OMG รักจังวะผิดจังหวะ

OMG รักจังวะผิดจังหวะ

ความคิดเห็นส่วนตัว : แนะนำให้ดูถ้าคุณชอบหนังที่เล่นกับการรู้สึกและการโดนตั้งคำถาม

ผมเห็นหนังเรื่องนี้ครั้งแรกจาก Facebook ที่เขาแชร์ๆกันมา โดยพอกดเข้าไปดู “เรื่องของความรักที่ผิดจังหวะตลอด” ผมก็แบบก็แบบเอ้ย น่าสนใจดีเว้ย ยิ่งพอดูไปดูมาเอ้ยทำไมสถานที่ในหนังมันคุ้นๆจังเลย ดูไปดูมาอ้าวนั่นมันที่เราเคยเรียนนี่หว่าก็เลยยิ่งอยากไปดูเข้าไปใหญ่ แล้วทีมโฆษณาของหนังเรื่องนี้ก็เก่งมากในการทำให้เราสนใจหนังเรื่องนี้ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงประกอบ การแนะนำตัวละครต่างๆ บทสัมภาษณ์ ซึ่งการทำให้น่าสนใจนี้ไม่ได้เปิดเผยประเด็นสำคัญต่างๆในเรื่อง (แถมมันพาเราหลงทางด้วย)

ความคิดเห็นแบบไม่เปิดเผยเนื้อเรื่อง

โดยส่วนตัวผมประทับใจหนังเรื่องนี้มาก ถ้ามีคนมาถามว่าควรไปดูหนังเรื่องนี้ไหมผมก็จะแนะนำว่าไปดูเลยรับรองว่าน่าจะได้อะไรออกมาจากโรงแน่ๆ ซึ่งถ้าคุณหวังความตลก ฮา แบบหนังรักวัยรุ่น ผมบอกเลยว่าเรื่องนี้มีให้คุณเต็มที่และจังหวะลงตัวแบบไม่ยัดเยียดด้วย

ในส่วนของสาระที่หนังอยากจะให้ผู้ชมนั้นผมบอกเลยว่าให้เต็มที่มากครับ มันไม่ใช่หนังรักวัยรุ่นที่โชว์แต่เรื่องรักให้ฟินจิกหมอน แต่หนังเรื่องโยนคำถามให้กับคุณหลากหลายคำถาม บางคำถามนั้นยากจะหาคำตอบที่ชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทุกมุมมอง แค่คุณเปลี่ยนมุมมองหรือคิดอีกแบบคำตอบที่ได้อาจจะเป็นคนละเรื่องเลย ซึ่งสิ่งนี้แหละที่เป็นเหตุผลที่ผมแนะนำให้คุณไปดู

ที่ผมชอบอีกเรื่องหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือความผิดจังหวะของตัวเอกทั้งสอง โดยเฉพาะตัวพระเอกมันแบบผิดจังหวะไปหมดทุกตอน ยิ่งดูก็ยิ่งเห็นใจตัวเอกและเข้าข้างพระเอกไปอีก (ซึ่งจุดนี้เองมันจะทำให้คุณรู้สึกแปลกเมื่อเจอการตัดสินใจ)

ในส่วนของเพลงประกอบนั้นบอกเลยดีมากๆซึ่งเพลงส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษแต่ทางหนังก็ไม่ได้ใจร้ายเพราะขึ้นแปลไทยให้เราด้วยทำให้อินไปกับเพลงไม่ยาก โดยเพลงที่ฟังแล้วอินมากๆก็คงเป็นเพลง Not Ready to Lose You ที่โคตรเข้ากับฉากนั้นมากๆ

สรุปแล้วสำหรับผมแล้วเรื่อง OMG เป็นหนังที่คุ้มค่าที่จะเสียเงินหรือเวลาดูครับและจะยิ่งเหมาะมากๆถ้าคุณชอบหนังที่เล่นกับอารมณ์และการโดนตั้งคำถาม แต่เรื่องนี้อาจไม่เหมาะสำหรับคนที่คาดหวังว่าจะได้ดูหนังรักวัยรุ่นแล้วให้ความรู้สึกฟินจิกหมอนเพราะหนังไม่มีฉากแบบนั้นให้คุณดูเลย

ความคิดเห็นแบบเต็มๆมีการพูดถึงเนื้อเรื่องเหมาะกับคนที่ดูจบแล้ว

ตอนผมเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้จะออกมาประมาณแฟนเดย์ที่ชอบแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรไม่ได้ และสุดท้ายก็ประมาณว่าไปเที่ยวด้วยกัน 1 วันสุดท้ายก่อนนางเอกจะแต่งงานอารมณ์แบบเก็บเป็นความทรงจำก่อนที่จะไม่สามารถทำอะไรแบบนี้ได้แล้ว ซึ่งที่คิดแบบนั้นก็เพราะว่าตัวอย่างหนังล้วนๆเลย

ตัวอย่างภาพยนตร์ ‘OMG! รักจังวะ..ผิดจังหวะ’ | Official Trailer

แถมยังโดนทำให้เชื่อเข้าไปอีกกับ MV เพลงสมมติว่าเราซึ่งเป็น OST อีกเพลง (เพลงนี้มี version ภาษาอังกฤษด้วย) สมมติว่าเรา

ตอนนั้นนี่เข้าไปด้วยความคาดหวังที่ว่ามาเลยแต่พอหนังค่อยๆเล่นไปนี่คนละอารมณ์ถ้าจะให้บรรยายความรู้สึกมันเหมือนคุณไปดูหนังเรื่อง “รักแห่งสยาม” อะครับ คุณกะไปดูคู่พระนางกุ๊กกิ๊กกันแต่พอไปถึงฉากงานเลี้ยงมันเหมือนแบบเฮ้ยเอาจริงดิ เรื่องนี้ก็เหมือนกันครับ คุณกะมาเจอรักไม่สมหวังแบบพวก Loser แพ้กันแต่กลายมาเป็นหนังที่เล่นเกี่ยวกับเรื่องการแย่งแฟน การนอกใจ ซึ่งเป็นประเด็นที่รุนแรงระดับหนึ่งเลย ซึ่งการแย่งแฟนนอกใจเนี่ยเราพบได้กันในสังคม ข่าวหน้าหนึ่งบางวันพูดถึงการฆ่ากันเพราะแฟนนอกใจหรือมีเรื่องกันเพราะแย่งแฟน ผมล่ะอย่างชอบการที่คนทำหนังเรื่องนี้เอาประเด็นนี้มาเล่นโดยที่ชอบกว่านั้นคือเขาค่อยๆใส่มันมาแบบแนบเนียนด้วย (พี่แนบเนียนตั้งแต่ตัวอย่างกับ MV เลย) โดยตอนแรกๆเขาให้เราเห็นการพยายามแย่งแฟนของกาย(พระเอกของเรื่อง) ผ่านการเสี้ยมให่จูน (นางเอกของเรื่อง)เลิกกับผิง(แฟนของจูนและเป็นเพื่อนสนิทของกาย)ในฉากหน้าร้านประเสริฐวิทยา ซึ่งเราก็คงคิดว่าพระเอกมันคงพูดตามเหตุผลและไม่อยากให้จูนเสียใจเพราะนิสัยแย่ๆของผิง แต่ถ้าดูฉากต่อไปคือกายน่ะอยากเป็นแฟนกับจูนมากๆถึงขนาดที่พอคิดว่าจูนเลิกกับเพื่อนตัวเองแล้ว ก็เลิกกับแฟนตัวเองทันที (ส่วนนี้ก็เป็นประเด็นเหมือนกันแต่มันไปขยายตอนท้ายเรื่อง) แต่สุดท้ายมันไม่สำเร็จเพราะจูนไม่ได้เลิกกับผิง และดูเหมือนจะเป็นเรื่องเสียด้วยเพราะตัวผิงก็รู้ด้วยว่ากายนั้นชอบจูนซึ่งนั่นทำให้ต้องทั้งคู่เลิกเป็นเพื่อนกัน

จากนั้นตัวหนังก็เพิ่มดีกรีการแย่งแฟนให้สูงขึ้นผ่านเหตุการณ์ที่กายมีโอกาสได้คุยกับจูนและได้รู้ว่าจูนนั้นชอบตนเองเช่นกัน เราจะเห็นได้เลยว่ากายหาวิธีแย่งแฟน พยายามหาความชอบธรรมให้กับตนเองในการแย่งจูนมาจากพี่พีท (แฟนคนปัจจุบันของจูน) จนขั้นสุดท้ายกายได้ส่งรูปที่ตัวเองจูบกับจูนไปให้พี่พีทเพื่อให้ทั้งสองคนนั้นเลิกกัน และการแย่งแฟนในเรื่องไม่ได้มีแค่กายแต่มีอีกคู่คือคู่พี่สาวกายที่โดนมือที่สามแย่งสามีไปด้วย ซึ่งจะเห็นว่าเรื่องนี้เล่นกับประเด็นนี้แต่ถ้าไม่เอะใจหรือสังเกตเราจะไม่รู้เลย เพราะฉากนั้นเหมือนแค่เป็นฉากให้ชี้ทางให้กายรู้ว่ามีวิธีที่ทำให้พี่พีทกับจูนเลิกกันเท่านั้น

สำหรับผมตอนนั้นมันมีคำถามมากมายถาโถมเข้ามาหาผมเพราะผมไม่รู้สึกว่าจะด่าไอคุณกายที่ทำการพยายามแย่งแฟนคนอื่น เช่นเดียวกันกับการที่ไม่รู้สึกอยากตำหนิจูนที่เห็นจูนพยายามบอกเลิกพี่พีท คือถ้าเป็นข้างนอกถ้าเราเห็นการพยายามแย่งแฟนคนอื่นเราก็คงตำหนิไปแล้ว เช่นเดียวกับถ้าเรารู้ว่าคนคนนึงกำลังจะเลิกกับอีกคนโดยที่อีกคนไม่ผิด เราก็ย่อมจะตำหนิใช่ไหม แต่ทำไมตอนนี้เราไม่รู้สึกแบบนั้น คำถามเหล่านี้วนเวียนอยู่ในหัวผมซึ่งผมก็คิดว่าคนทำหนังก็คงคาดหวังให้เป็นแบบนั้นเช่นกัน

ถ้าเราลองมาไตร่ตรองดูดีๆเราจะเห็นหลายๆกรณีในเรื่องซึ่งมันเล่นกับศีลธรรมในใจเรามากๆ

กรณีผิงกับจูน

ในกรณีนี้เราแทบไม่รู้สึกผิดกับการที่กายพยายามแย่งจูนผ่านการเสี้ยม ซึ่งอาจจะเพราะมันเป็นเพียงการเสี้ยมเลยดูไม่แรงแต่ถ้าพูดกันตรงๆมันก็คือการพยายามทำให้คนเลิกกันเพื่อแย่งนั่นแหละ แล้วทำไมเราถึงไม่รู้สึกผิดล่ะ ที่ผมพอคิดได้ก็คือเพราะผิงมันทำไม่ได้ดีกับจูนยังไงล่ะ เราเลยไม่รู้สึกผิดที่จะอยากให้ผิงเลิกกับจูน มันเหมือนกับคุณเห็นคู่รักคู่หนึ่งแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนิสัยไม่ดี อาจจะทำร้ายร่างกายหรือเอาเปรียบอีกฝ่าย ถ้าเรามีโอกาสได้คุยกับฝ่ายที่โดนกระทำเราคงจะ “เสี้ยม” หรือแนะนำให้เลิกกันไปเลย แต่ๆๆๆๆเรากำลังทำให้คู่รักเลิกกันอยู่นะครับ มันเป็นเรื่องที่ถูกที่ควรแล้วเหรอครับ

กรณีพี่สาวกายกับสามี

ในกรณีนี้เป็นการที่พี่กายโดนแย่งสามี จริงๆจะเรียกแยกก็ไม่ถูกเพราะฝ่ายชายนอกใจ แต่ฝ่ายหญิงก็อยากแย่งสามีไปจากพี่สาวกาย กรณีเรามองว่าฝ่ายหญิงที่ส่งรูปมาให้นั้นเป็นฝ่ายผิดทันที คงเป็นเพราะมันเป็นการแย่งแฟนจากคนที่มีคู่และแต่งงานแล้วมันเลยรุนแรงรึเปล่านะ

กรณีพี่พีทกับจูน

ในกรณีนี้คือการที่กายทำแบบเดียวกับผู้หญิงที่แย่งสามีจากพี่สาวตัวเองเลย แต่เหตุการณ์นี้เรากลับไม่รู้สึกอะไรกับมันมากมายมันเป็นเพราะอะไร จะมองว่ามันคนละรับคือคู่นึงแต่งงานคู่นึงไม่ใช่ แต่ถ้าดูดีๆคือพี่พีทขอจูนจนจะแต่งงานแล้วนะครับแทบจะไม่ต่างกันเลย ทำไมเราไม่รู้สึกว่าสิ่งที่กายทำมันเลวร้ายเท่ากรณีพี่สาวกายกับสามีล่ะ เหตุผลแรกที่ผมเห็นคือเพราะเราเชียร์ฝ่ายพระเอกอยู่ยังไงล่ะ และเราก็รู้ด้วยว่าจูนเองก็มีใจให้กับกาย ดังนั้นทั้งคู่ควรจะต้องคู่กันเพื่อให้เรื่องมันโอเค ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยรู้สึกว่าการที่กายมันทำนั้นดูผิดเสียเท่าไหร่ ยิ่งพอเราไปเทียบกับกรณีที่แล้วเราจะยิ่งเห็นได้ชัด การที่เราต่อว่าว่าฝ่ายหญิงที่มาแย่งสามีพี่กายนั้นเราทำได้เต็มที่เพราะเราไม่รู้อะไรของอีกฝ่ายเลย เรารู้จักแต่ฝั่งพี่กายดังนั้นเราจะสามารถตำหนิฝ่ายนั้นได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

คราวนี้เรามาลองดูในอีกมุมคือมุมของผู้ถูกกระทำนั่นคือการที่โดนบอกเลยโดยที่ตัวเองไม่ผิด ในเรื่องเราจะเห็นว่าเราแทบไม่ได้เห็นใจตัวละครเหล่านี้เลย

กรณีกายกับแพตตี้

ในกรณีคือการที่กายหมดรักแพตตี้เพราะเขาชอบจูนมากกว่า กายเลยบอกเลิกแพตตี้แบบไม่มีเหตุผลใดๆทั้งสิ้น ซึ่งฉากนั้นเป็นเหมือนฉากฮาๆฉากนึงแต่ถ้าคุณลองคิดสิว่าโดนคนรักบอกเลิกโดยไม่มีเหตุผลคุณเป็นแพตตี้คุณจะรู้สึกไง ถ้าถามหาเหตุผลจากผมว่าทำไมไม่สงสารก็คงเพราะเรารู้ว่ากายไม่ได้ชอบแพตตี้แล้วจะให้กายมันคบต่อทำไม ซึ่งมันก็ดีกับแพตตี้เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเวลา อีกทั้งเราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับแพตตี้เลยแม้แต่นิดเดียว เราไม่มีความรู้สึกอะไรกับแพตตี้เลย ดังนั้นเราเลยไม่สงสาร

กรณีพี่พีทกับจูน

กรณีนี้คือกรณีที่ผมเหวอกับตัวเองมากที่สุดเพราะผมไม่รู้สึกสงสารพี่พีทเลย ทำไมวะ พี่พีทแม่งโคตรคนดีเลยนะครับ เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ ไม่มั่วหญิง ซึ่งแกสามารถทำได้ง่ายๆเลยแต่แกไม่ทำ ทั้งการดูแลจูนต่างๆนาๆก็ไม่ขาดตกบกพร่องใดๆเลย ว่าง่ายๆแกคือผู้ชายในฝันตามค่านิยมของสังคมยุคปัจจุบันเลย ซึ่งผมโคตรหงุดหงิดตรงนี้มาก จะเพราะพี่แม่งเป็นคนดีไปรึเปล่าวะ เราเลยไม่สงสาร หรือเพราะเราคิดว่าแกเป็นคนดีเดี๋ยวแกก็คงทำใจได้เองแหละ ไม่อะไม่ใช่ สำหรับผมสุดท้ายผมว่าผมมีความลำเอียงมากกว่า ผมลำเอียงไปเข้าข้างฝั่งกายและจูนมากกว่าเลยไม่สนใจเลยมากกว่าว่าไอพี่พีทอะมันจะรู้สึกไง การที่พี่พีทเลิกกับจูนนั่นคือการทำให้ผมซึ่งเป็นผู้ดูรู้สึกว่ามันควรเป็นอย่างงั้น ดังนั้นผมจึงไม่สงสารพี่พีทเลยยังไงล่ะ

เราตัดสินด้วยอะไรและมันถูกต้องแค่ไหน

นี่เป็นอีกคำถามที่ผมได้จากการดูหนังเรื่องนี้ หากคุณไปอ่านกรณีเกี่ยวกับการแย่งแฟนทั้ง 3 กรณี คุณจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดแต่ทำไมมีแค่กรณีเดียวที่เราเห็นว่ามันผิดจริงๆส่วนที่เหลือเรากลับปล่อยผ่านมันได้อย่างหน้าตาเฉย เพราะมีคนหนึ่งเป็นคนไม่ดีเหรอมันถึงทำให้กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ หรือเพราะเรารู้บางอย่างมากกว่าคนทั่วไปเราเลยมองว่ามันเหมาะมันควรแล้วที่อีกคนนึงจะสามารถไปแย่งแฟนจากอีกคนนึงมา เช่น เรารู้ว่าสองคนนี้ชอบกันแค่อีกคนนึงดันมีแฟนก่อน เราเลยคิดว่ามันไม่ผิดอะไรมากถ้าแย่งเอามาเป็นแฟนได้ อีกเรื่องนึงคืออะไรคือสิ่งที่คนที่ไม่ผิดควรได้จากการโดนเลิกโดยที่ตัวเองไม่ผิดอะไร เขาต้องแบกรับความเจ็บปวดไปทั้งแบบนั้นอะนะ นี่คือสิ่งที่คนที่ดีอย่างไอพี่พีทมันควรได้เหรอ หรือจริงๆเรื่องพวกนี้มันไม่มีความยุติธรรมตั้งแต่ต้น มันก็แค่ความอยากเฉยๆ

แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน การที่เรายังคบกับแฟนคนเพียงเพราะเราคบเขาก่อน แต่ใจของเราเองชอบอีกคนและไม่ได้รักแฟนแล้ว เราควรยอมตกอยู่ในสภาพไม่มีความสุขอย่างนี้เพื่อเห็นกับแฟนที่เรากำลังคบอยู่เหรอ (ซึ่งเราก็ไม่ได้รักเขาแล้ว เราควรสนใจเขาด้วยเหรอ) และเราก็เหมือนไม่ซื่อสัตย์กับแฟนด้วย (เพราะใจไม่อยู่แล้ว) ด้วยเหตุผลทั้งหมดเราจะคบกับแฟนอยู่ทำไมล่ะจริงไหม

สำหรับผมการดูหนังเรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าการไปตัดสินอะไรพวกนี้มันเป็นเรื่องยากจริงๆ เพราะเราจะไม่โดนเรื่องเข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งจากการรู้เรื่องราวของฝั่งนั้นจนเกิดการลำเอียง (กรณีของกายที่แย่งแฟน) หรือเรามองแต่ด้านที่เราเชื่อถ้าทำแล้วมันเกิดสิ่งที่ดีกว่า (กรณีที่กายเสี้ยมให้เลิกกับผิง) โดยไม่ได้มองในมุมของผู้เสียประโยชน์เลย และอีกหลายๆกรณีที่พูดไป

สุดท้ายก็อยากให้ลองถามตัวเองกันดูครับว่า “คุณป็นผู้ตัดสินที่ยุติธรรมและถูกต้องได้มากแค่ไหน และ คุณใช้อะไรเป็นตัวตัดสินความยุติธรรมและถูกต้องนั้น”

ปล. ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นและการตีความส่วนตัวนะครับ คุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือคิดเหมือนกัน

ก็องดิก - Candide

ก็องดิก - Candide

ก็องดิก - Candide

“ก็องดิก” เป็นนิยายที่ “วอลแตร์” เขียนขึ้นเพื่อโจมตีแนวคิด “สุทรรศนนิยม” (Optimism) ที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้นั้นเป็นเรื่องที่ดีที่สุดแล้ว พระเจ้าทรงคิดว่ามันดีที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์ ซึ่งวิธีการต่อสู้ของวอลแตร์นั้นไม่ได้ชี้หน้าด่าว่าแนวคิดนี้นั้นมันเลว มันไร้สาระ มันไม่จริง แต่เขาใช้วิธีการแต่งนิยายพร้อมสร้างเหตุการณ์ต่างๆที่สุดแสนจะเลวร้าย เหตุการณ์ซึ่งไม่ยุติธรรม เหตุการณ์ที่เห็นแล้วยังไงยังไงมันก็ไม่น่าจะใช่เรื่องดีหรือมันจะนำพาไปให้เกิดสิ่งนี้มันมีเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งวิธีนี้นั้นถือเป็นการสู้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่การบังคับให้คนต้องเชื่อ แต่ให้เชื่อด้วยการตัดสินใจด้วยตนเอง (เหตุผลที่วอลแตร์ไม่ใช้วิธีชี้หน้าด่าก็เพราะถ้าชี้หน้าด่า บอกว่ามันเลว มันไม่จริง วอลแตร์อาจจะโดนจับแขวนคอไปแล้วก็ได้เพราะอาจจะโดนยัดข้อหาดูหมิ่นพระเจ้า)

ก็องดิกเล่าเรื่องด้วยชายหนุ่มที่ชื่อว่า “ก็องดิก” เด็กหนุ่มคนใช้ในปราสาท ผู้เป็นคนใสซื่อบริสุทธ์ ก็องดิกเป็นคนเชื่อฟังคำสั่งสอนของอาจารย์ ปองโกส ผู้มีแนวคิด (Optimism) อย่างสุดหัวใจไม่มีข้อสงสัยใดๆ ไม่ว่าการที่เขาได้มาอยู่ที่ปราสาท การที่เขาได้มองเจ้าหญิงลูกของเจ้าของปราสาททุกวัน แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ก็องดิกต้องออกไปผจญโลกและพบกับความโหดร้ายต่างๆนาๆของโลก ซึ่งนั่นจะทำให้ก็องดิกยังรักษาความเชื่อในแนวคิด สุทรรศนนิยม Optimism) ได้หรือไม่

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นก็เพื่อสิ่งที่ดี

แนวคิด “สุทรรศนนิยม” (Optimistic) บอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นล้วนมีเหตุมีผลและสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นย่อมส่งผลให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นมากกว่า ซึ่งถ้ามองในแง่ดีนะครับ มันช่วยให้เราสามารถเลิกคิดกับสิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตเช่น ถ้าคุณดวงซวยลื่นล้ม คุณอาจจะเลิกคิดถึงความซวยนั้นได้ด้วยการคิดว่าการที่เราลื่นล้มเนี่ยมันอาจจะพาเราไปเจอสิ่งที่ดีกว่า หรือ การที่ลูกคุณตายตั้งแต่เกิดเนี่ยถ้าคุณมัวแต่คิดว่ามันเป็นความผิดคุณ คุณก็จะจมไปกับมันไม่ไปไหนสักที แต่ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นประสงค์ของพระเจ้า การเกิดเรื่องพวกนี้มันเป็นบททดสอบทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้นหรือเพื่อที่คุณจะได้ไปเจอสิ่งที่ดี ถ้าคุณเอามันมาใช้เพื่อกำจัดความทุกข์แบบนี้มันดีครับ แต่คนนำมันมาใช้แบบเกินเลย แบบผิดๆ เช่น การจับคนมาเป็นทาสนั้นก็เพื่อสิ่งที่ดี จับคนมาบูชายันต์เพื่อสิ่งที่ดี ก่อสงครามเกิดขึ้นโดยอ้างว่าเพื่อสิ่งที่ดี หรือทำให้สังคมละเลยเรื่องที่เพื่อนมนุษย์ควรทำเช่นช่วยเหลือผู้อื่นเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นย่อมดีก่อให้เกิดสิ่งดี

ในเรื่องก็องดิกคุณจะเห็นเหตุการณ์ประมาณนี้เต็มไปหมด ตัวอย่างที่เลวร้ายสุดๆก็คือเหตุการณ์ที่เกิดภูเขาไฟระเบิดทำให้คนตายเกือบทั้งเมือง แต่ตัวละครในเรื่องบอกว่ามันเกิดขึ้นเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ผมอ่านแล้วแบบ “เฮ้ย เอาจริงดิ” ซึ่งมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เป็นแบบนี้ ซึ่งผมเชื่อเลยว่าคนอ่านอีกหลายๆคนในยุคนั้นก็คงคิดแบบผมแล้วก็คงหยุดเชื่อแนวคิดสุทรรศนนิยม

ทำงานกันเถอะ

ในเรื่องนั้นไม่ได้ให้ตัวละครทำการสรุปว่าตกลงแล้วแนวคิดสุทรรศนนิยมนั้นไม่ถูกต้องควรถูกลบล้างให้หายไป จะมีก็แต่การชี้นำผ่านเหตุการณ์ต่างๆในเรื่องว่า “เอาจริงดิ” ซึ่งในตอนท้ายเรื่องนั้นตัวก็องดิกได้พบกับชายแก่ธรรมดาคนหนึ่งและได้สอบถามชายแก่เกี่ยวกับความเชื่อ เห็นด้วยไม่เห็นด้วย หรือรู้ข่าวอะไรเกี่ยวกับเรื่องของศาสนจักรบ้าง ชายแก่กลับบอกว่าเขาไม่ได้สนใจเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่ออะไรเหล่านั้น เขาสนก็แค่การทำงานในที่ดินของเขาเพียงเท่านั้น ซึ่งคำตอบของชายแก่นั้นไปกระตุ้นให้ก็องดิกรู้ว่าปัญหาของเขานั้นเอาแต่คิด ไม่ทำอะไรสักอย่าง แล้วก็ฟุ้งซ่านไปกับการคิด แต่เมื่อเขาเริ่มลงมือทำงานเขาก็ไม่ต้องคิดฟุ้งซ่านเกี่ยวกับเรื่องแนวคิดไหน เขาอยากทำให้โลกนี้มันน่าอยู่เขาก็สามารถทำมันผ่านการลงมือ (ในการตีความของผมมันเป็นการพยายามบอกว่าไม่เกี่ยวกับว่าพระเจ้าลิขิตอะไร เราต่างหากต้องเป็นคนทำ)

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับผมการได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นว่าคุณสามารถต่อสู้ทางแนวคิด ความเชื่อ ผ่านนิยายได้แบบที่วอลแตร์พยายามทำซึ่งดูเหมือนจะทำได้ดีด้วย อีกทั้งยังทำให้ผมรู้ว่าในสมัยก่อนนั้นคนเชื่อลัทธิสุทรรศนนิยมแบบไม่คิดเยอะมาก ส่วนเรื่องความบันเทิงที่ได้จากเรื่องนี้คือการได้อ่านการจิกกัดของวัลแตร์ที่จิกกัดได้เจ็บไม่เปลี่ยน ก็สำหรับใครที่อยากอ่านนิยายที่เกี่ยวกับแนวคิด ปรัชญา ความเชื่อ ผมแนะนำว่าไม่ควรพลาดเรื่องนี้ครับ

ซาดิก - Zadig

ซาดิก - Zadig

ซาดิก - Zadig

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้เพราะเขียนโดย “วอลแตร์” ซึ่งเป็นคนแต่งเรื่อง “ก็องดีด” ซึ่งผมอ่านแล้วชอบในการเอานิยายที่ตัวเองแต่งมาใช้เป็นแรงให้คนหยุดงมงายในความเชื่อบางความเชื่อ โดยไม่ต้องใช้การก่นด่าสิ่งที่คนอื่นเคารพรัก แต่ใช้การยกตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆขึ้นมาและชี้ให้เห็นว่า แนวคิดพวกนี้มันตอบคำถามเรื่องพวกนี้ได้ไหม การกระทำแบบนี้มันถูกต้องแล้วเหรอ ซึ่งผมชอบวิธีการจิกกัดแบบนี้ มากกว่าการชี้หน้าด่าความเชื่อของอีกฝ่าย

“ซาดิก” นั้นเป็นนิทานคล้ายๆกับพันหนึ่งราตรีแต่มีสาระและมีเหตุมีผลมากกว่า(ผู้แต่งเขาว่าอย่างงั้น) โดยเล่าเรื่องของชายหนุ่มหน้าตาดี มั่งมีเงินทอง เก่งด้านการรบ และมีสติปัญญา หรือว่าง่ายๆคือดีทุกอย่างเลยแหละ แต่ส่วนที่ซาดิกพิเศษกว่าพระเอกเรื่องอื่นๆคือ ความสามารถในการวางตัวในสังคมได้อย่างยอดเยี่ยม ตัวอย่างเช่น ซาดิกสามารถพูดให้คนที่บูชาลัทธิ A กับ ลัทธิ B ซึ่งมีความเชื่อแตกต่างกันสามารถเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการบูชาเทพเจ้าของกันและกันได้ (อยากได้คนแบบนี้มาไกล่เกลี่ยพวกซ้ายสุดขวาสุดจริงๆ) ซึ่งถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้คุณคงคิดว่า “ซาดิก” ตัวเอกของเรานั้นจะมีความสุขใช่ไหมครับ แต่บอกเลยว่าไม่ครับ ซาดิกต้องเจอเรื่องต่างๆนาๆที่ทำให้เขาไม่มีความสุขแม้เขาจะประพฤติตนเป็นคนดีแค่ไหนก็ตาม ซึ่งเราต้องมาลุ้นกันว่า “ซาดิก” เรื่องราวของเขาจะจบลงอย่างไร

จิกกัด

ในเรื่องมีการจิกกัดความเชื่อแบบไม่มีเหตุผลในยุคนั้น (ในยุคนี้ก็ยังมีอยู่) ผ่านการใช้เหตุการณ์ที่ไม่ตรงกับความเชื่อต่างๆตัวอย่างเช่น ซาดิกนั้นต่อสู้กับโจรร้ายที่จะมาฉุดคู่หมั้นของเขาซั่งทำให้เขาบาดเจ็บที่ตาของเขา ซึ่งไม่นานก็มีการพาหมอดูและนักบวชมาดูอาการของซาดิก ซึ่งนักบวชและหมอดูก็ต่างทำนายว่าซาดิกจะต้องเสียตาไป ซึ่งเมื่อคู่หมั้นของซาดิกได้ยินดังนั้นก็เชื่อหมอดูและหนีไปแต่งงานกับผู้ชายอื่นเพราะคิดว่าซาดิกจะต้องเสียดวงตาตามคำพูดหมอดู แต่กลายเป็นว่าซาดิกไม่ยอมเชื่อและทำการรักษาแผล (แผลไม่ได้เข้าตา ตามันจะบอดได้ไง) จนสุดท้ายแผลก็หายซาดิกไม่ได้ตาบอด ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ก็ตอกหน้านักบวชและหมอดูว่า มึงมั่วนี่หว่า และก็เป็นการพิสูจน์ความรักของคู่หมั้นของซาดิกเช่นกัน

การจิกกัดในเรื่องยังมีอีกมากมาย ไม่ว่าจะจิกกัดเกี่ยวกับหลักทำว่าให้ทำดีกับคนอื่นเสมือนกับทำความดีกับหมาที่มันจะแว้งกัดเราก็ตาม (อ้าวกูเป็นหมาซะแล้ว) หรือจิกกัดเรื่องการความต้องการของมนุษย์ การพูดไม่ตรงกับความต้องการ ซึ่งผมแนะนำว่าลองไปหาอ่านกันดูครับ ถ้าคุณเข้าใจคุณจะหัวเราะออกมาทันที

อำนาจ

เรามักถูกสอนว่าอำนาจเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แม้เราจะมีอำนาจมากมายเพียงใดแต่มันก็สามารถหายไปได้อย่างรวดเร็ว ซาดิกก็เล่าเรื่องนี้เช่นกัน ในเรื่องเราจะเห็นว่าซาดิกแม้จะใช้ความรู้ความสามารถช่วยบ้านเมืองอย่างสุจริตเพียงใด แต่เขาก็สามารถสูญเสียอำนาจไปภายในระยะเวลาสั้นๆจากเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ เราจะได้เห็นว่าอำนาจนั้นเปลี่ยนผันรวดเร็วแค่ไหน และอำนาจถ้าอยู่ในมือคนที่ไม่มีสติแล้วจะเป็นอย่างไร

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับ “ซาดิก” เล่มนี้อ่านแล้วได้ความสนุกครับ ไม่หนักเหมือน “ก็องดีด” คืออ่านแบบเพลินๆสนุกไปกับชะตาชีวิตของซาดิกว่าจะเป็นยังไง ซาดิกจะยึดมั่นกับการเป็นคนดีแม้การทำดีของเขาจะนำพาความเลวร้ายต่างๆมาในชีวิตต่อไปหรือไม่ ผมแนะนำว่าลองไปหามาอ่านกันดูครับรับรองความสนุก (สำหรับผมสนุกกว่าพันหนึ่งราตรีอย่างที่วอลแตร์โม้ไว้จริงๆ)

โลลิต้า - Lolita

โลลิต้า - Lolita

โลลิต้า - Lolita

ผมยืมหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพราะผู้แต่งเป็นคนเดียวกับคนที่แต่งเรื่อง “พนิน” ซึ่งผมอ่านแล้วรู้สึกชอบในสำนวนการเล่าเรื่องที่เล่าได้เรื่อยๆ ส่วนที่เศร้าก็พาเราเศร้าได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ หรือจะเป็นการจิกกัดที่บอกเลยว่ากัดได้เจ็บจริงๆ

ตอนเห็นชื่อหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกนี่ก็ชวนให้คิดว่ามันเกี่ยวอะไรกับ “โลลิต้า” ที่คนหมายถึงรูปแบบการแต่งกายของผู้หญิง และลักษณะของเด็กผู้หญิงอายุน้อยๆรึเปล่า ซึ่งก็ใช่เลยครับ หนังสือเล่มนี้คือที่มาของคำว่า “โลลิต้า” เลย แถมเป็นหนังสือที่ทำให้คนเลิกตั้งชื่อลูกสาวว่าโลลิต้ากันเลยทีเดียว

รสนิยมชอบสางสาว

เรื่องนี้เล่าถึงคุณ ฮัมเบิร์ต ฮัมเบิร์ต (ชื่อสมมุติ) จะพูดให้ถูกคือเป็นบันทึกของคุณ ฮัมเบิร์ต ฮัมเบิร์ต ที่พูดถึงเรื่องราวของตนเองที่มีรสนิยมชอบเด็กหญิงอายุประมาณ 12 - 14 ปี ใช่ครับคุณอ่านไม่ผิดครับ คุณฮัมเบิร์ต ฮัมเบิร์ต เนี่ยมีรสนิยมชอบเด็กครับ ไม่ได้ชอบเหมือนลูกเหมือนหลาน แต่ชอบแบบฉันท์ชู้สาวเลยครับ ใช่ครับ คุณฮัมเบิร์ต ฮัมเบิร์ต เนี่ยก็อยากลูบไล้ สัมผัส และสมสู่กับ หญิงสาวอายุประมาณ 12 - 14 ปี ซึ่งคุณฮัมเบิร์ต (เรียกฮัมเบิร์ตเดียวละกัน) เรียกสาวที่ตรงกับสเปคของแกว่า สางสาว ซึ่งรายละเอียดว่า สางสาว ขอให้ไปลองไปหาอ่านกันครับ ผมบอกเลยว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจเอามากๆ

ดำดิ่งไปกับคุณฮัมเบิร์ต

ตัวเรื่องจะเล่าตั้งแต่อดีตของคุณฮัมเบิร์ตว่าตอนเด็กเขาเป็นอย่างไรทำให้เรารู้ว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง ทำไมเขาถึงมีรสนิยมการชอบสางสาว ผ่านวัยหนุ่มลากยาวมาเจอ “โลลิต้า” เด็กหญิงที่เขาตกหลุมรักหัวปักหัวปำพร่ำเพ้อเขียนเป็นบันทึกที่เรากำลังได้อ่านกัน (จริงๆผู้แต่งเป็นคนแต่งครับ แต่แต่งให้มันเป็นบันทึก ใช้วิธีคล้ายๆกับ “Steppenwolf” ) ซึ่งจะเล่าตั้งแต่ความทุกข์ทรมานที่เขาต้องกดอารมณ์เหล่านั้นไว้ไม่กระทำต่อเหล่าสางสาวที่เขาพบเจอ วิธีที่เขาจะหาวิธีเข้าใกล้สางสาวเหล่านั้น การพูดถึงกฏหมาย ศีลธรรม ที่ชาวโลกจำนวนมากสร้างขึ้นมาที่ห้ามมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุประมาณโลลิต้า ซึ่งในเรื่องก็จิกกัดได้เจ็บในเรื่องเพศสัมพันธ์ได้ดี (ถ้าอยากรู้ต้องไปอ่านในเรื่อง) หรือแผนการและความคิดชั่วร้ายต่างๆของคุณฮัมเบิร์ตที่มุ่งหวังบางอย่างจากโลลิต้า ซึ่งผมอ่านแล้วรู้สึกสนุกไปกับการอธิบายความคิดของตัวละครมากเพราะมันเหมือนจริงมากเลยครับ แบบคุณมีความคิดร้ายๆบางอย่างซึ่งมันมีแผนต่างๆนาๆ 1 2 3 4 เตรียมไว้หมดเลย ทุกอย่างคิดไว้อย่างดีเหลืออยุ่แค่ว่าจะทำหรือไม่

คุณจะตัดสินอย่างไร

พอคุณอ่านมาถึงตรงนี้คุณคงคิดว่าคุณฮัมเบิร์ตมันเป็นคนเลวมากๆใช่ไหมครับ ใช่ครับถ้ามองในมุมมองของกฏหมายนั้นเขาเป็นคนเลวแน่นอนครับเพราะเขาทำผิดกฏหมาย แต่ถ้าคุณได้รายละเอียดอ่านเรื่องราวของคุณฮัมเบิร์ตแล้วคุณอาจจะมีความคิดโผล่มาว่า “เขาอาจจะไม่ผิด” มันคล้ายๆกับคดีที่ภรรยาฆ่าสามี ซึ่งถ้ามองว่าการที่ภรรยาฆ่าสามีนั้นผิดกฏหมาย แต่ถ้าคุณรู้เรื่องราวคุณอาจจะเห็นใจและคิดว่าเขาทำเพราะจำเป็นหรืออื่นๆเพื่อสนับสนุนว่าภรรยานั้นไม่ผิด ในเรื่องนี้ก็อารมณ์ประมาณนั้นนั่นแหละครับ คุณอาจจะรู้สึกว่าคุณฮัมเบิร์ตนั้นแกก็เป็นคนธรรมดาคนนึงที่ดันมีรสนิยมที่ดันผิดกฏหมาย แล้วแกก็ไม่ได้เป็นคนเริ่มอะไรพวกนั้นเลยด้วยซ้ำ ซึ่งพอคุณอ่านจบคุณอาจจะเข้าใจคุณฮัมเบิร์ตมากขึ้น คุณอาจจะมีคำถามเกี่ยวกับกฏหมายที่คุณฮัมเบิร์ตบอก หรือคุณอาจเกลียดคุณฮัมเบิร์ตมากขึ้นก็ได้ครับ เพราะการที่คุณเข้าใจไม่ได้แปลว่าคุณต้องเห็นด้วยกับเรื่องที่เข้าใจ เช่น คุณเข้าใจว่าอะไรทำให้เกิดสงคราม ทำไมต้องทำสงคราม คุณเข้าใจเหตุผลเหล่านั้นครับว่ามันอาจจะมาจากเกียรติ การล้างแค้น ความหวังในเสรีภาพ แต่คุณก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับการรบราฆ่าฟันนั้น เช่นกันกับที่คุณเข้าใจว่าทำไมคุณฮัมเบิร์ตทำอะไรแบบนั้น แต่คุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับการกระทำของคุณฮัมเบิร์ต

สุดยอดของการเขียนบรรยาย

เรื่องหนึ่งที่สุดยอดของหนังสือเล่มนี้คือการเขียนบรรยายของผู้แต่ง เพราะเขาเขียนบรรยายได้เรื่อยๆแบบไม่ชวนเบื่อตั้งแต่บรรยากาศสภาพแวดล้อมของฉาก ไล่ยาวไปถึงกระดาษบันทึกของคุณฮัมเบิร์ต หน้าตาของตัวละครต่างๆ สภาพความรู้สึกของตัวละคร ซึ่งทั้งหมดนั้นบรรยายได้อย่างลื่นไหล อ่านกันได้แบบเพลินๆเลย

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับผมเล่มนี้อ่านแล้วได้กระตุ้นหลักการในการตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าดีหรือเลวว่าเราเที่ยงธรรมแค่ไหน เราใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน ในตอนคุณเริ่มอ่านเล่มนี้คุณอาจจะคิดว่าคุณฮัมเบิร์ตเป็นคนชั่วช้า หรือควรจะต้องโทษหนักแบบสุดๆ แต่พอคุณได้เห็นเรื่องราวต่างๆของคุณฮัมเบิร์ตแล้วคุณอาจจะเปลี่ยนความคิดก็ได้ครับ คุณอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องของคนสองคน หรือคุณอาจจะคิดว่าคุณฮัมเบิร์ตเนี่ยน่าจะโดนแขวนคอตายอย่างทรมานก็ได้ ซึ่งถ้าคุณคิดแบบที่ผมกำลังว่าเนี่ยแสดงว่าคุณน่าจะต้องสงสัยแล้วนะครับว่า เราใช้อะไรกำหนดโทษ อารมณ์ของเรา หลักการ ความเสียหายที่เกิดขึ้น หรืออะไร ผมว่าถ้าคุณคิดสักหน่อยคุณอาจจะเริ่มเข้าใจความยากในการตัดสินสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ผิด ผ่านมุมมองเพียงมุมมองเดียว ถ้าคุณไปเห็นมุมมองอื่นคุณอาจจะเปลี่ยนการตัดสิน แต่มันยังมีมุมมองอื่นๆที่คุณไม่เห็นอีก แล้วคุณจะตัดสินได้อย่างเที่ยงธรรมจริงๆเหรอ

Baifern - 2whist

Baifern - 2whist

Baifern - 2whist

น้องคนนี้น่ารักจัง

นี่คงเป็นความรู้สึกแรกที่ได้เห็น MV เพลง My Inspiration คือน้องน่ารักมากๆ ดูสดใสมากๆเลย ซึ่งหลังจากนั้นก็ติดตามผลงานของน้องแบบห่างๆมาตลอด จริงๆผมก็ติดตามเกือบทุกวงจากค่าย SETL Entertainment ซึ่งเพลงของค่ายนี้นั้นมีเหตุผลมีที่มาเกือบทุกเพลง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่มันไม่ค่อยดังสักเท่าไหร่ โดยส่วนตัวผมว่าเพลงมันดีมากดีเหนือวงหลายๆวงเลยทีเดียว แต่อย่างว่าแหละครับบนโลกนี้ของดี เพลงดี มันอาจจะไม่ดังในเวลานั้นก็ได้ เพลงหน้าบีบางเพลงกว่าจะดังต้องใช้เวลานานมากๆ บางเพลงนักร้องหายไปแล้วพึ่งมาดังก็มี

ดูการแสดงครั้งแรก

ผมได้ไปดูการแสดงของน้องครั้งแรกเมื่อปลายปี 2021 ที่ Union mall ซึ่งวันนั้นมีศิลปินค่าย SETL Entertainment มาหลายวงเลยทั้ง XLN, AWA, 2Whist, LoliLoli ซึ่งผมตั้งใจไปดู LoliLoli เพราะเป็นการแสดง 2 ครั้งสุดท้ายของวง LoliLoli แล้ว

ในงานวันนั้นน้องใบเฟิร์นกับน้องอลิสมาแสดงหลายเพลงเลยซึ่งร้องเต้นกันสดๆเลยคือบอกเลยว่าถ้าคุณไปงานพวกไอดอลเนี่ยคุณไม่ค่อยเจอหรอกครับการร้องสด ส่วนใหญ่จะเปิดเพลงแล้วลิปซิ้งค์เอา ซึ่งบอกเลยว่าเราเห็นความพยายามของน้องเขาผ่านการแสดงเลย

คุยกันครั้งแรก

หลังจากงานตอนสิ้นปีผมก็ได้ติดตามวงมาตลอดหวังว่า เอ้อเดี๋ยววันไหนว่างๆจัดงานที่เดินทางง่ายๆเนี่ยเดี่ยวเราจะไปดูแต่กลายเป็นว่าแต่ละงานที่วง 2Whist ไปเนี่ยอยู่ไกลมาก บางที่นี่ผมไม่รู้จักเลย พอมีงานใกล้ๆหน่อยก็ดันไม่ว่างไปอีก (ผมทำ Mega project ให้บริษัทแล้วตอนนั้นคนในบริษัทลาออกกันรัวๆเลย) จนได้มีโอกาสได้ไปดูน้องอีกครั้งที่ seacon square ซึ่งครั้งนี้ได้มีโอกาสได้คุยกับน้อง (งานก่อนๆนี่คือไม่มีโอกาสได้คุยเลย) ซึ่งน้องน่ารักชวนคุยเก่ง ตอนนั้นก็คุยกันประมาณว่า เนี่ยพี่ฟังเพลงวงเรามาตลอดเลยนะ เห็นเราตั้งแต่เป็น Trainee ในค่ายเลยนะ แล้วก็บอกน้องว่าเดี๋ยวงานหน้าพี่มาดูอีกนะ

เวลาการเป็นไอดอลมันสั้น

ประโยคนี้เพื่อนผมที่ตามไอดอลเคยบอกผมไว้เพื่อเตือนผมว่าอยากจะทำอะไรให้รีบทำนะ ซึ่งจริงๆผมมีบทเรียนกับไอดอลญี่ปุ่นที่ผมชอบคนนึงมาแล้วที่มัวแต่คิดเยอะไม่ทำอะไรที่อยากทำจนสุดท้ายน้องที่ชอบมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพทำให้ต้องกลับญี่ปุ่น หรือน้องวง Melt mallow บางคนที่ไม่มีโอกาสได้คุยในกันจนวันสุดท้าย ซึ่งเหมือนผมมันเป็นพวกไม่เรียนรู้จากบทเรียนในอดีตเพราะหลังจากเจอน้องครั้งแรกได้ไม่นาน น้องก็หมดสัญญากับทางค่ายและจัด State อำลาวันที่ 25 กันยายน 2565 คือจังหวะนั้นมันรู้สึกเสียดายมากๆแบบ ทำไมวะ ทำไมเราไม่ไปงานที่อยู่ไกลๆ (จริงๆถ้าเราพยายามเราไปถูกแน่นอน) ทำไมเราไม่แบ่งเวลางานดีๆแล้วไปเจอน้องล่ะ จนถึงตอนที่เขียนอยู่ตอนนี้ก็ยังรู้สึกเสียดายนะ เสียดายที่ไม่ได้สนับสนุนน้องและวงมากกว่านี้

Baifern Graduation Stage

งานในวันนั้นเป็นงานเล็กๆแต่เป็นงานเล็กๆที่ดีมากๆซึ่งในงานทางวงก็แสดงเพลงของวงและค่ายตั้งแต่เพลงใหม่เพลง Soudane เพลง เป็ด เพลง Sigh จากนั้นก็เป็นการแสดงเดี่ยวของแต่ละคนซึ่งปิดท้ายด้วยน้องใบเฟิร์นที่ร้องเพลง ファンサ(Fansa) คือผมก็เคยฟังเพลงนี้เวอร์ชันญี่ปุ่นมาบ้างแต่ก็ไม่ได้ซึ้งอะไรมาก แต่รอบนี้ได้ฟังเวอร์ชันภาษาไทยแล้วแบบมันเข้ากับงานมากแบบมันคือความรู้สึกของน้องจริงๆแล้วมันส่งถึงเราคือเกือบร้องไห้ในงานจริงๆนะ (ตอนเขียนกลับไปดูคลิปย้อนหลังนี่ก็จะน้ำตาจะไหล) สุดท้ายจบด้วยเพลง My Inspiration เป็นอันจบการแสดง

ต่อมาเป็นช่วงเวลาเชกิซึ่งเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้สนับสนุนน้องเป็นครั้งสุดท้ายก็เลยซื้อเชกิไปเลย 10 ใบ (เป็นการซื้อที่เยอะที่สุดต้ังแต่เคยเชกิมา) ซึ่งพอถ่ายเสร็จก็ได้คุยกับน้องตอนงานเลิกว่าจะไปทำอะไรต่อ น้องก็บอกว่ายังไม่รู้เลยมีอะไรอยากทำเต็มไปหมด อยากทำช่อง Youtube อยากทำอาหาร อยากขายของออนไลน์ อยากทำอะไรอีกหลายอย่าง แต่น้องบอกว่าน้องได้ทำฝันอย่างหนึ่งสำเร็จแล้วคือการได้มาเป็นศิลปินได้มาร้องเพลงให้ผู้ชมดู น้องบอกว่ามันเหมือนผ่านไปไม่นานทั้งๆที่ 3 ปี จากนั้นก็คุยกันไปเรื่อยๆ ผมก็คุยกับน้องว่าเคยเห็นน้องตั้งแต่งาน Melt mallow laststate แล้วน้องก็ว่าหนูก็เคยเจอพี่ พี่ที่หนูเขียนชื่อผิดไง วันนั้นหนูเฟลมากเลยนะที่เขียนชื่อพี่ผิดคนเดียวทั้งงาน ผมนี่แบบเออจริงด้วยวันนั้นมีน้องเขียนชื่อเราผิดน้องใบเฟิร์นนี่เอง ฮ่าๆๆๆ จากนั้นก็คุยไปเรื่อยเปื่อยเรื่องทำอาหารต่างๆนาๆ น้องเรียนอะไร สุดท้ายก่อนหมดเวลาก็เลยเอาของขวัญยื่นให้น้อง ซึ่งมันคือหนังสือสองเล่ม เล่มหนึ่งเพื่อเตือนให้น้องเขานึกถึงความคิดแบบเด็กความคิดที่อาจจะลืมเลือนหายไปเมื่อกลายเป็นผู้ใหญ่ ส่วนอีกเล่มคือหนังสือที่พูดถึงความเป็นผู้ใหญ่เรื่องที่น้องจะต้องเจอในอนาคตก็เลยอยากจะให้น้องเตรียมไว้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ก็ไม่รู้ว่าน้องจะได้อ่านมันไหมนะแต่ถ้าน้องได้อ่านก็คงจะมีประโยชน์กับน้อง

จะว่าไปพอได้คุยกับน้องเนี่ยรู้สึกเหมือนตอนเจอนิโกะเลย คือรู้สึกได้ถึงความน่ารักสดใส และก็เข้าได้เลยว่าทำไมใครๆก็ต่างเอ็นดูน้องใบเฟิร์น สุดท้ายก็หวังว่าน้องใบเฟิร์นจะได้ทำตามฝันที่น้องเขาฝันไว้ ซึ่งผมก็คิดว่าระดับน้องใบเฟิร์นแล้วยังไงก็สำเร็จแน่นอน

กลับสู่โลกแห่งความจริง

ผมพูดเสมอว่าการมาดูงานอะไรพวกนี้มันเหมือนการไปท่องเที่ยวหลีกหนีจากงาน งานที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ความไม่ลงตัว ปัญหาที่ผมจะต้องไปใช้ความรู้ความสามารถจัดการปัญหาเหล่านั้นให้มันผ่านไปได้ ซึ่งมันสนุกในช่วงแรกแต่หลังๆมันเหมือนคุณต้องไปเจอปัญหานี้อีกแล้วๆ วนไปวนมาเหมือน For loop ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่าเบื่อมากๆ ระหว่างทางก็นึกเสียดายหลายๆเรื่องในชีวิตที่ตัดสินใจที่ไม่ทำ พอถึงบ้านก็เห็นน้องอัพ story เปิดของขวัญที่เราให้ซึ่งน้องบอกว่าชอบของขวัญที่เราให้ ความรู้สึกตอนนั้นคือดีใจมากเพราะน้อยครั้งมากๆที่จะมีคนบอกชอบของขวัญที่เราให้

พวกฉัน พวกมัน พวกเรา - Moral tribes

พวกฉัน พวกมัน พวกเรา - Moral tribes

พวกฉัน พวกมัน พวกเรา - Moral tribes

ผมเห็นหนังสือเล่มนี้จากการไปดูหนังสืออ่านเล่นในสำนักพิมพ์ SALT ซึ่งชื่อหนังสือที่เขียนว่า “พวกฉัน พวกมัน พวกเรา” ซึ่งตรงกับสถานการณ์ของสังคมที่ผมอยู่ (สังคมของผมคือสังคมในโลกออนไลน์ที่ชื่อว่า Facebook ซึ่งมีกลุ่มคนรู้จักและเพื่อนแลกเปลี่ยนข่าวสารกันในนั้น) ที่ต่างฝ่ายต่างทำการบอกว่าฝ่ายตัวเองถูกซึ่งผมก็เห็นว่าฝั่งหนึ่งดูมีเหตุผล แต่บางเรื่องเขาก็ขาดเหตุผลหรือก็ขัดแย้งในหลักการของตัวเองเช่นกัน

ถ้าการแบ่งกลุ่มนั้นมีไว้แค่บอกกลุ่มเฉยๆไม่ได้มีผลต่อการเข้าสังคม ไม่ได้มีผลต่อการปฏิบัติต่อกัน ไม่มีผลต่อการตัดสินใจที่จะใช้แค่ว่าอยู่กลุ่มไหนโดยไม่ใช้เหตุผลแล้วมาเลือกปฏิบัติ การจัดกลุ่มคงจะเป็นอะไรที่ทำกันได้แบบไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แต่มันไม่ใช่สิครับ พอคุณถูกจัดอยู่กลุ่มไหนแล้ว คุณจะถูกเลือกปฏิบัติอย่างทันทีทันใด โดนดูถูก เหยียดหยาม โดนตัดสินว่าไร้สมอง ต่างๆนาๆ ซึ่งถามว่ามันทำได้ไหม ก็ต้องบอกว่าทำได้ครับ ผมไม่มีสิทธิ์ห้ามใดๆ มันอาจสมควรแล้วก็ได้ การปฏิบัติต่อคนที่ถูกจัดกลุ่มว่าเลวร้ายแล้ว การจัดคนเข้ากลุ่มต่างๆนั้นเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะเพียงแค่คุณเห็นต่างนิดหน่อยเช่น คุณอาจจะเห็นด้วยเรื่อง A แต่คุณไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่จะทำให้ A เกิดขึ้น เพียงเท่านี้คุณก็จะถูกจัดเป็นฝ่ายตรงข้ามของกลุ่มนั้นทันที

ด้วยเหตุผลที่ผมสาธยายไปจึงทำให้ผมสนใจหนังสือเล่มนี้มากจนจะสั่งมาอ่านแต่สุดท้ายก็ไม่ได้สั่งเนื่องจากไม่ได้มีขายในงานหนังสือ แต่สุดท้ายก็ได้อ่านหนังสือเล่มผ่านห้องสมุด Tk park

ชนเผ่าเลี้ยงแกะ

หนังสือเริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับชนเผ่าเลี้ยงแกะในทิศต่างๆ ซึ่งแต่ละเผ่ามีพื้นที่เลี้ยงแกะที่จำกัด แต่ละเผ่ามีวิธีเลี้ยงแกแตกต่างกันเช่น เผ่าหนึ่งใช้วิธีแบ่งให้แต่ละครอบครัวเลี้ยงแกะในจำนวนที่เท่ากันโดยไม่สนว่าครอบครัวนั้นจะมีกี่คน ในเผ่านั้นมีปัญหาเกิดขึ้นบ้างแต่สุดท้ายเผ่านั้นก็สามารถอยู่รอดและรุ่งเรือง อีกเฝ่าหนึ่งมีวิธีการจัดการการเลี้ยงแกะให้ครอบครัวนั้นสามารถเลี้ยงแกะได้ตามจำนวนคนในครอบครัว ในเผ่าก็เกิดปัญหามากมายตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งพึ่งมีคนเสียชีวิตก็ต้องมาลดจำนวนแกะในครอบครัวลงอีก แต่ต่อให้มีปัญหานั้นเผ่านั้นก็ยังอยู่รอดและรุ่งเรืองขึ้นมา อีกเผ่าหนึ่งให้แต่ละคนเลี้ยงแกะตามกำลังความสามารถของแต่ละครอบครัว เผ่านี้ก็มีปัญหามากมายเช่น เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีกำลังความสามารถในการเลี้ยงแกะก็จะมีความสามารถในการเลี้ยงแกะต่อไปมากขึ้นเรื่อยๆ เบียดเบียนครอบครัวอื่นๆ แต่เผ่านี้ก็ยังสามารถอยู่รอดและรุ่งเรืองต่อไปนี้ อีกเผ่าหนึ่งมีวิธีการเลี้ยงแกะโดยแกะทุกตัวเป็นของทุกคนในเผ่า ทุกคนต้องช่วยกันเลี้ยงแกะ เผ่านี้ก็เจอปัญหามากมายตัวอย่างเช่น มีหลายคนในเผ่าอู้งานเลี้ยงแกะไม่เต็มที่ แต่เผ่านี้ก็สามารถอยู่รอดและรุ่งเรือง จะเห็นว่าทุกเผ่าต่างมีวิธีของตนและวิธีของแต่ละเผ่าก็สามารถพาให้เผ่าอยู่รอดมาได้ ปัญหาเริ่มขึ้นเมื่อป่าขนาดใหญ่ซึ่งเคยกั้นชาวเผ่าแต่ละเผ่าออกจากกันได้หายไปทำให้เกิดพื้นที่เลี้ยงแกะใหม่ขึ้นมา ทุกเผ่าต่างไปที่พื้นที่ใหม่นั้นเพื่อจะใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงแกะ ปัญหาเกิดขึ้นทันทีเมื่อคนต่างเผ่าเจอกัน แต่ล่ะเผ่าต่างอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของพื้นที่นั้น ต่างใช้หลักการของตนเองเพื่อบอกว่าพื้นที่เลี้ยงแกะตรงนี้ควรจะใช้อย่างไร สุดท้ายก็เกิดความขัดแย้งจนนำไปถึงการเสียเลือดเสียเนื้อ

หากคุณลองตีความปัญหานี้คุณจะเห็นเลยว่ามันคือปัญหาของสังคมในปัจจุบัน ชนเผ่าแต่ละชนเผ่าก็คือแนวคิดเกี่ยวกับการเมืองการปกครองรูปแบบต่างๆซึ่งมันทำให้เผ่าของเขาอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาที่เราพบคือเมื่อชนเผ่าแต่ละชนเผ่ามาเจอกันก็เริ่มบอกว่าเฮ้ย คุณควรทำแบบนั้นสิ แบบนี้สิด้วยหลักการของเผ่าตนเอง บางเผ่าก็อ้างสิทธิ์บนพื้นที่ใหม่ที่พึ่งถูกค้นพบหรือรุนแรงกว่าคืออ้างสิทธิ์ในพื้นที่ของอีกชนเผ่า

นี่คือปัญหาซึ่งก่อให้เกิดคำถามมากมายเช่น เราจะแก้ปัญหานี้ยังไง มันมีหลักการพื้นฐานทางความเชื่อ จริยธรรมกลางที่สามารถใช้ร่วมกันได้ไหม (ถ้ามีเราคงยึดกฏนั้นเป็นกฏกลางทำให้เราไม่ต้องมีปัญหากัน) ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดจากความเป็นมนุษย์หรือไม่ เพราะมนุษย์เป็นสายพันธุ์ที่แก่งแย่งกันตั้งแต่กำเนิดเลยรึเปล่าทำให้เรามีปัญหาแบบนี้กัน หนังสือเล่มนี้อาจไม่ได้ตอบทุกคำถามที่ผมว่าแต่อย่างน้อยเขาก็พยายามหาคำตอบและทำให้เห็นมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับการปัญหาและการแก้ปัญหา

โศกนาฏกรรมสาธารณะ

โศกนาฏกรรมของสาธารณะ (tragedy of the commons) เป็นปัญหาที่ว่าด้วยเรื่องการทำอะไรบางอย่างเพื่อส่วนตัวตามเหตุตามผลแต่มันส่งผลไม่ดีต่อส่วนรวม ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีพื้นที่เลี้ยงแกะจำนวนหนึ่ง ถ้าตามเหตุผลการเพิ่มจำนวนแกะที่ตนเองเลี้ยงจะทำให้ตัวเองมีความมั่งคั่งมากขึ้น ดังนั้นมันจึงสมเหตุสมผลที่เราจะเพิ่มจำนวนแกะเข้าไป ซึ่งทุกคนก็ย่อมคิดแบบนั้น ปัญหาคือพื้นที่การเลี้ยงแกะนั้นมีจำกัดหญ้าที่ใช้เลี้ยงแกะนั้นมีจำกัดเมื่อทุกคนต่างเพิ่มจำนวนการเลี้ยงแกะมากจนหญ้าไม่สามารถโตได้ทัน สุดท้ายแกะของทุกคนก็จะตาย นี่เป็นตัวอย่างพื้นฐานของโศกนาฏกรรมสาธารณะ ซึ่งหากใครยังไม่เข้าใจ (เพราะผมอธิบายไม่ดี) ว่ามันเป็นแบบไหน หรืออยากได้ตัวอย่างอื่นๆอีก ผมแนะนำช่อง TED-ED ใน Youtube เลยครับ มีการทำ Video อธิบายเรื่องโศกนาฏกรรมของสาธารณะไว้ คุณสามารถดูได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=CxC161GvMPc เลย (มีซัปไทยด้วยไม่ต้องกลัวไม่รู้เรื่อง)

โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ (tragedy of the commons)

หากจะสรุปง่ายๆปัญหาโศกนาฏกรรมสาธารณะนั้นเป็นปัญหาความเห็นแก่ตัวไม่เห็นแก่ส่วนรวม ในหนังสือใช้คำว่าปัญหา “ฉัน vs เรา” หากคุณมองว่าปัญหา โศกนาฏกรรมสาธารณะนั้นใหญ่ไป เราไม่เคยหรอก เรามาลองดูปัญหาเล็กๆที่เป็นปัญหา “ฉัน vs เรา” เช่นกันซึ่งนั่นก็คือ “ปัญหาความลำบากใจของนักโทษ”

ปัญหาความลำบากใจของนักโทษ

ปัญหาความลำบากใจของนักโทษ (Prisoner’s dilemma) เป็นปัญหาว่าด้วยนักโทษ 2 คนที่ทำงานด้วยกันถูกจับ แต่ตำรวจไม่สามารถจับพวกเขาในข้อหาหนักได้ เช่น จับโจร 2 ที่ไปขโมยดินสอร้านเครื่องเขียน ซึ่ง 2 คนเนี้ยตำรวจรู้ว่าคือพวกเขาโจรปล้นธนาคาร แต่ตำรวจไม่มีหลักฐานคดีปล้นธนาคารซึ่งเป็นโทษหนัก ซึ่งทางตำรวจก็เลยเกิดปิ๊งไอเดียเพื่อจะจับโจรในข้อหาปล้นธนาคารว่า ถ้าโจรยอมสารภาพในคดีปล้นธนาคารว่ามีใครร่วมปล้นบ้าง โจรคนนั้นจะได้รับการกันตัวเป็นพยานไม่ต้องรับโทษไปเลย ส่วนอีกคนก็จะโดนจับเข้าคุกไป ซึ่งตำรวจไม่ได้ยื่นข้อเสนอแค่คนเดียวครับ คุณตำรวจผู้แสนฉลาดก็ยื่นข้อเสนอให้โจรอีกคนเช่นกัน ซึ่งนั่นทำให้เกิดเหตุการณ์ได้ 4 กรณีดังภาพด้านล่าง จะเห็นว่าถ้าทั้งสองคนสารภาพทั้งสองคนจะติดคุก แต่ถ้าทั้งสองคนไม่สารภาพจะโดนคุกคนละ 1 ปี แต่ถ้าคนหนึ่งสารภาพอีกคนไม่สารภาพ คนสารภาพจะไม่มีโทษ ส่วนคนที่ไม่สารถาพจะติดคุก 3 ปี

หากคุณเป็นคนใช้เหตุผลและคุณเชื่อได้แต่ตัวคุณเอง คุณย่อมคิดว่าการสารภาพนั้นดีที่สุดครับเพราะอย่างน้อยคุณก็คว้าโอกาสที่จะไม่ติดคุกไว้แล้ว อีกทั้งคุณจะต้องรู้สึกแค้นเป็นแน่นอนหากคุณเลือกที่จะเป็นคนปิดปากเงียบแต่เพื่อนของคุณสารภาพซึ่งนั่นจะกลายเป็นคุณติดคุกแต่เพื่อนหักหลังคุณลอยนวลไป และสุดท้ายต่อให้คุณและเพื่อนต่างหักหลังกันมันก็จบที่ติดคุกด้วยกันทั้งคู่ซึ่งก็ถือว่า “เจ๊า” กันไป ซึ่งถ้ามองโดยทั่วไปแล้วมันเหมือนการสารภาพนั้นเป็นทางเลือกที่ดีใช่ไหมครับ แต่หากมองภาพรวมแล้วจะเห็นว่าการเลือกแบบนี้สร้างผลเสียโดยรวมให้แก่ทุกคน ผลลัพธ์ดีที่สุดสำหรับทุกคนในปัญหานี้คือทั้งสองฝ่ายไม่สารภาพ (ติดคุกคนละปี) ในหนังสือเรียกผลลัพธ์นี้ว่า “มุมวิเศษ” ซึ่งถ้าคุณมองไปในชีวิตจริงมันมีจริงๆนะครับคนที่ไม่ยอมสารภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด คำถามคืออะไรที่ทำให้คนเราไปอยู่ในมุมวิเศษนั้นได้

ในหนังสือยกตัวอย่างเหตุผลต่างๆที่ทำให้คนเลือกที่จะไม่ยอมสารภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ส่วนรวมที่ดีที่สุดไว้มากมายตัวอย่าง เช่น

  • คุณธรรมขั้นต่ำ

เรื่องนี้อาจดูตลกแต่เรานั้นถูกสั่งสอนให้เป็นคนดี ซึ่งคนดีๆส่วนใหญ่ที่หลายๆที่นิยามกันก็จะมีเรื่องการไม่หักหลังใคร หรือ อย่าทำสิ่งที่คุณไม่อยากโดนกับคนอื่นอยู่ในนั้นด้วย (โจรสองคนคงไม่ใช่คนดีในเรื่องไม่ขโมยของใคร แต่ก็ย่อมไม่อยากถูกใครหักหลัง) ดังนั้นด้วยคุณธรรมที่พวกเขาได้ถูกสอนมาพวกเขาจึงไม่หักหลังกัน

  • คนที่ปล้นด้วยเป็นญาติใกล้ชิด หรือ คนรัก

อันนี้แน่นอนอยู่แล้วครับ ถ้าคนคนนั้นเป็นเพื่อนรักคุณ ญาติคุณ ครอบครัวคุณ คุณย่อมจะไม่หักหลังคนที่คุณรักแน่นอน

  • การล้างแค้น

ข้อที่แล้วคือรักข้อนี้คือแค้นครับ เมื่อคุณถูกหักหลังคุณย่อมต้องล้างแค้น ดังนั้นหากแต่ล่ะฝั่งรู้ว่าอีกฝ่ายจะมาล้างแค้นคุณแน่นอนเมื่อคุณหักหลัง ถ้าคุณไม่อยากเสี่ยงหรือมีปัญหาคุณก็น่าจะเลือกที่ไม่หักหลังเพราะกลัวโดนตามล้างแค้น

  • ประโยชน์ในอนาคต

ข้อนี้เป็นการมองไปในอนาคตของทั้งสองคน หากทั้งสองเป็นโคตรโจรที่ถ้าร่วมมือกันจะปล้นได้ทุกอย่าง การที่ฝั่งหนึ่งทรยศ จะทำให้ผลประโยชน์ในอนาคตเสียไป ไม่ว่าจะเกิดจากโจรคนที่ถูกปล่อยไม่สามารถปล้นธนาคารใหญ่ๆได้เพราะไม่มีคนมีฝีมือมาร่วมปล้นด้วย หรือ โจรอีกคนรู้ว่าโดนหักหลังก็จะไม่รวมมือกับโจรอีกคนกลายเป็นทั้งสองเสียประโยชน์ในการปล้นธนาคารใหญ่ๆ

  • ชื่อเสียงในวงการ

อันนี้แน่นอนว่าหากคุณหักหลังเพื่อนโจร ชื่อเสียงด้านการหักหลังของคุณจะดังไปทั่วในวงการ ซึ่งแน่นอนไม่มีใครอยากทำงานกับคนหักหลัง

  • องค์กร

ชื่อเสียงนั้นเกิดจากการข่าวในวงการซึ่งอยู่ในพื้นที่นั้น ดังนั้นหากคุณหักหลังคนอื่นไปแล้ววิธีง่ายๆที่จะแก้ปัญหาเรื่องชื่อเสียงก็คือก็แค่ย้ายไปพื้นที่ใหม่ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหานี้เกิดขึ้นจึงมีการตั้งองค์กรขึ้นมา ซึ่งการจะเป็นสมาชิกในองค์กรนี้ได้นั้นต้องไม่มีประวัติหักหลังซึ่งเมื่อคุณอยู่ในองค์กรคุณก็จะทำงานกับสมาชิกในองค์กรได้อย่างสบายใจ และคุณก็ไม่กล้าคิดที่จะหักหลังใครแน่นอนเพราะถ้าคุณทำ คนในองค์กรก็จะไล่ล่าคุณเพื่อลงโทษเพื่อไม่ให้คนอื่นในองค์กรเสียชื่อ อีกทั้งยังรักษาความน่าเชื่อถือขององค์กรด้วย

จริงๆในหนังสือมีเหตุผลอีกมากมายหลายข้อ ซึ่งแต่ทุกข้อที่กล่าวในหนังสือนั้นมีการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างมากมายเพื่อสนับสนุนทฤษฏีดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องมั่วๆที่คิดขึ้นเองโดยไม่มีเหตุผลและการทดลองรองรับ จากทุกข้อที่กล่าวมาเราจะเห็นได้ว่า อารยธรรมของเรานั้นได้สร้างระบบต่างๆขึ้นมาเพื่อทำให้เราเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน พยายามผลักดันให้คนเลือกที่จะอยู่ใน มุมวิเศษ ไม่ว่าจะเรื่องศีลธรรม การสร้างความรัก การสร้างพวกเรา การมีชื่อเสียง การสร้างวัฒนธรรมการล้างแค้น(ซึ่งอาจจะดูขัดศีลธรรมแต่มันได้ผล) การสร้างองค์กรขึ้นมา

ปัญหารถราง

ปัญหารถราง - Trolley Problem

หากคุณเล่นสื่อสังคมออนไลน์คุณคงจะเคยเห็นปัญหารถราง (Trolley Problem) ซึ่งเป็นกระแสกันอยู่บ้าง ส่วนผมรู้จักปัญหานี้ตอน ม.ปลาย โดยอาจารย์ที่ปรึกษาเอาคำถามนี้มาถามตอนคาบ Home room คำถามนี้ก็ง่ายๆคือมีรถรางกำลังวิ่งมาซึ่งเบรคน่าจะมีปัญหา ซึ่งถ้ารถรางยังวิ่งต่อไปจะมีคน 5 คนต้องตาย คุณซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สับราง (หรือคนที่พอดีอยู่ตรงตำแหน่งสับราง) คุณสามารถช่วย 5 คนนั้นโดยสับรางรถไฟไปอีกทาง แต่การทำอย่างนั้นจะทำให้ 1 คนตาย คำถามคือคุณจะเลือกทางไหน สำหรับเพื่อนๆในห้องเรียนผมตอนนั้นส่วนใหญ่จะตอบข้อเลือกให้ 5 คนรอด ส่วนผมเป็นแกะดำเลือกให้ 5 คนตาย (ถ้าถามว่าทำไมผมปล่อยให้ 5 คนตายน่ะเหรอ ก็เพราะว่า 1 คนตรงนั้นไม่ควรตายตั้งแต่แรก ถ้าผมช่วย 5 คนนั้นแปลว่าผมฆ่าคน 1 คน ใครล่ะจะกล้าฆ่าคน) ซึ่งเหตุผลที่ที่คนส่วนใหญ่ตอบว่าเลือกให้ 5 คนรอดเพราะจำนวนคนที่มากกว่าซึ่งก็ดูมีเหตุผลดี แต่คราวนี้ลองมาดูคำถามคล้ายๆกันครับชื่อคำถามว่า Fatman

Fatman

คำถามข้อนี้เหมือนเดิมคือมีรถรางวิ่งมาและถ้าไม่ทำไรอะไรจะมี 5 คนตาย คราวนี้คุณยืนอยู่บนสะพานและเห็นชายอ้วนคนหนึ่งยืนอยู่บนสะพานด้วย ถ้าคุณผลักชายอ้วนคนนี้ตกลงไปให้รถรางเหยียบตายก็จะทำให้ 5 คนนั้นรอด พอคุณอ่านถึงตรงนี้มันคุ้นๆไหมครับ จะเห็นว่ามันเหมือนกับคำถามข้อปัญหารถรางเป๊ะๆเลย แต่ปัญหาที่น่าแปลกคือคนส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่ทำ เขาจะไม่ผลักชายอ้วนลงไปให้รถไฟเหยียบแน่นอน

คำถามคือมันเกิดอะไรขึ้นทั้งที่ผลลัพธ์เหมือนกันทุกประการคือ 1 คนตาย 5 คนรอด ถ้าคุณบอกว่าคุณเลือกสับรางให้ 1 คนตาย แต่เพื่อให้ 5 คนที่จำนวนมากกว่ารอดแล้วทำไมคุณไม่ผลักคนอ้วนลงไปตายล่ะเพราะ 1 คนตาย ช่วย 5 คนรอดเหมือนกัน นี่มันคำถามที่ทำให้เกิดการศึกษาทดลองในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งคุณสามารถไปหาหนังสือมาอ่านได้ครับ เขามีการทดลองและผลการทดลองในหลายๆแง่มุมให้คุณได้ดูไม่ว่าจะเปลี่ยนโจทย์เป็นใช้การกดปุ่มประตูกลให้ชายอ้วนตกลงไป หรือเปลี่ยนเป็นไม่ผลักชายอ้วนแต่เป็นชายอ้วนขวางทางไปสับรางคุณจึงต้องวิ่งชนเขาทำให้เขาตกสะพานตาย (ตกจากที่สูงตายไม่ได้โดนรถรางทับตาย) เพื่อช่วยชีวิต 5 คน เมื่อเปลี่ยนตัวแปรต่างๆเหล่านี้ผู้คนจะตอบกันอย่างไร และบางการทดลองถึงขนาดแสกนสมองส่วนที่เกี่ยวกับสัญชาตญาณกับส่วนที่ใช้เหตุผลเพื่อดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างเมื่อเจอคำถามเหล่านี้

หนังสือสรุปเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมเราไม่ผลักชายอ้วนลงไปไว้หลายข้อ ผมจะเอามาเล่าสักข้อ ส่วนที่เหลือคุณต้องไปหาอ่านเองในหนังสือครับ รับรองว่าคุณจะเข้าใจว่าทำไมเราถึงไม่เลือกผลักชายอ้วนลงไปให้รถรางเหยียบตาย

  • วิธีการและผลข้างเคียง

โดยจริยธรรมที่สอนกันมาเราถูกสอนหรือปลูกฝังตามค่านิยมว่าเราจะไม่ใช้มนุษย์ด้วยกันเป็นเครื่องมือหรือวิธีการเพื่อผลลัพธ์ ในกรณีคำถามชายอ้วนนั้นจะเห็นว่าเราใช้ชายอ้วนเป็นเครื่องมือหรือวิธีการในการหยุดรถไฟ ดังนั้นเราจึงคิดว่ามันไม่เหมาะสมที่จะทำแบบนั้น แต่การสับรางรถไฟที่ทำให้ 1 คนตายนั้นเป็นผลข้างเคียงจากการช่วยเหลือ (คุณไม่ได้ใช้คน 1 คนให้ตายเพื่อช่วย 5 คน) ดังนั้นคุณจึงไม่รู้สึกว่ามันผิดอะไร กรณีนี้มีให้เห็นมากมายในชีวิตจริงครับ หากคุณทำสงครามการทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายเช่นโรงเรียนหรือโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่เรายอมรับไม่ได้ แต่การระบิดโรงเก็บระเบิดทำให้โรงเรียนและโรงพยาบาลระเบิดไปด้วยเป็นผลข้างเคียงซึ่งคนส่วนใหญ่ยอมรับได้

วิธีคิด 2 แบบ

ในหนังสือพูดถึงวิธีการคิดสองแบบคือวิธีคิดโดยสัญชาตญาณกับวิธีคิดโดยใช้เหตุผล ซึ่งจริงๆมีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ละเอียดมากแล้วคือ THINKING, FAST AND SLOW คิด, เร็วและช้า โดยสรุปง่ายๆก็ตามชื่อเลยครับ คิดเร็วคือคิดตามสัญชาตญาณเป็นระบบอัตโนมัติซึ่งทำงานได้ดีกับปัญหาบางปัญหาซึ่งหนังสือนี้หมายถึงปัญหาโศกนาฏกรรมสาธารณะ (ปัญหา ฉัน VS เรา) เช่น เมื่อพูดถึงการช่วยเหลือส่วนรวม (ในกลุ่มของคุณไม่ว่าจะครอบครัว หมู่บ้าน จังหวัด ประเทศ) เรามักจะใช้สมองส่วนอัตโนมัติก่อน ซึ่งถามว่าดีไหมก็บอกว่าดีครับ แต่มันก็ไม่ดีทุกกรณี ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อเป็นปัญหาที่เป็นปัญหาระหว่าง “พวกเรา vs พวกเขา” เพราะเราต่างถูกสอน ถูกปลูกฝังวิธีคิดแบบอัตโนมัติโดยใช้ตัวแปรการให้ค่าต่างกัน เช่น กลุ่มหนึ่งให้ความปัจเจก กลุ่มหนึ่งให้ความสำคัญต่อส่วนรวม บางกลุ่มให้ความสำคัญต่อความเชื่อของเทพเจ้าหรือความศักดิ์สิทธิ์ที่คนในกลุ่มเชื่อ ซึ่งพอเป็นแบบนั้นคุณจะคุยกันไม่รู้เรื่องครับ ดังนั้นมนุษย์จึงมีวิธีคิดอีกแบบซึ่งนั่นก็คือวิธีคิดโดยใช้เหตุผล คำนวณต้นทุน สิ่งที่ได้มาหรือเสียไป ซึ่งจะเห็นว่าวิธีคิดแบบนี้นั้นยืดหยุ่นในการแก้ปัญหามากกว่า ซึ่งมันเหมาะกับปัญหาระหว่าง พวกเรา vs พวกเขา

หนังสือแนะนำว่าถ้าเจอปัญหาเกี่ยวกับ ฉัน vs เรา ให้เรารับฟังวิธีคิดแบบอัตโนมัติความคิดแรกที่โผล่เข้ามาซึ่งส่วนใหญ่จะเหมาะสมกับปัญหานั้น (แต่ก็ให้ลองคิดด้วยเหตุผลอีกทีนะครับถ้าคุณรู้สึกคลางแคลงใจ) ส่วนปัญหาที่เป็นความขัดแย้งระหว่าง พวกเรา vs พวกเขา เช่น ปัญหาการทำแท้ง ปัญหาสภาพแวดล้อม การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยวิธีที่อีกฝ่ายเสนอ ให้เราวางความคิดที่เป็นอัตโนมัติที่โผล่ขึ้นมาลงทันทีเลยครับ จากนั้นใหใช้เหตุผลคิดคำนวนต้นทุน สิ่งที่ได้ สิ่งที่เสีย มาคิดแทน

ประโยชน์นิยม

ส่วนที่สำคัญที่สุดในหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นแนวคิดเรื่องประโยชน์นิยม - Utilitarianism เป็นแนวคิดหนึ่งซึ่งโด่งดังในสมัยศตวรรษที่ 19 ( ค.ศ. 1800 - 1900 ) ถ้าเทียบปีไทยก็ประมาณปี พ.ศ. 2343 - 2453 น่าจะช่วงหลังกรุงศรีแตกรอบที่ 2 เริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (แค่ +543 แล้วเอาไปเทียบกับปีที่คุณจำได้ผมว่าไม่น่ายากที่จะหาเหตุการณ์ร่วมของโลก ) โดยประโยชน์ให้ความสำคัญกับความสุขของทุกคนเป็นสำคัญ (วิธีหาว่าความสุขคืออะไรให้ลองไล่กลับจากสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข ไล่กลับไปเรื่อยๆคุณจะรู้ว่าความสุขคืออะไร ความสุขไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เกิดความสุขนะครับ) ซึ่งพอพูดถึงจุดนี้จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นทันทีครับ ปัญหาแรกคือความสุขคืออะไร (แต่ส่วนใหญ่จะไปอยู่คำตอบเดียวกันเป็นส่วนใหญ่) แต่อันนั้นเล็กน้อยมากครับ ปัญหาของแนวคิดนี้ คือให้ความสำคัญแก่ความสุขทุกคน ถ้าคุณเป็นคนพอมีพอกินเป็นชนชั้นกลางที่พอมีเงิน ตัวอย่างเช่นผมที่มีเงินเดือนเหลือพอที่จะจะถ่ายรูปกับไอดอลได้ในราคา 150 - 300 บาท ผมควรจะต้องสละความสุขส่วนนี้เพื่อนำเงินตรงนี้ไปช่วยเหลือคนที่ลำบากมากกว่า อย่าลืมว่าเงิน 150 - 300 บาท อาจช่วยชีวิตของเขาได้เลย มันฟังดูดีครับแต่ถ้าคุณยึดหลักประโยชน์นิยมแบบสุดโต่งมันเท่ากับว่าผมต้องสละความสุขส่วนนี้ไปจนกว่าทั้งโลกจะมีความสุขอย่างนั้นหรือ แล้วผมไม่ม่สิทธิ์มีความสุขจากเงินที่ผมหามาจากแรงของผมเลยเหรอ

ปัญหานี้อาจจะแบบโถ่ คุณอะ คุณมันเหี้ยแค่สละความสุขส่วนตัวเล็กๆน้อยๆไม่ได้เหรอ งั้นเปลี่ยนเป็นมีคนป่วยที่ต้องการอวัยวะอยู่ 5 คน หากอยากให้ 5 คนรอด เพียงคุณเสียสละชีวิตคุณเองยอมตายเอาอวัยวะไปให้ 5 คนนั้น เท่านี้คน 5 คนรอด นั่ทำให้ความสุขโดยรวมในโลกเพิ่มขึ้น ใช่ครับพอคุณคิดในกรณีสุดโต่งในแนวคิดของประโยชน์นิยมแล้วคุณอาจจะร้องว่า “แนวคิดเหี้ยไรเนี่ย”

ทั้งหมดมันเป็นปัญหาในกรณีสุดโต่งครับอยากให้ลองวางมันลงก่อนแล้วลองเปิดใจ (ผมไม่ควรพูดกรณีสุดโต่งก่อนนะ แต่ผมคิดว่าถ้าไม่เปิดด้วยเรื่องไม่ดีก่อนมันจะเป็นหลอกขายความคิด ดังนั้นบอกด้านแย่ก่อนเลยดีกว่าแล้วค่อยมาหาด้านดี )

แนวคิดของประโยชน์นิยมที่นำไปใช้งานจริงนั้นคือการประนีประนอมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ทุกคนมีความสุขครับ จริงๆคุณอาจจะคุ้นเคยกับหลักการประโยชน์นิยมอยู่แล้วครับ ลองคิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำกันดูครับ เราจะแก้ปัญหานี้กันยังไง ฝ่ายหนึ่งบอกว่า เฮ้ย ไอพวกนั้นมันพวกขี้เกียจมันจนแบบนั้นก็สมควรแล้วจะไปช่วยเหลือคนแบบนั้นทำไม กว่าฉันจะมีทุกวันนี้ได้ฉันก็ลงทุนลงแรงไปเยอะนะโว้ย อีกฝ่ายหนึ่งก็จะบอกว่า เฮ้ยในเมื่อเรามีทรัพยากรเหลือตั้งมากตั้งมากทำไมเราไม่แชร์กันล่ะให้ทุกคนล่ะ สองแนวคิดนี้คือปัญหา พวกเรา vs พวกเขา ครับ ต่างคนต่างยึดแนวคิดของตัวเองอาจจะสุดโต่งไม่สุดโต่งก็แล้วแต่ สุดท้ายถ้าเรายังเถียงกันแบบนี้มันก็ไม่จบ ดังนั้นเรามาประนีประนอมกันดีกว่า ซึ่งนั่นคือระบบภาษีครับ ซึ่งภาษีที่เจ่ายกันนั้นไม่เท่ากันใช่ไหมครับ (ในกรณีภาษีเงินได้บุคคล) จะเห็นว่าคนได้น้อยก็จ่ายน้อย พอได้มากก็จ่ายมาก สงสัยไหมครับทำไมถึงเป็นแบบนั้น ถ้าคิดแบบประโยชน์นิยมที่คิดว่า “เราควรทำให้ทุกคนมีความสุข” เรามาดูความสุขที่อาจเกิดขึ้นมาได้จากเงินผ่านรูปด้านล่างกันครับ หรือเอาไป search ด้วยคำว่า diminishing sensitivity ได้ครับ มี Paper ด้วยนะ

Prospect Theory

ในกรณีของคนที่มีรายได้น้อยหรือกลางๆให้มองตรงกลางของกราฟจะเห็นว่าการขึ้นลงนิดหน่อยของจำนวนเงินเนี่ยทำให้ Psycological value หรือมองง่ายๆว่าความสุขเนี่ยขึ้นลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่สำหรับคนที่มีรายได้เยอะให้มองด้านขวาของกราฟจะเห็นว่าค่าความสุขนั้นเพิ่มขึ้นน้อยมาก คุณลองคิดง่ายๆเช่น คุณได้เงิน 12,000,000.00 ต่อปี การที่คุณได้เงินลดลง 3,659,000.00 บาท (คิดภาษีผ่านเว็บ https://www.uobam.co.th/en/tax-calculation) คุณยังมีเงินเหลือใช้ต่อปีถึง 8,341,000 บาท สำหรับการใช้ชีวิตไม่เลิศหรูฟุ่มเฟือยจนเกินไปผมว่าคุณสามารถใช้เงินหาความสุขได้ตลอดทั้งปีครับ ตัวอย่างเช่นคุณสามารถกินโอมากาเซะมื้อละ 2,000 ทั้งปีก็ยังใช้เงินเพียงแค่ 2,190,000 เท่านั้นเอง ดังนั้นการเก็บเงินผู้มีรายได้มากเป็นจำนวนเงินที่เยอะนั้นไม่ได้ทำให้ความสุขของคุณลดลงมากเท่าไหร่ ถ้าเทียบเงิน 3,659,000 บาทแล้วเอาไปเป็นกองทุนการศึกษาให้เด็กที่ต้องการเรียนจบปริญญาตรีคนละ 216,000 บาท (ผมตีปีละ 54,000 บาท เรียน 4 ปีรวมเป็นเงิน 216,000) ได้ถึง 16 คนเลยครับ และเด็ก 16 คนนี้ก็จะได้มีวิชาความรู้อาชีพไปทำงานไม่ต้องเป็นภาระให้สังคมอีก จะเห็นว่าถ้าคุณใช้ประโยชน์นิยมคุณจะไม่มาเถียงกันเลยเพราะคุณจะเห็นว่าวิธีการแบบนี้คุณเสียอะไร ได้อะไร สิ่งที่ได้คุ้มเสียหรือไม่

หรือถ้าปัญหานี้ด้านบนมันดูเล็กไป ประโยชน์นิยมสามารถบอกว่าการใช้งานทาสนั้นเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการ วิธีคิดไม่ยากครับ การที่คุณมีทาสทำให้คุณได้เงินจากการที่ทาสทำเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่เช่นทาส 1 คนอาจทำงานสร้างเงินให้กับคุณได้ 500 x 365 = 182,500 บาท (ผมใช้ค่าแรงคนหนึ่งคนคือ 500 บาทต่อวัน 1 ปีจึงเป็นเงิน 182,500 บาท) ซึ่งการจะมีทาสได้แปลว่าคุณต้องรวยระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้ามองในมุมของทาสว่าต้องเสียอะไรไปบ้าง ขาดอิสรภาพ โดนกดขี่ โดนทำร้าย โดนข่มขืน จะเห็นว่าสิ่งที่ทาสโดนนั้นทำให้ความสุขของเขาไปมากมายขนาดไหน เมื่อเทียบกับเงิน 182,500 บาทที่คนรวยในระดับหนึ่งจะหาความสุขเพิ่มได้แล้วดูไม่สมเหตุสมผลเลยใช่ไหมครับ ถ้าคุณคิดด้วยเหตุผลแบบนี้หลักการเรื่องการมีทาสจะขัดกับหลักการประโยชน์นิยมในทันที

ในหนังสือมีการลงรายละเอียดเกี่ยวกับประโยชน์นิยมไว้เยอะมาก มันอธิบายหลักการที่น่าสนใจและตอบกรณีสุดโต่งต่างๆได้ดี และทางผู้เขียนใช้คำว่า “ปฏิบัตินิยมเชิงลึก” แทนประโยชน์นิยม เพื่อสื่อให้เห็นว่ามันต้องใช้ในทางปฏิบัติภายใต้ข้อจำกัดของมนุษย์ เช่น คนไม่จำเป็นต้องเสียเงินทุกบาทที่เกินจากส่วนที่ทำให้มีชีวิตรอดเพื่อช่วยคนทั้งโลก คุณแค่เสียในจำนวนที่คุณคิดว่าสมควรสำหรับคุณ ที่จะไม่ลดความสุขของคุณมากจนเกินไป ผมแนะนำไปลองหามาอ่านครับคุณจะเข้าใจแนวคิดประโยชน์นิยมและเห็นว่ามันอาจจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งได้ดี

ท่าไม้ตายที่ชื่อว่า สิทธิ์ หน้าที่

หนังสือพูดถึงคำว่าสิทธิ์และหน้าที่ที่คนส่วนใหญ่ชอบเอามาใช้เวลาเกิดข้อขัดแย้ง เช่น สิทธิ์ในการที่จะพูดอะไรก็ได้ ถ้าคุณอ้างสิทธิ์นี้ขึ้นมามันก็เหมือนการประกาศว่าคุณจะไม่ฟังห่าอะไรที่อีกฝ่ายหนึ่งพูดหรือเอาหลักฐานมาพูดเลยครับ ถ้าคุณมองในเหตุการณ์ของสังคมปัจจุบันนี่คือใช่เลยครับ คุณจะเห็นฝ่ายหนึ่งยึดสิทธิ์บางสิทธิ์แล้วเขาบอกว่าเขามีสิทธิ์นี้เขาทำได้ โดยเขาไม่ได้ดูเลยว่าการใช้สิทธิ์นั้นบางทีก็อาจเกิดปัญหา เช่น สิทธิ์ในการพูดอะไรก็ได้ ซึ่งจำลองเหตุการณ์ว่าถ้าคุณกำลังอยู่ในคอนเสิร์ตที่คนแออัดแล้วคุณบอกว่าคุณมีสิทธิ์พูดอะไรก็ได้ คุณก็สามารถแหกปากได้เลยสินะครับว่า “ไอเหี้ย ไฟไหม้” ผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่ามันจะเกิดความโกลาหลวุ่นวายแค่ไหนหรือถึงขึ้นอาจจะเกิดการเหยียบกันตายก็ได้

อีกคำหนึ่งที่คุณเจอคือคำว่าหน้าที่ครับ มันคล้ายๆกันเลย หน้าที่ที่จะทำ xxx เพื่อปกป้องบางสิ่งบางอย่าง เช่น ปกป้องเสรีภาพ ปกวัฒนธรรม พอคุณพูดคำนี้มันก็เหมือนคุณไม่สนห่าเหวอะไรที่อีกฝ่ายเอามาพูดให้คุณฟังแล้วครับ มันเหมือนสิทธิ์เลย แล้วถ้าคุณมองไปไกลกว่านั้นนิดนึงมันแทบจะไม่ต่างอะไรกับการที่คนกลุ่มหนึ่งอ้างเรื่องความเชื่อทางศาสนามาพูด ใช่ครับ ถ้าคนคนนึงบอกว่านี่คือที่ที่พระเจ้าประทานให้เขา คุณจะไม่สนห่าเหวอะไรที่ฝ่ายตรงข้ามเอามาโต้แย้งเลย เห็นไหมครับมันแทบไม่ต่างกันเลย แค่เปลี่ยนจากความเชื่อในพระเจ้ามาเป็นคำเท่ห์ๆที่ชื่อว่า สิทธิ์ หน้าที่ หรือต่างๆนาๆที่คุณจะใช้ในยุคนั้น

ซึ่งหากคุณลองคิดดูดีๆนี่คือปัญหา พวกเรา vs พวกเขา ใช่ไหมครับ ต่างฝ่ายต่างมีแนวคิดที่ตัวเองเชื่อ ยึดคนละแนวคิด ให้ค่าไม่เหมือนกัน ดังนั้นก็ตามที่พูดไปครับ เราต้องวางวิธีคิดแบบอัตโนมัติของเราลงและย้ายไปใช้ระบบการใช้เหตุผล คิดว่าสิ่งที่จะทำนั้นมีข้อดีข้อเสียอะไรเกิดขึ้นกับคนทั้งหมดในสังคม ซึ่งคุ้นๆไหมครับคือวิธีแนวคิดแบบ “ประโยชน์นิยม” นั่นเอง (หนังสืออวยมากเลย แต่ผมอ่านแล้วมันก็ดีจริงๆนะ)

(เสริมส่วนนี้นิดถึงในหนังสือบอกว่าคุณสามารถอ้างสิทธิ์ได้เมื่อต้องการจบข้อโต้แย้ง คุณควรใช้มันกับข้อโต้แย้งที่เป็นที่ยอมรับแล้วเช่น สิทธิ์ความเท่าเทียมของมนุษย์ การห้ามมีทาส เป็นต้น)

ข้อแนะนำจากหนังสือ

หนังสือแนะนำว่าเวลาเจอปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆสิ่งที่เราควรทำอยู่หลายข้อ ผมจะขอยกตัวอย่างสองข้อที่ผมคิดว่าทำได้เลยคือ

  • ดูก่อนว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาแบบไหน ปัญหา ฉัน VS เรา (โศกนาฏกรรมสาธารณะ) หรือปัญหา พวกเรา vs พวกเรา (ความเชื่อ หลักการ การให้ค่าความสำคัญคนละรูปแบบ) เพื่อเราจะได้รู้ว่าเราควรใช้วิธีคิดแบบสัญชาตญาณ หรือ เหตุผลมาช่วยคิด (แต่ผมก็คิดว่าสุดท้ายก็ต้องใช้เหตุผลมาคิดด้วยตลอดนะ) แก้ปัญหานั้น

  • เมื่อเกิดข้อโต้แย้งสิ่งที่เราต้องทราบคือแนวคิดที่อีกฝ่ายสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานั้นมีแนวคิดอย่างไร ระบบการทำงานของมันเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าเราลงไปศึกษามันอย่างจริงจังแล้ว เราอาจจะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงแบบนั้น จะได้ชี้แนะหรือชี้ถึงปัญหาให้กับฝั่งเข้าใจ ไม่ใช่พออยู่คนละฝ่ายก็ขัดกันเลย เช่นกันต่อให้คุณอยู่ฝ่ายเดียวกับคนที่เสนอวิธีแก้ปัญาคุณก็ต้องเข้าใจวิธีแก้ปัญหานั้นด้วยไม่ใช่ว่าอยู่ฝ่ายเดียวกันแล้วบอกว่ามันถูกต้อง ว่าง่ายๆวางสัญชาตญาณแล้วใช้เหตุผลคิดหา สิ่งที่ได้สิ่งที่เสีย ทำแล้วทุกคนได้ความสุขได้ประโยชน์จริงๆไหม

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับเล่มนี้ผมอ่านแล้วได้อะไรเยอะมาก อย่างแรกที่ผมได้คือได้เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาโศกนาฏกรรมสาธารณะ (ฉัน VS เรา) ซึ่งมันทำให้เกิดหลายๆอย่างตามมาไม่ว่าจะเป็น ค่านิยม จารีต กฏ ประเพณี กฏหมาย ศาสนา แนวคิดเรื่องการเมืองการปกครอง ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ จากนั้นก็ได้เข้าใจปัญหา พวกเรา vs พวกเขา ซึ่งก็คือปัญหาที่เราใช้วิธีคิด การให้ค่าความสำคัญ แตกต่างกันมาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งทำให้เกิดปัญหาใหญ่โต จากนั้นก็ได้เข้าใจกลไกการทำงานเกี่ยวกับจริยธรรมของเราว่ามีการทำงานคร่าวๆยังไง จุดอ่อน จุดแข็งของมันคืออะไร จากปัญหารถราง และที่เหมือนจะดีที่สุดคือได้รู้เกี่ยวกับวิธีคิดแบบประโยชน์นิยมที่ดูจะสามารถนำมาใช้ในการจัดการกับข้อขัดแย้งในปัญหาพวกเขาพวกเราได้ดีในระดับที่คุยกันได้โดยไม่อ้างความคิดส่วนตัว (หรือของพวกตัวเองขึ้นมา)

จากที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี่ยังถือว่าน้อยมากกับสิ่งที่หนังสือเล่มนี้อธิบาย หนังสือมีพูดถึงเรื่องอื่นๆที่ผมไม่ได้พูดถึงเช่น ปัญหาเรื่องความยุติธรรมเจืออคติ ความแตกต่างของวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกันจนน่าเหลือเชื่อผ่านการทดลองที่จะทำให้คุณได้รู้ว่าแนวคิดที่ถูกต้องของคุณอาจจะไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องในที่อื่น การใช้ประโยชน์นิยมในนโยบายการทำแท้ง (หัวข้อนี้สนุกมา มันส์สุดๆเพราะเราจะเห็นกระบวนการตั้งแต่การไม่ใช้ประโยชน์นิยมว่ามันเจอทางตันยังไง และการนำประโยชน์นิยมมาใช้และเกิดการประนีประนอมจนเกิดเป็นนโยบายที่ทั้ง 2 ฝ่ายพอรับได้)

ผมแนะนำว่าควรไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านนะครับ ผมเชื่อว่าเมื่ออ่านมันอาจจะทำให้คุณเข้าใจอะไรมากขึ้น เวลามีข้อขัดแย้งกับคนกลุ่มอื่นคุณจะใช้ได้แนวคิดที่ได้จากหนังสือมาจัดการข้อขัดแย้งมากกว่าที่จะมาบอกว่า “ไอเหี้ย นี่มันสิทธิ์ที่พึงมี และ อีกฝ่ายก็บอกว่า “ไอเหี้ยมันเป็นหน้าที่ของกู” ซึ่งจะไปคล้ายกับ “ไอเหี้ยพระเจ้าฝั่งกูบอกแบบนี้” แต่อีกฝ่าย “ไอเหี้ยพระเจ้าของกูบอกอีกแบบว่ะ” ไปหามาอ่านเถอะครับ คุ้มมาก คุ้มจริงๆ มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมนี้คุยกันด้วยเหตุผลมากขึ้นเลยล่ะครับ

ปล. ผมไม่ได้ค่าโปรโมตหนังสืออะไรเลยแม้แต่แดงเดียว ที่ผมแนะนำเพราะผมอ่านแล้วคิดว่ามันดีจริงๆ
ปล2. ข้อเสียของหนังสือเล่มนี้คือ หนาชิบหาย 400 กว่าหน้า รูปประกอบน้อยมาก ถ้าคนไม่ชอบอ่านหนังสือนี่บอกเลยว่าอ่านจนท้อ
ปล3. การทำตามแนวทางของหนังสือนั้นไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่วนใหญ่จะเป็นการประนีประนอมทั้งสองฝั่งเพื่อให้คนทั้งหมดในสังคมได้ประโยชน์ (ความสุข) จากการเลือกนั้น (การจับใครสักคนไปฆ่าแล้วอวัยวะเนี่ยมันเพิ่มความสุขแต่กับคนที่รอดครับแต่มันลบความสุขทั้งหมดกับคนที่ถูกจับดังนั้นประโยชน์นิยมจะไม่เลือกจับคน 1 คนมาฆ่าทิ้งเอาอวัยวะให้คน 5 คน)

เพลงที่เข้ากับเนื้อหา

เพลง Which Witch (แม่มด) ของวง Melt Mallow (ตอนนี้วงนี้ยุบไปแล้ว) ที่พูดถึงการเป็น Social justice แค่เขาทำอะไรที่ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ คุณก็พร้อมจะประนามเขา ด่าทอเขา โดยไม่ค้นหาความจริงก่อน หรือรับฟังเหตุผลของอีกฝั่งเลย ซึ่งในหนังสือที่ผมอ่านมีมีการพูดเรื่อง ความยุติธรรมเจืออคติอยู่ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณไม่ได้มีความยุติธรรมที่เทียงธรรมจริงๆ คุณก็ใช้ความยุติธรรมเจืออคติของคุณไปตัดสินคนอื่น นั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วจริงๆหรือ ลองถามตัวพวกคุณดูเองครับ

มหาศึกแห่งดูน - Dune

มหาศึกแห่งดูน - Dune

มหาศึกแห่งดูน - Dune

ผมพึ่งมารู้จักเรื่อง Dune ก็ตอนที่เขาเอามาทำเป็นหนังเมื่อปี 2021 (จริงๆเขามีทำหลายรอบแล้วแต่ผมไม่รู้) ซึ่งผมก็ไม่ได้เข้าไปดูหรอกครับ แต่กระแสมันแรงมากจนผมสนใจ ซึ่งไม่ได้สนใจไปดูหนังนะครับแต่เป็นสนใจไปหานิยายมาอ่านมาอ่านเพื่อจะได้ดูว่าต้นฉบับจริงๆนั้นเขาต้องการสื่ออะไร พอเข้าใจเราจะได้ไปดูหนังว่าเขาตีความแตกต่างจากนิยายยังไง

พอได้อ่านนิยายเรื่องนี้ก็รู้สึกชอบเลยคือมันกระชับไม่เยิ่นเย้อในการบรรยายมากจนเกินไป ผมเคยอ่านนิยายบางเรื่องนี่โคตรเบื่อเวลามาบรรยายสิ่งต่างๆเยิ่นเย้อจนรู้สึกว่าเมื่อไหร่จะถึงตัวเรื่องหลักของสักที แต่ Dune ไม่ครับ เรื่องนี้เดินเรื่องแบบรวดเร็วทันใจบรรยายเฉพาะสิ่งที่จำเป็น อีกเรื่องที่ผมชอบมากๆคือผู้แต่งเล่นเรื่องสภาพแวดล้อมของดวงดาวผูกเรื่องสภาพดวงดาวกับรูปแบบวัฒนธรรม การทหาร การเมืองได้อยากลงตัว และสุดท้ายเขาสามารถผูกให้สิ่งที่วางไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องไปบรรจบกับตอนจบได้อย่างลงตัว

ดาวทะเลทรายและหนอนยักษ์

เรื่องนี้เริ่มต้นด้วยการที่ดยุคเลโทและครอบครัวต้องย้ายจากดาวบ้านเกิดไปยังดาวทะเลทรายตามคำสั่งของจักรพรรดิ มาถึงตรงนี้คงสงสัยใช่ไหมครับว่าทำไมดยุคเลโทถึงยอม เหตุผลแรกก็คือ ดาวทะเลทรายที่ต้องไปเป็นที่เดียวที่สามารถผลิตสิ่งที่เรียกว่า “สไปร์” ซึ่งเป็นวัตถุดิบพิเศษที่คนทั้งจักรวาลชื่นชอบเพราะรสชาติดี อร่อย และ บางพวกเอาไปใช้ขยายประสาทสัมผัสเพื่อทำสิ่งที่ต้องใช้ความคิดมากๆ ดังนั้นการครองดาวดวงนั้นก็เท่ากับว่าครอบครองสิ่งที่มีคุณค่าจะขึ้นราคาลดราคายังไงก็ได้เลย อีกเหตุผลหนึ่งที่ย้ายไปเพราะเจ้าของเก่าของดาวทะเลทรายดวงนั้นเป็นตระกูลคู่แค้น ดังนั้นการเข้าครอบครองดาวทะเลทรายนั้นก็ย่อมเป็นการตัดกำลัง ขัดแข้งขัดขา ตระกูลคู่แค้นไปในตัว

ระบบนิเวศของดาวทะเลทรายนั้นแห้งแล้งมากๆเต็มไปด้วยทะเลทรายกว้างใหญ่ไพศาล สภาพอากาศก็ไม่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตคือ มีแต่ฤดูร้อนทั้งปีไม่มีฝนตกแม้แต่หยดเดียว มีพายุทะเลทรายเป็นภัยพิบัติตลอดทั้งปี แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติก็ยังไม่น่ากลัวทำกับหนอนยักษ์ที่ความยาวหลายร้อยเมตร ที่พร้อมจะเข้าโจมตีคุณทันทีที่คุณเดินทางเข้าไปในทะเลทราย ด้วยความบ้าคลั่งของสภาพดาวนี้คงไม่น่าจะมีมนุษย์อยู่ได้ใช่ไหมครับ แต่อย่าลืมว่ามนุษย์คือเผ่าพันธุ์ที่พยายามปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอดซึ่งมนุษย์เหล่านั้นคือชาว “เฟรเมน”

ชาวเฟรเมนคือชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนดาวเฟรเมน โดยพวกเขาพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพของดวงดาวซึ่งมีน้ำน้อยมากๆ พวกเขาจึงสร้างชุดที่สามารถกักเก็บน้ำในร่างกายประมาณว่าเหยื่อทุกหยด ของเสียทุกอย่างจะถูกนำกลับไปเป็นน้ำให้กินอีกรอบ พวกเขาปรับตัวจนเป็นพวกเดียวที่สามารถอยู่ในทะเลทรายได้ ไม่เหมือนกับเหล่าดยุคและที่มาจากนอกดวงดาวที่ต้องสร้างเมืองภายใต้บาเรียปรับสภาพอากาศ ดังนั้นพวกเขาจึงกลายเป็นกำลังหลักในการเอาสไปร์จากทะเลทรายออกมา ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ดยุคเลโทจะต้องผูกสัมพันธ์กับชาว เฟรเมน (แต่ก็ยังมีเหตุผลอื่นซ่อนอยู่ด้วย ถ้าอยากรู้ไปหามาอ่านครับ)

การเมืองการปกครอง

สิ่งหนึ่งที่สนุกของ Dune เรื่องหนึ่งคือเรื่องการเมืองการปกครองครับ เราจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้ผ่าน พอล ลูกชายของดยุคเลโทตัวเอกของเรื่องที่ต้องเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการวางตัว การจับท่าทางการแสดงของคู่สนทนาเพื่อดูว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร การคานอำนาจด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งมันเห็นภาพได้ง่ายอาจจะเป็นเพราะจำนวนฝ่ายมีน้อยและแต่ละฝ่ายมีอำนาจในแต่ละด้านโดยสมบูรณ์ทำให้มันสามารถเห็นว่าทำไมแต่ละฝ่ายคานอำนาจกันได้ (อยากรู้ว่ามีฝ่ายไหนบ้างต้องไปหามาอ่านนะครับ)

ในเรื่องเราจะเห็นหลายๆที่เอามาใช้กับการเมืองการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ศาสนา ตำนาน ซึ่งอาจจะดูไม่น่าเชื่อแต่คุณจะเห็นว่ามันใช้ได้ อีกทั้งไม่ใช่แค่ในโลกนิยายที่ใช้วิธีเหล่านี้แต่มันมีบนโลกจริงๆของเราเหมือนกัน

การเห็นอนาคต

เรื่องนี้เล่นเกี่ยวกับเรื่องการเห็นอนาคตแต่ไม่ใช่อนาคตรูปแบบเดียวแต่เป็นการเห็นความเป็นไปได้ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ที่เป็นไปได้ต่างๆ ซึ่งอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ ซึ่งทุกการกระทำนั้นจะส่งผลกับอนาคตก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสะดุดล้ม การก้าวขาซ้ายขาขวา การเจรจาต่อรองต่างๆก็เปลี่ยนแปลงอนาคตได้ แต่ที่น่าสนใจกว่าการเห็นอนาคตคือการบอกอาการของคนที่เห็นอนาคต ผู้แต่งเขียนให้เห็นภาพของคนที่เห็นอนาคตว่าเขาต้องเจออะไรบ้าง เขาจะรู้สึกยังไงเมื่อต้องรู้อนาคต เขาจะเศร้าไหมเมื่อต้องรู้ว่าการกระทำนี้นั้นจะทำให้ใครตาย หรือการจะรู้สึกสุขไหมในเมื่อเขารู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับผมการอ่านเรื่องนี้ทำให้เห็นนิยายที่นำระบบนิเวศมาใช้ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำที่หายไปของดาว สไปร์มาจากไหน หนอนยักษ์สามารถมีชีวิตอยู่ได้ยังไงทั้งที่แห้งแล้งขนาดนั้น ชาวเฟรเมนจะยอมทนกับสภาพอย่างนี้ตลอดไปเหรอหรือจริงๆพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ อีกเรื่องที่ได้จากเรื่องนี้คือการเล่นเรื่องการเมืองการปกครองที่เข้าใจง่าย แต่ละฝ่ายต่างเกี่ยวข้องกันหมดซึ่งพออ่านจนถึงตอนจบคุณจะรู้สึกทึ่งว่าที่ผู้แต่งวางแผนได้ดีมากๆ

สำหรับใครที่ต้องการนิยายสนุกๆเดินเรื่องเร็วไม่เยิ่นเย้อ มีการวางปมให้น่าติดตามอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ผมก็แนะนำเรื่อง Dune เลยครับ รับรองว่าสนุกแน่นอน

รอสฮัลด์ - Rosshalde

รอสฮัลด์ - Rosshalde

รอสฮัลด์ - Rosshalde

รอสฮัลด์เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตรกรโยฮันน์ผู้ครอบครองคฤหาสน์นาม “รอสฮัลด์” ที่ใหญ่โต มีทั้งทะเลสาบ สวนดอกไม้ สวนสงุ่น ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของโยฮันน์นั้นถ้ามองจากภายนอกนั้นน่าจะเป็นที่อิจฉาของทุกคน แต่ในความเป็นจริงแล้วชีวิตของโยฮันน์นั้นกำลังทุกข์ทรมานจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ต้องบอกเลยว่าตอนอ่านเรื่องนี้ผมไม่ได้คำนำ คำโปรยใดๆเลย อ่านแบบไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร จุดเด่นของเรื่องนี้คือการวางปมในแต่ละตอนให้เราสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับจิตรกรร่ำรวยคนนี้ เมื่อคลายปมเรื่องของต้นเหตุของปัญหาแล้ว ตัวเรื่องจะพาเราไปดูว่าโยฮันน์ตัดสินใจทำอย่างไรเรียกได้ว่าลุ้นกันทุกบทว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นมันจะเลวร้ายลงหรือดีขึ้น ซึ่งบอกตามตรงเลยว่าผมอ่าน “รอสฮัลด์” จบภายใน 2 วันเพราะมันวางไม่ลงจริงๆมันลุ้นยังกะดูหนังสืบสวนสอบสวนที่อยากจะรู้ว่าตอนจบเป็นยังไง

การอยู่ด้วยกันทั้งที่ไม่อยากอยู่ด้วยกัน

หากคุณเคยได้ยินคำว่าอยู่ด้วยกันเพราะลูกหรือเหตุผลทางสังคมแล้วไม่เห็นภาพ ผมแนะนำให้มาอ่านเรื่องนี้ดูครับ คุณจะได้เห็นการที่ต้องทนอยู่ด้วยกัน ต้องมานั่งปั้นหน้ามารยาทดีใส่กัน ต้องมานั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกัน ต้องทำหน้าที่สามีภรรยาที่ดีต่อกันทั้งๆที่ในใจนั้นทุกข์ทรมาน อีกทั้งเรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่าคนที่เจอปัญหานี้เขารู้นะว่าปัญหาคืออะไรและจะต้องแก้อย่างไร ซึ่งวิธีแก้ก็คือการหย่าขาดจากกัน จัดการเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน แต่เขาแค่ขาดแรงกระตุ้นหรือการตัดสินใจที่เด็ดขาดเพราะการตัดขาดนั้นอาจนำพามาซึ่งหลายอย่างเช่น ต้องย้ายที่อยู่ใหม่ ต้องโดนสังคมนินทา ลูกที่อาจจะไม่ได้เจอต่างๆนาๆ หรือถ้าจะพูดโดยรวมก็คือชีวิตของคุณจะเปลี่ยนไปคาดเดาไม่ได้ซึ่งแตกต่างกับการทนทุกข์ทรมานที่เป็นที่อยู่ที่ตัวเขาเองรู้ว่าจะต้องเจอกับอะไร จะต้องนั่งปั้นหน้า จะต้องทนกับการแสดงออกต่างๆ แต่ทั้งหมดมันรู้ไง คาดเดาได้ แต่การเปลี่ยนแปลงมันไม่ใช่ มันอันตราย น่ากลัว

การถ่ายทอดความรู้สึกไปสู่งาน

ในเรื่องสอดแทรกเกี่ยวกับเรื่องที่ศิลปินที่ผลิตผลงานที่น่าประทับใจเนี่ยบางคนมักจะมีปัญหาในชีวิตต่างๆ เช่น ครอบครัวมีปัญหา หย่าร้าง ติดยา หรือมีอาการที่คนจำนวนมากมองว่าเขาไม่เหมือนคนทั่วไป คนพวกนี้มักจะถ่ายทอดงานได้ดีกว่าในเรื่องนี้ให้เหตุผลเรื่องนี้ไว้เพราะว่าตัวพวกเขาประสบกับเรื่องนั้นจริงๆ เช่น โยฮันน์ที่วาดรูปถ่ายทอดอารมณ์เศร้าได้ดีก็เพราะตัวของเขาเศร้าหมอง อารมณ์แห่งความเศร้าหมองมันมีอยู่มากมายมากมายเสียจนเอามาใส่ผลงานได้ หรือจะเป็นเรื่องความหวังเขาก็รู้ว่าความหวังที่เขาหวังมันคืออะไร เขาเห็นภาพมันชัดชัดจนสามารถเอามาบรรยายในภาพได้ ซึ่งจริงๆนั้นรวมถึงตัวของผู้แต่งคุณ Hermann เขาก็มีปัญหาหย่าร้างกับภรรยา ซึ่งผมเข้าใจว่าทุกบรรยากาศในเรื่องที่บรรยายให้เห็นภาพถึงอารมณ์ขนาดนี้ก็เพราะเขามีประสบการณ์จริง เข้าใจว่าตอนนั้นตัวเองรู้สึกยังไง เหตุผลต่างๆนาๆที่ที่ทำให้ตัวเองต้องทนทุกข์ทรมานในสภาพนั้น

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับเล่มนี้อ่านแล้วได้เห็นความทุกข์ทรมานของชีวิตคู่ที่ต้องทนอยู่ด้วยกัน แต่ก็ทำให้คนนอกอย่างผมเข้าใจว่าทำไมคนเราถึงต้องยอมทนอยู่ตรงนั้น และเช่นกันมันทำให้เราเห็นว่าการทนทุกข์ทรมานนั้นอาจจะดีแต่มันดีสู้การแก้ปัญหาไม่ได้หรอกครับ ในเรื่องเปรียบเทียบเสมือนการเป็นฝี การบ่งเอาหนองออกอาจจะเจ็บหรือทรมานแต่สุดท้ายมันจะหายครับ แล้วก็อีกเรื่องคือการหย่ามันไม่ได้เลวร้าย มันไม่ใช่ทำแล้วโลกจะแตกชีวิตทุกคนจะตาย ความเป็นพ่อเป็นแม่จะสิ้นสุดลงแบบในละคร มันไม่ใช่แบบนั้นครับ มันมีอะไรมากกว่านั้น และอีกอย่างคือการที่เราเป็นคนนอกเราไม่รู้อะไรภายใน เราไม่ควรตัดสินหรือต่อว่าการหย่านั้นเพราะไม่แน่การหย่านั้นคือทางออกเดียวของปัญหานั้นแล้วก็ได้

ที่ผมเล่าไปนั้นไม่ถึงครึ่งของความดีในเรื่อง Rosshalde เลยครับ มีอะไรให้ได้ติดตามในเรื่องไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่ทำไมโยฮันน์กับภรรยาถึงมีปัญหากัน อะไรเป็นที่ทำให้โยฮันน์ต้องทุกข์ทรมาน และสุดท้ายเรื่องจะไปจบลงที่ตรงไหน และคุณซึ่งเป็นผู้อ่านเองจะได้อะไรจากการอ่านเรื่องนี้ ผมแนะนำให้ไปลองหามาอ่านดูครับรับรองว่าเป็นนิยายที่คุ้มกับเวลาอ่านเรื่องนึงเลย

ซีมัวร์ - Raise high the roof beam, carpenters and seymour, an introduction

ซีมัวร์ - Raise high the roof beam, carpenters and seymour, an introduction

“ซีมัวร์” แค่ชื่อนิยายก็ไม่ได้ดึงดูดความสนใจละ (คุณลองไปดูชื่อนิยายสมัยใหม่สิ มันต้องอลังการ) แต่ที่ผมเลือกมาอ่านเนี่ยก็เพราะผู้แปลคือคุณปราบดาหยุ่นซึ่งผมเข้าใจว่าแกชอบแปลนิยายแปลกๆ ซึ่งก็สมใจครับนิยายเรื่องนี้แปลกมาก โดยตัวนิยายแบ่งเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกเป็นบันทึกของชายคนหนึ่งซึ่งมีพี่ชายชื่อ “ซีมัวร์” โดยในบันทึกเล่าถึงการไปงานแต่งงานของพี่ชายเขา ในส่วนนี้ผมบอกเลยว่าโคตรสนุกลุ้นและน่าติดตามมากๆว่า ตัวชายหนุ่มจะทำยังไงในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ อีกทั้งยังมีเรื่องน่าสงสัยต่างๆเกี่ยวกับซีมัวร์ที่ผู้แต่งโปรยทิ้งไว้ตลอดเรื่อง ส่วนที่สองจะเป็นการเขียนโดยชายหนุ่มคนเดิมแต่เป็นการเขียนอธิบายเกี่ยว “ซีมัวร์” พี่ชายของเขาว่าเป็นคนอย่างไร โดยส่วนนี้เป็นอะไรที่แหวกมากในงานเขียน ผมพึ่งเคยเจองานเขียนที่เหมือนจะ Breaking the Fourth Wall (มันคือการคุยกับผู้ชม ผู้อ่าน เหมือน Dead pool คุยกับคุณอะ) แบบตลอดทั้งเรื่อง คือตัวชายหนุ่มที่เขียนนั้นเหมือนจะเล่าเรื่องผสมกับคุยกับเราอยู่ตลอดเวลา แตกต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆที่พยายามเล่าแต่ตัวเรื่อง บรรยายสภาพต่างๆ

งานแต่งของพี่ชาย

ส่วนนี้เป็นส่วนแรกของเรื่องจะเป็นพูดถึงตัวชายหนุ่มซึ่งเป็นน้องชายของ “ซีมัวร์” ที่ต้องไปงานแต่งของพี่ชายตัวเองแบบไม่เต็มใจเท่าไหร่เพราะตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ แต่ก็ต้องไปเพราะคนอื่นๆในครอบครัวนั้นไม่ว่าง และตัวซีมัวร์เองไม่ได้บอกคนอื่นๆนอกจากคนที่ติดธุระไปไม่ได้มาลงเอยที่ตัวชายหนุ่มที่ต้องพาสังขารที่เจ็บป่วยไป แต่งานแต่งที่ธรรมดากลับกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาก็ตรง “ซีมัวร์” ไม่ยอมไปงานแต่งครับ และอยู่ดีๆก็โทรมาแจ้งว่าให้ย้ายไปที่อื่นแทน ซึ่งพูดถึงตรงนี้คุณคงรู้แล้วนะครับว่ามันจะเลวร้ายขนาดไหน แล้วนอกนึกภาพตามว่าตัวเอกที่เป็นชายหนุ่มซึ่งเป็นญาติคนเดียวของฝ่ายเจ้าบ่าวในงานนั้นจะเป็นยังไง แต่ก็โชคดีครับที่ตัวเอกของเรายังไม่เปิดตัวว่าตัวเองเป็นใครเลยรอดตัวไปในงาน แต่ตอนที่ต้องย้ายจากงานไปสถานที่ใหม่เนี่ยตัวเองนั้นดันไปโดยสารร่วมกับเพื่อนเจ้าสาวหัวรุนแรงทำให้บทสนทนาบนรถนั้นดุเดือดและรุนแรงไปกับการต่อว่า “ซีมัวร์” ผู้เป็นเจ้าบ่าว รวมไปถึงพฤติกรรมแปลกๆของเขา ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้นี่มันโคตรลุ้นและสนุกไปกับการที่ตัวเอกนั้นจะตอบโต้แก้ต่างให้พีชายยังไงและสุดท้ายสถานการณ์นี้จะจบลงยังไง

เกี่ยวกับซีมัวร์

ส่วนนี้เป็นส่วนที่สองของนิยายเล่มนี้จะเป็นการที่ตัวเอกคนเดิมในเรื่องแรกซึ่งตอนนี้เป็นนักเขียนแล้วกำลังเขียนหนังสือที่เล่าเกี่ยวกับ “ซีมัวร์” พี่ชายของเขา โดยลักษณะการเขียนของเขาเป็นแนวเล่าอดีตของเขากับพี่ชาย รูปร่างหน้าตา ลักษณะนิสัย รวมถึงนิสัยแปลกประหลาดของ “ซีมัวร์” โดยรูปแบบการเขียนช่วงนี้จะเป็นแบบเล่าและคุยกับอ่านไปด้วย ซึ่งการในการเล่านี้จะมีการจิกกัดในหลายๆเรื่องไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงนักอ่านประเภทต่างๆที่ตัวชายหนุ่มแบ่งกลุ่มไว้ การที่คนมักจะสนใจศิลปินที่มีลักษณะผิดแผกแตกแยกจากคนอื่น เช่น นักแต่งเพลงหูหนวก นักวาดรูปที่ฆ่าตัวตาย ศิลปินที่ชอบเล่นชู้ มากกว่าศิลปินที่ทั่วไป บางที่ถึงกับยกให้เป็นตำนานเลยทีเดยว การพูดถึงเรื่องกฏองก์ 3 ที่เป็นพื้นฐานของการเล่าเรื่องที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย (โดยส่วนตัวสำหรับผมส่วนนี้ไม่ได้ใช้กฏองก์ 3 แต่อย่างใด แกเขียนเล่าไปเรื่อยเปื่อยเลย)

อ่านแล้วได้อะไร

สำหรับเรื่องนี้อ่านแล้วได้เห็นวิธีการทำให้เรื่องเล็กๆน้อยๆที่ไม่ใช่มหากาพย์เป็นเรื่องเป็นราวได้อย่างสนุกและลุ้น การวางความสงสัยต่างๆแบบไม่จงใจแต่ทำให้เราสนใจและอยากติดตามจนไม่อยากวางหนังสือลงเลย อีกอย่างที่ได้คือการเขียนในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นคือการคุยกับผู้อ่านไปด้วยในการเขียน การจิกกัดแบบตรงไปตรงมา ซึ่งผมชอบเอาเสียมากๆจนเอาไปใช้กับงานเขียนของตัวเองแล้ว (แต่ไม่รู้คนอ่านจะชอบเหมือนกับที่ผมชอบรึเปล่า)

ส่วนข้อเสียของการอ่านเรื่องนี้คือในส่วนที่สองที่เล่าเกี่ยวกับ “ซีมัวร์” นั้นสำหรับผมนั้นไม่ค่อยน่าติดตามเท่าส่วนแรก คือคุณสามารถอ่านแล้ววางลงเมื่อไหร่ก็วางเพราะเนื้อเรื่องมันไม่ได้ต่อกันมากมายนัก ซึ่งผมก็เข้าใจว่าคนเขียนเขาตั้งใจจะให้เป็นอย่างนั้นด้วย

สำหรับใครที่สนใจอ่านนิยายสนุกๆที่เล่นกับเรื่องธรรมดาที่เจอได้ในชีวิต หรืออยากอ่านงานเขียนที่ใช้วิธีการเขียนแบบไม่มาตรฐานเพื่อลดความน่าเบื่อในการอ่านนิยายที่เล่าด้วยวิธีเดิมๆ บรรยายเยอะๆจนน่าเบื่อ ประหนึ่งการได้ดูหนังเรื่อง Monty Python and the Holy Grail ที่จะทำให้คุณสนุกจนลืมโลกเลย

The journey to the east - ท่องตะวันออก

The journey to the east - ท่องตะวันออก

The journey to the east - ท่องตะวันออก

ท่องตะวันออกเป็นหนังสือที่ถูกแต่งโดย Hermann Hesse ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่แต่งเรื่อง “สิทธารถะ” ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีมากดีจนผมซื้อให้เพื่อนและคนที่ชอบอ่านมาแล้วหลายเล่ม ซึ่งท่องตะวันออกนั้นเล่าถึงกลุ่มสันนิบาตผู้ที่เดินทางไปตะวันออกเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง

กลุ่มสันนิบาต

เรื่องเริ่มด้วยชายที่ชื่อ ฮ.ฮ. (ไม่ได้บอกชื่อจริงแต่คงจะแทนตัวผู้แต่งนั่งเอง) กำลังเล่าเกี่ยวกับกลุ่มลับกลุ่มหนึ่งซึ่ง ฮ.ฮ. เรียกว่ากลุ่มสันนิบาต โดยกฏของเหล่าสันนิบาตนั้นมีมากมายหลายข้อแต่ข้อที่สำคัญคือห้ามบอกเรื่องของกลุ่มสันนิบาตให้คนนอกรู้ (เหมือนหนังเรื่อง Fight club เลย ซึ่งผมก็งงว่าคนมันมาเพิ่มในกลุ่มได้ยังไง) ฮ.ฮ. ได้เล่าว่าเขาเคยเป็นสมาชิกของกลุ่มสันนิบาตซึ่งเคยเดินทางไปตะวันออกมาแล้ว พร้อมเล่ารายละเอียดต่างๆของคนในกลุ่มสันนิบาตนั้นเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น คนในกลุ่มสันนิบาตนั้นมีหลากหลายตั้งแต่ คนดำ คนขาว คนผิวเหลือง เด็ก หนุ่ม แก่ ผู้ชาย ผู้หญิง คนตะวันออก คนตะวันตก คนยิว คนอิสลาม หรือจะว่าง่ายๆก็คือเป็นใครก็ได้บนโลกใบนี้ ต่อมาคือแต่ละคนในสันนิบาตนั้นจะต้องมีเป้าหมายสูงสุดของตนเอง ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของแต่ละคนนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ บางคนคือการเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “เต๋า” บางคนคือการได้ดื่มไวน์ชั้นเลิศในตำนาน บางคนคือการได้จุมพิตหญิงงามที่ตนใฝ่ฝัน ซึ่งแปลว่าเป้าหมายจะเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่คนคนนั้นจะต้องการ ทางสันนิบาตนั้นไม่บังคับแต่อย่างใด แต่สุดท้าย ฮ.ฮ. ก็บอกว่าคณะเดินทางของเขานั้นไปไม่ถึงตะวันออกพร้อมกับถูกขับออกจากกลุ่ม

การเดินทางไปตะวันออก

ฮ.ฮ. การเดินทางไปตะวันออกว่าพวกเขาจะเดินทางไปเรื่อยๆ เมื่อเจอสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใดก็จะเข้าไปสวดภาวนาทุกที่ ทำความรู้จักกับคนแถวนั้น บางครั้งก็มีการเฉลิมฉลอง กินเหล้า ร้องเพลง สนุกสนานกัน แต่เรื่องที่น่าแปลกของการเดินทางไปตะวันออกคือ การเดินทางไปนั้นเหมือนจะไม่ได้เดินทางในปัจจุบันอย่างเดียว แต่มันรวมถึงการเดินทางไปในอดีตด้วย เพราะ ฮ.ฮ. ได้เล่าว่าเขาได้ไปร่วมจัดงานเลี้ยงกับคนในยุคกลางเลยทีเดียว และที่น่าแปลกอีกอย่างคือการเดินทางของกลุ่มนั้นเหมือนข้ามไปข้ามมา บางครั้งพวกเขาอยู่ที่ยุโรป อีกวันพวกเขาก็ไปโผล่ที่อินเดีย โผล่ไปโผล่มาแบบงงๆ

อ่านแล้วได้อะไร

ท่องตะวันออกเล่มนี้สำหรับผมนั้นอ่านยากมากครับ อาจจะยากที่สุดในทุกเล่มของ Hermann Hesse ที่ผมเคยอ่าน เนื่องจากเขาอ้างอิงถึงแนวคิดหรือบุคคลต่างๆในประวัติศาสตร์ซึ่งผมไม่รู้จักเลย อีกทั้งในเล่มนี้มีการเปรียบเทียบเยอะมาก แถมเข้าใจยากกว่าสิทธารถะหลายเท่าเลย ในส่วนของตอนจบผมยังไม่เข้าใจเลยว่าเขาเปรียบเทียบกับอะไร แต่หลายๆเรื่องก็พอเข้าใจได้ว่าเขาหมายถึงอะไร ตัวอย่างเช่น การเดินทางไปตะวันออกก็คือการเดินทางไปหาจุดหมายที่ตนเองเชื่อ หรือ เป้าหมายทางจิตใจของแต่ละคน ส่วนการแวะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆนั้นหมายถึงการเรียนรู้ความแนวคิด หลักการ ศรัทธาของที่ต่างๆ ซึ่งจะตรงกับการที่การเดินทางของกลุ่มนั้นไม่เป็นเส้นตรงตามเวลาและสถานที่ ส่วนการถูกขับไล่ออกจากกลุ่มก็คือการเลิกที่จะเดินทางไปถึงจุดหมาย ซึ่งแต่ละคนก็มีเหตุผลของตัวเองเช่น คิดว่ามันไม่มีจริง คิดว่าไร้สาระ คิดว่าเอาความตั้งใจตรงนี้ไปทำอย่างอื่นน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งสำหรับผมโดยสรุปแล้วท่องตะวันออกกำลังเล่าเรื่องการเดินทางค้นหาการบรรลุทางจิตใจนั่นเอง

แต่ทั้งหมดนั่นคือการตีความของผม ผมอาจจะตีความผิดไปก็ได้ ท่องตะวันออกอาจจะเป็นอะไรที่ลึกล้ำกว่านั้นก็ได้ อีกทั้งผมก็ยังไม่ได้บอกว่าตอนจบของเรื่องเป็นยังไง เหตุใดทำไม ฮ.ฮ. ถึงถูกขับไล่ เขาจะกลับเข้ากลุ่มสันนิบาตได้อีกหรือไม่ ลองไปหามาอ่านกันดูครับ รับรองความสนุกในการตีความ