Hike News
Hike News

ซีมัวร์ - Raise high the roof beam, carpenters and seymour, an introduction

ซีมัวร์ - Raise high the roof beam, carpenters and seymour, an introduction

“ซีมัวร์” แค่ชื่อนิยายก็ไม่ได้ดึงดูดความสนใจละ (คุณลองไปดูชื่อนิยายสมัยใหม่สิ มันต้องอลังการ) แต่ที่ผมเลือกมาอ่านเนี่ยก็เพราะผู้แปลคือคุณปราบดาหยุ่นซึ่งผมเข้าใจว่าแกชอบแปลนิยายแปลกๆ ซึ่งก็สมใจครับนิยายเรื่องนี้แปลกมาก โดยตัวนิยายแบ่งเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกเป็นบันทึกของชายคนหนึ่งซึ่งมีพี่ชายชื่อ “ซีมัวร์” โดยในบันทึกเล่าถึงการไปงานแต่งงานของพี่ชายเขา ในส่วนนี้ผมบอกเลยว่าโคตรสนุกลุ้นและน่าติดตามมากๆว่า ตัวชายหนุ่มจะทำยังไงในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ อีกทั้งยังมีเรื่องน่าสงสัยต่างๆเกี่ยวกับซีมัวร์ที่ผู้แต่งโปรยทิ้งไว้ตลอดเรื่อง ส่วนที่สองจะเป็นการเขียนโดยชายหนุ่มคนเดิมแต่เป็นการเขียนอธิบายเกี่ยว “ซีมัวร์” พี่ชายของเขาว่าเป็นคนอย่างไร โดยส่วนนี้เป็นอะไรที่แหวกมากในงานเขียน ผมพึ่งเคยเจองานเขียนที่เหมือนจะ Breaking the Fourth Wall (มันคือการคุยกับผู้ชม ผู้อ่าน เหมือน Dead pool คุยกับคุณอะ) แบบตลอดทั้งเรื่อง คือตัวชายหนุ่มที่เขียนนั้นเหมือนจะเล่าเรื่องผสมกับคุยกับเราอยู่ตลอดเวลา แตกต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆที่พยายามเล่าแต่ตัวเรื่อง บรรยายสภาพต่างๆ

งานแต่งของพี่ชาย

ส่วนนี้เป็นส่วนแรกของเรื่องจะเป็นพูดถึงตัวชายหนุ่มซึ่งเป็นน้องชายของ “ซีมัวร์” ที่ต้องไปงานแต่งของพี่ชายตัวเองแบบไม่เต็มใจเท่าไหร่เพราะตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ แต่ก็ต้องไปเพราะคนอื่นๆในครอบครัวนั้นไม่ว่าง และตัวซีมัวร์เองไม่ได้บอกคนอื่นๆนอกจากคนที่ติดธุระไปไม่ได้มาลงเอยที่ตัวชายหนุ่มที่ต้องพาสังขารที่เจ็บป่วยไป แต่งานแต่งที่ธรรมดากลับกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาก็ตรง “ซีมัวร์” ไม่ยอมไปงานแต่งครับ และอยู่ดีๆก็โทรมาแจ้งว่าให้ย้ายไปที่อื่นแทน ซึ่งพูดถึงตรงนี้คุณคงรู้แล้วนะครับว่ามันจะเลวร้ายขนาดไหน แล้วนอกนึกภาพตามว่าตัวเอกที่เป็นชายหนุ่มซึ่งเป็นญาติคนเดียวของฝ่ายเจ้าบ่าวในงานนั้นจะเป็นยังไง แต่ก็โชคดีครับที่ตัวเอกของเรายังไม่เปิดตัวว่าตัวเองเป็นใครเลยรอดตัวไปในงาน แต่ตอนที่ต้องย้ายจากงานไปสถานที่ใหม่เนี่ยตัวเองนั้นดันไปโดยสารร่วมกับเพื่อนเจ้าสาวหัวรุนแรงทำให้บทสนทนาบนรถนั้นดุเดือดและรุนแรงไปกับการต่อว่า “ซีมัวร์” ผู้เป็นเจ้าบ่าว รวมไปถึงพฤติกรรมแปลกๆของเขา ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้นี่มันโคตรลุ้นและสนุกไปกับการที่ตัวเอกนั้นจะตอบโต้แก้ต่างให้พีชายยังไงและสุดท้ายสถานการณ์นี้จะจบลงยังไง

เกี่ยวกับซีมัวร์

ส่วนนี้เป็นส่วนที่สองของนิยายเล่มนี้จะเป็นการที่ตัวเอกคนเดิมในเรื่องแรกซึ่งตอนนี้เป็นนักเขียนแล้วกำลังเขียนหนังสือที่เล่าเกี่ยวกับ “ซีมัวร์” พี่ชายของเขา โดยลักษณะการเขียนของเขาเป็นแนวเล่าอดีตของเขากับพี่ชาย รูปร่างหน้าตา ลักษณะนิสัย รวมถึงนิสัยแปลกประหลาดของ “ซีมัวร์” โดยรูปแบบการเขียนช่วงนี้จะเป็นแบบเล่าและคุยกับอ่านไปด้วย ซึ่งการในการเล่านี้จะมีการจิกกัดในหลายๆเรื่องไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงนักอ่านประเภทต่างๆที่ตัวชายหนุ่มแบ่งกลุ่มไว้ การที่คนมักจะสนใจศิลปินที่มีลักษณะผิดแผกแตกแยกจากคนอื่น เช่น นักแต่งเพลงหูหนวก นักวาดรูปที่ฆ่าตัวตาย ศิลปินที่ชอบเล่นชู้ มากกว่าศิลปินที่ทั่วไป บางที่ถึงกับยกให้เป็นตำนานเลยทีเดยว การพูดถึงเรื่องกฏองก์ 3 ที่เป็นพื้นฐานของการเล่าเรื่องที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย (โดยส่วนตัวสำหรับผมส่วนนี้ไม่ได้ใช้กฏองก์ 3 แต่อย่างใด แกเขียนเล่าไปเรื่อยเปื่อยเลย)

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับเรื่องนี้อ่านแล้วได้เห็นวิธีการทำให้เรื่องเล็กๆน้อยๆที่ไม่ใช่มหากาพย์เป็นเรื่องเป็นราวได้อย่างสนุกและลุ้น การวางความสงสัยต่างๆแบบไม่จงใจแต่ทำให้เราสนใจและอยากติดตามจนไม่อยากวางหนังสือลงเลย อีกอย่างที่ได้คือการเขียนในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นคือการคุยกับผู้อ่านไปด้วยในการเขียน การจิกกัดแบบตรงไปตรงมา ซึ่งผมชอบเอาเสียมากๆจนเอาไปใช้กับงานเขียนของตัวเองแล้ว (แต่ไม่รู้คนอ่านจะชอบเหมือนกับที่ผมชอบรึเปล่า)

ส่วนข้อเสียของการอ่านเรื่องนี้คือในส่วนที่สองที่เล่าเกี่ยวกับ “ซีมัวร์” นั้นสำหรับผมนั้นไม่ค่อยน่าติดตามเท่าส่วนแรก คือคุณสามารถอ่านแล้ววางลงเมื่อไหร่ก็วางเพราะเนื้อเรื่องมันไม่ได้ต่อกันมากมายนัก ซึ่งผมก็เข้าใจว่าคนเขียนเขาตั้งใจจะให้เป็นอย่างนั้นด้วย

สำหรับใครที่สนใจอ่านนิยายสนุกๆที่เล่นกับเรื่องธรรมดาที่เจอได้ในชีวิต หรืออยากอ่านงานเขียนที่ใช้วิธีการเขียนแบบไม่มาตรฐานเพื่อลดความน่าเบื่อในการอ่านนิยายที่เล่าด้วยวิธีเดิมๆ บรรยายเยอะๆจนน่าเบื่อ ประหนึ่งการได้ดูหนังเรื่อง Monty Python and the Holy Grail ที่จะทำให้คุณสนุกจนลืมโลกเลย

The journey to the east - ท่องตะวันออก

The journey to the east - ท่องตะวันออก

The journey to the east - ท่องตะวันออกThe journey to the east - ท่องตะวันออก

ท่องตะวันออกเป็นหนังสือที่ถูกแต่งโดย Hermann Hesse ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่แต่งเรื่อง “สิทธารถะ” ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีมากดีจนผมซื้อให้เพื่อนและคนที่ชอบอ่านมาแล้วหลายเล่ม ซึ่งท่องตะวันออกนั้นเล่าถึงกลุ่มสันนิบาตผู้ที่เดินทางไปตะวันออกเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง

กลุ่มสันนิบาต

เรื่องเริ่มด้วยชายที่ชื่อ ฮ.ฮ. (ไม่ได้บอกชื่อจริงแต่คงจะแทนตัวผู้แต่งนั่งเอง) กำลังเล่าเกี่ยวกับกลุ่มลับกลุ่มหนึ่งซึ่ง ฮ.ฮ. เรียกว่ากลุ่มสันนิบาต โดยกฏของเหล่าสันนิบาตนั้นมีมากมายหลายข้อแต่ข้อที่สำคัญคือห้ามบอกเรื่องของกลุ่มสันนิบาตให้คนนอกรู้ (เหมือนหนังเรื่อง Fight club เลย ซึ่งผมก็งงว่าคนมันมาเพิ่มในกลุ่มได้ยังไง) ฮ.ฮ. ได้เล่าว่าเขาเคยเป็นสมาชิกของกลุ่มสันนิบาตซึ่งเคยเดินทางไปตะวันออกมาแล้ว พร้อมเล่ารายละเอียดต่างๆของคนในกลุ่มสันนิบาตนั้นเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น คนในกลุ่มสันนิบาตนั้นมีหลากหลายตั้งแต่ คนดำ คนขาว คนผิวเหลือง เด็ก หนุ่ม แก่ ผู้ชาย ผู้หญิง คนตะวันออก คนตะวันตก คนยิว คนอิสลาม หรือจะว่าง่ายๆก็คือเป็นใครก็ได้บนโลกใบนี้ ต่อมาคือแต่ละคนในสันนิบาตนั้นจะต้องมีเป้าหมายสูงสุดของตนเอง ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของแต่ละคนนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ บางคนคือการเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “เต๋า” บางคนคือการได้ดื่มไวน์ชั้นเลิศในตำนาน บางคนคือการได้จุมพิตหญิงงามที่ตนใฝ่ฝัน ซึ่งแปลว่าเป้าหมายจะเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่คนคนนั้นจะต้องการ ทางสันนิบาตนั้นไม่บังคับแต่อย่างใด แต่สุดท้าย ฮ.ฮ. ก็บอกว่าคณะเดินทางของเขานั้นไปไม่ถึงตะวันออกพร้อมกับถูกขับออกจากกลุ่ม

การเดินทางไปตะวันออก

ฮ.ฮ. การเดินทางไปตะวันออกว่าพวกเขาจะเดินทางไปเรื่อยๆ เมื่อเจอสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใดก็จะเข้าไปสวดภาวนาทุกที่ ทำความรู้จักกับคนแถวนั้น บางครั้งก็มีการเฉลิมฉลอง กินเหล้า ร้องเพลง สนุกสนานกัน แต่เรื่องที่น่าแปลกของการเดินทางไปตะวันออกคือ การเดินทางไปนั้นเหมือนจะไม่ได้เดินทางในปัจจุบันอย่างเดียว แต่มันรวมถึงการเดินทางไปในอดีตด้วย เพราะ ฮ.ฮ. ได้เล่าว่าเขาได้ไปร่วมจัดงานเลี้ยงกับคนในยุคกลางเลยทีเดียว และที่น่าแปลกอีกอย่างคือการเดินทางของกลุ่มนั้นเหมือนข้ามไปข้ามมา บางครั้งพวกเขาอยู่ที่ยุโรป อีกวันพวกเขาก็ไปโผล่ที่อินเดีย โผล่ไปโผล่มาแบบงงๆ

อ่านแล้วได้อะไร

ท่องตะวันออกเล่มนี้สำหรับผมนั้นอ่านยากมากครับ อาจจะยากที่สุดในทุกเล่มของ Hermann Hesse ที่ผมเคยอ่าน เนื่องจากเขาอ้างอิงถึงแนวคิดหรือบุคคลต่างๆในประวัติศาสตร์ซึ่งผมไม่รู้จักเลย อีกทั้งในเล่มนี้มีการเปรียบเทียบเยอะมาก แถมเข้าใจยากกว่าสิทธารถะหลายเท่าเลย ในส่วนของตอนจบผมยังไม่เข้าใจเลยว่าเขาเปรียบเทียบกับอะไร แต่หลายๆเรื่องก็พอเข้าใจได้ว่าเขาหมายถึงอะไร ตัวอย่างเช่น การเดินทางไปตะวันออกก็คือการเดินทางไปหาจุดหมายที่ตนเองเชื่อ หรือ เป้าหมายทางจิตใจของแต่ละคน ส่วนการแวะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆนั้นหมายถึงการเรียนรู้ความแนวคิด หลักการ ศรัทธาของที่ต่างๆ ซึ่งจะตรงกับการที่การเดินทางของกลุ่มนั้นไม่เป็นเส้นตรงตามเวลาและสถานที่ ส่วนการถูกขับไล่ออกจากกลุ่มก็คือการเลิกที่จะเดินทางไปถึงจุดหมาย ซึ่งแต่ละคนก็มีเหตุผลของตัวเองเช่น คิดว่ามันไม่มีจริง คิดว่าไร้สาระ คิดว่าเอาความตั้งใจตรงนี้ไปทำอย่างอื่นน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งสำหรับผมโดยสรุปแล้วท่องตะวันออกกำลังเล่าเรื่องการเดินทางค้นหาการบรรลุทางจิตใจนั่นเอง

แต่ทั้งหมดนั่นคือการตีความของผม ผมอาจจะตีความผิดไปก็ได้ ท่องตะวันออกอาจจะเป็นอะไรที่ลึกล้ำกว่านั้นก็ได้ อีกทั้งผมก็ยังไม่ได้บอกว่าตอนจบของเรื่องเป็นยังไง เหตุใดทำไม ฮ.ฮ. ถึงถูกขับไล่ เขาจะกลับเข้ากลุ่มสันนิบาตได้อีกหรือไม่ ลองไปหามาอ่านกันดูครับ รับรองความสนุกในการตีความ

สเตปเปนวูล์ฟ - Steppenwolf

สเตปเปนวูล์ฟ - Steppenwolf

สเตปเปนวูล์ฟ แค่ชื่อหนังสือก็ดูแปลกๆแล้วมันเกี่ยวกับอะไรวะแถมปกก็ดูแบบไม่สื่ออะไรเกี่ยวกับตัวเรื่องเลย ถ้าโดยปกติแล้วผมคงไม่หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน (ผมพึ่งมาเข้าใจว่าทำไมปกกับชื่อเรื่องถึงสำคัญก็ตอนที่หนังสือมันมีเยอะมากๆและเรามีเวลาน้อย) แต่ด้วยเรื่องนี้ถูกเขียนโดย Hermann Hesse คนเดียวกับที่เขียน สิทธาระถะ , นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์ ที่อ่านแล้วได้เห็นโลกในมุมใหม่ๆก็เลยเลือกยืมมาอ่าน ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเพราะสเตปเปนวูล์ฟนั้นได้ให้มุมมองแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ชี้ให้เห็นความบ้าคลั่งของจิตใจ ซึ่งผมบอกเลยว่า Hermann Hesse นั้นเข้าใจสภาพจิตใจของคนที่เป็น “สเตปเปนวูล์ฟ” ได้อย่างถ่องแท้และอธิบายได้เห็นภาพจริงๆ

ชายผู้อยากฆ่าตัวตาย

สเตปเปนวูล์ฟพูดถึงตัวเอกที่ชื่อแฮรี่ผ่านบันทึกของเขาที่ได้ทิ้งไว้ก่อนที่จะย้ายออกไปโดยไม่บอกกล่าว โดยบันทึกนั้นเล่าเกี่ยวกับสภาพจิตใจความคิดประสบการณ์บางอย่างของเขาในช่วงที่มาพักอยู่ในเมืองที่เขาได้ทิ้งบันทึกไว้ ตัวบันทึกอธิบายว่าแฮรี่นั้นเป็นชายอายุ 40 ปลายๆร่างกายไม่แข็งแรงเป็นโรคเก๊าท์ มีฐานะดีประมาณว่าเขาไม่ต้องทำงานก็สามารถอยู่ได้ไปจนตาย หากตัดปัญหาเรื่องสุขภาพทิ้งแฮรี่ควรจะเป็นบุคคลที่น่าจะมีความสุขที่หลายคนอิจฉาเพราะไม่ต้องทำงาน อยากจะพักผ่อนไปเที่ยวไหนก็ได้ตามใจปรารถนา แต่ในความจริงแฮรี่นั้นมีปัญหาทางด้านจิตใจ เขาคิดต้อการอยากจะฆ่าตัวตายอยากจะจบชีวิตลง ซึ่งหากมองในมุมนี้เราอาจจะมองว่าแฮรี่เป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่า จริงๆแล้วเขาไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าครับ การที่เขาอยากฆ่าตัวตายนั้นมีผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผลไม่ใช่การฆ่าตัวตายเพียงเพราะฮอร์โมนในร่างกายไม่ปกติ

การต่อสู้กันของสองวิญญาณ

แฮรี่อธิบายว่าตัวเขานั้นเป็นสเตปเปนวูล์ฟหมาป่าเดียวดาย เขาอธิบายว่าคนหมู่มากในสังคมนั้นเป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางถ้ามองในฐานะก็คือคนที่มีอันจะกินแต่ก็ไม่ได้รวยระดับขุนนาง พอมีพอกิน มีบ้านเป็นของตัวเอง ส่วนในเรื่องของจิตใจนั้นชนชั้นกลางก็คือกลางจริงๆคือ คนกลุ่มนี้จะไม่มัวเมาลุ่มหลงในกิเลสตัณหาจนถอนตัวไม่ขึ้น แต่เขาก็ไม่พยายามไปถึงการหลุดพ้นตามความเชื่อทีต้องใช้ความพยายาม ความอุสาหะ ชนชั้นกลางจะอยู่กลางๆ ไม่ลุ่มหลงมัวเมาแต่ก็ไม่อยากหลุดพ้น ฉันขอมีความสุขอยู่ในสภาพแบบนี้ ดังนั้นชีวิตของชนชั้นกลางจะเหมือนถูกดึงไปดึงมาด้วยด้านดีและด้านไม่ดี แต่คนส่วนใหญ่นั้นสามารถจัดการการถูกดึงไปดึงมานี้ได้โดยง่าย แต่แฮรี่นั้นต่างออกไปเขานั้นรู้สึกได้ว่าตัวเขานั้นมีการต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือหมาป่าผู้มีความดิบเถื่อน อยากจะอิสระ ไม่แคร์ใคร อยากกระทำตามความรู้สึก จะไม่ทนต่อมารยาท วัฒนธรรมใดๆ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายมนุษย์ ผู้มีมายาท นึกถึงคุณงามความดี ฝักใฝ่ด้านจิตวิญญาณ ทุกครั้งไม่ว่าเรื่องใดจะมีการต่อสู้ของทั้งสองฝั่ง บางครั้งฝั่งหนึ่งก็ชนะแต่ไม่ใช่การชนะที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ฝ่ายแพ้แค่หลบซ่อนรอช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อที่จะออกมาแย่งชิงการกระทำและความคิดของแฮรี่

ด้วยสภาพแบบนี้แฮรี่จึงแตกต่างจากคนอื่นแปลกแยกจนกลายเป็นสเตปเปนวูล์ฟนั่นเอง และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนขั้วการความคิดอย่างรุนแรงตัวอย่างเช่น การละทิ้งศรัทธาความเชื่อกลายเป็นคนไร้ศีลธรรม แฮรี่จะทุกข์ทรมานกับการสูญเสียศรัทธาและความเชื่อนั้น แต่ไม่นานเขาจะมีความสุขมากกว่าเดิมเมื่อเขาได้เริ่มมีศรัทธาใหม่ ซึ่งเป็นศรัทธาที่มั่นคงกว่าลึกซึ้งกว่า แต่ไม่นานศรัทธานั้นก็จะถูกทำลายทำให้เขากลับไปทุกข์ทรมานซ้ำอีกและมันจะทุกข์ทรมานมากกว่าครั้งที่แล้ว แฮรี่บอกว่าเขาพบเจอกับประสบการณ์นี้ซ้ำไปซ้ำมาจนเขาคิดว่าเขาไม่อยากจะอยู่ในวังวนนี้อีกต่อไปแล้ว เขาจึงคิดว่าเขาควรจะจบชีวิตตัวเองซะเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากวังวนนี้

โรงละครสำหรับคนบ้า

แฮรี่ได้พบกับสิ่งที่เรียกว่าโรงละครสำหรับคนบ้าจากประสบการณ์แปลกๆที่เขาได้เห็นตัวอักษรเรืองแสงประหลาด ชักนำให้เขาได้พบกับหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเขียนเกี่ยวกับชายคนหนึ่งซึ่งมีอาการแบบเดียวกับแฮรี่เลย แต่ในหนังสือตอนหลังนั้นกลับหัวเราะกับคนที่คิดแบบแฮรี่ ในหนังสือบอกว่ามันง่ายที่คุณจะบอกว่าคุณมีแค่ 2 วิญญาณ จริงๆแล้วคนเรามีวิญญาณมากมาย มีบุคลิกมากมายนับไม่ถ้วนอยู่ในตัวเรา แค่มองไปที่หมาป่า หมาป่าก็มีตั้งแต่หมาป่าที่ดุร้ายสุดๆ แต่มันก็มีหมาป่าที่ไม่ดุร้าย หมาป่าที่ขี้กลัว ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องบ้ามากๆที่คุณจะบอกว่าคุณมีแค่ 2 วิญญาณ จากนั้นเหตุการณ์แปลกๆนำพาเขาไปพบกับเรื่องราวๆต่างๆที่นำพาเขาไปสู่การเรียนรู้ชีวิตที่เขาไม่เคยเห็น ไม่เคยเป็น และนำพาเขาไปพบโรงละครสำหรับคนบ้า

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับผมเรื่องนี้อ่านแล้วเหมือนเห็นภาพสะท้อนของตัวเอง เป็นคนที่เหมือนจะมีสองขั้วอำนาจสู้กัน มันไม่ใช่ขั้วอำนาจแบบคนดีคนไม่ดีจะทำการบ้านไม่ทำการบ้าน แต่มันเป็นขั้วอำนาจเหมือนในเรื่อง ตอนที่แฮรี่อธิบายการล่มสลายของศรัทธา ผมนี่เข้าใจมันเป็นอย่างมากเพราะเคยมีศรัทธานั้นและศรัทธานั้นล่มสลายไปเพราะด้านหมาป่านั้นทำให้ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นมาเป็นหน้ากากใส่หากัน มันเป็นความเจ็บปวดที่สิ่งที่เราศรัทธาเชื่อถือปฏิบัติตามนั้นเหมือนเรื่องโกหกมันเจ็บปวดจริงๆ แต่ผมก็ยังไม่ถึงขั้นแฮรี่ที่สามารถนำศรัทธากลับคืนมาได้และทำให้มันสูญสลายอีกครั้ง

การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนการทำความเข้าใจตัวเอง เห็นตัวเองและสิ่งที่ตัวเองอาจจะเป็น แต่ที่ดีกว่านั้นคือหนังสือได้ให้มุมมองใหม่ มุมมองที่ว่าเราไม่ได้มีแค่สองขั้ว ยังมีอีกหลายวิญญาณที่เราเป็นได้ ไม่ได้มีแค่คนดีที่สุดและหมาป่า เราควรจะลองศึกษาและดูว่าตัวตนวิญญาณเหล่านั้นเป็นอย่างไร ลองทำความเข้าใจ เพื่อเป็นบทเรียนของชีวิต

สุดท้ายตอนจบเป็นยังไง แฮรี่จะตายไหม แฮรี่จะได้คำตอบของการใช้ชีวิตไหม และสุดท้ายคุณจะได้อะไรจากการอ่านหนังสือเล่มนี้นั้น ไปลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดูครับ ผมรับรองว่าคุณน่าจะได้อะไรมากกว่าความบันเทิงแน่นอน (อาจจะเป็นความปวดหัวในการตีความ)

พนิน - pnin

พนิน - pnin

หนังสือเล่มนี้ผมยืมมาแบบไม่รู้เลยว่าเนื้อหาข้างในคืออะไร รู้แค่ว่าคนแปลคือคุณปราบดาหยุ่นที่ผมพึ่งอ่านหนังสือเรื่องความน่าจะเป็นไปก็เลยคิดว่าหนังสือที่เขาแปลเนี่ยน่าจะเป็นหนังสือที่น่าสนใจ ซึ่งพอมาอ่านก็น่าสนใจจริงๆครับ พนินเป็นหนังสือที่เล่าถึงพนินคนรัสเซียที่อพยพย้ายสัญชาติมาอยู่ที่อเมริกาว่าเป็นอย่างไร ทั้งในมุมการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากที่เคยเป็น สไตล์การใช้ชีวิต เรื่องราวที่ทั้งตลกและเศร้าของเขา ซึ่งเมื่ออ่านแล้วจะมีความอยากรู้เรื่องต่างๆของพนินว่าจะเป็นยังไงต่อ หรืออดีตเขาผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่งบางตอนเล่นเอาวางไม่ลง

พนินเนี่ยน

เนื่องจากพนินเป็นชาวรัสเซียที่อพยพมาอยู่ที่อเมริกาดังนั้นลักษณะการใช้ชีวิต วิธีคิด วิธีการพูด ต่างๆนาๆของพนินนั้นย่อมไม่เหมือนกับชาวอเมริกา และพนินเองก็มีนิสัยเฉพาะมากมาย ซึ่งโดยรวมทั้งหมดแล้วทำให้มันกลายเป็นสไตล์การใช้ชีวิตแบบพนินเนี่ยน ซึ่งการเป็นพนินเนี่ยนนี่ทำให้เขาเป็นที่รักและเกลียดของคนที่ได้ใช้ชีวิตด้วย แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นชอบเสียมากกว่าดูได้จากเพื่อนร่วมงานหลายๆคนของพนิน

ลักษณะการของพนินเนี่ยนที่หนังสือเล่าให้ฟังก็มีตั้งแต่การพูดภาษาอังกฤษที่ไม่ค่อยชัด การสนใจอะไรแปลกๆเช่นการนั่งดูเครื่องซักผ้าทำงาน การขับรถแบบบ้าๆบอๆของแก แต่สิ่งหนึ่งที่แสดงความเป็นพนินได้มากที่สุดคือเขาเป็นคนที่มีจิตใจดีงามแบบอุดมคติดีจนแบบผมมองว่าเขาเป็นคนโง่เลยทีเดียว โดยถ้าอยากรู้ว่าคืออะไรผมแนะนำให้ไปลองหามาอ่านครับ ตอนอ่านนี่ผมกำหมัดแน่นเลย คือถ้าผมเป็นพนินผมว่ามันคงไม่จบแบบในเรื่องแน่นอน

การเล่าเรื่อง

การเล่าเรื่องของหนังสือเล่มนี้นี่แปลกมากคือมีหลากหลายมุมมอง ตั้งแต่การเล่าผ่านมุมมองของพนินเองว่าตนเองรู้สึกยังไง บางทีก็มีเล่าผ่านมุมมองของตัวละครปริศนาที่เหมือนจะเคยรู้จักกับพนินมาก่อน ซึ่งจากการที่มันมีการเล่าสองแบบมันทำให้งงบางครั้งว่าใครเป็นคนเล่า แต่มันก็ทำให้สนุกกับเรื่องเช่นกันเพราะมันให้หลากหลายความรู้สึกดี เช่น ถ้าเล่าจากบุคคลปริศนาเราจะไม่รู้ว่าจริงๆแล้วพนินกำลังคิดอะไรอยู่แบบจริงๆ เราจะได้คิดว่าพนินคิดอะไรอยู่กันแน่ แต่ถ้าเป็นพนินเล่าเองเราจะได้ดำดิ่งไปกับอารมณ์ของพนินได้เศร้าได้มีความสุขของเขา หรือเข้าใจว่าทำไมพนินถึงคิดแบบนั้น

การเปรียบเทียบ

ในเรื่องมีการพูดเปรียบเทียบอยู่หลายครั้งเป็นการเปรียบเทียบที่ง่ายๆแต่กินใจจนผมต้องย้อนกลับไปอ่านหลายครั้ง เช่น การเปรียบเทียบความเห็นแก่ตัวของตัวละครในเรื่องกับกระรอกที่มาร้องขอให้คนช่วยแบบยิ่งผยอง ซึ่งมันเห็นภาพเห็นแล้วทำให้รู้สึกโกรธ โกรธแบบจริงจังขึ้นมา เป็นการอ่านหนังสือไม่กี่ครั้งที่ทำให้โกรธได้ขนาดนั้น

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับเล่มนี้อ่านแล้วได้ความสนุกในการตามติดชีวิตของพนิน(จริงๆควรจะเรียกว่าโปรเฟสเซอร์พนินมากกว่า) ว่าเขาจะเป็นยังไงในเหตุการณ์ต่างๆ หรือตามไปดูอดีตของเขาว่าผ่านอะไรมาบ้าง ได้เข้าใจความรู้สึกของคนพลัดถิ่น เข้าใจความคิดคนที่พยายามรักษาคุณงามความดีตามความเชื่อของตัวเอง อีกเรื่องที่ได้จากเรื่องสไตล์การเขียนที่เล่าเรื่องที่สลับไปสลับมาอย่างลงตัว การใช้การเปรียบเทียบง่ายๆแต่ตรงจุดและเข้าถึงอารมณ์ ก็สำหรับใครอยากหานิยายสนุกๆอ่าน ไม่หนักจนเกินไปสบายๆ ผมก็แนะนำเรื่องนี้เลย

ความน่าจะเป็น

ความน่าจะเป็น

ผมไปหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพราะเห็นว่าได้รับรางวัลซีไรต์ ซึ่งตอนแรกก็รู้สึกกังขาอยู่เล็กน้อยว่า เฮ้ย มันจะดีจริงหรือวะแค่ชื่อเรื่องก็แปลกๆละ แถมไม่เคยได้ยินชื่อเลยด้วยต่างกับเรื่อง ซอยเดียวกัน อมตะ ตลิ่งสูงซุงหนัก ที่มีคนแนะนำและพูดถึง บางเรื่องถึงกับถูกแนะนำให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาเลยทีเดียว

แต่เมื่อได้ลองเปิดอ่านไอความรู้สึกกังขาตอนแรกนั้นหายไปในพริบตาและแทนที่ด้วยความประทับใจในสำนวนการเขียน วิธีการเล่าของผู้แต่งที่ทำให้เรื่องที่ดูธรรมดาดูสนุก บางเรื่องก็จิกกัดได้เจ็บแสบเล่นเอาบางคนอาจจะหน้าชา หรืออยากจะปาหนังสือทิ้งทันทีที่ได้อ่าน

เรื่องสั้น

หนังสือเรื่องความน่าจะเป็น เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของผู้แต่ง ซึ่งมีหลายเรื่องหลากหลายอารมณ์ ตั้งแต่เรื่องที่ชื่อว่าความน่าจะเป็นที่เป็นการเล่าเรื่องราวของคนคนหนึ่งตั้งแต่เด็กจนถึงวัยทำงานได้อย่างสนุก ลีลาการเล่านั้นยียวนชวนหมันไส้ แถมจิกกัดชีวิตมนุษย์ได้อย่างสนุก และสุดท้ายเขาสามารถขมวดปมเรื่องที่เล่าตั้งแต่แรกจนถึงตอนสุดท้ายได้อย่างสวยงามไร้ที่ติ ซึ่งผมมองว่าเรื่องนี้คือเรื่องเอกคือเรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้เลย แต่ส่วนตัวผมชอบเรื่องมารุตมองทะเลมากกว่าเพราะกวนตีนได้สุดดี อีกเรื่องที่น่าสนใจคือเรื่อง …. เอ่อผมจำชื่อเรื่องไม่ได้แต่เกี่ยวกับอากาศ ผู้แต่งเปลี่ยนวิธีการใช้คำในการอธิบายใหม่หมด เรียกได้ว่าถ้าเล่าแบบปกติมันจะเป็นเรื่องไม่มีอะไรเลย แต่ผู้แต่งเอามาเล่าโดยใช้วิธีการบรรยายแบบใหม่ ซึ่งอ่านแล้วสนุกมากจนทำให้เห็นว่าเรื่องไม่มีอะไร ถ้าคนเขียนมีชั้นเชิงมากพอก็สามารถทำให้สนุกและน่าสนใจได้

สำนวน

ผมยอมรับเลยว่าผมชอบสำนวนการเขียนขอขงผู้แต่งคนนี้มาก เพราะมันมีความยียวนกำลังดี แถมวิธีการบรรยายของเขานั้นแปลกใหม่ เช่น การบรรยายการปัสสาวะของผู้ชายให้น่าสนใจด้วยการเปลี่ยนวิธีการเรียกและการกระทำต่างเกี่ยวกับการปัสสาวะ ซึ่งเมื่อเราอ่านมันจะทำให้เราสนุกในการคิดตามว่าเขากำลังหมายถึงอะไร มันช่วยให้เรามีความพยายามนึกภาพสิ่งที่เขากำลังบรรยาย ซึ่งมันทำให้สนุกมากกว่าการอ่านการบรรยายธรรมดา

จิกกัด

หลายๆเรื่องในหนังสือเล่มนี้นั้นจะมีการจิกกัดพอเจ็บไว้มากมาย ตัวอย่างเช่น การหา concept ของเหล่านักเรียนสายศิลป์ ซึ่งจริงๆแล้วพวกเขาก็ไม่รู้ว่า concept คืออะไร บางคนก็ไปลอก concept คนอื่นแล้วบอกว่ามันเป็น concept ได้เช่นกัน concept จากแนวคิดคนอื่นเท่ห์ไหมล่ะ หรือการแซวเหล่านักเขียนคำคมซึ่งคนแต่งก็เขียนแซวตัวเองว่าเป็นพวกดีแต่เปลือก เขียนไปเรื่อยๆให้ดูเท่ห์ไปอย่างนั้นเองตัวจริงไม่ได้มีอะไรเลยเป็นต้น ซึ่งผมชอบการจิกกัดนี้นะเพราะมันทำให้เรามุมมองที่คนมักมองข้าม เช่นเรื่อง concept ที่เราไปยกย่องบูชาต่างๆนาๆแต่จริงๆมันก็แค่การตีความอะไรมั่วๆขึ้นมาก็เท่านั้นเอง

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับผมการอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเห็นวิธีการเขียนแบบใหม่ๆ สำนวนใหม่ๆที่ไม่คิดว่าจะสามารถเขียนได้ อีกทั้งเป็นหนังสือที่อ่านแล้วทุกเรื่องสนุกมากไม่มีเรื่องไหนไม่สนุกเลย ดังนั้นถ้าใครสนใจอยากหาหนังสืออ่านเอาสนุก ไม่เครียด และแฝงการจิกกัดแสบๆคันๆ ผมก็แนะนำหนังสือเล่มนี้เลยครับ

ปวงปรัชญาจีน

ปวงปรัชญาจีน

ถ้าคุณเคยดูหนังจีนคุณก็คงเคยได้ยินชื่อ เล่าจื้อ (บางที่เรียกเหลาจื้อ) , ขงจื้อ , ม่อจื้อ กันมาบ้าง ซึ่งในหนังก็จะพูดถึงแนวคิดพวกเต๋า หยินหยางต่างๆนาๆ แล้วก็เอาแนวคิดเหล่านั้นมาผสมเป็นพลัง หรือใช้ในการปกครองบ้านเมืองซึ่งก็สนุกดี แต่ไม่มีหนังเรื่องไหนพูดถึงหลักการของปรัชญาเหล่านี้แบบจริงจัง หรือแยกแยะว่าแนวคิดของเล่าจื้อกับขงจื้อแตกต่างกันอย่างไร บางคนยังเข้าใจว่าเล่าจื้อกับขงจื้อนั้นเป็นคนคนเดียวกันก็มี (เช่นผมเป็นต้น) พอได้มาเห็นหนังสือ “ปวงปรัชญาจีน” ก็เลยหยิบมาลองเปิดอ่านดู ซึ่งพอได้อ่านก็ได้รู้ว่าแนวคิดของจีนก็มีหลากหลายเช่นกัน แถมมีอะไรมากกว่าหยินหยางมากมาย

4 สำนักใหญ่ 8 อาจารย์

ปรัชญาจีนแบ่งออกเป็น 4 สำนักใหญ่ๆ สำนักเล่าจื้อ (เหลาจื้อ) สำนักขงจื้อ สำนักม่อจื้อ สำนักนิตินิม ซึ่งแนวคิดของทั้ง 4 สำนักจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ส่วนอาจารย์ที่มีอิทธิพลจะมีอยู่ 8 คน ได้แก่ เล่าจื้อ(เหลาจื้อ) ขงจื้อ ม่อจื้อ หยางจื้อ เม่งจื้อ จวงจื้อ ฮั่นเฟ่ยจื้อ โดยปรัชญาของจีนส่วนใหญ่นั้นจะเน้นการเอามาใช้งานในชีวิตจริงและใช้ในการปกครองคน ปรัชญาของจีนจึงไม่ได้เน้นค้นหาความจริงแบบปรัชญากรีก แต่เน้นว่าจะทำอย่างไรให้มนุษย์อยู่อย่างมีความสุขซึ่งเหตุผลที่ทำให้ปรัชญาของจีนเป็นแบบนี้นั้นเกิดจากการรบแย่งชิงดินแดนของแคว้นต่างๆ ถ้านึกไม่ออกก็ขอให้นึกถึงยุคที่จิ๋นซีฮ่องเต้รวมประเทศจีนเป็นหนึ่งเดียวนั่นแหละครับ แต่ละแคว้นทำกันสงครามกันไม่หยุดหย่อน ประชาชนก็ต้องทนทุกข์ทรมานกับสงคราม เหล่านักปราชญ์จึงพัฒนาปรัชญาของตนขึ้นมาเพื่อหวังจะให้แนวคิดของตนทำให้บ้านเมืองอยู่อย่างสงบสุข

สำนักเล่าจื้อ (เหลาจื้อ)

แนวคิดของสำนักเล่าจื้อนั้นคิดง่ายๆคือพยายามทำให้คนกลับไปอยู่กับธรรมชาติ ไม่ต้องมีคนมาคอยบังคับ ไม่ต้องเรียนให้มากความเพราะแนวคิดของเล่าจื้อเชื่อว่าการที่คนมีปัญหารบราฆ่าฟัน แก่งแย่งชิงดีกันก็เพราะว่าคนเรามีความรู้ พอรู้ก็จะใช้ความรู้นั้นหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง พอมากขึ้นมากขึ้นก็กลายเป็นเอาเปรียบไปคนที่ไม่รู้กลายเป็นแบ่งชนชั้นมากดีมีจนกันไป กฏระเบียบพวกภาษีต่างๆนาๆที่รัฐสร้างก็ไปบีบบังคับประชาชน ประชาชนพอไม่มีเงินไม่มีของไปจ่ายภาษี (สมัยก่อนจ่ายเป็นข้าวหรือผลผลิตต่างๆ) ก็กลายเป็นโจรออกปล้นฆ่าฟัน ผมว่าคงมีคงเคยได้ยินนิทานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับการตัดสินความคดีความที่คหบดีถูกโจรปล้นบ้านแล้วผู้ตัดสินบอกว่าคนผิดคือ คหบดีที่ไม่รู้จักแบ่งปันคนยากคนจน ทำให้คนจนต้องมากลายเป็นโจรปล้นเพื่อความอยู่รอด แนวคิดก็จะประมาณที่เล่าจื้อกำลังบอกเลยครับ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทำให้เล่าจื้อสนับสนุนให้คนอยู่กับธรรมชาติไม่ต้องเรียนรู้อะไรมาก สนับสนุนให้คนอยู่กันแบบสันโดษไม่ต้องสุงสิงกันมาก เท่านี้บ้านเมืองก็จะสงบสุขไปเอง

แต่ปัญหาเมื่อคนต้องอยู่ตัวคนเดียวคือความคิดครับ พออยู่คนเดียวจิตมันก็ฟุ้งซ่านมากมายไปหมด (ผมสามารถพูดคนเดียว คุยคนเดียวหลังจากการอยู่เกือบจะคนเดียวมา 5 - 6 ปี) เล่าจื้อจึงมีแนวคิดเกี่ยวกับเต๋ามาให้เราหยุดฟุ้งซ่านครับ แนวคิดเกี่ยวกับเต๋านั้นเป็นนามธรรมมากๆครับ แต่หลักๆคือพยายามให้คนอย่าฝืนธรรมชาติ เขาชอบเปรียบเทียบว่าน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำคนเราก็ไม่ควรฝืนธรรมชาติประมาณนั้น (ซึ่งก็นามธรรมอยู่ดี) แนวทางของเต๋าที่อธิบายแล้วพอเข้าใจได้จะเป็น “การทำโดยไม่ทำ” ตัวอย่างเช่น การทำความดีนั้นต้องไม่ทำเพื่อให้ตัวเองดูดีหรือหวังผลตอบแทน แต่ทำความดีเพราะความดีเป็นเรื่องปกติที่ควรทำเป็นต้น หรือ การทำงานในหน้าที่ต่างๆนั้นควรทำเพราะเป็นหน้าที่ต้องทำให้ดีไม่ใช่ทำเพื่อหวังตำแหน่งที่สูงขึ้น ลาภยศ เงินทองเป็นผลตอบแทน (ฟังดูขัดๆแต่เป็นแนวคิดที่ดี)

ในด้านการเมืองการปกครองเล่าจื้อมีแนวคิดที่ว่าผู้ปกครองต้องปกครองคนถูกปกครองรู้ว่ากำลังถูกปกครอง ว่าง่ายๆก็คือให้อิสระกับผู้ถูกปกครองไม่ต้องมีกฏหมายอะไรมาก แล้วก็ทำให้ประชาชนมีความสุขมีความมีน้ำเพียงพอให้กับประชาชน เพียงเท่านี้บ้านเมืองก็จะสงบสุขเอง

สำนักขงจื้อ

ด้านขงจื้อจะเน้นแนวคิดที่ว่าคนนั้นต้องได้รับการสั่งสอนให้ความรู้เพื่อให้เข้าใจว่าสิ่งที่ควรทำในสังคมคืออะไร โดยขงจื้อเชื่อว่าคนในสมัยก่อนนั้น (ในยุคก่อนขงจื้อมียุคของกษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งปกครองแผ่นดินด้วยคุณธรรม แทบไม่มีสงครามเลย เรียกได้ว่าเป็นยุคในอุดมคติของชาวจีนที่ต้องเจอกับสงคราม) ได้วางรากฐานประเพณีต่างๆมาได้ดีแล้วแค่คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจและไม่ทำตาม ตัวขงจื้อจึงได้ทำการศึกษาและรวบรวมประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติของคนในยุคนั้นขึ้นมาและนำมาสั่งสอนในยุคตน ก็ที่เราเห็นประเพณีการอ่อนน้อมถ่อมตน การเคารพผู้ใหญ่ ความแน่นแฟ้นในครอบครัวของคนจีนนั้นก็มาขงจื้อเนี่ยแหละ

ตามแนวคิดของขงจื้อนั้นเชื่อว่าคนเรานั้นโดยปกตินั้นเป็นคนดีแต่ด้วยความที่ขาดความรู้จึงทำสิ่งไม่ดี โดยเขามีความคิดคล้ายๆกับโซเครตีสที่ว่า การสิ่งที่ผิดโดยรู้ว่าสิ่งนั้นผิดนั้นดีกว่าการทำโดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด อ่านแล้วอาจจะแบบเฮ้ยมันจะไปดีกว่าได้ไงวะ ในเมื่อรู้แล้วว่าผิดยังทำ ทั้งขงจื้อและโซเครตีสให้เหตุผลว่า คนทำคนนั้นก็ยังรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด ถ้ามีโอกาสหน้าที่เขาอยู่ในสถานการณ์ที่เลือกได้เขาก็ย่อมไม่ทำ และยกตัวอย่างว่า ถ้ามีสิ่งผิดที่ผิดสองอย่างมาให้เลือก มนุษย์ส่วนใหญ่จะเลือกทำสิ่งที่ผิดน้อยกว่า ด้วยแนวคิดแบบนี้ขงจื้อจึงพยายามจะสอนให้คนสังคมเรียนรู้สิ่งว่าสิ่งใดดี สิ่งในไม่ดี ดีในที่นี้ของขงจื้อคือทำให้สังคมเป็นระเบียบ ไม่เดือดร้อน ก็จะเห็นว่าก็จะประมาณสอนให้เป็นคนจิตใจดีมีเมตตา รักความยุติธรรม รักษาสัจจะ ปฏิบัติตามหน้าที่ ซึ่งถ้าทุกคนทำได้บ้านเมืองก็จะสงบสุข

ในทางการเมืองการปกครอง ขงจื้อแนะนำให้รัฐนั้นให้การศึกษาแก่ประชาชนจะได้รู้ว่าสิ่งใดดีสิ่งใดไม่ดี จากนั้นก็พยายามทำให้ประชาชนมีอาหารกินบริบูรณ์ ว่าง่ายๆคือถ้าประชาชนมีกินไม่อดอยากก็จะไม่ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องทำไม่ดีซึ่งนั่นก็คือปล้นฆ่าเอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ถ้ารัฐทำได้เช่นนี้บ้านเมืองก็จะมีความสุข

อ่านแล้วได้อะไร

การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้เห็นภาพรวมคร่าวๆของปรัชญาของจีนว่ามีแนวคิดประมาณไหนบ้าง รู้ว่าเขาเน้นการนำมาใช้มากกว่าการพยายามตามหาความจริงเหมือนกรีก แนวคิดพื้นฐานของแต่ละสำนักนั้นเข้าใจง่ายและสามารถนำไปใช้ได้เลยอย่างไม่ยากจนเกินไป แต่ถามว่ามีช่องโหว่ไหมก็ต้องบอกว่ามีช่องโหว่เพราะมันไม่มีการนิยามแบบจริงจังแบบของกรีกมันเลยมีช่องโหว่ให้โจมตี ให้แหวกมากมาย แต่ก็อย่างที่บอกเขาเน้นเอาไปใช้ในสังคมไม่เอาไปยึดหาถูกหาผิดแบบตรรกะศาสตร์

ในส่วนที่ผมเล่าไปนั้นมีแค่ 2 สำนักเท่านั้นเพราะถ้าผมเล่าหมดคุณก็คงไม่ไปหามาอ่าน อีกทั้งผมไปอ่านบทความนึงมาเขาบอกว่าการมาสรุปหนังสืออะไรแบบนี้มันผิดกฏหมายในประเทศที่คนไทยจำนวนหนึ่งยกย่องว่าเจริญแล้ว ดังนั้นผมก็เลยไม่อยากทำผิดกฏหมายของประเทศที่เขาบอกว่าเจริญแล้วสักเท่าไหร่ (แต่ที่ทำอยู่ตอนนี้ก็ผิดแหละ) ก็เลยพยายามลดทอนไม่สรุปทั้งหมด สรุปให้อยากรู้แล้วไปหาอ่านต่อ ซึ่งอีก 2 สำนักที่เหลือคือ ม่อจื้อ และ นิตินิยมนั้นผมบอกเลยว่าเล่นเอาเล่าจื้อและขงจื้อดูกระจอกไปเลย ดังนั้นถ้าอยากรู้ว่าทั้ง 2 สำนักที่เหลือนั้นเป็นอย่างไรต่างกับเล่าจื้อกับขงจื้อขนาดไหน หลักการนั้นถูกส่งต่อมาถึงปัจจุบันแบบเล่าจื้อขงจื้อรึเปล่าก็ลองไปหามาอ่านดูครับ

Constellations - ฤกษ์รัก

Constellations - ฤกษ์รัก

Constellations - ฤกษ์รักConstellations - ฤกษ์รัก

คุณเคยคิดไหมว่าถ้าคุณตัดสินใจคนละอย่างกับที่ตัดสินใจจะเกิดอะไรขึ้นหรือจะมีคุณที่มีนิสัยแตกต่างจากคุณแบบสิ้นเชิง พอพูดมาถึงตรงนี้ทุกคนก็คงบอกว่าก็ทฤษฎีโลกคู่ขนานยังไงแบบ Multiverse ใน Marvel ใช่ครับแบบนั้นเลย ละครเวีทีเรื่อง Constellations - ฤกษ์รัก พูดถึงความเป็นไปได้ต่างๆของความรักของชายหญิงคู่หนึ่ง โดยเริ่มเล่าตั้งแต่การเจอกันครั้งแรกว่าลากยาวไปจุดท้ายของความสัมพันธ์ว่าจะเป็นไปอย่างไรได้บ้าง

เนื้อเรื่อง

เรื่องเริ่มต้นด้วยการเจอกันระหว่างตัวพระเอกนางเอกที่งานเลี้ยงบาบีคิวโดยเป็นฝ่ายนางเอกเข้าไปทักทายพระเอกก่อนซึ่งตัวพระเอกก็ตอบว่า “เอ่อ ผมมีแฟนแล้วครับ” จากนั้นก็ตัดไปที่ความเป็นไปได้ต่อไปที่ พระเอกยังไม่มีแฟนแต่ก็เดินหนีไปเพราะคิดว่าตัวนางเอกนั้นอ่อยมากเกินไป แล้วก็ตัดไปความเป็นไปได้อื่นต่อไปเรื่อยๆ เช่น ตัวนางเอกไม่อ่อยมากจนเกินไปและคุยกับพระเอกได้ แต่ก็คุยลำบากเพราะพระเอกไม่ต่อบทสนทนา ไปจนถึงความเป็นไปได้ที่พระเอกเป็นคนต่อบทสนทนาเองเลย จากนั้นเรื่องก็ตัดไปความเป็นไปได้หนึ่งที่พระเอกกำลังคุยกับนางเอกเกี่ยวกับปัญหาบางอย่างซึ่งตัวเรื่องไม่ได้บอกว่าปัญหานั้นคืออะไร แต่ปัญหานั้นใหญ่มากจนทำให้นางเอกไม่อาจทำงานต่อได้

เรื่องดำเนินตัดไปเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์การจีบกันของทั้งสอง ซึ่งเล่าความเป็นไปได้ต่างๆ ตั้งแต่นางเอกไม่พร้อมจะเป็นคู่รักกับพระเอกอยากเป็นแค่คู่นอน หรือจะเป็นความเป็นไปได้ที่ตัวฝ่ายนางเอกเองเชิญพระเอกมาอยู่ด้วยเลยก็มี พอผ่านฉากนี้ไปก็จะกลับมาตัดกลับมาเรื่องปัญหาของนางเอกอีกครั้ง

ตัวเรื่องจะเดินแบบนี้ไปเรื่อยๆคือสลับไปเหตุการณ์ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เช่น การนอกใจ การกลับมาคืนดี ขอแต่งงาน กับเรื่องปัญหาของนางเอก ซึ่งจะทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆของทั้งสองคนว่าเป็นไปแบบไหนได้บ้าง แต่สุดท้ายจะกลับเข้าเนื้อเรื่องหลัก (เพื่อกันเรื่องไม่มีจุดจบคือความเป็นไปได้ไหนไม่เข้าเนื้อหาหลักจะถูกตัดไปทันที) เนื้อหาหลักคือปัญหาของนางเอกซึ่งสุดท้ายเรื่องก็เฉลยว่านางเอกนั้นเป็นโรคเกี่ยวกับสมองทำให้ไม่สามารถพูดหรือคิดคำที่จะพูดออกมาได้และอีกไม่นานก็จะทำให้ตัวนางเอกตาย

จากนั้นเรื่องจะเริ่มเล่าความเป็นไปได้ของการที่พระเอกกับนางเอกจะรับมือกับโรคของนางเอกยังไง ซึ่งมีความเป็นไปได้มากมายตั้งแต่ ใช้วิธีการผ่าตัด การเปลี่ยนไปสื่อสารกันด้วยการใช้ภาษามือแทนการพูด หรือสุดท้ายไปจบที่ไม่รักษาแต่เลือกที่จะใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างไร ซึ่งสำหรับผมมันคือตอนจบสองแบบที่สุดจะประทับใจไม่ว่าตัวนางเอกกับพระเอกจะเลือกใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างไร ผมชอบประโยคที่นางเอกบอกในตอนจบว่า “เวลาของเธอยังมีเท่าเดิมไม่ว่ามันจะมีหรือไม่มีฉันก็ตาม” ส่วนตอนจบทั้งสองแบบเป็นยังไงก็ลองไปหาดูกันต่อได้ครับว่าจะจบยังไง

การแสดง

สำหรับเรื่องนี้ผมนับถือนักแสดงทั้งสองคนมากครับคือเขาสามารถเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกกันได้เร็วมากๆแบบ ความเป็นไปได้นี้ตัวนางเอกจะเป็นคนหวานๆ สักพักเปลี่ยนไปเป็นคนเปรี้ยวๆ สักพักเปลี่ยนไปเป็นสาวหวานอีกละ หรือในฉากที่เน้นอารมณ์ก็เปลี่ยนแสดงให้เห็นหลากหลายอารมณ์ตั้งแต่อารมณ์คุยกันเล่นๆ สักพักไปอีกความเป็นไปได้นี่ทะเลาะกันแบบจริงจังกะเอากันตาย คือทั้งหมดที่ว่านักแสดงทั้งสองคนสามารถเปลี่ยนอารมณ์ไปมาภายใจเวลาไม่ถึง 1 วินาที ใช่ครับ 1 วินาที (ในเรื่องจะใช้เสียงแฟลชกล้องเป็นตัวบอกว่ากำลังเปลี่ยนไปอีกความเป็นไปได้) แล้วแถมเป็นละครเวทีที่ไม่มีการสั่งหยุดถ่ายใหม่ด้วยยิ่งยากเข้าไปใหญ่ แต่ทั้งเรื่องนักแสดงทั้ง 2 คนเล่นไม่ผิดพลาดเลยแถมยังเป็นธรรมชาติสุดๆ

ดูแล้วได้อะไร

สำหรับเรื่องนี้ดูแล้วได้ความสนุกครบทุกอารมณ์ตั้งแต่เศร้าซึ้งกินใจ ตลก โกรธ หมันไส้ สงสัย เรื่องนี้มีให้หมด อีกทั้งมันยังทำให้เราเห็นว่าหนังละครถ้าบทดี นักแสดงดี ไม่จำเป็นต้องมีฉากเวอร์วังอลังการ ไม่ต้องมี CG ก็สามารถทำให้คนดูสนุกและอยู่กับสิ่งนั้นได้ ดูละครเวทีเรื่องนี้แล้วผมนึกถึงหนังเรื่อง The Man from Earth ที่บทดีมากทั้งเรื่องอยู่แค่ในบ้านนั่งคุยกันแต่ทำให้เราดูได้อย่างสนุก

ถ้าถามว่าเรื่องนี้ให้ข้อคิดอะไรกับผม สำหรับผมเรื่องนี้สอนให้คิดว่าผลลัพธ์มันไม่ได้มีแค่สองผลลัพธ์คือใช่หรือไม่ใช่ แต่ผลลัพธ์อาจมีได้มากมายมากกว่าที่เราคิดดังนั้นเราไม่ควรจำกัดความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ แต่ควรไปโพกัสกับการกระทำมากกว่าเพราะการทำก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มากมายนั้น และอีกอันที่ผมประจับใจคือประโยค “เวลาของเธอยังมีเท่าเดิมไม่ว่ามันจะมีหรือไม่มีฉันก็ตาม” อันนี้ทำให้เราตระหนักว่าต่อให้เราเสียใครสักคนนึงไป เราก็ต้องมีชีวิตอยู่ต่อ เวลาของเรายังคงเหลือเท่าเดิมและมันกำลังผ่านไป ดังนั้นเราก็ควรจะต้องใช้เวลาของเราอย่างคุ้มค่าแม้จะมีหรือไม่ใครอยู่กับเราก็ตาม

สำหรับใครสนใจดูละครเวทีดีๆแบบนี้ก็ไปกดติดตาม Page : Drama Arts Chula ไว้เลยครับ เวลาเขามีละครเวทีใหม่ๆมาเขาจะแจ้งผ่านช่องทางนี้ครับ

SAVAGE IN LIMBO BY JOHN PATRICK SHANLEY

SAVAGE IN LIMBO BY JOHN PATRICK SHANLEY

การใช้ชีวิตที่ดีคืออะไร การใช้ชีวิตในตอนนี้ของเรานั้นดีแล้วรึเปล่า ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตต้องทำยังไง ละครเวทีพูดถึงคำถามเหล่านี้ผ่านตัวละคร

  • สมพิศ สาวโสดวัยกลางคนผู้ต้องการทำอะไรแปลกใหม่มากกว่าการใช้ชีวิตทำงานให้หมดเวลางานและกลับไปดูแลแม่ที่บ้าน

  • ทิพา สาวสุดเซ็กซี่ที่มีปัญหากับคนรักของตัวเองด้วยเหตุผลที่ตัวเธอเองก็ยังไม่เข้าใจจนทำให้เกิดคำถามว่าเธอนั้นไม่ดีตรงไหนต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองยังไงให้คนรักกลับมารักเธอ

  • ทะนง แฟนหนุ่มทิพา หนุ่มหล่อที่ชีวิตสนใจแต่เรื่องเพศจนได้เจอประสบการณ์แปลกใหม่ที่ทำให้เขารู้ว่าชีวิตมีอะไรมากกว่าเรื่องเพศและนั่นทำให้เขาอยากเปลี่ยนแปลงชีวิต ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาต้องการจะเลิกกับทิพา

  • ขวัญใจ หญิงสาวที่ชีวิตพลิกผันจากหญิงสวยเรียนดีผู้จะใช้ชีวิตในทางธรรม แต่กลายมาเป็นหญิงที่ใช้ชีวิตไปวันๆโดยไม่สนใจอะไร

  • หมาก เจ้าของร้านเหล้าผู้ใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เปิดร้าน ทำงาน ปิดร้าน วนไปเรื่อยๆไม่รู้จักเบื่อ

โดยตัวละครทั้งหมดจะมาเจอกันที่ร้านเหล้าที่หมากเป็นเจ้าของ เริ่มต้นด้วยการเจอกันระหว่างสมพิศและทิพาที่อยากจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตน จากนั้นก็ได้พบกับขวัญใจที่พึ่งสร่างเมาและได้เล่าเรื่องของตนทำให้ทุกคนได้รับรู้ว่าทำไมขวัญใจถึงกลายเป็นคนใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่นาน ทะนงก็มาที่ร้านเปิดเผยเหตุผลที่ตัวเองอยากจะเลิกกับทิพาเพราะอยากมีชีวิตใหม่ๆ สมพิศเลยเสนอว่าถ้าอยากเปลี่ยนแปลงก็ลองมาคบกับตน สร้างความไม่พอใจให้กับทิพา เกิดเป็นศึกแย่งชิงทะนงกัน

มุมมองและการตีคุณค่าของชีวิต

ในเรื่องเราจะเห็นมุมมองและการตีค่าของชีวิตแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกันซึ่งแต่ละคนมีเหตุผลว่าทำไมถึงอยากเป็นแบบนั้น ตัวอย่างเช่น สมพิศที่มองว่าชีวิตจะมีคุณค่าเมื่อคุณค่าเมื่อค้นพบสิ่งใหม่ๆที่ยังไม่มีใครเคยพบ ซึ่งเมื่อเธอตีค่าชีวิตแบบนี้เธอจึงทุกข์ที่ต้องใช้ชีวิตเป็นวัฏจักรเข้างานเลิกงานมาร้านเหล้าวนเวียนไปมา และจากการใช้ชีวิตและลักษณะนิสัยของเธอเองที่กลัวจะเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง ทำให้เธอต้องการเหตุการณ์หรือใครสักคนมาเป็นตัวเริ่มการเปลี่ยนแปลงนั้นและนั่นก็คือทะนงนั่นเอง เพราะเธอเชื่อว่าถ้าเธอได้คบกับทะนงซึ่งเป็นชีวิตอีกขั้วนั้นน่าจะค้นพบอะไรใหม่ๆซึ่งยังไม่เคยเจอ

ส่วนทะนงนั้นหลังจากได้รู้โลกอีกโลกนึง โลกที่มีอะไรมากกว่าการมีอะไรกับผู้หญิง เขาจึงให้คุณค่าของชีวิตผ่านการได้รู้ว่าโลกมีอะไรมากกว่านั้น เขาจึงตัดสินใจเลิกกับทิพาเพื่อที่ไปคบผู้หญิงที่จะพาเข้าไปสู่โลกกว้างที่เขาไม่รู้

สองคนที่ผ่านมาผมว่าเป็นเรื่องปกติที่เราพบเจอได้ทั่วไปแต่แนวคิดที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือแนวคิดของหมาก หมากให้ค่าชีวิตที่สามารถควบคุมได้ว่าดี ซึ่งดูได้จากการกระทำที่คนแต่งเรื่องใส่ให้หมากทำไม่ว่าจะเป็นการรดน้ำต้นไม้ให้กับต้นไม้ที่ตายแล้ว ซึ่งเขาให้เหตุผลว่าที่เขารดน้ำมันเพราะอย่างเขาก็รู้ว่าต้นไม้มันจะไม่โตมันควบคุมได้หรือการที่เขาขอขวัญใจแต่งงานก็เพราะเขาต้องการให้ขวัญใจไม่ต้องไปไหนและอยู่กับเขาที่ร้านเหล้าไปตลอดชีวิต ซึ่งแนวคิดแบบนี้นั้นมักจะถูกสังคมมองว่าเป็นพวกล้าหลัง พวกไม่รู้จักพัฒนา แต่ถ้าคุณได้เห็นความบ้าคลั่งในเรื่องนี้แล้วคุณอาจจะเปลี่ยนมุมมองก็ได้ เพราะอย่างน้อยเขาไม่ต้องบ้าบอ แก่งแย่ง พยายามทำเรื่องบ้าๆเหมือนที่ ทะนง สมพิศ ทิพา กำลังพยายามทำ

การแสดง

นักแสดงที่มาแสดงทั้ง 5 คนแสดงได้ดีมาก ดูแล้วคือเชื่อเลยว่าคือตัวละครนั้นจริงๆ แบบเห็นบางตัวนี่แบบรำคาญจัดๆแล้วคือในเรื่องตัวละครมันอยู่ในฉากตลอด ซึ่งนักแสดงแม้จะไม่ได้พูดแต่ก็ยังคงความน่ารำคาญของตัวละครได้สุดๆ

ดูแล้วได้อะไร

สำหรับเรื่องนี้ดูแล้วทำให้เราเห็นมุมมองการใช้ชีวิตของคนหลายๆแบบ ทำให้เห็นว่าคนเรามีความหลากหลายมากมายแค่ไหน บางความคิดเห็นที่เราคิดว่าไร้สาระถ้าเราได้ลองฟังถึงเหตุผลของเขาแล้ว เราอาจจะเข้าใจเขามากขึ้นว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น ซึ่งเมื่อเราเข้าใจแล้วมันอาจทำให้เรามีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นครับ ในส่วนของเนื้อเรื่องตอนจบผมไม่ขอบอกละกันว่ามันจบลงแบบไหน เพราะคุณอาจจะไปหาดูผ่านการแสดงละครเวทีเรื่องนี้ในอนาคตหรือไม่แน่เขาอาจดัดแปลงมันเป็นหนังโรงก็ได้ แต่ถ้าอดใจไม่ไหวก็สามารถ Search : SAVAGE IN LIMBO BY JOHN PATRICK SHANLEY ใน Youtube ครับมีเยอะแยะเลย

สำหรับใครสนใจดูละครเวทีดีๆแบบนี้ก็ไปกดติดตาม Page : Drama Arts Chula ไว้เลยครับ เวลาเขามีละครเวทีใหม่ๆมาเขาจะแจ้งผ่านช่องทางนี้ครับ

A Silver Lining - ยามเมื่อลมพัดหวน

A Silver Lining - ยามเมื่อลมพัดหวน

A Silver Lining - ยามเมื่อลมพัดหวนA Silver Lining - ยามเมื่อลมพัดหวน

ในชีวิตของคนทุกคนย่อมเจอปัญหาในชีวิต บางปัญหาก็สามารถแก้ปัญหาแล้วผ่านไปได้ด้วยดี แต่บางปัญหาแม้จะถูกแก้ให้ผ่านพ้นไปแต่ยังทิ้งเรื่องที่ค้างคาใจไว้กับคนคนนั้น ซึ่งเรื่องค้างคาใจนั้นก็อาจจะเป็นบ่อเกิดของปัญหาอื่นๆโดยไม่รู้ตัว

A Silver Lining พูดถึงแทนรักผู้ใหญ่วัยทำงานซึ่งต้องกลับมาที่บ้านของพ่อซึ่งเสียชีวิตไป เพื่อขนของออกจากบ้านก่อนจะขายต่อให้นายหน้า ซึ่งการกลับไปบ้านของพ่อซึ่งหย่ากับแม่ทำให้เขาได้นึกถึงความทรงจำเก่าๆผ่านข้าวของต่างๆในห้องของนอนของเขา และได้พบเรื่องราวประหลาดที่ตัวละครอัศวินในนิทานได้ออกมาในโลกของความเป็นจริง เพื่อให้เขาแต่งนิทานให้จบดังที่อัศวินต้องการ

เนื้อเรื่อง

เนื้อเรื่องเล่าถึงแทนรักที่ต้องมาจัดการขนของออกจากบ้านของพ่อที่เสียชีวิตไป ซึ่งนั่นทำให้เขาเจอกับเหตุการณ์ประหลาดที่ตัวละครอัศวินในนิทานที่เขาแต่งไปประกวดในสมัยเด็กโผล่ออกมาในโลกของความจริง และบังคับให้แทนรักเขียนตอนจบของนิทาน โดยตัวแทนรักก็ต้องยอมร่วมมือกับอัศวินเพราะไม่งั้นเขาจะไม่มีทางที่เขาจะกลับไปที่โลกของความเป็นจริงได้

เรื่องค่อยๆดำเนินผ่านการเขียนนิทานของแทนรัก เพื่อให้ “อัศวิน” ทำภารกิจตามหา “ดอกไม้” ที่ “ปิศาจลม” ขโมยไป ซึ่งแทนรักก็พยายามเขียนตัดจบให้อัศวินได้ดอกไม้อย่างรวดเร็ว แต่อัศวินก็ไม่ยอมเพราะเป้าหมายของเขาคือการได้ “โล่ห์” ที่แสดงความกล้าหาญ และพา “ราชินี” กลับเมือง ซึ่งเมื่อยิ่งเขียนนิทานเพื่อให้ถึงตอนจบเรื่อยๆ แทนรักก็ค่อยๆรำลึกความหลังต่างๆในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่พ่อเลิกกับแม่ ปัญหาที่ตัวเองนั้นรักสวยรักงาม ชอบเล่นตุ๊กตา มีพฤติกรรมไม่เหมือนเด็กผู้ชายทั่วไป จนเมื่อแทนรักเขียนนิทานจบลง เขาก็สามารถจัดการเรื่องที่ติดค้างที่อยู่ในจิตใจมาตั้งแต่เด็ก ทั้งเรื่องที่เขาคิดว่าตัวเองเป็นปัญหาที่ทำให้พ่อแม่ต้องแยกทางกัน การที่คิดว่าพ่อไม่ได้รักเขา และการยอมรับว่าตัวเองเป็นตัวเอง ไม่ต้องฝืนเป็นแบบที่คนอื่นต้องการ

การเดินเรื่อง

เรื่องนี้มีการเดินเรื่องได้ดีมาก เขาค่อยๆให้ข้อมูลเราทีละเล็กทีน้อยแบบที่ไม่ให้เราเดาทางได้ตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นการวางปมปัญหาที่แทนรักไม่สนิทกับพ่อ การที่งานโฆษณาสินค้าที่ขายความเป็นชายที่เขาเสนอให้ลูกค้ามีปัญหา ให้เห็นอุปกรณ์แต่งหน้า ตุ๊กตาหมีสุดน่ารักที่ไม่ควรจะเห็นในห้องผู้ชาย ไดอารี่ที่บันทึกเรื่องราวที่พ่อกับแม่ทะเลาะกัน และ สัญลักษณ์ต่างๆในนิทานที่พยายามบอกถึงสิ่งที่แทนรักต้องการ เช่น อัศวินก็คือตัวตนของแทนรัก ปิศาจลมคือปัญหาที่เขาต้องเจอ ดอกไม้คือการพิสูจน์ตัวตนให้พ่อเห็น ราชาคือพ่อ ราชินีคือแม่ ส่วนโล่ห์คือการที่พ่อยอมรับในตัวเขา ซึ่งพอดูถึงตอนจบแล้วเข้าใจทุกอย่างมันทำให้รู้สึกว่าคนเขียนบทเขียนบทได้สุดยอด ทุกอย่างที่ออกมาในเรื่องนั้นสำคัญหมดไม่มีส่วนไหนไม่สำคัญเลย

อีกส่วนที่น่าประทับใจของเรื่องนี้คือเราเดาไม่ได้เลยว่าตัวละครจะทำอะไร คือบางตอนผมคิดว่าโอเคเดี่ยวมันน่าจะจบแบบอัศวินยอมแพ้และหายไปเหลือแต่แทนรักที่เข้าใจเรื่องราวทุกอย่างและปล่อยวาง แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แบบนั้น มันไปในทิศทางที่ไม่ง่ายแบบนั้น มันเดินเนื้อเรื่องต่อไปจนจบ อัศวินไม่สมหวัง แต่ไม่สมหวังก็ไม่สมหวังสุดท้ายเขาก็จัดการปิศาจลมได้ พาราชินีกลับเมืองได้ ถึงแม้ราชินีจะไม่อยู่กับพระราชาแล้วก็ตาม มันเป็นอะไรที่แบบ เออเว้ย มันไม่ต้องจบแบบสูตรสำเร็จแล้วจะรู้สึกดี จบแบบเหมือนชีวิตจริงก็รู้สึกดีและอิ่มใจกว่า

การแสดง

นักแสดงในเรื่องมี 3 คนแต่หลักๆจะมีแค่ 2 คนคือตัวแทนรักกับอัศวิน ซึ่งทั้งนักแสดง 2 คนนี่สามารถทำให้ละครเวลา 1 ชั่วโมงครึ่งดำเนินไปอย่างรวดเร็วแบบลืมเวลา อยากรู้ว่าเรื่องจะไปจบที่ตรงไหน มันจะเป็นแบบที่เราคิดไหมหรือหักไปเลย ซึ่งในความคิดของผมแล้วนักแสดงนี่คือระดับไปแสดงละครหรือหนังใหญ่ๆได้เลย

ดูแล้วได้อะไร

สำหรับผมเรื่องนี้ดูแล้วได้ความสนุกในการติดตามเนื้อเรื่องว่าปมปัญหาทั้งหมดคืออะไรและสุดท้ายแล้วเรื่องจะไปจบที่ไหน ส่วนแง่คิดที่ได้ก็คือการยอมรับความเป็นจริง ไม่โทษตัวเองว่าไม่ดีพอในเรื่องที่เราทำดีที่สุดแล้ว

สำหรับใครสนใจดูละครเวทีดีๆแบบนี้ก็ไปกดติดตาม Page : Drama Arts Chula ไว้เลยครับ เวลาเขามีละครเวทีใหม่ๆมาเขาจะแจ้งผ่านช่องทางนี้ครับ

ปวงปรัชญากรีก

ปวงปรัชญากรีก

เมื่อใช้ชีวิตมานานระดับหนึ่งก็เริ่มเกิดความสงสัยว่าความจริงแท้คืออะไร เรามาจากไหน จักรวาลมาจากอะไร พระเจ้ามีจริงไหม ตายแล้วไปไหน จริงๆคำถามพวกนี้ผมก็ได้คำตอบมาตั้งแต่เด็กบ้างแล้วเช่น ตายแล้วจะไปสวรรค์ถ้าทำดีไปนรกถ้าทำเลว มีพระอินทร์ พระพรหม พระอิศวร ต่างๆนาๆ แต่พอคุณได้เรียนมากขึ้น มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตมากขึ้น คุณจะเริ่มมีคำถามกับสิ่งที่คนเชื่อ ทำไมต้องรอตายก่อนล่ะถึงจะต้องตัดสิน ทำไมไม่ตัดสินกันตอนนี้ให้เป็นธรรมไปเลยจะยืดรอไปถึงการตายทำไม ถ้าพระเจ้ามีจริง สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ทำไมคนที่ศาสนาบอกว่าดีกลับใช้ชีวิตอย่างลำบากกว่าคนที่ชั่ว

อีกทั้งโลกเราก็กว้างใหญ่ไพศาล ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาเดียวที่มีบนโลกยังมีศาสนาอีกมากมายและมีสิ่งที่ไม่ใช่ศาสนาที่พยายามค้นหาและพยายามอธิบายความจริงให้แก่มวลมนุษย์ซึ่งนั่นก็คือวิชาปรัชญา

ปรัชญาคืออะไร

การจะนิยามว่าปรัชญาคืออะไรนั้นยากมากเพราะปรัชญานั้นพยายามหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องเชิงวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุว่าประกอบขึ้นจากอะไร คุณสมบัติของมัน การเคลื่อนไหว การกำเนิดจักรวาล ทำไมปลาถึงเป็นปลา ทำไมมนุษย์ไม่เหมือนปลา หรือจะเป็นเรื่องเชิงจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นตายแล้วไปไหนจะตายแล้วตายเลย หรือจะวนเวียนตายแล้วเกิดใหม่ หรือจะไปเกิดในโลกที่สูงกว่า โดยหนังสือนิยามว่าปรัชญาคืออะไรไว้ดังนี้ “ปรัชญาคือการแสวงหาความจริง ตั้งแต่ระดับสามัญธรรมดาจนถึงระดับสูงสุดของสิ่งต่างๆ ทั้งทางอาณาจักรรูปธรรมและอาณาจักรนามธรรม เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ แล้วนำความรู้นั้นมาเป็นมาเป็นโลกทัศน์และชีวทัศน์ หรือแนวทางในการดำเนินชีวิต”

ปรัชญาในกรีก

ปรัชญาของกรีกส่วนใหญ่นั้นจะใช้เหตุผลในการอธิบายความจริง พยายามจะไม่พึ่งพาสิ่งที่เรียกว่าพระเจ้า (พระเจ้าของกรีกก็พวก ซุส โพไซดอน ฮาเดส พวกนั้น) นักปรัชญาหลายคนก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับพระเจ้าว่า ถ้าพระเจ้าเป็นสิ่งที่ดีงามจริง มีความกล้าหาญที่จะจัดการปัญหา แต่เหตุใดปล่อยให้โลกมีความไม่ดีเกิดขึ้น ถ้าพระเจ้ามีจริงและมีความกล้าหาญเหตุใดจึงไม่เข้ามาจัดการ ดังนั้นก็แปลว่าพระเจ้านั้นไม่มีจริง หรือหากจะพระเจ้ามีจริง พระเจ้าก็จะเป็นสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์เพราะขาดความกล้าหาญเป็นต้น จะเห็นว่านักปรัชญาในกรีกนั้นจะใช้เหตุผลในการหาความจริง ซึ่งปรัชญากรีกนั้นมีหลากหลายแนวคิดหลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ต่อสู้กันด้วยเหตุผล เอาเหตุผลมาหักล้างแนวคิดของแต่ละแนวคิดมากกว่าการทำสงครามฆ่าฟันกันเพื่อพิสูจน์ความจริง

นักปรัชญากรีกนั้นมีมากมายหลายคน หลายกลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มมีแนวคิดของตัวเอง บางคนเป็นกลุ่มที่เน้นศึกษาเรื่องวัตถุพยายามหาคำตอบของวัตถุมากกว่าหาความจริงทางจิตใจ บางพวกก็หาความจริงทางจิตใจอย่างเดียว บางพวกก็หาความจริงรวมทั้งหมดทั้งทางวัตถุและจิตใจ แต่นักปรัชญาที่ผมสนใจนั้นคือ โซเครตีส

โซเครตีส

โซเครตีสเป็นนักปรัชญาที่เน้นการถามตอบโดยโซเครตีสจะไปหาผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆเพื่อหาความรู้แลกเปลี่ยนแนวคิด และเมื่อรู้แล้วก็เดินทางเพื่อเผยแพร่ความรู้ สั่งสอนคนในเมือง โดยที่ต้องออกสั่งสอนนั้นเพราะสังคมในตอนนั้นถูกพวกลัทธิโสฟิสต์ครอบงำและให้ความรู้ผิดๆ พวกโสฟิสต์นั้นเป็นพวกที่สอนคนให้ใช้วาทศิลป์เพื่อผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผิดให้เป็นถูก ประจบประแจง ทำให้คนทั้งหมู่มากถูกใจและคล้อยตามเพื่อผลลัพธ์ที่อยากได้ ซึ่งผลลัพธ์ที่อยากได้สมัยนั้นคือการไปมีอำนาจทางการเมือง เป็นผู้แทน ซึ่งเป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรีแถมมั่งคั่ง แถมพวกโสฟิสต์นั้นก็ไม่ได้สอนฟรีแต่เรียกเก็บเงินผู้เรียนอีกต่างหาก ตัวอย่างแนวคิดของลัทธิโสฟิสต์คือ “มนุษย์คือผู้ตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นอย่างไร ถูกหรือผิด จริงหรือไม่จริง เพราะคนคนนั้นได้เห็นได้รู้” อ่านครั้งแรกก็เออดูไม่มีปัญหาอะไร แต่มันมีปัญหาตรงที่ถ้าคิดแบบนี้ ทุกอย่างมาจากการรับรู้ของมนุษย์ ความรู้สึก ความถูกผิด ถูกต้อง จริงไม่จริง ทุกอย่างมาจากความรู้สึกของคน แล้วแต่ละคนรู้สึกไม่เหมือนกัน แล้วเราจะหาอะไรมายึดว่าอะไรคือความจริง ความดี ความชั่ว ถูกต้อง ไม่ถูกต้องล่ะ ซึ่งขัดจากแนวคิดปรัชญาของกรีกที่ทุกอย่างต้องเป็นเหตุเป็นผล ต้องมีที่มาที่ไป ถึงบางเรื่องอาจจะดูไร้สาระสำหรับเราในยุคนี้ แต่ก็มีเหตุผลมารองรับ เช่น เรื่องโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาลเพราะคนสมัยนั้นเห็นว่าพระอาทิตย์พระจันทร์ขึ้นและลงมีแต่โลกที่อยู่เหมือนเดิม ดังนั้นคนสมัยนั้นจึงใช้เหตุผลนี้สนับสนุนว่าโลกเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล

รูปแบบการสอนคนของโซเครตีส

การสอนของโซเครตีสจะเป็นแนวถามตอบโดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. เสแสร้ง

ขั้นตอนนี้โซเครตีสจะเข้าไปคุยกับคนที่อยากสอน หรือคนที่อยากเรียนด้วย จากนั้นจะเริ่มคุยกับเป้าหมายถึงเรื่องที่สนใจโดยที่ตัวเองทำตัวเป็นไม่รู้

  1. สนทนา

ขั้นตอนนี้จะเป็นการเริ่มคุยกันเรื่อยๆโดยโซเครตีสจะเป็นคนถามคำถามและให้คนที่คุยด้วยเป็นคนตอบไปเรื่อยๆ เพื่อหาสาระ หลักการ จากผู้ที่คุยด้วย

  1. นิยาม

ขั้นตอนนี้จะเป็นการนิยามหรือหาข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกันได้ เกี่ยวกับเรื่องที่จะคุยกันหรือหาข้อสรุป เพื่อไม่ให้ทะเลาะกันหลังจากเริ่มหาข้อสรุป

  1. อุปนัย

ขั้นตอนนี้จะเป็นการยกตัวอย่างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนหรือขัดกับสิ่งที่นิยามกันไว้

  1. นิรนัย

ขั้นตอนนี้จะเป็นการสรุปผลว่าสิ่งที่นิยามนั้นถูกต้องหรือมีข้อขัดแย้งใดๆ

ตัวอย่างวิธีการสอนคนของโซเครตีส (แบบง่ายๆ)

  1. เสแสร้ง

โซเครตีสไปคุยกับคนคนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องหมาคืออะไร

  1. สนทนา

โซเครตีสจะถามผู้ที่คุยด้วยหมาเป็นยังไง เช่น รูปร่าง ลักษณะ เป็นแบบไหน

  1. นิยาม

โซเครตีสกับคนที่คุยจะร่วมกันนิยามว่าหมาคืออะไร ซึ่งอาจจะนิยามว่า หมาคือสัตว์ที่มีสี่ขา มีหาง เลี้ยงให้เชื่องได้ ร้องได้

  1. อุปนัย

โซเครตีสจะยกตัวอย่างมาขัดแย้งกับนิยามนี้ เช่น แมวก็เป็นสัตว์ที่มีสี่ขา มีหาง เลี้ยงให้เชื่องได้ ร้องได้ งั้นแปลว่าแมวก็คือหมาน่ะสิ

  1. นิรนัย

โซเครตีสก็จะสรุปว่านิยามที่ว่า หมาคือสัตว์ที่มีสี่ขา มีหาง เลี้ยงให้เชื่องได้ ร้องได้ นั้นไม่ถูกต้องจากเหตุผลในข้อที่ 4

โดยนี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ แต่สิ่งที่โซเครตีสถามอาจจะเป็นเรื่อง ความกล้าหาญคืออะไร ความกล้าหาญคือสิ่งที่ถูกต้องไหม โดยมานั่งนิยามกัน หรือสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด เช่น การที่โซเครตีสหักล้างแนวคิดของพวกโสฟิสต์ที่ว่า ความจริง นั้นมาจากการตัดสินของคนที่ตัดสิน โดยยกตัวอย่างว่า ถ้าทุกความจริงมาจากแต่ละคนตัดสินดังนั้นโลกนี้คงไม่มีความจริงสากล (ความจริงที่เป็นความจริง ไม่ได้มาจากการตัดสินจากใครคนใดคนหนึ่ง) แต่ในโลกนี้มีความจริงสากล เราต่างรู้ความจริงสากลว่า ม้ามีหน้าตาแบบไหน เป็นอย่างไร ดังนั้นความจริงสากลนั้นมีอยู่

แต่วิธีการสอนของโซเครตีสนั้นมักจะสร้างความหงุดหงิดหรือความโกรธแค้นให้กับคนที่คุยหรือสอนด้วยเพราะมันเหมือนการหักหน้ากันเมื่อได้ผลสรุป คุณลองคิดดูละกันว่าสิ่งที่คุณเชื่อหรือศรัทธาโดนหักล้าง ถ้ามันแค่สองคนอาจไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าต่อหน้าฝูงชนจำนวนมากล่ะ ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุให้คนที่โดนโซเครตีสขัดผลประโยชน์ รวมตัวกันฟ้องร้องว่าโซเครตีสเป็นบุคคลอันตราย ด้วยข้อหายุยงสอนคนไม่ดี เป็นพวกไม่บูชาพระเจ้า ซึ่งสุดท้ายโซเครตีสเป็นฝ่ายแพ้ (แพ้เพราะโดนรุมฟ้อง) ซึ่งโทษที่โซเครตีสคือการประหาร แต่ศาลอนุญาตให้ฝ่ายจำเลยขอลดโทษได้ แต่โซเครตีสกลับไม่ยอมลดโทษเพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้ผิดอะไรและยอมตายเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ผิด คือถ้าขอลดโทษเนี่ยแปลว่ายอมรับว่าตัวเองผิด อีกทั้งโทษที่ลดได้มากสุดคือโดนเนรเทศให้ไปอยู่เมืองอื่น พอไปอยู่เมืองอื่นก็จะโดนว่าเป็นคนผิด ไปสอนใครใครจะเชื่อ แถมตัวเองก็อายุเยอะแล้ว สู้รักษาความดีที่สร้างมีทั้งชีวิตไว้ดีกว่า

การกระทำนี้ของโซเครตีสแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนยึดมั่นในคุณธรรมและปฏิบัติตามคุณธรรม พูดจริงทำจริง สอนให้คนยึดถือคุณธรรมตัวเองยึดถือคุณธรรมความถูกต้องตามที่ตัวเองสอน แม้การจะรักษาคุณธรรมนั้นจะทำให้ตัวเองต้องตายก็ตาม สุดท้ายโซเครตีสก็ต้องโทษประหารโดยดื่มยาพิษ ซึ่งนั่นถือเป็นการจากไปของปราชญ์ชาวกรีกที่สำคัญคนหนึ่งของกรีก

เนื่องจากโซเครตีสนั้นเรียนรู้และสั่งสอนคนด้วยการพูดคุยกับคนจริงๆเป็นหลัก ดังนั้นตัวโซเครตีสเองไม่มีการจดบันทึกคำสอนอะไรไว้เลย คำสอนที่เรารู้ตอนนี้ทั้งหมดนั้นมาจากการจดบันทึกของเพลโตซึ่งเป็นศิษย์ของโซเครตีส ซึ่งก็มีข้อกังขามากมายว่า เรื่องที่เพลโตจดบันทึกนั้นเป็นสิ่งที่โซเครตีสสอนจริงๆ หรือเป็นเรื่องที่ตัวเองสอนแต่ใช้ชื่อโซเครตีสเป็นคนเล่า เพราะหลังจากโซเครตีสตายเพลโตเองก็ได้พัฒนาแนวคิดของโซเครตีสไปในแนวทางของตน

อ่านแล้วได้อะไร

การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจว่าปรัชญาของกรีกนั้นเป็นแบบไหน แนวคิดของแต่ละกลุ่ม เหตุผลที่เขาเชื่อแบบนั้น ทำให้เราเห็นมุมมองที่เราไม่เคยคิดหรือคิดว่าจะมีคนคิดแบบนั้น และบางทีก็รู้สึกทึ่งว่าคนในยุคนั้นที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดหรือเทคโนโลยีสามารถคิดกันได้ขนาดนั้นเลย อีกทั้งแนวคิดหลักการพิสูจน์ด้านตรรกะศาสตร์ก็เริ่มจากปรัชญากรีกด้วย

ในเล่มยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมไม่ได้พูดถึง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของกลุ่มต่างๆแบบละเอียด ไม่ว่าจะเป็นพวก ไอออนิก ไพธากอเรียน หรือ แนวคิดของเพลโตที่น่าสนใจ ในเรื่องโลกของแบบ และ โลกที่เป็นเงา (โลกของเรา) ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร แนวคิดของรัฐที่สมบูรณ์แบบซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ บางเรื่องในปัจจุบันเราก็ใช้คล้ายๆกับแนวคิดของเพลโต้ หรือแนวคิดของอริสโตเติ้ล จนถึงจุดล่มสลายของปรัชญากรีกว่าเกิดขึ้นจากอะไร ก็ถ้าคุณสนใจอยากรู้ว่าคนบนโลกมีแนวคิด มุมมอง เกี่ยวกับโลก ความจริง โลกของวัตถุ โลกของจิตวิญญาณ อย่างไร หรือวิวัฒนาการของแนวคิด ผมก็แนะนำให้ไปหามาอ่านครับ รับรองว่าสนุกน่าสนใจมากๆเลยครับ