผมซึ่งเป็นวิญญาณโง่ๆได้หลุดพ้นจากเรื่องค้างคาใจนี้สักที

Unit test ตอนที่ 4 ทฤษฎีกันยาวๆ

ทฤษฎีกันยาวๆ

ผมเขียนเกี่ยวกับ Unit test ไว้ 4 ตอน คุณสามารถกด Link ด้านล่างเพื่ออ่านที่เกี่ยวกับ Unit test ตอนต่างๆได้เลย

ตอนนี้จะพูดถึงเรื่องทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่แล้วแล้วก็ตอนนี้คิดมุกไม่ค่อยออกด้วยอาจจะตอนที่น่าเบื่อสุดๆเลย

Update โปรแกรมกันก่อนนะ

เนื่องจากใช้ junit5 กับ java11 ซึ่งเป็นตัวใหม่พอสมควรตัว eclipse มันเลยมี Bug บ้างซึ่งตอนนี้เขาได้ Fix bug แล้วแต่ eclipse ตัวที่โหลดสดๆจากเว็บอาจจะยังไม่ได้ Update เวลา Run test จะเกิด Error ขึ้นมาได้ ในส่วนนี้หากใครลอง Run แล้วไม่ Error ก็ไม่ต้องทำนะครับ ส่วนใคร Run แล้ว Error ประมาณว่า NoClassDefFound Exception ก็ให้ทำการ update ตัว eclipse ตามลิ้งนี้ได้เลย http://download.eclipse.org/eclipse/updates/4.9-P-builds/

Mock(ing jay) Part 2

จากตอนที่แล้วผมได้อธิบายเรื่อง Mock ในส่วนการจำลองการ Return ค่าต่างๆออกมา จำลองการ Throw exception ออกมาได้แล้ว ต่อไปจะเป็นอีกความสามารถหนึ่งของการ Mock ซึ่งมันคือการตรวจสอบพฤติกรรมของ Mock ของเราได้ ซึ่งนี่จะเป็นการแก้ปัญหากับการ Test Method หรือ Function ที่ไม่ Retrun หรืออยากทราบการทำงานบางอย่างภายในว่ามันได้เรียก Method หรือ Function อย่างที่เราต้องการไหม พูดตรงนี้อาจเข้าใจยากไปดู Code น่าจะเข้าใจง่ายกว่า โดยผมจะยกตัวอย่างงานประมาณว่า ในตัวอย่างที่แล้วที่เขียน DebtManagement ที่ใช้หาลูกค้าที่ติดหนี้ คราวนี้เราได้รับงานใหม่มาให้เขียนส่วนแจ้งลูกค้าว่า “เฮ้ยไปจ่ายหนี้ด้วยนะ” โดยจะแจ้งเฉพาะกับลูกค้าที่ยอดหนี้สูงเกินกำหนดอะไรประมาณนี้ โดยส่วนที่เขียนใหม่เนี่ยจะทำเป็น Runable เพื่อแตกให้อีก Thread ทำงานได้ ซึ่งพอทำเป็น Runable มันจะบังคับให้ไม่สามารถ Return ค่าอะไรออกมา โดยตัว DebtTask ผมออกแบบมันได้เป็น Class diagram ประมาณนี้

โดยตัว DebtTask จะประกอบไปด้วยตัว DebtManagement ตัวนี้มีไว้ใช้ในการดึงข้อมูลบริษัทที่ติดหนี้ >= จำนวนที่กำหนด ส่วน AlertChanel มีไว้ทำการแจ้งลูกค้า โอเคเรามาดู Code ที่เขียน Test ตัว DebtTask ก่อนกันเลย

อธิบาย Code กัน

@BeforeEach

อันนี้เป็น Annotation ที่ใช้บอกว่าให้ Run ตัว Method นี้ทุกครั้งก่อนเข้า Test case ซึ่งอันนี้มีไว้ใช้หลายอย่างเช่น ทำการ Set ค่า Object ต่างๆที่มันต้อง Set ซ้ำๆทุก Test case ซึ่งมันเป็น Duplicate code เขาเลยทำตัว @BeforeEach ขึ้นมา โดยที่ผมเขียนคือผมทำการ Mock ตัว DebtManagement กับ AlertChanel ไว้เลยที่เดียวเลย จะได้ไม่ต้องทำการเรียก mock ทุก Test case

verify

เนื่องจากเราไม่สามารถทำตรวจสอบค่าที่ Retrun ได้ เราเลยต้องหาวิธีตรวจสอบใหม่ซึ่งวิธีนั้นก็ไม่ยากครับ เพราะคนที่เขาสร้างตัว mock ขึ้นมาเนี่ยเขาก็เจอปัญหาแบบที่เราเจอเขาเลยใส่ความสามารถให้มันสามารถ track ได้ว่าตัวมันนั้นถูกเรียกด้วยอะไรบ้าง ด้วยค่าอะไร ซึ่งจากการที่ความสามารถนี้ทำให้เราสามารถตรวจสอบ mock ที่เราส่งเข้าไปได้ว่ามันถูกเรียกจริงไหม ถูกเรียกกี่ครั้ง ถูกเรียกโดยส่ง parameter อะไร เมื่อบวกกับเงื่อนไขต่างๆเช่น ตัวนี้จะต้องถูกเรียกแค่ครั้งเดียวในกรณีปกติ หรือ ส่วนนี้จะต้องไม่ถูกเรียกเลยถ้าเกิด Error ระหว่างทาง เท่ากับว่าเราสามารถ Track ความเป็นไปของ method ที่เรา Test ได้เลย

โดยจากตัวอย่าง

verify(debtManagement, times(1)).findCompanyToAlertDebt(DEBT_VALUE);

อันนี้ผมทำการตรวจสอบว่า debtManagement ถูกเรียกใช้งาน method : findCompanyToAlertDebt ด้วยค่า DEBT_VALUE เป็นจำนวน 1 ครั้งรึเปล่า

verify(alertChanel, times(1)).alert(EXPECTED_MESSAGE);

ส่วนอันนี้ทำการตรวจสอบว่า alertChanel เนี่ยถูกเรียกใช้งาน method : alert ด้วยค่า EXPECTED_MESSAGE เป็นจำนวน 1 ครั้งรึเปล่า

ความแตกต่างระหว่าง Test สองอย่าง

  • Test แบบดูผลลัพธ์ที่ Return ออกมาฝรั่งเขามีศัพท์เรียกกันว่า “State test”
  • Test แบบดูว่าแต่ละส่วนที่ทำงานมีการทำงานอย่างที่เราต้องการไหมฝั่งเรียกว่า “Interaction test”

ซึ่งทั้งสองสามารถใช้งานร่วมกันได้ แต่ The best จริงๆเวลาเขียน ควรจะเป็นแบบ State test เพราะ Test แบบ State test ได้นั้นแปลว่า Code เราไม่ขึ้นสนใจกระบวนการการทำงานด้านใน Function หรือ Method นั้นเลย มันจึงเป็น Encapsulation ที่สมบูรณ์แบบ คุณจะแก้ลำดับก่อนหน้าการทำงาน จะเรียกตัวนี้ ตัวนั้นไหมก็ไม่มีผล (จริงๆก็มีผลตอน Arrang อะนะ 555+) เพราะเราสนใจแค่ค่าที่ Return ออกมา แต่ถ้าเป็น Interaction test มันจะเป็นการตรวจสอบการทำงานของ Function หรือ Method นั้นว่าเรียกตัวนั้นตัวนี้จริงไหม ซึ่งมันเป็นการละเมิด Encapsulation เพราะเราไปวุ่นวายกับกระบวนการทำงานต่างๆ แต่ถ้ามันจำเป็นต้องเขียนแบบ Intersection test ก็เขียนเถอะครับ ดูตามความจำเป็นอย่าเอากฏมีบีบบังคับการทำอะไร ตัดสินใจตามความจำเป็นและสถานการณ์ ถ้าไม่มั่นใจเขียน Comment ตัวโตๆหรือเขียนไว้ในเอกสารว่าทำไมถึงทำแบบนี้เพื่อให้คนที่เขาตามมาข้างหลังเข้าใจว่าทำไมทำแบบนี้ (เขาจะได้ไม่ด่าพ่อเราเวลามาทำงานต่อ)

Dependency injection

ถ้าคุณไล่ตามอ่าน Code ที่ผมเขียนคุณจะเริ่มเห็นรูปแบบการเขียน Code ตรง constructor ที่ผมจะส่งตัว Object ที่มันจำเป็นต้องใช้เข้าไปใน Object ตัวที่ทำงาน ตัวอย่างเช่น

DebtTask debtTask = new DebtTask(debtManagement, DEBT_VALUE, alertChanel);

ตัว DebtTask ผมจะส่ง DebtManagement กับ AlertChanel เข้าไป

DebtManagement debtManagement = new DebtManagement(customerDebtDao);

ตัว DebtManagement ผมจะส่งตัว CustomerDebtDao เข้าไป

ไอกระบวนการนี้แหละมันเรียกว่า Dependency Injection

Dependency

หมายถึง Component , Module, Object ที่ตัว Class ของเราจำเป็นต้องใช้ ยกตัวอย่างเช่น DebtManagement นั้นต้องการใช้ CustomerDebtDao ในการหาข้อมูลลูกค้าที่ติดหนี้ ซึ่ง DebtManagement จะทำงานไม่ได้หากไม่มี CustomerDebtDao หรือ DebtTask จะทำงานไม่ได้หากขาดตัว DebtManagement กับ AlertChanel

Injection

คือการฉีดเข้าไปอันนี้หมายถึงแทนที่จะให้ตัว Class ที่ทำงานทำการสร้าง Object ขึ้นมาในตัวเองเช่น สั่ง new ใน constructor จะเปลี่ยนมาเป็น ส่งมันเข้ามาจากข้างนอกเองเลยเหมือนกับฉีดเข้าไป จากตัวอย่างผมฉีดมันเข้าไปตอนสั่ง new DebtManagement(customerDebtDao); โดย injection นั้นทำได้หลายแบบ โดยตัวที่ผมใช้การ inject ผ่าน constructor อีกวิธีนึงคือใช้ setter และอีกวิธีคือการให้เป็น parameter ของ method ไปเลย โดยแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกันไปแล้วแต่ความเหมาะสมในแต่ละงาน โดยท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก https://medium.com/@samueleresca/dependency-injection-overview-31b757a8dd51 ซึ่งเขียนได้ดีมากครับ

ข้อดีของการทำแบบนี้

ข้อดีของการทำแบบนี้มันทำให้โปรแกรมมีความยืดหยุ่นขึ้นมากล่าวคือคุณสามารถ Object ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ Class นั้นต้องการไปทำงานได้ ซึ่งคุณสมบัติตรงในที่นี้หมายถึง method หรือ Field ตามที่ Class นั้นต้องการ ซึ่งมันเปิดกว้างเพราะไม่ได้บอกว่ามันต้องทำงานยังไง เช่น CustomerDebtDao นั้นขอแค่ไปดึงค่าของลูกค้าออกมาได้ ไม่ได้กำหนดว่าให้ไปเอามาจากไหน จะไปเอาจาก Database ไปเอาจากไฟล์ ไปเอาจาก WebService ด้านนอก หรือ สุ่มออกมา อะไรก็เกิดขึ้นได้ซึ่งมันเป็นข้อดีของ Polymorphism ซึ่งเรียนมาอย่างนานแล้วก็สงสัยว่ามันมีประโยชน์ตรงไหนซึ่งก็ได้มาเข้าใจวันที่ได้ทำอะไรที่มันต้องยืดหยุ่นมากๆเนี่ยแหละ ซึ่งด้วยการทำ Dependency Injection เนี่ยแหละก็ช่วยให้เราสามารถทำ Unit test โดยการส่ง Mock เข้าไปแทนตัวจริงยังไงล่ะ พอส่ง mock เข้าไปเราก็สามารถให้ Return อะไรก็ได้ตามใจเราปรารถนา หรือ ตรวจสอบการที่มันถูกเรียกได้ นี่แหละมันจึงมีคนเขียนว่า ถ้าคุณเขียน Code ให้ Unit test ได้ Code ของคุณก็จะหยืดหยุ่น

มีข้อดีก็มีข้อเสีย

ข้อเสียของการทำแบบนี้คือคุณจะต้อง Config เยอะมากตอนเรียกใช้ Class คือ ต้องสร้างตัวโน้นตัวนี้ให้เรียบร้อยก่อนแล้วส่งเข้าไปใน Class นั้นอีกที ซึ่งมันซับซ้อนมากกว่าการเขียนสร้างใน Class แล้วก็เวลาเรียกใช้งานบางทีเราไม่รู้จริงๆว่าตัว Class นั้นตอน Run จริงมันถูก Inject อะไรเข้าไปบ้าง ใช่ส่วนที่เราต้องการจริงไหม

จบตอนนี้แค่นี้

เป็นอันจบอีกตอนซึ่งตอนนี้ผมว่าถ้าอ่านกันมาขนาดนี้ก็น่าจะเข้าใจหลักการแนวคิดแล้วก็เห็น Code เบื้องต้นจนไปเขียนกันเองได้แล้ว เลยไม่แน่ใจว่าจะเขียนตอนต่อที่เอางาน FTP มาสอนต่อด้วยไหม จริงๆคือเริ่มหมดอารมณ์เขียนเกียวกับ Unit test แล้ว เอาเป็นว่าถ้ามีอารมณ์หรือมีไฟจะกลับมาเขียนตอนต่อละกัน และทิ้งท้ายแบบในหนัง Ocean’s Thirteen

เจอกันเมื่อเจอกัน

เพลงประกอบการเขียนบทความนี้

เป็นเรื่องที่โคตรจะแปลกที่เพลงนี้ดังไม่เท่าคุ้กกี้เสี่ยงทาย คืองงจริงๆนะแบบความหมายก็ดีกว่าทำนองก็ดีกว่า แต่ช่างมันเถอะครับ เพลงนี้โดยส่วนตัวชอบแบบที่ไม่รู้เลยว่า BNK48 ร้อง คือดูละครเรื่อง shoot i love you แล้วเพลงประกอบละครมันแบบ เฮ้ย โอเคเลย เลยไปหา MV ดูเลย อ้อ BNK48 ร้อง แต่ MV นี่รอดูฟรังอย่างเดียวเลยนะ 555+

อิสรภาพ กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง - Freedom

ซื้อแบบไม่รู้เนื้อใน ไม่อ่าน Review ไม่อ่านอะไรทั้งนั้น

อิสรภาพ กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง - Freedom

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกของ OSHO ที่ผมอ่านซึ่งจริงๆไม่ได้รู้จักยี่ห้อ OSHO อะไรเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแกเป็นผู้นำทางความคิดหรืออะไร ซึ่งที่ซื้อมาอ่านเนี่ยเพราะ page : tactschool แนะนำให้ลองอ่านหนังสือของ OSHO บวกกับช่วงนั้นอยากหาอะไรใหม่อ่านดูซึ่งผมมักเห็นข่าวเกี่ยวกับการร้องขออิสรภาพในอะไรหลายๆอย่าง เพื่อนผมบางคนที่เรียนเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ก็โพส Face กันรัวๆเรื่องอิสรภาพ พอเห็นหนังสือชื่อเรื่อง อิสรภาพ เลยจัดมาเลยละกัน

อิสรภาพที่หลายคนโหยหา

ตอนแรกคิดว่าหนังสือเล่มนี้มาแนวประมาณ How to การสร้างอิสรภาพ หรือ ยกตัวอย่างอิสรภาพต่างๆ จริงๆคิดว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์การต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออิสรภาพด้วยซ้ำ แต่พอเริ่มอ่านนี่ผิดคาดมากครับ มาแนวศาสนาซะงั้น คือสิ่งที่ OSHO เล่าในเรื่องนี่บอกเลยว่าใครบูชาศาสนาในระดับมากๆนี่มีโกรธมากๆแน่ ซึ่ง OSHO อธิบายเรื่องอิสรภาพได้น่าสนใจ แถมเป็นการพลิกกระดานสิ่งที่เชื่อมาทั้งหมด OSHO ว่าด้วยเรื่องโครงสร้างทางสังคมในปัจจุบันเป็นเรื่องที่แย่ทำให้คนเราขาดอิสรภาพ ไม่ว่าจะเป็นกฏหมาย การเมือง ศาสนา ซึ่งอ่านไปบางทีก็หมันไส้แกอยู่เหมือนกันเพราะแบบ ไม่มีกฏหมายบ้านเมืองจะอยู่ยังไงวะ ซึ่งพออ่านไปเราจะเข้าใจสังคมอุดมคติของ OSHO ครับว่ามันจะมาได้ยังไง

อิสรภาพต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ

เป็นครั้งแรกๆเลยที่ได้ยินคำว่าอิสรภาพกับคำว่ารับผิดชอบมาด้วยกัน ปกติเวลาฟังใครพูดเรื่องอิสรภาพนี่เขาจะพูดร่ายยาวเกี่ยวกับอิสรภาพในการทำอย่างงั้นอย่างโน้นอย่างนี้ อิสรภาพที่จะทำห่าอะไรก็ได้เพราะเรามีอิสรภาพ บลาๆๆๆๆ ต่างๆนาๆ แต่ OSHO นี่มาแปลกครับ แกเล่าว่ายิ่งคุณมีอิสรภาพมากเท่าไหร่ คุณยิ่งต้องมีความรับผิดชอบมากเท่านั้น การที่เราจะมีอิสรภาพเราต้องมีความรับผิดชอบ รับผิดชอบกับอิสรภาพที่คุณเลือก ถ้าคุณอยากเลือกเส้นทางนี้คุณต้องยอมให้ได้นะกับผลที่ตามมาไม่ว่าจะดี จะร้าย จะทำให้คนเจ็บปวด สูญเสียอะไรหลายๆอย่างคุณก็ต้องรับผิดชอบกับผลนั้น ผมอ่านถึงตรงนี้แล้วแบบ นี่ดิสิ่งที่ควรจะพูดเกี่ยวกับอิสรภาพเสมอ คุณมีอิสรภาพก็จริงแต่คุณต้องรับผิดชอบการกระทำของคุณด้วยนะ ซึ่งรู้ไหมครับคนส่วนใหญ่ที่ต้องการอิสรภาพไม่เคยจะยอมรับความรับผิดชอบที่ต้องได้เลย ส่วนใหญ่จะโทษสังคมว่าห่วยแตก อย่างนั้นอย่างงี้ คือจริงๆเขาต้องยอมรับสิ่งที่เขาจะได้เจอเวลาเลือกเส้นทางนั้นนะ

อิสรภาพเพื่ออะไร สำคัญกว่า อิสรภาพจากอะไร

อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ OSHO พูดได้โดนมากครับ คือถ้าคุณเคยฟังพวกนักเรียกร้องอิสรภาพพูดเขาจะบอกเสมอว่าเขาต้องการอิสรภาพจากอะไรเสมอ แต่เขาไม่เคยพูดถึงสิ่งที่จะทำต่อจากการได้อิสรภาพแล้วเลย OSHO ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอินเดีย (น่าจะบ้านเกิดของแก) เรื่องการเรียกร้องอิสรภาพของอินเดียจากอังกฤษว่า (ซึ่งไม่รู้ว่าจริงไหม) กลุ่มปฏิวัติไล่อังกฤษออกไปแล้วจากนั้นชาวอินเดียทำอะไร ชาวอินเดียฆ่ากันเอง พวกเขาไม่รู้ว่าเขาได้อิสรภาพนั้นมาแล้วพวกเขาจะทำอะไรกัน พวกเขาได้อิสรภาพมาแล้วเขาก็กลัวว่าคนอื่นฝ่ายอื่นจะมาขโมยอิสรภาพของพวกเขาไป พวกเขาซึ่งทำอย่างอื่นไม่เป็นนอกจากการวินาศกรรม ดังนั้นเขาจึงทำได้เพียงฆ่าฝ่ายอื่น ซึ่งฝ่ายอื่นนั้นก็คือชาวอินเดียด้วยกัน OSHO จึงให้แนวทางที่ดีว่า ก่อนคุณต้องการอิสรภาพจากอะไร ขอให้คุณรู้ด้วยว่า คุณต้องการอิสรภาพนั้นเพื่ออะไร

อ่านแล้วได้อะไร

จริงๆมีอีกหลายเรื่องที่ OSHO พูดไว้ในเล่มซึ่งก็ดีในระดับนึง แต่บางส่วนก็เหมือนแกยกเมฆด่วนสรุปไปเองหลายๆเรื่อง ดังนั้นเวลาอ่านก็ควรจะวิเคราะห์แยกแยะกันด้วยอย่าเชื่อทั้งหมดที่เขาเขียน สำหรับผมแล้วการอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนเปิดโลกของคำว่าอิสรภาพในมุมมองใหม่ มากกว่าการ ร้องบอกว่า อยากทำอย่างนี้ได้โว้ย อยากทำอย่างนั้นได้โว้ย เล่มนี้สอนให้เราต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราเลือก เพราะเมื่อไหร่ที่เรากล้าที่จะรับผิดชอบสิ่งที่เราเลือกเมื่อนั้นการได้มาซึ่งอิสรภาพคงจะไม่ยากเกินไป

เพลงประกอบการเขียนบทความนี้

เพลงนี้เหมาะกับบทความนี้มากเพราะเราเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองเลือก รักผู้หญิงที่ตัวเองเลือกเอง ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องรับผิดชอบกับการเลือกนั้นด้วยตัวเราเอง จะไปว่าใครไม่ได้นอกจากตัวเราเอง

เบิกบานยินดี ความสุขที่ไม่ต้องแสวงหา - Joy

ความสุขคืออะไร

เบิกบานยินดี ความสุขที่ไม่ต้องแสวงหา - Joy

ความสุขคืออะไรเป็นคำถามที่น่าปวดหัวมากคำถามหนึ่ง ถ้าใครบอกว่าวิชาเลขยากมากๆไม่เข้าใจผมว่าลองหาคำตอบของคำว่าความสุขคืออะไรดูแล้วจะรู้ว่าวิชาเลขนั้นไม่ได้ยากมากมายอะไรเลย คงเป็นเพราะความสุขอยู่ที่แต่ละมุมมองของแต่ละบุคคลว่าความสุขคืออะไร ซึ่งคนที่นิยามมันได้ถือว่าเขาคนนั้นไม่มีปัญหาเรื่องวิธีที่จะมีความสุขละเพราะเขารู้ว่าความสุขของเขาคืออะไร แต่สำหรับผมที่ไม่เคยนิยามความสุขคืออะไร หรือวิธีที่จะได้มาคืออะไร จะเป็นความสุขคงเป็นความรู้สึกสนุกตอนเล่นเกมส์รึเปล่า หรือตอนกำลังคุยกับสาว หรือว่าตอนกินอาหารอร่อย มันเป็นความรู้สึกตอนไหนกัน เนื่องจากไม่รู้ว่าความสุขคืออะไร เลยลองหาหนังสือที่พูดเกี่ยวกับความสุขมาสักเล่มนึงมาอ่าน และสุดท้ายมาจบลงที่หนังสือชื่อ “เบิกบานยินดี ความสุขที่ไม่ต้องแสวงหา” ของ OSHO อีกแล้ว ถามว่าทำไมต้องหนังสือของ OSHO คงเป็นเพราะผมอยากจะรู้ว่าตัวจะมีความคิดเห็นอย่างไรระหว่าง แนวคิดใหม่ที่พึ่งได้รับกับแนวคิดที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่จำความได้ เลยซื้อหนังสือของ OSHO มาเพราะเป็นหนังสือที่อ่านแล้วทำให้หงุดหงิดกับนวคิดของเขาแทบจะตลอดทุกวันที่อ่าน ซึ่งถ้า OSHO ยังมีชีวิตอยู่ตอนนี้เขาคงได้ค่าลิขสิทธิ์เพิ่มแล้วล่ะ

เมื่อมีสุขย่อมมีทุกข์ ถ้าไม่อยากทุกข์ จงอย่าปรารถนาในความสุข

พอเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้บอกเลยว่ากลิ่นอายความเป็นศาสนาพุทธนั้นมาเลย แต่เป็นแนวคิดทางพุทธที่พุ่งไปหาเรื่องของหลักสำคัญเสียมากกว่า ไม่เหมือนตอนที่เรียนตั้งแต่เด็ก บอกเลยว่าตอนเด็กผมเรียนโรงเรียนวัดเลยได้เรียนเกี่ยวกับพุทธศาสนามากหน่อย แต่มากในทางนิทานซะส่วนใหญ่ ผมต้องนั่งท่องว่าบิดามารดาพระพุทธเจ้าชื่ออะไร 10 ชาติก่อนพระองค์คือใคร ชื่อเมืองฝ่ายบิดา ชื่อเมืองฝ่ายมารดา วงศ์ตระกูลของพระองค์ ที่พีคกว่าคือยังต้องจำชื่อม้าที่พระองค์ใช้หนี ม้ายังไม่พอนะต้องจำชื่อคนตัดผมพระองค์อีก ตอนนั้นก็ไม่คิดอะไรนะจำได้แล้วเอาไปตอบถูกก็ดีใจ แถมมีเรื่องไปเล่าให้พ่อให้แม่ฟังว่าเรียนอย่างโน้นอย่างนี้ แต่พอโตมาผมเหมือนโดนสอนเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนวนเทป ป.1 - ป.6 ม.1 - ม.6 ทำไมผมต้องมานั่งจำอะไรพวกนี้ด้วยวะ สิ่งที่ศาสนาควรสอนคือส่วนสำคัญสิ ส่วนที่จะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทำไมต้องนั่งสมาธิ มีอย่างอื่นทำได้นอกจากใช้นั่งสมาธิไหม เวลาทุกข์ เวลาสุข เราจะรู้ได้ไงว่ากำลังทุกข์ กำลังสุข และจะไปนิพพานได้ไง บางคนก็บอกว่าถ้าจะนิพพานต้องบวช เฮ้ย นี่ถ้าไม่เคยฟังเรื่องที่สอนมาตั้งแต่เด็กนะจะบอกว่า “อ้อต้องบวช” แต่ถ้าได้ฟังเรื่องที่เล่าที่ชอบเล่ากันจะบอกว่า “คนธรรมดาก็ไปนิพพานได้โว้ย” ไม่เห็นต้องบวชเลย ถามว่าเข้าใจว่าทำไมเขาต้องสอนแบบนี้ก็พอเข้าใจนะเพราะเด็กมันจะฟังเรื่องทุกข์สุขมันก็คงจะปวดหัวตายก่อน เลยต้องเล่าอะไรที่เป็นนิทานให้ฟัง แต่ผมไม่ค่อยชอบตรงที่พอเด็กเริ่มโตแล้ว เช่น มัธยม ผมว่าควรจะสอนอะไรที่ไม่ใช่นิทานละ ควรสอนอะไรที่เจาะลึกไปเลยว่า สุข ทุกข์ คืออะไร อาจให้เด็กยกตัวอย่างความสุขของตัวเองขึ้นมา ยกตัวอย่างความทุกข์ขึ้นมา ยกตัวอย่างว่าสุขวันนี้กับสุขเมื่อวานเท่ากันไหม ความสุขเริ่มหายไปตอนไหน ทุกข์มาได้ยังไง อะไรประมาณนี้ นอกเรื่องไปไกลละตอนนี้กลับมาที่หนังสือเล่มนี้ หนังสือเล่มนี้เริ่มพูดถึงความทุกข์ความสุขโดยใช้การยกตัวอย่างความสุขให้เราเห็นและเริ่มชี้ให้เห็นวัฏจักรเกี่ยวกับสุขทุกข์ด้วยภาพในชีวิตประจำวัน ซึ่งอธิบายง่ายๆและเห็นภาพ เช่น พอเรามีความสุขกับสิ่งหนึ่ง เราจะยิ่งโหยหาความสุขที่ใหญ่กว่านั้นไปเรื่อยๆ พอไม่ได้ก็ทุกข์ มันวนเวียนไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ไม่พูดถึงเวรกรรมห่าเหวอะไรเลย เขาพูดถึงทุกข์ ณ ปัจจุบันล้วนๆซึ่งใกล้ตัวกว่ามาก ไม่ต้องละครจบแล้วตัวโกงได้รับโทษ แต่อันนี้คือชี้ให้เห็นความทุกข์ง่ายๆที่เกิดกับใครก็ได้ไม่ว่าจะพระเอก นางเอก ตัวโกง คนใช้ ทุกคนเจอกับมันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และไม่ต้องเอากรรมเก่ามาอ้างว่าทุกข์เพราะเคยทำอะไรไว้ พอเล่าถึงจุดนึงทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์ก็คือสุขของเราเนี่ยแหละ การจะหลุดพ้นจากมันได้คือ “ต้องไม่ปรารถนาความสุข” ซึ่งฟังแล้วก็ประหลาดมากเลยนะ คือ เฮ้ยไม่ปรารถนาความสุขแล้วจะสุขได้ไงวะ ซึ่งพออ่านไปคือเราไม่ต้องปรารถนาความสุข แต่เราต้องออกมาจากวัฏจักรความทุกข์ความสุข เราต้องเห็นภาพรวมของมัน อะไรก็ไม่เที่ยงแท้ สำหรับผมมันไม่ใช่คำว่า “ทำใจ” ที่หลายคนบอกว่าต้องทำใจเรื่องความทุกข์ แต่เราต้อง “เข้าใจ” เพราะทำใจเราแค่กดความทุกข์ไว้ แต่เข้าใจคือเราเข้าใจว่าทำไมเป็นแบบนั้น เราจะไม่ทุกข์เพราะเข้าใจว่ามันเป็นแบบนั้นเพราะอะไร ผมว่าอันนี้แหละเหมาะกับว่า “ตรัสรู้” ที่เราชอบท่องกัน คือพระองค์รู้และเข้าใจเรื่องความสุขความทุกข์อย่างแท้จริง พระองค์จึงไม่ต้องทุกข์อีกแล้ว

อ่านแล้วยังหงุดหงิด

ในส่วนที่น่าหงุดหงิดก็มีมากมายครับสำหรับเล่มนี้ คือผมไม่รู้ว่า OSHO แกชอบยกตัวอย่างอะไรเกี่ยวกับสัตว์ แกชอบบอกว่าสัตว์มันไม่ทุกข์หรอกมันมีแต่ความสุข คือถ้า OSHO ได้ดูสารคดีอย่างที่ผมเคยดูเกี่ยวกับแม่ลิงที่ลูกลิงตายแล้วนั่งหงอย นั่งเศร้า อีกตัวอย่างนึงคือสัตว์ไม่เคยกักตุน อันนี้ OSHO คงจะไม่ได้ดูสารคดีหน้าหนาวของสัตว์โลก ไม่ว่าจะเป็นกระรอกที่เอาลูกไม้ไปฝังเพื่อใช้กับกินในหน้าหนาว คือมันฝังแหลกแจกโชคถึงขนาดจำไม่ได้ว่าฝังไว้ที่ไหนบ้าง คิดดูละกันว่ากักตุนแค่ไหนล่ะ หรือการยกตัวอย่างเรื่องน้ำหนักว่าคนอ้วนชอบคือคนชอบกักตุน คนท้องผูกคือคนชอบกักตุน เฮ้ยนี่จับแพะชนแกะสรุปกันง่ายๆนี่หว่า ในมุมมองผม OSHO คงอยากยกตัวอย่างง่ายๆ แต่สำหรับผมที่ได้ดูสารคดีและโชคดีกว่าที่เกิดหลังแกตายไปแล้วเลยได้พบเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่สรุปอะไรได้ดีกว่าแกเลยมองว่าแกออกจะสรุปอะไรแบบมั่วๆมากไปหน่อย ดังนั้นเรื่องนี้สอนให้ผมรู้ว่า “เราต้องคิดและพิจารณาเสมอเมื่อเรากำลังอ่านอะไร”

อ่านแล้วได้อะไร

สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้คงทำให้เข้าใจเรื่องความทุกข์ความสุขมากขึ้นอีกนิด ทำให้เราเข้าใจวัฏจักรเวียนว่ายตายเกิดในเวอร์ชั่นที่ใช้กับชีวิตจริงได้และไม่ต้องพึ่งบุญหรือโทษเวรกรรม สิ่งที่เราต้องทำคือเราต้องทำความเข้าใจตัวเองให้มากขึ้น ต้องรู้ว่าตัวเองทำไมสุข ตัวเองทำไมทุกข์ มองโลกด้วยความเข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในขณะนี้มันคืออะไร ถ้าเราเข้าใจจริงๆเราคงจะได้นิพพานอย่างที่พระพุทธเจ้าทำได้ สำหรับผมหนังสือเล่มนี้เอาไปเป็นหนังสือนอกเวลาให้เด็กอ่านได้อย่างสบายๆเลย สำหรับใครที่ว่างๆหรือหาอะไรอ่านระหว่างกำลังเดินทาง (ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ตอนอยู่บน BTS ) ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้เลย

เพลงประกอบการเขียนบทความนี้

เพลงไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาเลย แค่ชอบมากเพราะพี่ปิงปองกับพี่แอนร้องเพลงคู่กันอีกครั้ง สำหรับแฟนคลับถือเป็นอะไรที่เซอไพร์มากๆ จริงๆอยากให้พี่เขาออกอัลบั้มคู่กันอีกสักรอบ แต่คงจะยากเพราะทำออกมาแล้วคนที่ซื้อคงจะมีแต่แฟนคลับทำแล้วคงไม่คุ้ม ตัดกลับมาสมัยนี้แค่ขายบัตรจับมือบริษัทบางบริษัทบางบริษัทก็รวยเละเทะแล้ว แกรมมี่น่าจะลองทำบัตรจับมือบ้างนะ ฮ่าๆๆๆ บัตรจับมือพี่เบิร์ดอะไรอย่างงี้

เซน หนทางอันย้อนแย้ง - Zen

แค่อ่านก็ย้อนแย้งแล้ว

เซน หนทางอันย้อนแย้ง - Zen

นี่เป็นหนังสือเล่มที่ 3 ของ OSHO ที่ได้อ่าน ซึ่ง OSHO คือใครไปหากันเอาเองตาม Link นี้ และตามสไตล์การเขียนของ OSHO ครับอ่านยากเหมือนเดิม เปรียบเทียบ ยกนิทานต่างๆนาๆมากมายหลายอย่าง เรื่องนี้พิเศษหน่อยคือพูดถึงศาสนา “เซน” ครับ ซึ่งเป็นศาสนาที่ผมเคยได้ยินซึ่งถ้าจำไม่ผิดมันคือศาสนาที่ดังในจีนหรือญี่ปุ่นเนี่ยแหละประมาณ “เซน ชินโต” อะไรประมาณนี้ พอค่อยๆอ่านไปเรื่อยๆซึ่งก็มีโกรธ โมโห อยู่หลายตอนเพราะสไตล์การเขียน OSHO ที่ว่ากันแบบสุภาพแต่เจ็บถึงใจ แนวทางการสอนของ เซน แม่งก็โคตรย้อนแย้งในตัวเองเช่น หนังสือบอกว่า เซน พยายามจะบอกทางตรงให้กับคนที่ศึกษา แต่พออ่านแต่ล่ะเรื่องที่เขามายกตัวอย่างนี่โคตรพ่อโคตรแม่ปริศนาธรรม คือ ต้องคิดลึกแค่ไหนวะกว่าจะเข้าใจ แล้วมันทางตรงส่วนไหนของ … วะ ไอห่า แต่ละอันก็สอนโคตรนามธรรมไม่มีคำอธิบายที่คนปกติเข้าใจได้ง่ายๆ แล้วมันทางตรงตรงไหนวะไอห่า บอกเลยผมโคตรเกลียดความย้อนแย้งแบบนี้มากๆ แต่ก็พยายามอ่านและทำความเข้าใจมันเรื่อยๆ ซึ่งผมเข้าใจว่าผมคงต้องอ่านมันจบแล้วไปทำอย่างอื่นสักปีสองปีแล้วค่อยกลับไปอ่านอีกรอบ

อยู่กับปัจจุบัน และ องค์รวม

ในหนังสือเล่มนี้ไม่พูดอะไรมากไปกว่าการพูดถึงหลักคำสอนของศาสนา เซน ซึ่งศาสนานี้ไม่มีอะไรมากเลยครับ เซนคือการอยู่กับปัจจุบันอยู่กับวินาทีนี้ ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีแต่ตอนนี้ โดยเซนพูดถึงองค์รวม โดย OSHO นั้นยกทฤษฏีทางศาสนาที่ศาสนาจำนวนหนึ่งแบ่งมนุษย์ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ส่วนหัวคือปัญญาเป็นศูนย์รวมของความดีต่างๆ 2. ส่วนท้องคือส่วนอารมณ์ความรู้สึก 3. ส่วนเพศหมายถึงความรู้สึกทางเพศ หรือความรู้สึกของร่างกาย โดยศาสนาต่างๆนิยามว่า พระเจ้ามีส่วนที่เป็นหัวอย่างเดียว ปิศาจมีส่วนเพศอย่างเดียว ส่วนมนุษย์อย่างเราๆมีทั้ง 3 ส่วนอยู่ แต่ศาสนาพยายามให้เราละทิ้งส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก ส่วนเพศทิ้งให้เหลือแต่ส่วนปัญญา ซึ่งถ้ามองแบบคนธรรมดาก็ดูดีไม่มีอะไรไม่ดี แต่เซนเสนอว่ามันเป็นอะไรที่ประหลาดทำไมเราต้องทิ้งทั้ง 2 ส่วนที่เหลือทิ้งล่ะ ในเมื่อมันเป็นตัวเราเราจะทิ้งตัวเราไปได้อย่างไร เซนเน้นความสมดุล ถ้าท่านพยายามปิดกั้นบางอย่าง จริงอยู่ที่มันปิดกั้นสิ่งนั้นได้แต่สิ่งที่ท่านปิดกั้นนี้จะไประเบิดที่อื่น OSHO แนะนำให้ดูพวกนักบวชที่ปืดกั้นเรื่องเพศ คนพวกนี้จะเก็บกดขึ้นเรื่อยๆจนสุดท้ายเป็นบ้าไป ซึ่งผมเคยได้ยินมาว่ามีนักบวชชั้นสูงสักที่คลั่งวิ่งเอาค้อนไล่ทุบรูปปั้นยุคกลางที่โชว์อวัยวะเพศชายซึ่งมันก็คงเป็นประมาณนั้นล่ะมั้ง เซนสอนให้เรายอมรับทุกส่วนละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยร่ำเรียนมา ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีแต่ตัวเราตอนนี้สัมผัสรู้สึกถึงตัวเองในขณะนี้ ท่านจะไม่มีอคติใดๆ ท่านจะเป็นเพียงกระจกที่สะท้อนสิ่งที่มากระทบท่าน ซึ่งคำสอนของศาสนาสำหรับผมก็โอเคมากเลยนะ ผมว่ามันโอเคกว่าศาสนาพุทธ(เทียม) ที่สอนเรื่องเวรกรรม การทำความดีแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ ทั้งๆที่ความจริงความสุขความทุกข์มันอยู่ที่เราตัดสินล้วนๆ ไม่มีกรรมเก่ามาคอยหลอกหลอนท่านหรอก กรรมเก่านั้นมันเป็นเรื่องผ่านไปแล้วไม่มีอะไรมาหลอกหลอนท่านได้แล้วมีแต่ตัวท่านเองนั้นแหละที่เก็บเอามาคิดวุ่นวายมากเรื่อง แล้วก็เอาไอเรื่องเวรกรรมไปเฝ้าฝันถึงอนาคตบ้าบอที่จะได้ไปสวรรค์ชั้นฟ้า คิดว่าบุญจะมาช่วยเหลือให้ถูกหวยบ้าบอคอแตก คิดว่าบุญที่ทำในปัจจุบันจะไปช่วยอนาคต พอทำมากๆแล้วไม่ได้ผลอย่างหวังก็มาเป็นทุกข์มาบ่นว่าทำดีไม่ได้ดี บ้ารึเปล่า ผมว่าพระองค์คงไม่อยากให้เราคิดแบบนั้นหรอก พระองค์คงอยากให้เราอยู่กับปัจจุบันเสียมากกว่า มีสติระลึกว่าตัวเองกำลังทำอะไร มีความสุขอยู่กับตอนนี้เสียมากกว่า เราไม่จำเป็นต้องเลือกเป็นพระเจ้า ปิศาจ นักบุญหรืออะไร เราแค่เป็นในสิ่งที่ตัวเราตัดสิน ณ เวลานั้น

ท่านจะแบกมันไว้ทำไม

มีตอนนึงของหนังสือเขียนไว้ดีมากเกี่ยวกับการที่เราพยายามแบกฐานะใดฐานะหนึ่งไว้ เช่น ผมเป็นโปรแกรมเมอร์ ผมพยายามแบกฐานะนี้ไว้ตลอด ทำอะไรก็ยึดหลักการเหตุผลอะไรไปหมด แบกมันไว้จนผมมองไม่เห็นอะไรเลย เซนพยายามบอกว่า เมื่อท่านหมดเวลาที่ท่านเป็นอะไรไปแล้วก็จงละทิ้งมันไป จะแบกมันไว้ทำไมล่ะ ถ้าท่านเป็นโปรแกรมเมอร์ตลอดเวลาท่านจะมีความสุขกับสิ่งไร้เหตุผลได้ยังไง ท่านจะมีความสุขกับเสียงนกร้องได้ยังไง ท่านจะเพลิดเพลินกับบทกวีได้ยังไง ท่านพลาดอะไรไปหลายๆอย่างในชีวิต เพียงเพราะท่านแบกบางอย่างที่ไร้สาระเช่นหน้าที่การงานของท่านไว้ตลอดเวลา เรื่องนี้มันก็ตลกกับสังคมบ้านเราเหมือนกันนะ ผมจำได้ว่าเราถูกสอนว่าหน้าที่ก็เป็นแค่หัวโขน หมดเวลาก็ถอดหัวโขนออก แต่ไปๆมาๆบางอาชีพเหมือนกับโดนบังคับให้สวมหัวโขนตลอดเวลา เช่น ครู ที่ต้องทำตัวรักษาความประพฤติบ้าบออะไรอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆผมก็พอเข้าใจนะว่าทำไมต้องรักษามันไว้ เพราะถ้าตัวครูไม่ทำแล้วคนที่ถูกสอนจะเชื่อได้ยังไงใช่ไหม หรือ พวกผู้พิพากษาที่ต้องทำตัวผดุงเกียรติอะไรบางอย่างอยู่ตลอดซึ่่งสิ่งทั้งหมดมันเป็นแค่ของจอมปลอมที่สร้างขึ้นมา แต่ผมก็เข้าใจว่าทำไมเขาต้องรักษานะ เพราะการพิพากษาควรจะมาจากคนที่ดูน่าเชื่อถือ ถ้าผู้พิพากษาทำอะไรที่ทำให้หมดความน่าเชื่อถือใครก็จะเชื่อ แต่จริงๆมันทำให้เราหลงประเด็นนะ คำพิพากษาควรจะมาจากความสมเหตุสมผลและข้อกฏหมายมากกว่าความน่าเชื่อถือของผู้พิพากษา เรื่องครูก็เช่นกัน คำสอนนั้นเด็กควรจะเลือกเชื่อเพราะเขาตัดสินใจจากคำสอนไม่ใช่เพราะตัวครู แต่มันก็เป็นเรื่องยากแหละครับเพราะสิ่งเหล่านี้ปลูกฝังและลงรากลึกอยู่ในความคิดพื้นฐานของเราเสียแล้ว เราว่าใครไม่ได้ เราเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเองได้นะ

อ่านแล้วได้อะไร

อ่านเล่มนี้ก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนา เซน ว่าเขาสอนอะไร ซึ่งเรื่องที่เขาสอนเป็นอะไรที่โคตรจะเข้าใจยาก แต่ถ้าเอาเปลือกๆที่เขาสอนมาปรับใช้กับชีวิตได้หลายอย่างเช่น การทิ้งอดีตทิ้งไป อดีตเป็นสิ่งที่จบไปแล้วผมไม่ควรสนใจมัน อดีตในที่นี้หมายถึงเรื่องที่เกิดไปแล้วเป็นความจริงที่กลับแก้ไขไม่ได้แล้ว แต่สิ่งที่ให้ทิ้งไม่ใช่ประสบการณ์นะครับที่ให้ทิ้ง แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึก ความโกรธ ความเกลียด ความไม่พอใจ คุณควรลืมมันเพราะถ้ามันยังอยู่ในปัจจุบันคุณจะไม่เห็นความจริงที่กำลังเจอ คุณจะเจอม่านหมอกแห่งอคติมาบัดบังความจริงที่สะท้อนให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมันก็เรื่องจริงนะ งานบางงานคือถ้าอยู่กับปัจจุบันมันแค่คุยกันง่ายๆหาข้อสรุป แต่เพราะมีเรื่องอดีตมาปะปน ไอเหี้ยนี่มันทำส้นตีนอะไรไว้กับเรา ทำเรื่องเหี้ยๆอะไรไว้ พลิกลิ้นอะไรไว้ เราก็สร้างม่านหมอกขึ้น เตรียมมีดเตรียมดาบไว้เล่นงานเขาแล้ว เราไม่ได้มองความจริง ณ เวลานั้น เช่นกัน อีกฝ่ายเขาก็สร้างม่านหมอก สร้างความเจ้าเล่ห์เตรียมจะหลอกใช้ เพราะเขารู้ว่าที่เราจะไม่ทำถ้าไม่หลอก ต่างคนต่างมีม่านหมอกบดบังความจริงที่งานก็แค่อะไรอย่างหนึ่งที่เราคุยกับรับปากกันด้วยความจริงใจก็จบเรื่อง มันตลกจริงๆนะ แต่ตลกที่ว่าเป็นตลกร้ายที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันนี่สิ

เพลงประกอบการเขียนบทความนี้

เพลงนี้เข้ากับเรื่อง ZEN ดีนะ ไม่ต้องสนใจอดีต ไม่ต้องสนใจอนาคต อยู่กับปัจจุบัน ซึมซับกับสิ่งรอบตัวแล้วมีความสุข

พลังสร้างสรรค์ ของกำนัลแด่ผู้ฉีกกรอบ - Creativity

อะไรคือความสร้างสรรค์ แล้วทำยังไงถึงจะสร้างมันขึ้นมาได้

พลังสร้างสรรค์ ของกำนัลแด่ผู้ฉีกกรอบ - Creativity

เมื่อเป็นโปรแกรมเมอร์ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ชีวิตของคุณจะต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างศาสตร์และศิลป์ คุณต้องมีเหตุผลแต่คุณก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ผสมปนกันไปมันเป็นอะไรที่โคตรจะยาก การจะอยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่งที่ต่างกันสุดขั้ว เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ จะทำยังไงให้สร้างสรรค์อะไรที่แตกต่าง อะไรที่ดูแล้วร้องว้าว เลยไปลองสุ่มหาชื่อหนังสือในเว็บขายหนังสือจนเจอหนังสือชื่อ พลังสร้างสรรค์ ของกำนัลแด่ผู้ฉีกกรอบ ซึ่งพอเห็นปกก็ร้องอ๋อเลยเพราะเป็นหนังสือในชุดของ OSHO ซึ่งเคยอ่านไปแล้วเล่มนึงเรื่องอิสรภาพซึ่งเนื้อหาอ่านยากแต่เปิดมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับการมองโลกเลยลองสั่งซื้อมาอ่านดู

นามธรรม เปรียบเทียบ และ ไม้บรรทัดที่เป็นวิทยาศาสตร์

เป็นไปตามคาดครับหนังสือของ OSHO นั้นอ่านยากจริง แถมยากกว่าเล่มแรกอีกคงเป็นเพราะคำว่าอิสรภาพเข้าใจง่ายกว่า (ไว้ว่างๆจะมีเขียนถึงเล่มนั้น) แต่พอมาเรื่องความสร้างสรรค์ซึ่งเราไม่เข้าใจอยู่แล้วเราเลยยิ่งมืดแปดด้าน อ่านแต่ละบรรทัดมีแต่อะไรที่เป็นนามธรรม การเปรียบเทียบ ตัวเรื่องจะยกตัวอย่างพวกเรื่องเล่า นิทาน นิยาย หรือ เรื่องของบุคคลในประวัติศาสตร์มายกตัวอย่าง ซึ่งอ่านไปบางท่อนบางตอนก็โคตรจะขัดแย้งกับหลักที่เราคิด และยึดถือปฏิบัติมากมาย บางตอนนี่ถ้าคนเคร่งศาสนาหรือศีลธรรมมเยอะหน่อยนี่ อาจจะอยากปาทิ้งหรือฉีกเอาง่ายๆ ตัวผมเองก็มีบางตอนที่รู้สึกแบบ ดูถูกศาสตร์บางศาสตร์เกินไปรึเปล่า บางทีก็ยกย่องบางคนซะออกหน้าออกตา บางคนกลับดูถูกเขาซะไม่มีชิ้นดี ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจว่า OSHO เอาอะไรเป็นไม้บรรทัดวัดค่าของงานสร้างสรรค์แต่ละงาน เช่น ภาพของแวนโก๊ะในสายตาผมแม่งโคตรจะแบบ โอ แล้วไง ถ้าเทียบกับภาพที่เพื่อนผมเคยวาดเมื่อตอนประถมผมว่ามันสวยกว่าเสียอีก แต่ OSHO กลับยกย่องซะแบบนี่แหละภาพที่สุดยอดมีความหมาย คือเหมือนแกคิดเองเออเองเป็นส่วนใหญ่ หรือผมอาจจะเข้าไม่ถึง OSHO เองก็ได้ แต่เขาก็เขียนไว้ดีว่า เราตัดสินคนอื่นจากตัวของเรา เราไม่มีทางรู้จักคนอื่นได้ดีกับตัวเขาเองหรอก ดังนั้นผมก็เลยคิดว่าปล่อยเรื่องที่ OSHO เขาคิดยังไงทิ้งไป มันคงไม่มีคำตอบและไม่มีใครตอบได้เพราะ OSHO ตายไปแล้ว

ความคิดสร้างสรรค์มีในเด็กทุกคน

อ่านไปเรื่อยๆจนเจอตอนนึงพูดถึงความคิดสร้างสรรค์นั้นมีอยู่ในเด็กทุกคน เด็กทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์เสมอ ซึ่งพออ่านตามไปเรื่อยก็เจอว่าจริงนะ ผมนึกถึงตัวเองตอนเด็กวาดภาพอย่างสนุก ลากเส้นต่อกันเป็นบ้าน ระบายสีบ้านเป็นสีเหลือง ระบายพระอาทิตย์เป็นสีฟ้า วาดนกประหลาดๆ ตอนเราเป็นเด็กเราไม่มีอะไรมาครอบ มาสั่งสอน มากีดกันความคิด อะไรก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งจริงๆ OSHO บอกว่ามันไม่ใช่อะไรที่ทำนอกกรอบ แต่เป็นการทำอะไรที่ใจเรานึกถึงตอนนั้นไม่มีอะไรมากั้นขวางต่างหาก ไม่มีคนมาบอกเราว่าพระอาทิตย์ต้องสีแดงแล้วมีแฉกสีเหลือง บ้านต้องเป็นเหลี่ยม นกต้องเป็นอย่างนั้น และจริงๆแล้ว ความคิดสร้างสรรค์คือการที่เราทำสิ่งนั้นอย่างสนุก ไม่ได้คิดถึงชื่อเสียง เงินทอง ทำแล้วจดจ่อกับมัน เพลิดเพลินไปกับมันนั่นแหละคือความสร้างสรรค์ พอถึงจุดนี้มันทำให้ผมนึกถึงตอนที่ผมหัดเขียน Program ใหม่ๆ ตอนนั้นอะไรก็สนุกไปหมด เรามีหนังสือสอน Syntax แต่ไม่มีหนังสือสอนวิธีการแก้ปัญหา เราสนุกกับการคิดค้นวิธีไปเรื่อยๆ การแก้ปัญหาสนุกสุดมันส์ จำได้ว่าตอนแก้ปัญหาด้วย Recusive เป็นอะไรที่สนุกมาก คือไม่รู้ว่าอะไรคือ Recursive แต่ตอนนั้นลองเล่นเอา Function เรียกตัวเอง แล้วแบบเฮ้ยมันทำได้ด้วยว่ะ ถ้างั้นลองเอามาทำแบบนี้ดูสิ ผสมปนเปไปเรื่อยๆ มันเป็นอะไรที่สนุกมาก ความรู้สึกในตอนนั้นคงจะเป็นความรู้สึกที่ OSHO อาจจะกำลังบอกก็ได้ เวลาที่เราทำอะไรบางอย่างอย่างสนุกสนาน จิตใจจดจ่ออยู่กับมัน ไม่มีเงินทอง ชื่อเสียง หรืออะไรมาบีบบังคับ นี่คงเป็นสิ่งที่เรียกว่าสร้างสรรค์ เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรใหม่ เราแค่ทำมันอย่างสนุกสนาน อย่างจดจ่อ แค่นั้นก็เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์แล้ว ไม่ว่าจะโปรแกรมเมอร์ คนล้างจาน ชาวนา อาชีพไหนๆก็มีความสร้างสรรค์ได้ทั้งนั้น

อ่านแล้วได้อะไร

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วได้อะไรเหรอ บอกตามตรงว่าไม่ได้สิ่งที่เรียกว่าความสร้างสรรค์ที่ผมต้องการเลย ผมอยากได้วิธีสร้างสรรค์งานแบบฉีกกรอบ แหวกแนว ดูแล้วว้าว แต่สิ่งที่ได้จากเล่มนี้กลับเป็นอะไรที่สุดยอดมากกว่า การที่ทำให้เราจำได้ว่า ความรู้สึกสนุกตอนนั้นคืออะไร แล้วทำยังไงถึงจะเอามันกลับมา การละทิ้งความยึดมั่นถือมั่นบางอย่าง กลายเป็นคนที่ว่างเปล่าที่พร้อมจะรับทุกอย่าง วิธีที่จะกลับไปมีความรู้สึกแบบเด็กอีกครั้ง แต่ข้อเสียของหนังสือก็เยอะเหมือนกัน อย่างแรกเลยคือ่านยาก อย่างที่สองคือมีเนื้อหาที่ค่อนข้างขัดกับแนวคิดที่เราเชื่อถืออยู่ การวัดค่าอะไรมาจากใจของ OSHO ล้วนๆไม่มีอะไรที่อ้างอิงได้วิทยาศาสตร์ อ่านๆไปอยากจะฉีกทิ้งก็มี ดังนั้นผมแนะนำว่าเวลาอ่านหนังสือเล่มนี้หรือหนังสือของ OSHO พยายามลืมทุกอย่างที่เรียนมา ปล่อยมันทิ้งไป แล้วทำความเข้าใจกับมัน เพราะมันไม่ใช่วิทยาศาสตร์แต่เป็นอะไรที่ต้องใช้ความรู้สึก